×

เร่งยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตไทย ให้ก้าวไกลอย่างยั่งยืน

30.08.2023
  • LOADING...
อุตสาหกรรมการผลิต

เราคงปฏิเสธไม่ได้ว่าท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และความไม่แน่นอนในสถานการณ์ปัจจุบัน อุตสาหกรรมการผลิตต้องเผชิญกับความท้าทายในหลากหลายมิติ จากผลสำรวจของ KPMG เรื่อง Global Manufacturing Prospects 2023 ซึ่งเป็นข้อคิดเห็นจากผู้บริหารในอุตสาหกรรมการผลิตชั้นนำทั่วโลก พบว่า

 

  • ผู้บริหารมากกว่าร้อยละ 85 ให้ความสำคัญกับการ Diversify Supply Chain หรือการเพิ่มความหลากหลาย เพิ่มช่องทาง/ทางเลือกต่างๆ ในห่วงโซ่อุปทาน เพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่แน่นอน และสร้างความคล่องตัวให้กับห่วงโซ่อุปทาน
  • ผู้บริหารมากกว่าร้อยละ 80 ให้ความสำคัญกับการทบทวนกลยุทธ์การลงทุน ซึ่งมีผลมาจากการปรับเปลี่ยนของ Supply Chain รวมถึงให้สอดรับกับ Trend ใหม่ๆ เช่น การลงทุนในธุรกิจที่เกี่ยวเนื่องกับ EV หรือพลังงานสะอาดมากขึ้น
  • ผู้บริหารมากกว่าร้อยละ 50 ให้ความสำคัญอย่างสูงกับการสร้าง Partnerships การควบรวมกิจการ เพื่อเร่งให้ธุรกิจเติบโต และเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว
  • ESG (Environmental, Social, and Governance) คือเป้าหมายสำคัญขององค์กร แต่ยังพบว่ามีความท้าทายในอีกหลายมิติ เช่น ความยากและซับซ้อนในการลดคาร์บอนจากห่วงโซ่อุปทาน การผลิตที่มีอยู่เดิม ขาดเทคโนโลยีในการสนับสนุน ขาดความรู้ความชำนาญของผู้เกี่ยวข้อง อีกทั้งขาดความต่อเนื่องในการวัดผล กำกับติดตามให้ได้ตามเป้าหมาย
  • ผู้บริหารเชื่อว่าพนักงานคือหัวใจสำคัญในการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลง และสร้างธุรกิจให้เติบโตอย่างยั่งยืน
  • ผู้บริหารส่วนใหญ่เชื่อว่าถึงเวลาแล้ว ที่ต้องเร่งทบทวนการลงทุนด้าน Digital Technology โดยมุ่งลงทุนเพื่อตอบโจทย์โอกาสใหม่ๆ ทางธุรกิจ และยกเลิกส่วนที่ล้าสมัย หรือส่วนที่ไม่ก่อให้เกิดความคุ้มค่าต่อการลงทุน

 

เสริมความแข็งแกร่งให้ก้าวไกล ว่องไว ไม่สะดุด 

 

จากข้อมูลข้างต้นจะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า การนำองค์กรสู่การเติบโตภายใต้สถานการณ์ที่มีความท้าทายอยู่รอบด้าน จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องเร่งดำเนินการในหลายด้านควบคู่กันไป ดังนั้นแนวทาง ‘SUPER’ คืออีกหนึ่งแนวทางที่องค์กรสามารถนำไปปรับใช้ เพื่อเสริมความแข็งแกร่งให้ธุรกิจก้าวได้ไกล ว่องไว แบบไม่สะดุด

 

S: Supply Chain Resilience / Relocation

  • พิจารณาเพิ่มความหลากหลายในห่วงโซ่อุปทานเพื่อลดความเสี่ยงจากเหตุการณ์ไม่แน่นอน และสร้างความคล่องตัว ให้กับห่วงโซ่อุปทาน เช่น เพิ่มแหล่งจัดซื้อวัตถุดิบ เพิ่มรูปแบบการผลิตที่หลากหลาย ได้แก่ การผลิตเองควบคู่กับการจ้างผลิต พิจารณากระจายฐานการผลิต หรือเพิ่มเส้นทาง ช่องทางการขนส่งสินค้า เป็นต้น โดยการพิจารณาดำเนินการใดๆ ควรเปรียบเทียบระหว่างประโยชน์ที่ได้รับ และต้นทุน ความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้น
  • มองหาโอกาสจากที่จีนมีการขยายการลงทุน ฐานผลิตมายังประเทศไทยเพิ่มมากขึ้นอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากประเมินว่าประเทศไทยเป็นตลาดที่มีศักยภาพ มีความพร้อมและอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่สามารถเป็นศูนย์กลางแห่งอาเซียน เพื่อเชื่อมโยงตลาดสู่ประเทศเพื่อนบ้านได้อย่างกว้างขวาง

 

U: Unify

ในโลกที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว มีการแข่งขันกันอย่างรุนแรง เพื่อให้ธุรกิจเติบโต และเข้าสู่ธุรกิจใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว การผนึกกำลังกับพันธมิตร การควบรวมกิจการเพื่ออาศัยความเชี่ยวชาญและความแข็งแกร่งของพันธมิตร เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์ที่ควรพิจารณาปรับใช้ โดยปัจจัยสำคัญลำดับต้นๆ ของการเลือกพันธมิตรที่เหมาะสมมีดังนี้

  • Chemistry: การมีเป้าหมาย แนวคิดที่เป็นไปในแนวทางเดียวกัน
  • Credibility: ความน่าเชื่อถือในด้านต่างๆ ของพันธมิตร ทั้งด้านภาพลักษณ์ ชื่อเสียง ผลการดำเนินงาน เป็นต้น
  • Capability: ความสามารถที่ส่งเสริมกัน สามารถจับมือกันไปสู่เป้าหมายได้อย่างรวดเร็ว

 

P: People & Digital Technology

ปัจจุบันเรากำลังก้าวเข้าสู่ Industry 5.0 ซึ่งเป็นยุคการทำงานรูปแบบใหม่ที่เน้นการทำงานร่วมกันระหว่าง Humans กับ Smart Systems ในการเพิ่มประสิทธิภาพ ลดความผิดพลาดจากการทำงาน การใส่ใจในความปลอดภัย สถานประกอบการที่เป็นมิตรต่อมนุษย์ มุ่งเน้นการลดผลกระทบเชิงลบของกระบวนการทำงานและการผลิตที่จะมีต่อชุมชน สังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนั้น องค์กรควรเริ่มทบทวน ประเมิน และปรับกระบวนการทำงานในมิติต่างๆ เพื่อให้เกิดการทำงานด้วยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เสริมสร้างทักษะความรู้ความสามารถให้กับพนักงาน เพื่อให้พนักงานได้ใช้ศักยภาพในการทำงานร่วมกับเทคโนโลยีที่ทันสมัยได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ ควบคู่กับความใส่ใจ มีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

 

People and Digital Technology Collaboration

People & Digital Technology Collaboration

อ้างอิง: KPMG

 

E: ESG (Environmental, Social, and Governance)

ESG ไม่ใช่ทางเลือกอีกต่อไป แต่คือทางรอดขององค์กร ประเทศไทยได้ตั้งเป้าหมายมุ่งสู่การเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ไว้ภายในปี 2050 และปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2065 โดยในระดับองค์กรก็ควรเร่งดำเนินการเรื่อง ESG เช่นกัน เพราะไม่เพียงรักษาโลกของเราไว้เท่านั้น แต่ยังเป็นการรักษาไว้ซึ่งการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่องและยั่งยืน ในปัจจุบันหากองค์กรใดไม่ได้ให้ความสำคัญกับการดูแลสภาพภูมิอากาศ จะได้รับผลกระทบเชิงลบทางธุรกิจเป็นอย่างมาก ทั้งจากการไม่ยอมรับจากลูกค้าและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียที่เกี่ยวข้อง ตลอดทั้งการมีต้นทุนในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้น เช่น จากนโยบายสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) ของสถาบันการเงินที่พิจารณาให้เงินกู้ยืมดอกเบี้ยต่ำพิเศษ โดยกำหนดเงื่อนไขเชื่อมโยงกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ จะเห็นได้ว่า ESG เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินธุรกิจ ดังนั้น องค์กรจำเป็นต้องผนวกเรื่อง ESG เข้ากับการดำเนินธุรกิจตลอดทั้ง Value Chain เริ่มตั้งแต่การกำหนดเป้าหมายด้าน ESG ให้เป็นหนึ่งในกลยุทธ์ขององค์กร เช่น ตั้งเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากห่วงโซ่อุปทาน การนำเทคโนโลยีเข้ามาสนับสนุนการดำเนินการด้าน ESG ตลอดทั้งควรกำหนดตัวชี้วัดและกระบวนการกำกับติดตามการดำเนินการอย่างต่อเนื่องและเป็นระบบ  

 

R: Rethinking Investment

จากการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่อง Supply Chain Relocation การให้ความสำคัญด้าน Climate Change จำเป็นอย่างยิ่งที่องค์กรต้องพิจารณาพอร์ตการลงทุนให้สอดรับกับบริบทใหม่ๆ ที่เปลี่ยนไป เพื่อให้การลงทุนยังคงสร้างผลตอบแทนที่ดี โดยหากมีการลงทุนใดที่ไม่สร้างผลกำไรหรือไม่คุ้มค่า ควรพิจารณาตัดทอนอย่างเหมาะสม โดยปัจจุบันสิ่งที่ต้องให้ความสำคัญมากขึ้นควบคู่กับการลงทุนคือการประเมิน การบริหารความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ (Geopolitical Risk) ซึ่งเป็นความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับภาวะสงคราม การเมือง และความตึงเครียดระหว่างประเทศ ซึ่งอาจส่งผลทางตรง และ/หรือทางอ้อมต่อการลงทุนอย่างมีนัยสำคัญ

 

สุดท้ายนี้ จะเห็นได้ว่าการดำเนินธุรกิจให้เติบโตของอุตสาหกรรมการผลิตไทยในช่วงความไม่แน่นอนและมีความท้าทายรอบด้าน ไม่สามารถทำได้เพียงมิติเดียว เราจำเป็นต้องทำหลากหลายมิติควบคู่กันไป โดยควรเริ่มจากการรับรู้/เข้าใจสภาพการณ์ภายนอกที่อาจส่งผลต่อการดำเนินธุรกิจ ควบคู่กับการทำ Organizational Scanning เพื่อให้รู้ถึงสภาพการณ์ภายในขององค์กรอย่างครอบคลุม พิจารณาทบทวนเป้าหมาย/กลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจ พร้อมจัดลำดับความสำคัญและวางแผนงานที่ควรดำเนินการก่อนหลังอย่างเหมาะสม มุ่งใช้ทรัพยากรขององค์กรที่มีอยู่ให้เกิดความคุ้มค่าสูงสุด ควบคู่กับการมีพันธมิตรที่ตอบโจทย์เป้าหมาย ซึ่งทั้งหมดนี้คือส่วนสำคัญอย่างยิ่งที่จะขับเคลื่อนองค์กรของเราให้เกิดการเติบโต ก้าวไกลได้อย่างยั่งยืน

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X