ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 การก่อสร้างภาครัฐเผชิญความท้าทายจากความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2567 อย่างไรก็ดี การประกาศใช้งบประมาณในเดือนพฤษภาคม 2567 ส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมเร่งตัว โดยคาดว่าในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 การก่อสร้างภาครัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากการเบิกจ่ายงบลงทุนที่เร่งตัวขึ้น สำหรับปี 2568 หากการจัดทำงบประมาณประจำปี 2568 ยังสามารถดำเนินการได้ทันไทม์ไลน์และประกาศใช้ภายในเดือนกันยายน 2567 หรือล่าช้าออกไปจากนี้ไม่มากนัก และมีการเร่งเบิกจ่ายได้ทัน จะเป็นปัจจัยหนุนการก่อสร้างภาครัฐในปี 2568
โดย SCB EIC คาดว่า มูลค่าการก่อสร้างภาครัฐในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัว 3%YoY นอกจากนี้หน่วยงานต่างๆ มีแผนเตรียมเสนอเปิดประมูลโครงการเมกะโปรเจกต์ด้านคมนาคม เป็นโอกาสสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ และส่งผลต่อเนื่องให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรายกลางและเล็กในฐานะผู้รับเหมาช่วงมีโอกาสสร้างรายได้มากขึ้นและมีสภาพคล่องที่ดีขึ้น
การก่อสร้างภาคเอกชนในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัว 1% การก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัย เผชิญแรงกดดันจากการฟื้นตัวช้าของตลาดที่อยู่อาศัย โดยเฉพาะโครงการระดับราคาปานกลางลงมา อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการหันมาเปิดโครงการระดับราคาปานกลาง-บนมากขึ้น ซึ่งต้นทุนค่าก่อสร้างปรับตัวสูงขึ้นตามรูปแบบโครงการ สำหรับอุปทานพื้นที่ค้าปลีกและพื้นที่สำนักงานให้เช่ายังมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอีกราว 1 ล้านตารางเมตรในปี 2567 รวมถึงในปี 2568-2570 อุปทานพื้นที่ค้าปลีกและอุปทานพื้นที่สำนักงานให้เช่ายังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยที่ 0-2% และ 2-4% ต่อปี ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาภาวะ Oversupply ของอุปทานพื้นที่สำนักงานให้เช่า ที่อาจส่งผลให้เกิดการยกเลิกโครงการที่ไม่มีศักยภาพออกไป ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงต่อการก่อสร้างภาคเอกชนในระยะข้างหน้า
ในระยะข้างหน้ายังต้องจับตาข้อกำหนดด้านสิ่งแวดล้อม ที่จะเป็นเงื่อนไขในการเข้าประมูลงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่อย่างเข้มงวดมากขึ้น ผู้รับเหมาก่อสร้างกลุ่มที่มีการกำหนดเป้าหมายและตัวชี้วัดการลดการปล่อย GHG ไปจนถึงรายงานผลการดำเนินการลดการปล่อย GHG จะเป็นกลุ่มที่มีความสามารถในการแข่งขันเข้าประมูลงานก่อสร้างโครงการขนาดใหญ่ทั้งภาครัฐและเอกชนได้มากขึ้นในระยะข้างหน้า
ภาพรวมอุตสาหกรรม
ธุรกิจรับเหมาก่อสร้างในไทยมีผู้เล่นที่หลากหลาย ทั้งผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ ซึ่งมีความสามารถในการรับเหมาก่อสร้าง สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ที่เป็นโครงการขนาดใหญ่และมีความซับซ้อน รวมถึงผู้รับเหมาก่อสร้างรายกลางและเล็ก ซึ่งมีบทบาทเป็นผู้รับเหมาช่วงจากผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ และมีความสามารถในการรับเหมาก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่เป็นโครงการขนาดกลางและเล็กที่ไม่มีความซับซ้อนมากนัก
โดยสามารถจำแนกผู้รับเหมาก่อสร้างได้เป็น 4 กลุ่มหลัก ได้แก่
- กลุ่มที่รับงานก่อสร้างโครงการภาครัฐเป็นหลัก เช่น โครงสร้างพื้นฐาน
- กลุ่มที่รับงานก่อสร้างโครงการภาคเอกชนเป็นหลัก เช่น อาคาร ที่อยู่อาศัย โรงงาน
- กลุ่มที่รับงานก่อสร้างอื่นๆ เช่น งานฐานราก งานแปรรูปและประกอบกลุ่มชิ้นงานโครงสร้าง งานตกแต่ง งานวางระบบท่อ ระบบไฟฟ้า และระบบสื่อสาร
- กลุ่มที่รับงานที่ปรึกษา บริหาร และควบคุมงานก่อสร้าง
ในระยะที่ผ่านมา ผู้รับเหมาก่อสร้างโดยเฉพาะกลุ่มที่รับงานโครงการภาครัฐเป็นหลัก เผชิญความท้าทายจากทั้งความล่าช้าในการประมูลงานใหม่และการเบิกจ่ายงบประมาณ รวมถึงต้นทุนก่อสร้างที่สูงขึ้น มูลค่าภาคก่อสร้างในไทยโดยรวมอยู่ที่ราวปีละ 1.4 ล้านล้านบาท ในจำนวนนี้สัดส่วนกว่า 57% เป็นการก่อสร้างภาครัฐ และอีก 43% เป็นการก่อสร้างภาคเอกชน
โดยผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่จำนวน 19 ราย มีส่วนแบ่งตลาดรวมกันคิดเป็นสัดส่วนราว 15% ของมูลค่าภาคก่อสร้างโดยรวม ขณะที่ส่วนแบ่งตลาดอีกราว 85% กระจายไปยังผู้รับเหมาก่อสร้างรายกลางและเล็ก ซึ่งก่อให้เกิดกิจกรรมการก่อสร้างที่หลากหลาย อีกทั้งยังก่อให้เกิดเม็ดเงินสะพัดไปยังผู้เล่นในซัพพลายเชนของภาคก่อสร้างที่เป็นธุรกิจเกี่ยวเนื่องอื่นๆ เช่น ธุรกิจผลิตและค้าวัสดุก่อสร้าง ธุรกิจออกแบบและตกแต่งภายใน ธุรกิจที่ปรึกษาและกำกับการก่อสร้าง
ในระยะ 1-2 ปีที่ผ่านมา ผู้รับเหมาก่อสร้างเผชิญความท้าทายในการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่กลุ่มที่รับงานโครงการก่อสร้างภาครัฐเป็นหลัก โดยเป็นผลมาจากความล่าช้าในการเปิดประมูลงานโครงการก่อสร้างภาครัฐใหม่ๆ รวมถึงราคาวัสดุก่อสร้างโดยเฉพาะเหล็กและปูนซีเมนต์ ไปจนถึงต้นทุนแรงงานปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่การปรับขึ้นราคากลางในการเข้าประมูลงานโครงการก่อสร้างภาครัฐยังเป็นไปอย่างจำกัด รวมถึงการเบิกจ่ายงบประมาณยังเป็นไปได้อย่างล่าช้า เป็นเหตุให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่กลุ่มที่รับงานโครงการก่อสร้างภาครัฐเป็นหลักเผชิญปัญหาขาดสภาพคล่อง และส่งผลกระทบต่อเนื่องมายังผู้รับเหมาก่อสร้างรายกลางและเล็กที่เป็นผู้รับเหมาช่วง โดยข้อมูลจากกรมพัฒนาธุรกิจการค้าระบุว่า ในปี 2566 มีผู้รับเหมาก่อสร้างปิดกิจการจำนวน 2,306 ราย เพิ่มขึ้น 7% อย่างต่อเนื่องจากปี 2565 ที่การปิดกิจการเพิ่มขึ้นถึง 30% จากปีก่อนหน้า ขณะที่การจัดตั้งกิจการใหม่ในปี 2566 หดตัวลง 8% เมื่อเทียบกับปี 2565
แนวโน้มอุตสาหกรรม
การก่อสร้างภาครัฐปี 2567 มีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี หลังงบประมาณประจำปี 2567 ประกาศใช้ สำหรับปี 2568 มูลค่าการก่อสร้างภาครัฐมีแนวโน้มขยายตัว 3% ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 การก่อสร้างภาครัฐเผชิญความท้าทายจากความล่าช้าในการจัดทำงบประมาณประจำปี 2567 เนื่องจากเป็นปีที่มีการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2567 อยู่ในระดับต่ำกว่าปีปกติมาก อย่างไรก็ดี การประกาศใช้งบประมาณประจำปี 2567 ในเดือนพฤษภาคม 2567 ได้ส่งผลให้อัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนสะสมเร่งตัวขึ้น และฟื้นตัวขึ้นมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับปี 2020 ซึ่งเป็นปีที่การจัดทำงบประมาณประจำปีมีความล่าช้าเช่นเดียวกัน โดย SCB EIC คาดว่า ในช่วงครึ่งหลังของปี 2567 การก่อสร้างภาครัฐมีแนวโน้มฟื้นตัวดีขึ้นจากการเบิกจ่ายงบลงทุนที่เร่งตัวขึ้น โดยเฉพาะในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี ซึ่งเป็นช่วงท้ายของปีงบประมาณ
สำหรับปี 2568 หากการจัดทำงบประมาณประจำปี 2568 ยังสามารถดำเนินการได้ทันไทม์ไลน์และประกาศใช้ภายในเดือนกันยายน 2567 หรือล่าช้าออกไปจากนี้ไม่มากนักและมีการเร่งเบิกจ่ายได้ทัน จะเป็นปัจจัยหนุนการก่อสร้างภาครัฐในปี 2568 โดย SCB EIC คาดว่า มูลค่าการก่อสร้างภาครัฐในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัว 3%YoY ซึ่งผู้รับเหมาก่อสร้างที่รับงานโครงการก่อสร้างภาครัฐเป็นหลักมีโอกาสเข้าประมูลโครงการก่อสร้างภายใต้งบประมาณประจำปี 2568
นอกจากนี้หน่วยงานต่างๆ มีแผนเตรียมเสนอเปิดประมูลโครงการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะโครงการเมกะโปรเจกต์ด้านการคมนาคม ซึ่งคาดว่าจะมีโครงการที่สามารถเปิดประมูลในปี 2567 และ 2568 เช่น รถไฟทางคู่ เฟส 2 ช่วงขอนแก่น-หนองคาย มอเตอร์เวย์สาย 9 วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตก ช่วงบางขุนเทียน-บางบัวทอง อาคารผู้โดยสารสนามบินสุวรรณภูมิ ส่วนต่อขยายด้านทิศตะวันออก ซึ่งจะทยอยหนุนให้เกิดเม็ดเงินจากโครงการก่อสร้างภาครัฐในปี 2568 เป็นต้นไป นับเป็นโอกาสสำหรับผู้รับเหมาก่อสร้างรายใหญ่ในการเข้าประมูลโครงการ และส่งผลต่อเนื่องให้ผู้รับเหมาก่อสร้างรายกลางและเล็กในฐานะผู้รับเหมาช่วงมีโอกาสในการสร้างรายได้มากขึ้นและมีสภาพคล่องที่ดีขึ้นกว่าปี 2567
นอกจากนี้ยังมีโครงการเมกะโปรเจกต์ด้านการคมนาคมที่กำลังดำเนินการศึกษา และอยู่ระหว่างการขออนุมัติดำเนินโครงการ เช่น รถไฟทางคู่ เฟส 2 ช่วงต่างๆ รถไฟฟ้าสายใหม่และส่วนต่อขยายในกรุงเทพฯ และปริมณฑล ซึ่งจะทยอยหนุนให้เกิดเม็ดเงินก่อสร้างจากโครงการก่อสร้างภาครัฐในระยะปานกลางอีกด้วย
มูลค่าการก่อสร้างภาคเอกชนในปี 2568 มีแนวโน้มขยายตัวที่ 1% โดยโครงการที่อยู่อาศัยเผชิญแรงกดดันจากการฟื้นตัวช้าของตลาดที่อยู่อาศัย รวมถึงยังต้องจับตาภาวะ Oversupply ของอุปทานพื้นที่สำนักงานให้เช่า ที่อาจส่งผลให้เกิดการยกเลิกโครงการที่ไม่มีศักยภาพออกไป การก่อสร้างภาคเอกชนในส่วนของการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัยเผชิญแรงกดดันจากการฟื้นตัวช้าของตลาดที่อยู่อาศัย ทั้งหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง อุปสรรคในการเข้าถึงสินเชื่อ และราคาที่อยู่อาศัยใหม่ที่ปรับตัวสูงขึ้น ซึ่งเป็นความท้าทายต่อการเปิดตัวโครงการที่อยู่อาศัยใหม่ โดยเฉพาะโครงการกลุ่มระดับราคาปานกลางลงมา
อย่างไรก็ดี ในระยะที่ผ่านมาผู้ประกอบการพัฒนาที่อยู่อาศัยหันมาเปิดโครงการกลุ่มระดับราคาปานกลาง-บนมากขึ้น ส่งผลให้มูลค่าโครงการที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่ปรับตัวสูงขึ้น โดยนอกจากจะมาจากราคาที่ดินที่ปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องแล้ว อีกส่วนหนึ่งมาจากต้นทุนค่าก่อสร้างที่ปรับตัวสูงขึ้นตามรูปแบบโครงการที่อยู่อาศัยที่เป็นกลุ่มระดับราคาปานกลาง-บน ซึ่งจะช่วยหนุนให้เกิดเม็ดเงินสะพัดจากกิจกรรมการก่อสร้างภาคเอกชนที่มาจากการก่อสร้างโครงการที่อยู่อาศัย แม้จำนวนหน่วยที่อยู่อาศัยเปิดตัวใหม่จะลดลงก็ตาม
ในส่วนของการก่อสร้างโครงการอสังหาริมทรัพย์เชิงพาณิชย์ขนาดใหญ่ยังดำเนินไปอย่างต่อเนื่อง โดยผู้ประกอบการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ขยายโครงการพื้นที่ค้าปลีกและโครงการมิกซ์ยูสขนาดใหญ่ในทำเลย่านธุรกิจและย่านท่องเที่ยว รวมถึงพื้นที่สำนักงานให้เช่าเกรด A ส่งผลให้อุปทานพื้นที่ค้าปลีกและอุปทานพื้นที่สำนักงานให้เช่ายังมีแนวโน้มขยายตัวเพิ่มขึ้นอีกราว 1 ล้านตารางเมตรในปี 2567 แตะระดับ 19.1 ล้านตารางเมตร อีกทั้งเมื่อพิจารณาแผนการเปิดโครงการของผู้ประกอบการ SCB EIC ประเมินว่า ในปี 2568-2570 อุปทานพื้นที่ค้าปลีกและอุปทานพื้นที่สำนักงานให้เช่ายังมีแนวโน้มขยายตัวอย่างต่อเนื่องโดยเฉลี่ยที่ 0-2% และ 2-4% ต่อปี ตามลำดับ เป็นปัจจัยหนุนให้เกิดเม็ดเงินจากกิจกรรมการก่อสร้างภาคเอกชนอย่างต่อเนื่องในระยะปานกลาง อย่างไรก็ตาม ยังต้องจับตาภาวะ Oversupply ของอุปทานพื้นที่สำนักงานให้เช่าที่อาจส่งผลให้เกิดการยกเลิกโครงการที่ไม่มีศักยภาพออกไป ซึ่งนับเป็นความเสี่ยงต่อการก่อสร้างภาคเอกชนในระยะข้างหน้า