×

สำรวจความสำเร็จของแฟรนไชส์ Fast & Furious ที่พาครอบครัวรถซิ่งข้างถนนพุ่งทะยานสู่อวกาศ

13.05.2023
  • LOADING...
fast & furious

เหลือเวลาอีกไม่นานแล้วที่แฟนๆ ของครอบครัว Toretto จะได้ไปร่วมออกซิ่งกันอีกครั้งใน Fast X ภาพยนตร์ภาคที่ 10 จากแฟรนไชส์ Fast & Furious ซึ่งมีกำหนดเข้าฉายในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ โดยครั้งนี้ Dominic Toretto (Vin Diesel) จะต้องเผชิญหน้ากับ Dante Reyes (Jason Momoa) วายร้ายคนใหม่ที่โหดเหี้ยมกว่าทุกครั้งที่ผ่านมา  

 

THE STANDARD POP ขอพาทุกคนเดินทางกลับสู่จุดสตาร์ทของแฟรนไชส์ Fast & Furious พร้อมสำรวจหลากหลายองค์ประกอบสำคัญที่ส่งให้เรื่องราวของครอบครัวรถซิ่งข้างถนนกลุ่มนี้ กลายเป็นหนึ่งในแฟรนไชส์ภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม เพื่อเป็นการอุ่นเครื่องก่อนไปร่วมออกซิ่งกับครอบครัว Toretto กันอีกครั้งใน Fast X 17 พฤษภาคมนี้ ในโรงภาพยนตร์ 

 


บทความที่เกี่ยวข้อง:


 

The Fast and the Furious (2001)

ภาพ: IMDb 

 

The Fast and the Furious (2001) ภาพยนตร์แข่งรถข้างถนนที่ได้รับแรงบันดาลใจจากนักแข่งรถข้างถนนตัวจริง

 

ย้อนกลับไปในปี 1998 Rob Cohen ผู้กำกับจาก The Skulls (2000) และโปรดิวเซอร์ Neal H. Moritz ที่กำลังเตรียมวางแผนการสร้างภาพยนตร์แอ็กชันเรื่องใหม่ให้กับค่าย Universal Pictures ได้อ่านบทความชิ้นหนึ่งของนิตยสาร Vibe ในชื่อ Racer X ของนักเขียนนาม Kenneth Li ซึ่งมีเนื้อหาเกี่ยวกับวัฒนธรรมการแข่งรถข้างถนน ณ กรุงนิวยอร์ก ในช่วงปลายยุค 90 

 

โดย Kenneth Li ได้เข้าไปคลุกคลีอยู่กับนักแข่งรถข้างถนนตัวจริงอย่าง Rafael Estevez เพื่อทำความรู้จักกับการแข่งรถข้างถนนและวัฒนธรรมที่อยู่โดยรอบ ไล่เรียงตั้งแต่ความหลงใหลในการแต่งรถ การใช้ไนตรัสออกไซด์ในการแข่งขัน ปรัชญาในการแข่งรถของ Rafael Estevez ที่เปรียบเปรยว่า การแข่งรถข้างถนนคือ ‘สงคราม’ ที่ต่างคนต่างทุ่มทั้งชีวิตเพื่อเอาชนะกัน ไปจนถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง Rafael Estevez และเพื่อนๆ นักแข่งรถที่สนิทสนมและเชื่อใจกันเสมือนเป็น ‘ครอบครัว’ เดียวกัน 

 

เรื่องราวการแข่งรถข้างถนนของ Rafael Estevez ที่ถูกบอกเล่าผ่าน Kenneth Li ได้กลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญให้กับ Rob Cohen และ Neal H. Moritz ในการสร้างสรรค์ตัวละครหลักของเรื่องอย่าง Dominic Toretto รวมถึงเรื่องราวความสัมพันธ์ระหว่าง Toretto และพรรคพวกของเขาที่กลายเป็นแกนหลักสำคัญของแฟรนไชส์ชุดนี้  

 

Rob Cohen และ Neal H. Moritz ได้ชักชวนสองมือเขียนบทอย่าง Gary Scott Thompson และ Erik Bergquist มารับหน้าที่เขียนบทให้กับภาพยนตร์เรื่องนี้ ก่อนที่จะได้ David Ayer มาร่วมเขียนบทในภายหลัง 

 

โดยแรกเริ่มเดิมทีภาพยนตร์เรื่องนี้มีชื่อว่า Redline ก่อนที่จะเปลี่ยนชื่อเป็น The Fast and the Furious ซึ่งมีที่มาจากภาพยนตร์แข่งรถในชื่อเดียวกันของสองผู้กำกับ Edward Sampson และ John Ireland ที่ออกฉายในปี 1954 

 

The Fast and the Furious ว่าด้วยเรื่องราวของ Brian O’Conner (Paul Walker) ตำรวจแอลเอที่ต้องปลอมตัวเข้าไปอยู่กับแก๊งแข่งรถข้างถนนที่นำโดย Dominic Toretto (Vin Diesel) ซึ่งมีจุดเชื่อมโยงกับคดีปล้นรถบรรทุกและจับตัวคนร้ายให้สำเร็จ แต่เมื่อความสัมพันธ์ระหว่าง Brian และ Toretto เริ่มแน่นแฟ้นขึ้น เขาจึงต้องเลือกระหว่างหน้าที่กับความสัมพันธ์ของพรรคพวก  

 

The Fast and the Furious ออกฉายอย่างเป็นครั้งแรกในปี 2001 ซึ่งแม้ว่าตัวภาพยนตร์จะได้รับเสียงวิจารณ์จากผู้ชมทั้งในแง่บวกและลบ แต่ก็สามารถกวาดรายได้รวมทั่วโลกไปได้สูงถึง 207 ล้านดอลลาร์สหรัฐ จากทุนสร้าง 38 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

 

Fast Five (2011)

ภาพ: IMDb 

 

ผลลัพธ์ของการ ‘ลองผิดลองถูก’ และ ‘ความกล้าบ้าบิ่น’ ที่นำพาแก๊งรถซิ่งข้างถนนพุ่งทะยานสู่อวกาศ

 

Fast & Furious นับว่าเป็นแฟรนไชส์ที่เดินทางมาไกลจากจุดสตาร์ทมากทีเดียว โดยหากนับตั้งแต่ The Fast and the Furious ภาคแรก มาจนถึงภาคล่าสุดอย่าง Fast X แฟรนไชส์ชุดนี้ได้มีการสร้างภาคต่อมาแล้วถึง 10 ภาค ซึ่งจะเป็นบทแรกของภาพยนตร์ไตรภาคที่จะนำไปสู่บทสรุปของแฟรนไชส์ จากเดิมที่ถูกวางแผนให้จบในภาคที่ 11 

 

รวมถึงได้รับการต่อยอดเป็นสื่อบันเทิงอื่นๆ อีกมากมาย ทั้งภาพยนตร์ภาคแยกอย่าง Fast & Furious Presents: Hobbs & Shaw (2019) ภาพยนตร์สั้น แอนิเมชันซีรีส์ วิดีโอเกม และธีมพาร์ก

 

ซึ่งแม้ว่าภาพยนตร์แต่ละเรื่องจะได้รับกระแสวิจารณ์ทั้งแง่บวกและลบสลับกันไป แต่แฟรนไชส์ชุดนี้ก็สามารถกวาดรายได้รวมทั่วโลกไปสูงกว่า 6,616 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ขึ้นแท่นเป็นแฟรนไชส์ภาพยนตร์ที่ทำรายได้สูงสุดตลอดกาลอันดับที่ 8  

 

หนึ่งในคำถามที่น่าสนใจคือ ‘อะไร’ ที่ส่งให้แฟรนไชส์ Fast & Furious สามารถเอาชนะใจผู้ชมทั่วโลก จนกลายเป็นหนึ่งในแฟรนไชส์ภาพยนตร์ที่ประสบความสำเร็จอย่างล้นหลาม โดยหากเราลองหยิบองค์ประกอบหลายๆ ส่วนของแฟรนไชส์ชุดนี้ขึ้นมาดู เราจะพบว่า มันคือผลลัพธ์ของการลองผิดลองถูกและความกล้าบ้าบิ่นในการฉีกกรอบความเป็นไปได้ของการออกแบบฉากแอ็กชันที่มี ‘รถ’ เป็นหัวใจสำคัญ ให้เวอร์วังมากขึ้นในทุกๆ ภาค 

 

เริ่มต้นที่ภาพยนตร์ภาคต่ออย่าง 2 Fast 2 Furious (2003) โดยหนึ่งในนักแสดงนำจากภาคแรกอย่าง Vin Diesel ได้ปฏิเสธที่จะกลับมารับบทเดิม เพราะเขาคิดว่าบทในภาคนี้ดูอ่อนกว่าภาคแรก ทางสตูดิโอจึงตัดสินใจให้ 2 Fast 2 Furious เป็นภาพยนตร์ภาคแยกที่ไม่มีจุดเชื่อมโยงกับภาคแรก โดยมี Brian O’Conner เป็นจุดศูนย์กลางของเรื่องแทน 

 

ซึ่งแม้ว่าตัวภาพยนตร์จะสามารถกวาดรายได้รวมทั่วโลกไปสูงถึง 236 ล้านดอลลาร์สหรัฐ แต่ภาพยนตร์กลับได้กระแสวิจารณ์ในแง่ลบเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะตัวบทภาพยนตร์ที่ไม่มีมิติและขาดเสน่ห์ที่ภาพยนตร์ภาคแรกเคยมี

 

หลังจากที่ 2 Fast 2 Furious ออกฉาย ทีมสร้างได้พยายามชักชวน Vin Diesel และทีมนักแสดงจากภาคแรก ให้กลับมาสานต่อเรื่องราวในภาคที่ 3 แต่กลับไม่เป็นผล พวกเขาจึงตัดสินใจตัดสองตัวละครหลักอย่าง Brian O’Conner และ Dominic Toretto ออกไป แล้วหันไปเล่าเรื่องราวของตัวละครใหม่ สถานที่ใหม่ และไม่มีจุดเชื่อมโยงกับภาคแรก (อาจจะมีเล็กๆ น้อยๆ ในฉากจบของเรื่องที่ได้ Vin Diesel กลับมาปรากฏตัวสั้นๆ) โดยใช้ชื่อภาคว่า The Fast and the Furious: Tokyo Drift (2006) และได้ Justin Li จาก Better Luck Tomorrow (2002) มานั่งแท่นผู้กำกับ 

 

ซึ่งหลังจากที่ภาพยนตร์ออกฉายก็ทำรายได้รวมทั่วโลกไปเพียง 158 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งลดลงจากสองภาคแรก และยังเป็นภาคที่ทำรายได้น้อยที่สุดของแฟรนไชส์ 

 

จุดอ่อนข้อสำคัญของ 2 Fast 2 Furious และ The Fast and the Furious: Tokyo Drift เห็นจะเป็นการขาดสองตัวละครหลักอย่าง Brian O’Conner และ Dominic Toretto ที่เป็นหัวใจสำคัญของเรื่อง รวมไปถึงเนื้อเรื่องที่ไม่ได้มีความเชื่อมโยงกับภาคแรกมากนัก ทีมสร้างจึงต้องสร้าง ‘ภาคต่อจริงๆ’ ของแฟรนไชส์ขึ้นมาอีกครั้ง จนเกิดเป็นภาพยนตร์ภาคที่ 4 ในชื่อ Fast & Furious (2009) ซึ่งมีเรื่องราวที่เชื่อมโยงกับภาคแรกโดยตรง รวมถึงได้ทีมนักแสดงชุดเดิมกลับมารับบทนำ 

 

แม้ว่า Fast & Furious จะยังได้รับกระแสวิจารณ์ในแง่ลบอยู่บ้าง แต่ภาพยนตร์ก็สามารถทำรายได้รวมทั่วโลกสูงขึ้นถึง 360 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

 

หลังจากที่ทีมสร้างพยายามลองผิดลองถูกอยู่หลายครั้ง ในที่สุดพวกเขาก็เจอ ‘เส้นทาง’ ที่ถูกต้องของแฟรนไชส์ชุดนี้ นั่นคือภาพยนตร์ภาคที่ 5 ในชื่อ Fast Five (2011) ที่ทีมสร้างตัดสินใจพาตัวละครจากทุกภาคกลับมารวมทีมปล้นให้แฟนๆ ได้หายคิดถึง ไม่ว่าจะเป็น Matt Schulze จากภาคแรก, Tyrese Gibson และ Ludacris จากภาค 2 Fast 2 Furious, Sung Kang จากภาค Tokyo Drift รวมถึง Gal Gadot, Tego Calderón และ Don Omar จากภาค Fast & Furious พร้อมทั้งยังได้ Dwayne Johnson มารับบทเป็นตำรวจมาดเข้ม (ที่แฟนๆ ต่างชื่นชอบ จนมีภาพยนตร์ภาคแยกของตัวเองในปี 2019) และตีบวกด้วยการสร้างสรรค์ฉากแอ็กชันที่ฉีกกรอบจากภาพยนตร์แข่งรถข้างถนน ไปเป็นการขับรถลากตู้เซฟกลางเมืองที่แหกทุกกฎฟิสิกส์ 

 

ผลลัพธ์ของการเล่นใหญ่ครั้งนี้คือ ภาพยนตร์สามารถกวาดรายได้รวมทั่วโลกไปอย่างถล่มทลายกว่า 626 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และยังได้รับเสียงชื่นชมจากแฟนๆ เพิ่มมากขึ้นกว่าหลายๆ ภาคที่ผ่านมา โดยเฉพาะในแง่ของการเป็นภาพยนตร์แอ็กชันผสมคอเมดี้ที่ตอบโจทย์ความบันเทิงเป็นอย่างดี แม้ว่าตัวภาพยนตร์จะมีความเวอร์วังเกินจริงก็ตาม

  

Furious 7 (2015)

ภาพ: The Fast Saga / YouTube

 

Fast Five จึงกลายเป็น ‘พิมพ์เขียว’ ที่ทีมสร้างนำมาพัฒนาต่อยอดและขยายเรื่องราวของครอบครัวรถซิ่งกลุ่มนี้ ด้วยการไต่ระดับความเวอร์วังของฉากแอ็กชันให้สูงขึ้นไปเรื่อยๆ เพื่อตอบโจทย์ความคาดหวังของผู้ชมที่ตั้งตารอว่า Fast & Furious ภาคต่อไปจะสร้างสรรค์ฉากแอ็กชันออกมา ‘บ้าบิ่น’ แค่ไหน 

 

ทั้งฉากขับรถดึงเครื่องบินลำยักษ์ใน Fast & Furious 6 (2013), ฉากปล่อยรถดิ่งพสุธาใน Furious 7 (2015), ฉากขับรถหนีเรือดำน้ำใน The Fate of the Furious (2017) และฉากขับรถบินสู่อวกาศใน F9 (2021) รวมไปถึงความ ‘เก่งกาจเกินมนุษย์’ ของครอบครัวรถซิ่ง ที่กลายเป็นอีกหนึ่งมนตร์เสน่ห์สำคัญของแฟรนไชส์ชุดนี้ 

 

พร้อมทั้งแฟรนไชส์ชุดนี้ยังได้นักแสดงมากฝีมือมาร่วมเสริมทัพในทุกๆ ภาค ทั้ง Luke Evans, โทนี่ จา, Jason Statham, Kurt Russell, Nathalie Emmanuel, Charlize Theron, Helen Mirren และ John Cena ฯลฯ

 

รวมถึงเหตุการณ์เสียชีวิตอย่างกะทันหันของหนึ่งในนักแสดงนำอย่าง Paul Walker ในปี 2013 ซึ่งนำมาสู่ฉากไว้อาลัยแก่นักแสดงผู้ล่วงลับใน Furious 7 ยังเป็นหลักฐานสำคัญที่สะท้อนให้เห็นถึงความรักและความผูกพันอันแน่นแฟ้นที่แฟนๆ ทั่วโลกมีต่อทีมนักแสดงและแฟรนไชส์ชุดนี้ได้อย่างชัดเจน 

 

และยังส่งให้ Furious 7 กลายเป็นภาคที่ทำรายได้รวมทั่วโลกสูงสุดของแฟรนไชส์ ด้วยตัวเลขที่สูงถึง 1,515 ล้านดอลลาร์สหรัฐ 

 

 

Fast X (2023)

ภาพ: Universal Pictures

 

Fast X จุดสตาร์ทสู่ ‘บทสรุป’ ของครอบครัวรถซิ่ง ที่มอบความบันเทิงแก่ผู้ชมมายาวนานกว่า 20 ปี 

 

สำหรับ Fast X ที่กำลังจะเข้าฉายให้ผู้ชมชาวไทยได้ชมในวันที่ 17 พฤษภาคมนี้ จะพาเราไปติดตามเรื่องราวของ Dominic Toretto (Vin Diesel) และครอบครัว ที่ต้องเผชิญหน้ากับวายร้ายคนใหม่อย่าง Dante Reyes (Jason Momoa) ที่กลับมาล้างแค้นหลังจาก Toretto เคยปล้นเงินจาก Hernan Reyes (Joaquim de Almeida) พ่อของ Dante ไปในภาค Fast Five จนทำให้ชีวิตของเขาต้องพังทลาย 

 

โดย Fast X จะเป็นเรื่องราวบทแรกที่จะนำผู้ชมเข้าสู่บทสรุปของแฟรนไชส์ Fast & Furious ที่ถูกวางแผนให้เป็นภาพยนตร์ไตรภาค โดยได้ Louis Leterrier จาก Now You See Me (2013) มานั่งแท่นผู้กำกับ แทนที่ Justin Li ที่ขอถอนตัวจากตำแหน่งผู้กำกับกลางทาง เนื่องจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันกับ Vin Diesel

 

ภาพยนตร์ยังคับคั่งด้วยทีมนักแสดงชุดเดิมที่จะกลับมาออกซิ่งอีกครั้ง นำโดย Vin Diesel, Jordana Brewster, Tyrese Gibson, Michelle Rodriguez, Ludacris, Sung Kang, Nathalie Emmanuel, Jason Statham, Charlize Theron, Helen Mirren, John Cena และ Lucas Black 

 

พร้อมด้วยทีมนักแสดงชุดใหม่ที่จะมาร่วมเสริมทัพให้การแข่งรถครั้งนี้เวอร์วังมากกว่าเดิม ได้แก่ Jason Momoa จาก Aquaman (2018) มารับบทเป็นวายร้ายคนใหม่อย่าง Dante, Daniela Melchior จาก The Suicide Squad (2021), Brie Larson จาก Captain Marvel (2019) และ Alan Ritchson จากซีรีส์ Reacher (2022)

 

รับชมตัวอย่างได้ที่:

 

 

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising