×

ประธาน TDRI แนะรัฐเร่งปรับตัวเชิงโครงสร้าง ป้องกันไทย ‘ตกขบวนโลก’ เมื่อโควิด-19 คลี่คลาย

15.05.2021
  • LOADING...
THE STANDARD VACCINE FORUM

THE STANDARD VACCINE FORUM วันที่ 15 พฤษภาคม 2564 โดย Session ที่ 5 หัวข้อ ‘ฉีดแล้วอย่างไรต่อ อนาคตประเทศไทยอยู่ตรงไหน?” ได้รับเกียรติจาก ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI มาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

 

ดร.สมเกียรติ กล่าวว่า สภาวะโลกหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะโควิด-19 เป็นตัวเร่งให้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วขึ้น ฉะนั้นแม้ประเทศไทยจะสามารถรอดพ้นวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ไปได้ และสามารถเปิดประเทศไปสู่เวทีโลกอีกครั้งด้วยการเป็นประเทศไทยในรูปแบบเดิม ก็เท่ากับเราไม่สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ 

 

สิ่งที่ควรเร่งดำเนินการตั้งแต่ตอนนี้คือ การสร้างแผนรับมือระยะยาว และการประสานหรือส่งต่องานระหว่างภาคส่วนอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

ดร.สมเกียรติ แนะนำให้มองสถานการณ์โควิด-19 ออกเป็น 4 ระยะ ประกอบด้วย ระยะแรกคือการป้องกันและควบคุมที่เกิดขึ้นไปแล้วตั้งแต่ปี 2563 ที่มีการแพร่ระบาดใหม่ๆ ซึ่งยอมรับว่าประเทศไทยสามารถรับมือกับระยะแรกได้ดีในแง่ของตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มีจำนวนน้อยเมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้าน 

 

ระยะที่ 2 คือการเร่งฉีดวัคซีน ซึ่งคือสถานการณ์ปัจจุบัน โดยต้องยอมรับว่าประเทศไทยดำเนินการฉีดวัคซีนได้ล่าช้าและจำนวนน้อย ข้อมูลปัจจุบันมีผู้ได้รับวัคซีนไปเพียง 2% ของจำนวนประชากรทั้งหมด ซึ่งน้อยกว่าประเทศเพื่อนบ้าน เช่น สปป.ลาว ที่มีผู้ได้รับวัคซีนแล้ว 6%

 

นอกจากนี้การสื่อสารของรัฐที่ขาดประสิทธิภาพ ยังทำให้อัตราของความพึงพอใจหรือความพร้อมเข้ารับวัคซีนของไทยลดลง จากปลายปีที่แล้วอยู่ที่ 82% มาอยู่ที่ระดับต่ำสุดในภูมิภาคอาเซียน (เฉพาะประเทศที่สำรวจ) 

 

ทั้งนี้ ส่วนตัวเชื่อว่าประเทศไทยยังสามารถเร่งอัตราการฉีดวัคซีนให้ได้เพิ่มขึ้น ด้วยการดำเนินการที่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการให้ข้อมูลที่ถูกต้อง ชัดเจน และตรงกัน โดยเป้าหมายรัฐบาลที่ระบุว่า จะฉีดวัคซีนให้คนไทย 150 ล้านโดสในสิ้นปี 2654 ก็ประเมินว่ามีความเป็นไปได้ โดยต้องเร่งฉีดให้ได้ในอัตรา 300,000 โดสต่อวัน 

 

“ข้อด้อยของระยะนี้คือ เรานำเข้าวัคซีนน้อยไปและมีทางเลือกวัคซีนน้อยไป ทำให้ประชาชนรู้สึกถึงความไม่พร้อมของรัฐ เมื่อเจอกับการสื่อสารที่ไม่ได้ประสิทธิภาพ ก็ทำให้อัตราความพร้อมหรือความพึงพอใจวัคซีนลดลง แต่เชื่อว่าเรายังอยู่ในจุดที่แก้ไขได้ และเราสามารถตีตื้นประเทศเพื่อนบ้านขึ้นมาได้ด้วย”​

 

ระยะที่ 3 จะค่อนข้างยาวนาน เนื่องจากเป็นช่วงของการวนลูปอยู่กับสถานการณ์เชื้อกลายพันธุ์ การแพร่ระบาดระลอกใหม่ การพัฒนาวัคซีนใหม่ และเร่งฉีดวัคซีนให้กับประชาชนจนกว่าจะเกิดภูมิคุ้มกันหมู่อีกครั้ง โดยในระยะนี้เราจะเริ่มเห็นการทยอยเปิดเมืองและเปิดประเทศ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยว ซึ่งหากมีแผนการฉีดวัคซีนที่ดี สร้างภูมิคุ้มกันหมู่ในพื้นที่ได้ โดยเฉพาะเมืองท่องเที่ยวที่เป็นรายได้หลักของประเทศ เศรษฐกิจก็จะกลับมาฟื้นตัวขึ้นได้เร็วกว่าที่คาด ส่วนตัวมองว่า GDP ปีนี้หากเติบโต 3% ก็ถือว่าน่าพอใจ 

 

โดยเชื่อมั่นว่าหากประเทศไทยเตรียมแผนรับมือที่ดีและเป็นแผนที่มีความต่อเนื่อง มีพัฒนาการ เชื่อว่าเราจะสามารถผ่านพ้นระยะที่ 3 ไปได้ โดยเกิดการเรียนรู้ในหลายๆ บทเรียน 

 

“ระยะที่ 3 เรามีแต้มต่อคือเราสามารถผลิตวัคซีนในประเทศได้ ซึ่งด้วยนวัตกรรมสมัยใหม่ทำให้กระบวนการคิดค้นและพัฒนาวัคซีนจนพร้อมฉีดให้กับประชาชนใช้เวลาเพียง 2-3 เดือน หากแผนการกระจายและการฉีดวัคซีน (แผนระยะที่ 2) มีประสิทธิภาพที่ดี การรับมือกับระยะที่ 3 ก็เป็นเรื่องที่เราสามารถบริหารจัดการได้” 

 

ระยะที่ 4 คือโลกหลังโควิด-19 หรือ Post-COVID-19 เป็นระยะที่ต้องเตรียมการอย่างหนัก เพราะโลกหลังโควิด-19 จะไม่มีอะไรเหมือนเดิมอีกต่อไป หากประเทศไทยเปิดประเทศไปสู่เวทีโลกอีกครั้งด้วยภาพเดิมๆ หรือทำเหมือนตอนที่เคยทำช่วง Pre-COVID-19 เราก็ไม่มีวันแข่งขันได้ 

 

โลกหลังโควิด-19 จะเป็นโลกที่ภาคธุรกิจต้องปรับตัวเชิงโครงสร้าง เศรษฐกิจโดยรวมก็เช่นกัน เพราะไม่มีใครคาดเดาได้ว่าโควิด-19 จะจบแล้วจริงหรือไม่ ฉะนั้นภาคธุรกิจต้องเร่งปรับโครงสร้าง เช่น นำเทคโนโลยีเข้ามาผสมผสานกับการทำธุรกิจดั้งเดิม และลดการครอบครองสินทรัพย์ที่สภาพคล่องต่ำ เช่น ที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง จำนวนคนงาน เป็นต้น 

 

“การสู้กับโควิด-19 ก็เหมือนการวิ่ง 4×100 เราต้องเข้าใจภาพรวมแต่ละโค้ง ต้องมีแผนการที่ดี มีนักวิ่งที่มีสปีด และทั้งทีมต้องวิ่งไปในสปีดเดียวกัน และที่สำคัญต้องสามารถส่งต่อไม้ให้กันได้อย่างราบรื่น” 

 

ในส่วนภาครัฐนั้น หน้าที่ของภาครัฐคือสร้างมาตรการ ประสานงาน อำนวยความสะดวก เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถดำเนินการหน้าที่ของตนได้เต็มประสิทธิภาพ นอกจากนี้รัฐบาลเองก็ต้องปรับตัวเชิงโครงสร้างเช่นเดียวกัน เช่น การให้หน่วยงานรัฐบริหารจัดการผ่านช่องทางอิเล็กทรอนิกส์มากขึ้น เพื่อให้สอดรับกับศักยภาพของภาคธุรกิจ ทั้งนี้ หากรัฐปรับตัวไม่ได้หรือปรับได้ช้ากว่าภาคธุรกิจ รัฐก็จะกลายเป็นตัวถ่วงทันที 

 

โดยแนะนำให้ภาครัฐปรับทัศนคติภายใน ด้วยการมี Empathy กับประชาชน, กล้าทดลองหรือทำสิ่งใหม่ๆ ที่ไม่ใช่ระเบียบแบบแผนที่สืบทอดมายาวนาน, มีการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา และมี Common Sense หรือสามัญสำนึก เพื่อให้สามารถคิดการณ์ไกลและรับมือกับความเสี่ยงต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X