ย้อนกลับไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว ได้เกิดข่าวใหญ่ในระดับสะเทือนปฐพีของวงการดนตรีเกาหลีใต้ กับเรื่องราวที่คล้ายกับถอดมาจากสิ่งที่เราเคยเห็นกันในซีรีส์ยอดฮิต แต่ต่างกันแค่เรื่องนี้เกิดขึ้นในชีวิตจริง กับดีลการซื้อขายหุ้น ‘SM Entertainment’ ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ที่แฟนเพลง K-Pop รู้จักกันเป็นอย่างดีจากการปั้นศิลปินขวัญใจมากมายตั้งแต่ EXO, Red Velvet, aespa, NCT รวมถึงสองสุดยอดวงอย่าง TVXQ และ Girls’ Generation
โดยเมื่อวันศุกร์ (10 กุมภาพันธ์) ที่ผ่านมา ทางด้าน ‘HYBE’ ค่ายเพลงยักษ์ใหญ่ของศิลปินดังมากมาย รวมถึง BTS หนึ่งในวงบอยแบนด์ที่โด่งดังที่สุดในโลกเวลานี้ ได้ประกาศข่าวการเซ็นสัญญาตกลงซื้อหุ้นบริษัท SM Entertainment จาก อีซูมาน ผู้ก่อตั้งค่ายเพลงในจำนวน 14.8% ด้วยมูลค่า 4.22 แสนล้านวอน หรือกว่า 1.12 หมื่นล้านบาท
ดีลนี้ทำให้อีซูมานเปลี่ยนสถานะจากผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของค่าย SM Entertainment ที่จำนวน 18.46% กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายย่อยในทันที และทำให้ HYBE กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ในบริษัท SM แทน ซึ่งเรื่องนี้สร้างความสับสนให้กับผู้คนไม่เฉพาะในวงการดนตรี หรืออุตสาหกรรมบันเทิงของเกาหลีใต้ แต่รวมถึงแฟนๆ ที่ตะลึงกับการตัดสินใจครั้งนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- จับตาวงการ K-Pop! บริษัทแม่วง BTS เข้าซื้อหุ้น SM Entertainment จาก อีซูมาน ขึ้นเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ด้านแฟนคลับกังวลอนาคตของศิลปิน
- จับตา CJ Group เล็งซื้อหุ้น SM Entertainment พร้อมทุ่ม 1.3 แสนล้านบาท ผลิตคอนเทนต์เกาหลีให้กระหึ่มโลกในอีก 5 ปีข้างหน้า
- รัฐบาลจีนคุมเข้ม ‘อุตสาหกรรมบันเทิง’ สะเทือนถึงวงการ K-Pop หุ้น YG, SM, JYP ร่วงกันถ้วนหน้า
“SM Entertainment เป็นหนึ่งในกำลังหลักที่ช่วยนำอุตสาหกรรม K-Pop ไปสู่ญี่ปุ่น จีน เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และตะวันออกกลาง เริ่มจาก BoA ที่ขึ้นอันดับสูงสุดในการจัดอันดับโอริกอน (Oricon Chart) ขณะที่ HYBE มีบทบาทสำคัญในการทำให้ K-Pop ได้รับความนิยมไปทั่วโลกกับซูเปอร์สตาร์ระดับโลกอย่าง BTS” แถลงการณ์ของ HYBE กล่าว
“ด้วยการเทกโอเวอร์ในครั้งนี้เราหวังว่าจะเป็นตัวเปลี่ยนเกมในอุตสาหกรรมดนตรีของโลก ด้วยการใช้ขุมกำลังที่มีในระดับโลกของทั้งสองบริษัท”
จากแถลงการณ์ครั้งนี้ก็ฟังแล้วดูดี แต่ในเบื้องหลังแล้วการตกลงซื้อขายหุ้นครั้งนี้มีเบื้องหลังที่น่าตกใจ
โดยเฉพาะใครบอกว่าเลือดต้องข้นกว่าน้ำ? ไม่เสมอไป!
สุดยอดดราม่าเกาหลี
ย้อนกลับไปในปี 2020 อีซูมาน ผู้ก่อตั้ง SM มาตั้งแต่ปี 1989 เริ่มคิดที่อยากจะพักงานจากการเป็นผู้บริหารสูงสุดของค่ายเพลง จึงตัดสินใจครั้งสำคัญในสองเรื่องด้วยกัน
อย่างแรกคือการแต่งตั้งหลานชาย อีซองซู และทักยองจุน ขึ้นเป็นซีอีโอคู่ (Co-Ceo) เพื่อบริหารกิจการแทน
อีซองซู (ซ้าย) – ทักยองจุน (ขวา)
อย่างที่สองคือ การประกาศขายหุ้น SM บนเงื่อนไขที่ขอให้ได้บริหารงานบ้างไม่ถึงกับวางมือทั้งหมด ในฐานะของผู้ก่อตั้งที่ฝ่าฟันมาอย่างยาวนาน ที่ยังผูกพันกับค่ายและศิลปินที่ปั้นดินเป็นดาวมานักต่อนัก
การตัดสินใจของอีซูมานได้นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ภายในบริษัท โดยหลังจากที่หลานได้สิทธิ์ในการบริหารก็หวังจะเปลี่ยนแปลงค่ายเพลง SM ให้ไปสู่ความทันสมัยมากขึ้น เริ่มจากการปรับโครงสร้างองค์กรและสิ่งต่างๆ ที่ตามมามากมาย
หนึ่งในนั้นคือการหาคนที่จะมาร่วมผลักดันให้ SM Entertainment ก้าวไปข้างหน้า ทันโลกในยุคปัจจุบันที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
พาร์ตเนอร์ที่อีซองซูต้องการคือ Kakao บริษัทเทคโนโลยีใหญ่ของเกาหลีใต้ซึ่งเป็นคู่แข่งของ LINE ที่เริ่มจากการเป็นแอปพลิเคชันแชตเหมือนกัน แต่มีการขยายกิจการมากมายในเกาหลีใต้ ซึ่งรวมถึงการสยายปีกมาสู่อุตสาหกรรมดนตรีด้วย โดยปัจจุบันเป็นเจ้าของค่ายเพลง Management SOOP และ EDAM ที่เป็นต้นสังกัดของกงยู, ซูจี, นัมจูฮยอก และ IU
การเข้ามาของ Kakao นี่เองที่กลายเป็นจุดแตกหักที่สำคัญ โดยหลังจากที่อีซองซูได้มีการประกาศการปรับโครงสร้างบริษัทไม่นาน ด้วยการประกาศแผนธุรกิจ ‘SM 3.0’ เมื่อวันที่ 3 กุมภาพันธ์ ซึ่งจะเปลี่ยนระบบจากค่ายเดียวเป็น 5 ค่ายย่อย (แบบเดียวกับที่ GMM Grammy เคยทำในอดีต) ไม่กี่วันต่อมาในวันที่ 7 กุมภาพันธ์ Kakao ก็ประกาศว่าได้ซื้อหุ้นของ SM ในจำนวน 9.05% กลายเป็นผู้ถือหุ้นอันดับ 2 รองจากอีซูมานแค่คนเดียว
มันเหมือนจะเป็นข่าวดีสำหรับทุกฝ่าย เพราะในยุคปัจจุบันความร่วมมือทางธุรกิจนั้นมีความสำคัญอย่างยิ่ง
แต่ไม่ใช่สำหรับอีซูมาน ผู้ที่รู้สึกว่าเขากำลังถูกหลานชายแทงข้างหลัง และมันทะลุถึงหัวใจของเขา
เลือดต้องล้างด้วยเลือด!
หลังการประกาศว่า Kakao กำลังจะก้าวเข้ามาในอาณาจักรที่เขาสร้างกับมือ อีซูมานได้ให้ตัวแทนทางกฎหมายประกาศเรื่องสำคัญ
เรื่องดังกล่าวคือการที่ SM ได้กระทำผิดในการออกหุ้นใหม่ และหุ้นกู้แปลงสภาพให้แก่บุคคลที่ 3 ทั้งๆ ที่ยังมีกรณีพิพาทด้านการบริหารกับตัวของอีซูมานในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ รวมถึงผู้ถือหุ้นรายย่อยอีกบางส่วน
ฟากของหลานชายทั้งสอง อีซองซู และทักยองจุน ได้ออกแถลงการณ์ตอบโต้ทันทีเช่นกัน และยืนยันว่าจะเร่งกระบวนการเปลี่ยนผ่านในกลยุทธ์ SM 3.0 โดยการออกมาแถลงของอีซูมานนั้นไม่ได้มีผลอะไรเกี่ยวกับเรื่องนี้แต่อย่างใด
พูดง่ายๆ คืออำนาจที่เคยเป็นของอีซูมานมันไม่ได้เป็นของเขาอีกต่อไป และค่ายเพลงที่เคยเป็นของเขาก็ไม่ใช่ของเขาอีกต่อไปแล้ว ทุกอย่างอยู่ในมือของซีอีโอคู่ที่เป็นหลานชายของเขาแล้ว และพวกเขาก็ต้องการที่จะขับอีซูมานออกจาก SM หรืออย่างน้อยที่สุดกีดกันไม่ให้เข้ามามีบทบาทในการบริหารอีก เพื่อหวังจะนำบริษัทไปสู่อนาคต
เช่นนั้นอีซูมานจึงตัดสินใจเดินทางกลับจากสหรัฐอเมริกามาทันทีเพื่อจัดการ ‘บางอย่าง’
และการจัดการของหนึ่งในผู้ทรงอำนาจที่สุดของวงการดนตรีเกาหลีใต้ย่อมไม่ธรรมดา
ในวันที่ 10 กุมภาพันธ์ หรือ 3 วันนับจากที่มีการประกาศข่าวของ Kakao ทางด้าน HYBE ค่ายเพลงคู่แข่งได้เข้าซื้อหุ้น SM จากอีซูมานในจำนวน 14.8% จากจำนวน 18.46% และทำให้ HYBE กลายเป็นผู้ถือหุ้นรายใหญ่ที่สุดของ SM ทันที และหวังว่าจะเข้าซื้อหุ้นจากผู้ถือหุ้นรายอื่นเพื่อเป็นเจ้าของใหม่
การทำเช่นนี้ของอีซูมานคาดว่าเป็นการทำเพื่อ ‘คาน’ อำนาจกับฝั่งของอีซองซูและทักยองจุน กับ Kakao โดยที่อาจมี ‘ข้อตกลงบางอย่าง’ ระหว่างอีซูมานกับ HYBE ที่อาจจะแลกมาด้วยการคงอำนาจบางอย่างของผู้ก่อตั้งไว้ในบริษัทที่เขาสร้างมากับมือ
ใครคือผู้ชนะ?
ต่างฝ่ายต่างออกอาวุธหนักกันแบบนี้ แล้วเรื่องนี้ใครจะเป็นผู้ชนะ?
เรื่องนี้ยังคาดเดาได้ยาก เพราะดูเหมือนจะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นของ ‘มหากาพย์’ เท่านั้น ซึ่งความจริงแล้วในเบื้องหลังก่อนที่จะเกิดดีลระดับยักษ์สองดีลติดนั้น มีการส่งสัญญาณเตือนมาก่อนหน้านี้แล้วว่า มีสัญญาณความเปลี่ยนแปลงภายในค่าย SM
Kakao และ HYBE ไม่ใช่ตัวละครที่แปลกหน้า เพราะก่อนหน้านี้ก็เคยมีการเจรจากับอีซูมานอยู่แล้วตั้งแต่การประกาศเมื่อปี 2020 ที่จะเริ่มวางอำนาจลง เพียงแต่ไม่มีใครคาดคิดว่าเรื่องมันจะดำเนินมาอย่างเข้มข้นเร้าใจราวกับซีรีส์ขนาดนี้
แต่สำหรับอีซูมาน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการตัดสินใจของเขาไม่ต่างจากการเดิมพันแบบหมดหน้าตัก เพราะสถานการณ์บังคับจากการที่หลานชายทั้งสองลอบเจรจาข้างหลัง ไม่มีการแจ้งให้เขาในฐานะผู้ถือหุ้นใหญ่ทราบเรื่องก่อน
ผู้อาวุโสของวงการในวัย 70 ปีไม่มีทางเลือกอื่นนอกจากหาใครก็ได้ที่เขายังพอ ‘เชื่อใจ’ ได้ และนั่นทำให้ต่อให้เป็น HYBE ก็ไม่เป็นไร ดีกว่าไม่เหลืออะไรเลย
เพียงแต่ในเวลานี้ก็ไม่มีใครกล้าการันตีได้ว่า HYBE จะให้สิทธิ์หรืออำนาจในการบริหารแค่ไหนกับทางอีซูมาน เพราะ HYBE ตกเป็นข่าวว่าต้องการกวาดหุ้นให้ได้ถึง 25% เพื่อเป็นเจ้าของใหม่ และทำให้ทุกอย่างเป็นแค่การคาดเดาเท่านั้น
รวมถึงเรื่องที่สำคัญคือ ที่สุดแล้วอำนาจเบ็ดเสร็จที่เคยอยู่ในมือของอีซูมานก็ถูกทำให้ลดน้อยลงอยู่ดี
ในบทวิเคราะห์ที่เกาหลีใต้จึงมองว่าคนชนะอาจเป็น HYBE และอาจรวมถึง SM ที่สองหลานชายก็ยังคงเดินหน้าไปสู่เป้าหมายเดิม แม้จะเพิ่มเติมตัวละครเข้ามาพร้อมกับการกระจายอำนาจในบริษัทที่ยังไม่มีใครรู้ว่าจะเป็นเรื่องดีหรือร้าย
บังซียยอก ประธานของ HYBE กล่าวในแถลงการณ์ว่า “เรามองเห็นเหมือนกันในการจะปรับปรุงโครงสร้างทางธุรกิจของ SM เราหวังว่าจะได้มีส่วนช่วยในการปรับปรุงโครงสร้างจากการที่เรามีระบบที่โปร่งใส มีกลยุทธ์ในการบริหารงานค่ายเพลงแบบ Multi-label และแพลตฟอร์มของแฟนดอม”
สิ่งที่ HYBE เห็นร่วมกันคือ การสานต่องานของอีซูมานผู้ปูพรมแดงนำ K-Pop ออกไปสู่ตลาดโลก เพื่อทำให้วงการ K-Pop ยืนหยัดได้อย่างสง่างามในฐานะเบอร์หนึ่งอุตสาหกรรมดนตรีของโลก
อย่างไรก็ดี ตอนนี้ยังเร็วเกินไปที่จะมองเห็นภาพอะไร เพราะฝุ่นยังคงตลบอบอวลหลังการเปิดฉากยิงถล่มกันของสองฝ่าย
เชื่อว่าเราจะเห็นภาพได้ชัดขึ้นว่าความเปลี่ยนแปลงครั้งนี้จะส่งผลอะไรกับ SM รวมถึง HYBE (กับ Kakao) และศิลปินในสังกัดทั้งหมดหลังจากนี้
นี่เป็นแค่ตอนแรกเท่านั้น ยังมีอีกหลายตอนให้ติดตาม!
อ้างอิง:
- www.bloomberg.com/news/articles/2023-02-09/bts-agency-hybe-to-buy-sm-stake-joins-race-for-k-pop-pioneer
- www.koreaherald.com/view.php?ud=20230210000466
- www.allkpop.com/article/2023/02/hybe-looking-to-acquire-an-additional-25-stake-in-sm-entertainment-for-900-million-usd
- www.kedglobal.com/mergers-acquisitions/newsView/ked202302100025
- www.reuters.com/markets/deals/hybe-acquire-shares-worth-335-million-sm-entertainment-2023-02-09/