×

‘รื้อโครงสร้าง-เน้นภาคบังคับ’ หนทางสู่การลดคาร์บอนไทยให้บรรลุเป้าหมายที่ตั้งไว้

โดย THE STANDARD TEAM
25.11.2023
  • LOADING...
THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023: FUTURE READY THAILAND เศรษฐกิจไทยไล่ล่าอนาคต เวที Leading Transition: Road to a Low Carbon Nation เปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ประเทศความยั่งยืน

วันนี้ (25 พฤศจิกายน) ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023: FUTURE READY THAILAND เศรษฐกิจไทยไล่ล่าอนาคต เวที Leading Transition: Road to a Low Carbon Nation เปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ประเทศความยั่งยืน ที่ร่วมเสวนาโดย สมโภชน์ อาหุนัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) รุ่งโรจน์ รังสิโยภาส กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี และ ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพสามิต 

 

ในช่วงหนึ่งได้พูดถึงสถานการณ์ปัจจุบันของประเทศไทยที่มีการตั้งเป้าหมายความยั่งยืนไว้ 3 ข้อ คือ

 

  1. Net Zero ในปี 2065 
  2. ความเป็นกลางทางคาร์บอน ในปี 2050 
  3. Nationally Determined Contribution ภายในปี 2030 โดยพยายามจะลดให้ได้ 40% 

 

ซึ่งในปี 2019 ไทยปล่อยคาร์บอนเทียบเท่า 372 ล้านตัน โดยภาคที่ปล่อยมากที่สุดคือภาคพลังงาน 69.96% อันดับสองคือ ภาคอุตสาหกรรมการเกษตร 15.23% อันดับสามคือ ภาคอุตสาหกรรม 10.28% และภาคการจัดการของเสีย 4.53% คำถามคือประเทศไทยจะลดคาร์บอนได้ตามที่ตั้งเป้าไว้หรือไม่

 

เอกนิติมองว่า จากการศึกษาทั่วโลกได้พิสูจน์แล้วว่า หากลดคาร์บอนในรูปแบบภาคบังคับจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้มากกว่า ซึ่งประสิทธิผลจะต่างจากประเทศที่ไม่ใช้ภาคบังคับถึง 5% โดยภาคบังคับนั้นมีการใช้กลไกการเก็บภาษีคาร์บอน และการจำกัดปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอน ซึ่งกรมสรรพสามิตในไทยสามารถเก็บภาษีได้บนสินค้า โดยปัจจุบันกำลังศึกษาว่าสามารถนำภาษีมาลดโลกร้อนได้อย่างไร ซึ่งสามารถทำได้แล้วในการส่งเสริมให้มีการใช้รถ EV

 

แน่นอนว่าการเปลี่ยนผ่านครั้งนี้อาจสร้างผลกระทบให้กับประชาชน เอกนิติกล่าวว่า การจะลดผลกระทบไม่ให้เสียหายในวงกว้าง สิ่งที่ต้องทำคือให้คนมี Awareness ไม่ให้คนรู้สึกจ่ายภาษีแพงในช่วงแรก เช่น สิงคโปร์เก็บ 5 ดอลลาร์ แต่สองปีถัดมาจะขึ้นเป็น 25 ดอลลาร์ ดังนั้นการสร้างความตระหนักก่อนแล้วค่อยขึ้นในอัตราเร่งจะลดผลกระทบลง และต้องมีสิ่งที่ทดแทนให้กับภาคธุรกิจ ให้คนใช้ก๊าซธรรมชาติและพลังงานทดแทนควบคู่กันในช่วงแรก แม้ว่ากรมสรรพสามิตไม่ทำก็จะถูกบีบให้ทำเพราะแรงกดดันจากต่างประเทศ

 

สิ่งที่ต้องเริ่มทำวันนี้ รัฐต้องร่วมกับเอกชนและเปิดใจเอาประเด็นสำคัญเป็นหลัก และแผนงานของภาษีสรรพสามิตนั้นมีการปรับแผนภายในปี 2023 และปีหน้าจะเริ่มเฟสของการสร้างความตระหนักรู้ เช่น การเติมน้ำมัน ทุกคนก็จะรู้ว่าปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์เท่าไร แต่เก็บภาษีเท่าเดิม

 

ในส่วนของสมโภชน์ ในฐานะประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) ได้กล่าวเสริมว่า ไทยยังจัดการเรื่องคาร์บอนแบบภาคสมัครใจอยู่ ซึ่งยังไม่ตรงมาตรฐาน ดังนั้นสิ่งที่ควรทำคือยกระดับจากภาคสมัครใจเป็นภาคบังคับ แล้วปรับสิ่งที่กระทบมากทำให้กระทบน้อยที่สุด 

 

ส่วนเรื่องการปรับโครงสร้างไฟฟ้าไทย สมโภชน์กล่าวว่า ให้เพิ่มพลังงานทางเลือก แต่ต้องไม่ทำให้กำลังการผลิตของประเทศล้น ค่าไฟต้องมีราคาถูกลง ทำให้การแข่งขันเสรีในการขายไฟ ทำให้มาร์จิ้นที่อยู่ในอุตสาหกรรมที่เยอะเกินไปถูกลง พร้อมตั้งโจทย์ใหญ่ว่า ทำไมการแข่งขันเสรีในการซื้อ-ขายไฟฟ้าไม่เกิดขึ้น และไทยจะเพิ่มดีมานด์การใช้ไฟฟ้าอย่างไร 

 

หากมองถึงรากปัญหาหรือ Root Cause รัฐบาลคือผู้ถือกำหนดนโยบาย ที่ผ่านมาไม่มีความตั้งใจที่จะแก้ไขปัญหานี้อย่างจริงจัง ซึ่งมี 2 สิ่งที่เป็นปัญหา โดยอย่างแรกคือผู้นำที่ขาดวิสัยทัศน์ และอย่างที่สองคือผู้นำมีความรู้แต่ไม่แก้ปัญหา หรือเรียกว่า ‘การคอร์รัปชันทางนโยบาย’ 

 

ด้านสัญญาโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อน 25 ปี ที่เป็นความท้าทายต่อการเปลี่ยนผ่าน ต้องแก้ไขด้วยการบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าทั้งระบบ ใช้กลไกทางการเงิน และต้องมีความโปร่งใส ดังนั้นหากกลับมาที่ Root Cause ของทั้งหมด สิ่งที่ต้องแก้ไขคือ Intention และ Mindset ของผู้กำหนดนโยบายและผู้ปฏิบัติ โดยเสนอข้อแนะนำแผน PDP ภาคประชาชนที่จะเสนอรัฐบาลในเร็วๆ นี้

 

สมโภชน์ปิดท้ายว่า ในการจะลดค่าไฟนั้น ต้องเร่งทำเรื่อง Electrification ภาคขนส่ง โดยเฉพาะรถเชิงพาณิชย์ ซึ่งวันนี้รัฐยังไม่ได้เริ่มทำอะไร พร้อมแนะนำรัฐบาลใหม่ให้เอาผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมาพูดคุยกันโดยเน้น National Interest เป็นหลัก เพราะตราบใดที่เรายังรับจ้างผลิตเราจะได้มาร์จิ้นเพียงน้อยนิด ดังนั้นเราต้องส่งเสริมให้ไทยมีเทคโนโลยีเกิดขึ้น เพื่อให้ประชาชนมีรายได้มากขึ้น เพราะต่างประเทศที่มาตั้งฐานการผลิตในไทย หากหมดประโยชน์เขาก็ย้ายไปได้  

 

ด้านรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ เอสซีจี เห็นด้วยกับภาครัฐที่จะนำกฎหมายมาบังคับใช้ ในฐานะเอกชนหากจะช่วยลดคาร์บอนได้จริง ทุกองค์กรต้องรันได้ด้วยคน สร้างคนที่มีความสามารถ เมื่อไรก็ตามที่ผู้บริหารใส่ใจเรื่องนี้ ทั้งกลยุทธ์และ KPI หรือผู้นำที่ทำจริงๆ สิ่งนี้จะเป็น Commitment และเมื่อมีแล้วควรทำให้กลายเป็น Integration หรือทำให้อยู่ในชีวิตประจำวัน

 

พร้อมยกตัวอย่างธุรกิจ SCG สามารถลดคาร์บอนได้เพียง 60% เท่านั้น เนื่องจากเทคโนโลยีที่มีอยู่ไม่สามารถลดไปมากกว่านี้ โดยมองว่าไม่ว่าภาคอุตสาหกรรมหรือเอกชนจะพยายามลดในแบบของตัวเองมากเท่าไร แต่สุดท้ายก็ต้องพึ่งพลังงานจากภาครัฐที่ต้องเข้ามาสนับสนุน

 

ในมุม Regulator เอกนิติกล่าวว่า การจะเกิด Net Zero จริงควรใช้ Carbon Tax นำรายได้บางส่วนที่เก็บเข้ามาหมุนกลับไปทำโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดสิ่งใหม่ๆ ได้มากขึ้น นี่คือทางรอด หากตอนนี้ไทยถึงทางตันก็จำเป็นต้องรื้อโครงสร้าง ปรับกติกาขึ้นมาทำใหม่ เพื่อให้ตามโลกได้ทัน

 


 

📌อัปเดตเทรนด์โลกกว่า 20+ Sessions ซื้อบัตรชมย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/TSEF2023ED 

 

✅ ราคาพิเศษ! 2,500 บาท ถึง 31 ธันวาคม 2566 เท่านั้น

✅ รับชมออนไลน์ทุกที่ทั่วโลก 

✅ ดูย้อนหลังนาน 6 เดือน (1 ธันวาคม 2566 – 31 พฤษภาคม 2567)

✅ สรุปเนื้อหา Visual Summary ทุกเวที

 

Media Partner

📌รับสรุปเนื้อหาทุกเวที 20+ Sessions 

ซื้อบัตรชมย้อนหลังวันนี้ดูได้นานถึง 6 เดือน

https://bit.ly/TSEF2023MP 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X