×

รีวิวแบบดูรวดเดียวจบซีซัน ซีรีส์ ‘เคว้ง’ เริ่มแบบสงบ จบแบบมาร์เวล (ไม่สปอยล์)

15.11.2019
  • LOADING...
the stranded

เคว้ง อาจจะยังไม่ใช่ซีรีส์ที่สมบูรณ์แบบถ้าเทียบสเกลกับผลงานบนแพลตฟอร์มระดับโลก แต่ในฐานะออริจินัลคอนเทนต์แรกของ Netflix จากประเทศไทย เคว้ง เป็นซีรีส์ที่สนุก มีคุณภาพ และทะเยอทะยานมากพอที่ควรจะได้รับโอกาสขยายจักรวาลในซีซัน 2, 3, 4 และต่อๆ ไปในอนาคต 

 

คู่มือการ ‘ดู’ ซีรีส์เรื่องนี้ให้ราบรื่นไม่มีอะไรซับซ้อน นอกจากการพยายามบอกตัวเองบ่อยๆ ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นตรงนี้เป็นผลมาจากความคิด ความเชื่อ อารมณ์ ความรู้สึก และสัญชาตญาณของ ‘เด็กวัยรุ่นไทยช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ’ 36 คน (เกือบทั้งหมดมีฐานะดี) ที่ต้องมาใช้ชีวิตบนเกาะที่ไม่มีไฟฟ้า ไม่มีสัญญาณโทรศัพท์ และเต็มไปด้วยปรากฏการณ์ลึกลับมาแล้ว 25 วัน 

 

เหมือนอย่างที่ผู้กำกับ จิม-โสภณ ศักดาพิศิษฏ์ เคยให้สัมภาษณ์ไว้ว่า “ความเป็นวัยรุ่นทั่วโลกมีความคล้ายกันอยู่ตรงที่ใช้ความรู้สึกในการตัดสินใจเรื่องราวบางอย่างในชีวิต ทำให้แตกต่างจากผลงานที่มีผู้ใหญ่ที่ใช้เหตุผลในการตัดสินใจเป็นตัวขับเคลื่อน” 

 

ในเอพิโสดแรก เคว้ง ดำเนินเรื่องโดยแนะนำตัวละคร ปมปัญหา ปริศนา และความขัดแย้งจำนวนมาก ตัดสลับไปมาอย่างรวดเร็วจนคนดูต้องใช้สมาธิในการเก็บเบาะแสและปะติดปะต่อเรื่องราวอยู่พอสมควร 

 

ก่อนที่จะผ่อนจังหวะ ค่อยๆ เผยปริศนาของเกาะเบื้องหลังตัวละครไปพร้อมๆ กับปฏิบัติภารกิจเอาชีวิตรอดตามความถนัดของแต่ละคนในช่วงกลางซีซัน (มีช่วงที่เรารู้สึกว่าช้าไปอยู่บ้าง) แล้วไปเร่งเครื่องดันกราฟอารมณ์ในช่วงเอพิโสด 6-7 ที่หลายตัวละครแสดง ‘สัญชาตญาณดิบ’ ในการเอาตัวรอดออกมาทั้งหมด 

 

ถ้ายึดจากการโปรโมตที่บอกว่า เคว้ง เป็นซีรีส์ ‘ลึกลับ’ เราคิดว่าสิ่งที่ลึกลับที่สุดไม่ใช่ความลี้ลับเหนือธรรมชาติ เรื่องเล่า และตำนานบนเกาะ เพราะยังเปิดเผยออกมาไม่มากนัก แต่เป็นอารมณ์และความรู้สึกนึกคิดที่บางครั้งก็สดใสน่ารัก บางครั้งก็ทำให้เรารู้สึกเจ็บปวด บางครั้งก็เข้าใจ และบางครั้งก็ทำให้ขมวดคิ้ว 

 

ตัวซีรีส์รวมปัญหา ความเจ็บปวด และความสัมพันธ์ของวัยรุ่นเอาไว้หลายอย่าง ทั้งความรัก ความสนุก ไร้เดียงสา ความรู้สึกผิด ความเปราะบาง ความไม่มั่นคง ความโลเล เทไปเทมา เพศสภาพ รสนิยม การเป็นผู้นำ ความอยากมีตัวตน ได้รับการยอมรับ แง่มุมชิงดีชิงเด่น เสียสละ เห็นแก่ตัว ต่อรองผลประโยชน์ ฯลฯ ได้อย่างเป็นธรรมชาติและน่าสนใจ (โดยเฉพาะเรื่องเพศ) แต่ก็ยอมรับว่ามีหลายเรื่องที่เราเข้าไม่ถึงไปพร้อมๆ กัน 

 

เนื่องจากมีตัวละครจำนวนมาก ทำให้นักแสดงหลายคนยังไม่ได้โชว์ความสามารถมากนัก แต่ก็มีหลายคนที่น่าสนใจ อย่างบท เมย์ เด็กสาวจิตใจดีที่เก็บความลับในอดีตเอาไว้ ซึ่งการแสดงระดับ ‘น้ำตาสั่งได้’ ของ แพต-ชญานิษฐ์ ชาญสง่าเวช ทำให้ตัวละครนี้แทบจะโดดเด่นที่สุด 

 

บทของ คราม เด็กหนุ่มชาวประมงที่ได้ทุนการศึกษามาเรียนร่วมกับกลุ่มเด็กไฮโซ ที่ได้บุคลิกนักแสดงวัยรุ่น ตาคม ผิวเข้มของ บีม-ปภังกร ฤกษ์เฉลิมพจน์ ตรงตามลักษณะ ซึ่งถ้าลองคิดถึงตัวเลือกอื่นๆ จะเห็นว่านอกจากเด็กหนุ่มหน้าตาพิมพ์นิยม วงการบันเทิงบ้านเรามีนักแสดงวัยรุ่นบุคลิกแบบบีมน้อยเกินไปจริงๆ 

 

มาร์ช-จุฑาวุฒิ ภัทรกำพล ก็ทำได้ดีในบท อนันต์ ลูกคุณหนูที่พยายามทำตัวเป็นผู้นำ รวมทั้งบท น้ำ เด็กสาวที่มีสัมผัสพิเศษของ นิ้ง-ชัญญา แม็คคลอรี่ย์ และ อริสา สาวน้อยผู้รอบรู้แต่เพื่อนไม่รักของ ชาลีดา กิลเบิร์ต ก็มีเสน่ห์ โดดเด่น และน่าค้นหา 

 

จุดที่ทำให้เรารู้สึกติดใจคือรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ที่ทำให้น้ำหนักของความสมจริงลดลงไป เช่น น้ำสะอาดที่มีให้ใช้ไม่เคยขาด แต่ไม่เคยบอกเลยว่าได้มาจากไหน, ตัวละครติดเกาะอย่างน้อย 25 วัน แต่เนื้อตัวสะอาดสะอ้าน หนวดเคราของผู้ชายเหมือนถูกหยุดการเจริญเติบโต, ผู้หญิงก็มีรองพื้น แต่งหน้าแบบธรรมชาติสวยใสทุกวัน (แต่ก็เป็นไปได้ว่านักเรียนที่นี่รักสวยรักงามกันจริงๆ) 

 

ความสับสนเรื่อง ‘เวลา’ บนเกาะกับในป่าที่ไม่เท่ากัน การอุตส่าห์ถอดคำกลอน ไขปริศนาออกมา แต่เอาไปใช้จริงแค่นิดเดียว หรือการย้ายพวกของตัวละครที่ตอนแรกมี 2 คน แต่ผ่านไป 7 วัน คนกลับย้ายไปยืนอยู่อีกฝั่งเกือบครึ่งโดยไม่ได้มีการอธิบายอะไรเพิ่มเติม ฯลฯ 

 

และการที่ซีรีส์ค่อยๆ เล่าเรื่องของทีละคนอย่างช้าๆ ทำให้มี ‘ฉากจำ’ ที่เป็นไฮไลต์น้อยเกินไป จะมีบ้างในช่วงท้ายๆ ที่กลุ่มวัยรุ่นตั้งคำถามระหว่างศีลธรรม กฎหมู่ กฎหมาย หรืออุปทานหมู่ที่น่าสนใจ แต่ก็เกิดขึ้นเร็วและมีเวลาน้อยเกินกว่าจะหาคำตอบได้ทัน 

 

ทำให้ความรู้สึกโดยรวมที่ดู เคว้ง แบบ 7 เอพิโสดรวดออกไปในทางดูได้แบบสนุก เพลินๆ ไม่น่าเบื่อ แต่ก็ไม่ได้รู้สึกตื่นเต้นมากเท่าที่คาดหวัง ยกเว้นตอนจบของซีซัน…

 

ที่เล่นใหญ่ ทะเยอทะยานทั้งในด้าน ‘ตัวละคร’ และการเล่าเรื่องในซีซันต่อๆ ไปที่ให้ความรู้สึกตื่นเต้นเหมือนเวลาเรานั่งรอดู End Credit ของหนังในจักรวาลมาร์เวล แล้วเห็น ‘อะไร’ บางอย่างที่ทำให้เราอยากดูมากๆ ในเรื่องต่อไป 

 

และนั่นเป็นช่วงเวลาเพียงไม่กี่วินาทีที่ทำให้เรายอมอภัยให้กับความรู้สึกราบเรียบที่ผ่านมาทั้งหมด เพราะเข้าใจว่า 7 เอพิโสดเป็นแค่ ‘จุดเริ่มต้น’ เล็กๆ เท่านั้นจริงๆ (ไม่คิดว่าจะกล้าเล่าเรื่องสเกลใหญ่แบบนี้ด้วยซ้ำ) ยิ่งรวมกับงานด้านโปรดักชันระดับคุณภาพที่ทำออกมาทั้งหมด

 

เรายิ่งรู้สึกว่าจะโหดร้ายกับตัวละครและความตั้งใจของทีมงานมากๆ ถ้าซีรีส์ เคว้ง จะถูกหยุดการเดินทางเอาไว้เพียงเท่านี้

 

 

ภาพ: Netflix

พิสูจน์อักษร: ภาสิณี เพิ่มพันธุ์พงศ์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X