×

ชัยชนะ ‘ชาญ พวงเพ็ชร์’ อาจไม่ใช่ชัยชนะของเพื่อไทย

01.07.2024
  • LOADING...

ชัยชนะของ ‘ชาญ พวงเพ็ชร์’ ผู้สมัครหมายเลข 1 ในนาม ‘กลุ่มปทุมรักไทย’ ที่มี ‘ทักษิณ ชินวัตร’ และพรรคเพื่อไทย เป็นผู้สนับสนุนหลักอย่างเป็นทางการ บนสนามการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ปทุมธานี ที่เฉือนเอาชนะ พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง อดีตแชมป์เก่า ไปอย่างฉิวเฉียดด้วยคะแนน 1,969 คะแนน จนหลายฝ่ายยกให้พรรคเพื่อไทยชนะไปด้วย 

 

ในช่วงโค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง คนในตระกูลชินวัตรทั้ง โอ๊ค-พานทองแท้ ชินวัตร และ อุ๊งอิ๊ง-แพทองธาร ชินวัตร คนในพรรคเพื่อไทย กลุ่มบ้านใหญ่ในจังหวัดต่างระดมสรรพกำลังลงพื้นที่มาช่วยหาเสียงอย่างหนัก

 

ชัยชนะครั้งนี้นับเป็นการพิสูจน์จังหวะก้าวการเมืองครั้งใหญ่ เพราะนายใหญ่ (ทักษิณ ชินวัตร) ลงมาเล่นเกมนี้ด้วยตัวเอง พร้อมออกปากเรียกคนเสื้อแดงกลับมาอยู่ด้วยกัน กลายเป็นเดิมพันครั้งสำคัญในช่วงการเมืองระดับชาติของปทุมธานีที่ถูกรายล้อมไปด้วย ‘พรรคส้ม’

 

ทักษิณ ชินวัตร เดินทางร่วมงานเลี้ยงฉลองบวช สมิทธิพัฒน์ หลีนวรัตน์ 

บุตรชายของ กฤษฎา หลีนวรัตน์ นายกเทศมนตรีตำบลธัญบุรี จังหวัดปทุมธานี 

เมื่อวันที่ 8 มิถุนายน 2567 

ภาพ: ฐานิส สุดโต

 

ชาญแถลง ขอบคุณที่ยังไม่ทิ้งกัน

 

ชาญ พวงเพ็ชร์ ให้สัมภาษณ์ครั้งแรกหลังทราบคะแนนการเลือกตั้งนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดปทุมธานีอย่างไม่เป็นทางการว่า ขอบคุณชาวปทุมธานีและผู้นำท้องถิ่นที่ให้การสนับสนุนตนเองให้มาทำหน้าที่ และรู้สึกดีใจที่ชาวปทุมธานียังไม่ทิ้งตนเองและสนับสนุนให้กลับมาเป็นผู้ชนะอีกครั้ง

 

สำหรับผู้นำท้องถิ่น กลุ่มคนบ้านใหญ่ที่ชาญกล่าวถึง ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการสนับสนุนให้ชาญกลับมาดำรงตำแหน่งนายก อบจ. ปทุมธานี อีกครั้ง ตามที่มีการรายงานของสื่อมวลชน ประกอบด้วย 8 บ้านใหญ่ 

 

  1. บ้านใหญ่ลาดหลุมแก้ว: สุริยะ ภิรมย์พร้อม นายก อบต. ลาดหลุมแก้ว อำเภอลาดหลุมแก้ว 
  2. บ้านใหญ่เสื้อแดง: สมศักดิ์ เกียรติพัฒนาชัย ประธานชมรมรถตู้รังสิต และ ส.อบจ. ปทุมธานี เขต 2
  3. บ้านใหญ่ ป.นำโชค: ศุภชัย นพขำ อดีต สส. ปทุมธานี เพื่อไทย และที่ปรึกษา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
  4. บ้านใหญ่เสี่ยฮะ: สุรพงษ์ อึ้งอัมพรวิไล อดีต สส. ปทุมธานี เพื่อไทย และที่ปรึกษา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม
  5. บ้านใหญ่สามโคก: เสวก ประเสริฐสุข อดีตผู้ก่อตั้งกลุ่มคนรักปทุม
  6. บ้านใหญ่คลองหลวง: เอกพจน์ วงศ์นาค นายกเทศมนตรีเมืองคลองหลวง 
  7. บ้านใหญ่นครรังสิต: เดชา กลิ่นกุสุม อดีตนายกเทศมนตรีนครรังสิต 
  8. บ้านใหญ่กลิ่นกุสุม: ทำงานร่วมกับชาญมาโดยตลอด

 

ชาญ พวงเพ็ชร์ ลงพื้นที่หาเสียงเลือกตั้งนายก อบจ. ปทุมธานี 

ในช่วงโค้งสุดท้าย

ภาพ: ชาญ พวงเพ็ชร์ / Facebook

 

ชัยชนะ ชาญ พวงเพ็ชร์ ไม่ใช่ชัยชนะของเพื่อไทย

 

ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต ให้ความเห็นกับ THE STANDARD ถึงการเลือกตั้งท้องถิ่นในครั้งนี้ว่า ชัยชนะของ ชาญ พวงเพ็ชร์ เป็นชัยชนะที่มาจากความนิยมส่วนบุคคล พรรคเพื่อไทยแม้จะเป็นผู้สนับสนุน แต่เป็นปัจจัยรอง และไม่สามารถเคลมความสำเร็จในครั้งนี้ได้ 

 

ชาญเป็นอดีตนายก อบจ. มาแล้ว 3 สมัย ด้วยคะแนนที่เฉือนกันมากขนาดนี้ก็แสดงให้เห็นว่า คะแนนความนิยมของทั้งชาญและ พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เมื่อเทียบกับการเลือกตั้งครั้งที่แล้วต่างก็ลดลงทั้งสองคน โดยเป็นผลจากจำนวนผู้ออกไปใช้สิทธิ รวมถึงปัจจัยทางสภาพอากาศ แต่ถือว่าเป็นการต่อสู้ที่ทุกคนให้ความสนใจกันทั้งประเทศ 

 

ผศ.ดร.วันวิชิต กล่าวอีกว่า ชัยชนะครั้งนี้ไม่อาจโยงไปถึงการเมืองใหญ่ระดับชาติได้ แต่สามารถอ้างเพื่อการเสริมสร้างขวัญกำลังใจ กระนั้นการแข่งขันครั้งนี้ได้เห็นว่าคะแนนที่มีความสูสีกัน จนทำให้ทุกฝ่ายต้องกลับมาทบทวนตัวเองทั้งการปรับเป็นกลยุทธ์และรูปแบบการหาเสียง

 

ผศ.ดร.วันวิชิต บุญโปร่ง นักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

 

“หากพรรคเพื่อไทยระดมสรรพกำลังมากมายขนาดนี้แล้วยังชนะอย่างหวุดหวิด เป็นชัยชนะที่หืดขึ้นคอ ไม่ได้ชนะด้วยคะแนนหลักหมื่น หลักแสน ก็ต้องยอมรับว่าความนิยมชาญนั้นมีมากกว่าความนิยมของพรรคเพื่อไทย เมื่อเราเห็นผลกันขนาดนี้ พรรคเพื่อไทย โดยเฉพาะทักษิณชินหรือครอบครัวตระกูลชินวัตร ไม่อาจจะอ้างเครดิตได้ แต่ไม่ถึงขั้นหมดมนตร์ขลัง แต่สามารถพูดได้ตามปรากฏการณ์ชั่วครั้งชั่วคราวเท่านั้น” 

 

ปทุมธานีการเมือง 3 สี 

 

ผศ.ดร.วันวิชิต ยังกล่าวถึงการเมืองในจังหวัดปทุมธานี โดยเฉพาะความสัมพันธ์ของพี่ใหญ่ (ทักษิณ ชินวัตร) และน้องแจ๊ส (พล.ต.ท. คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง) ว่าการเมืองเป็นความสัมพันธ์ที่ไม่แน่นอน เป็นเรื่องของการต่อรองผลประโยชน์ที่มีความสลับซับซ้อน

 

แต่ก่อนชาญก็เคยอยู่พรรคภูมิใจไทย ก่อนที่จะย้ายมาร่วมงานกับพรรคเพื่อไทย ส่วน พล.ต.ท. คำรณวิทย์ คือฐานเสียงคนสำคัญของพรรคแดงมาก่อน และมีคณะทำงานบางส่วนจะไปอยู่กับพรรคภูมิใจไทย 

 

ดังนั้นจังหวัดปทุมธานีมีการเมืองที่ประกอบไปด้วย 3 พรรคการเมืองใหญ่ คือ พรรคสีแดง พรรคน้ำเงิน และพรรคสีส้ม การเลือกตั้งครั้งนี้เป็นการสู้กันระหว่างพรรคสีแดงและพรรคสีน้ำเงิน จึงนำไปสู่เมื่อฐานเสียงมีความทับซ้อนกันและตัดกัน จึงโยงไปให้ผลถึงการเลือกตั้งเมื่อปี 2566 พรรคก้าวไกลจึงได้ส้มหล่นและได้คะแนนในส่วนนี้ไป 

 

ส่วนเลือกตั้งนายก อบจ. หนนี้ พรรคสีส้มไม่ได้ส่งผู้สมัคร รวมถึงไม่ได้เปิดเผยอย่างเป็นทางการว่าจะสนับสนุนใคร ดังนั้นเป็นการพิสูจน์ว่าการเมืองในจังหวัดปทุมธานีมีทั้งสิ้น 3 สี 

 

บ้านใหญ่ยังได้เปรียบ

 

ผศ.ดร.วันวิชิต กล่าวเสริมถึงการเลือกตั้ง อบจ. ที่จะเกิดขึ้นในช่วงปลายปีนี้อีกว่า จะถูกแบ่งตามบริบทและใช้ความนิยมของบ้านใหญ่ หรือความนิยมส่วนบุคคลจะเหนือกว่าความนิยมของพรรคเสมอ โดยที่การเมืองจะไม่มีผลใดๆ ยกเว้นว่าพรรคนั้นมีผลงานหรือมีนโยบายของพรรคที่สนับสนุน อบจ. ลงมาในพื้นที่ จะทำให้เกิดทั้งตัวบุคคลและความนิยมของพรรคไปพร้อมๆ กัน 

 

สุดท้ายอยากให้มองภาพรวมว่า ตระกูลการเมืองบ้านใหญ่ที่มีเสียงของการจัดตั้งได้เปรียบอยู่แล้ว เนื่องจากการเลือกตั้งท้องถิ่นต้องยอมรับว่า การดึงดูดของประชาชน โดยเฉพาะนิวโหวตเตอร์ เมื่อเทียบกับการเมืองระดับชาติยังไม่ได้ไปไกลถึงจุดนั้น โดยยังมีความแตกต่าง เพราะความรู้ ความเข้าใจ ถึงความสำคัญของการเลือกตั้งท้องถิ่น ดังนั้นใครที่เป็นบ้านใหญ่ มีฐานเสียงในการจัดตั้งเป็นกอบเป็นกำ จะได้เปรียบมากกว่า

 

เลือกตั้งท้องถิ่น ‘กระสุน’ ยังนำกระแส 

 

สำหรับปัจจัยชี้ขาดของการเลือกตั้งท้องถิ่นนั้น ผศ.ดร.วันวิชิต กล่าวว่า กระสุนอาจจะนำกระแสได้ ยกเว้นว่าความนิยมของพรรครัฐบาลไม่มีผลงาน จนกลายเป็นจุดอ่อนที่ทำให้ถูกโจมตี 

 

“ต้องยอมรับว่าการเลือกตั้ง อบจ. ในพื้นที่นั้นสู้กันหนักอย่างแน่นอน เพราะทุกคนเริ่มให้ความสนใจการเมืองระดับท้องถิ่นมากขึ้น แม้จะยังไม่เทียบเท่าการเมืองระดับชาติ” ผศ.ดร.วันวิชิต กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

X
Close Advertising