×

การเมืองไทยเข้ม การเมืองโลกร้อน บทสรุปวันที่สอง THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023

โดย THE STANDARD TEAM
24.11.2023
  • LOADING...

THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023: FUTURE READY THAILAND เศรษฐกิจไทยไล่ล่าอนาคต ในวันที่สอง (24 พฤศจิกายน) ณ เพลนารีฮอลล์ 1-4 ชั้น 1 ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่งปีนี้จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 ประเด็นหลักของวันนี้คือ การพาทุกคนไปสำรวจสถานการณ์ภูมิรัฐศาสตร์โลกปัจจุบัน เพราะสงครามที่เกิดขึ้นหลายแห่งทั่วมุมโลกส่งผลกระทบต่อไทยหลายด้าน ประกอบกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรงที่ทำให้ไทยต้องปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายใหม่ๆ ที่รออยู่หลังจากนี้ เช่นเดียวกับสถานการณ์การเมืองไทยที่ยังมีเรื่องต้องถกเถียงเช่นกัน 

 

ความท้าทายจากภายนอกที่ส่งผลกระทบต่อไทย

 

ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ, ศ.กิตติคุณ ดร.สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ ดร.อาร์ม ตั้งนิรันดร ผู้อำนวยการศูนย์จีนศึกษา สถาบันเอเชียศึกษา จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และอาจารย์คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมกันวิเคราะห์สถานการณ์ทั้งภายในและภายนอกประเทศ ‘Geopolitics Unveiled: Shaping Thailand’s Role in a Fragmented World บทบาทไทยในสมรภูมิโลกที่แตกเป็นเศษเสี้ยว’

 

มุมมองและแนวโน้มของภูมิรัฐศาสตร์ปี 2024 ของ ดร.สุรเกียรติ์ คือการตั้งคำถามว่าสงครามรัสเซีย-ยูเครน และอิสราเอล-ฮามาส จะยืดเยื้ออีกนานแค่ไหน ยังไม่รวมสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันที่จะต้องจับตามอง เราจะต้องเตรียมบุคลากรอย่างไรให้เท่าทันการเปลี่ยนแปลง ส่วน ดร.อาร์ม ย้ำว่า ปัญหาทะเลจีนใต้จะส่งผลกระทบต่อไทย ขณะเดียวกันก็ต้องดำเนินการทูตเชิงรุกในประเทศที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจใหม่ๆ ไปพร้อมกัน  

 

ทางด้าน ดร.สุรชาติ วิเคราะห์ถึงความน่าจะเป็นที่สงครามรัสเซีย-ยูเครนจะลุกลามไปถึงระดับไหน กล่าวถึงความกังวลต่อสถานการณ์การต่อสู้ระหว่างรัฐบาลเผด็จการกับชนกลุ่มน้อย ที่หากไทยแสดงจุดยืนที่ผิด ประเทศยักษ์ใหญ่ทางเศรษฐกิจหลายแห่งอาจเกิดความรู้สึกว่าไทยไม่ใช่เพื่อนที่ดีของพวกเขา ซึ่งรัฐบาลจำเป็นต้องดำเนินนโยบายอย่างรอบคอบ 

 

โรเบิร์ต เอฟ. โกเดค เอกอัครราชทูตสหรัฐอเมริกาประจำประเทศไทย กล่าวปาฐกถาพิเศษบนเวที ‘The United States and Geopolitical Dynamics for 2024 สหรัฐอเมริกากับแนวโน้มภูมิรัฐศาสตร์ปี 2024’ ที่ระบุว่า ไทยกับสหรัฐฯ มีความสัมพันธ์ที่ดีนานกว่า 190 ปี แต่เวลานี้หลายพื้นที่กำลังเผชิญกับความท้าทายต่างๆ จำนวนมาก เราเห็นรัฐและผู้ปกครองรัฐที่เผด็จการยิ่งกว่าเดิม เห็นการแข่งขันและความขัดแย้งเพิ่มสูงขึ้น 

 

สิ่งจำเป็นคือการส่งเสริมความร่วมมือระดับทวิภาคีและพหุภาคีในมิติต่างๆ รวมถึงการรักษากติการะหว่างประเทศ ความท้าทายที่รออยู่ในปีหน้าคือแบบทดสอบสำหรับประเทศประชาธิปไตย เพราะมากกว่า 70 ประเทศและดินแดนทั่วโลกจะจัดการเลือกตั้งครั้งสำคัญ ซึ่งเป็นสิ่งจำเป็นที่ทุกคนจะมีสิทธิเลือกผู้นำของตัวเองได้อย่างเสรี 

 

ทางด้านผลกระทบทั่วโลกที่จะเกิดขึ้นกับไทย ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) และกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ, สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ร่วมกันวิเคราะห์ถึงความเสี่ยงและความท้าทายของเศรษฐกิจไทยในปี 2024 ‘Building Thailand’s Future-Ready Economy สร้างเศรษฐกิจไทยให้พร้อมไล่ล่าอนาคต’

 

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวถึงแนวโน้มเศรษฐกิจโลกปี 2024 จะเต็มไปด้วยความท้าทาย โดยเฉพาะอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) อยู่ในระดับสูงและนาน (Higher for Longer) ประเมินว่าจะกดดันเศรษฐกิจต่อเนื่องไปอีก 6-8 เดือน ด้านเศรษฐกิจจีนเองก็เข้าสู่ภาวะที่ไม่ง่าย หากเศรษฐกิจหลักของโลกเป็นแบบนี้เท่ากับส่งออกของไทยก็ไม่สามารถคาดหวังได้มาก 

 

ขณะที่สนั่นมองว่า การออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลคือเรื่องสำคัญ เช่น การแก้ปัญหาหนี้, การช่วยเหลือให้ SMEs เข้าถึงแหล่งเงินทุน และต้องเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน เร่งการเจรจาเปิดเขตการค้าเสรี (FTA) สร้างบุคลากรเพื่อให้เพียงพอ

 

ไทยจะต้องมีวิสัยทัศน์ทางการเมืองและการพัฒนาอุตสาหกรรม 

 

ศ.ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ แสดงความคิดเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกจากวิกฤตต่างๆ ทั้งโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงทางสภาพอากาศและสงครามที่ส่งผลต่อผู้คนทั่วโลก บนเวที ‘Steering Thailand through Geopolitical Shift ขับเคลื่อนประเทศไทยฝ่ามรสุมภูมิรัฐศาสตร์โลก’ 

 

วิกฤตเหล่านี้ส่งผลให้เกิดสงครามรูปแบบใหม่ทางด้านการค้า การเงิน การลงทุน และเทคโนโลยี ที่ทำให้เกิดการกีดกันทางการค้า สิ่งที่ไทยต้องทำคือการขับเคลื่อนทั้งด้านเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม การเมือง สังคม การต่างประเทศ และองค์กรภายในประเทศ ลดช่องว่างความต่างระหว่างวัย เพื่อสร้างความเข้าใจและความร่วมมือของคนแต่ละเจน หมั่นศึกษาเรียนรู้ให้ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก 

 

จี๊ป ไคลน์ UC Berkeley Faculty and  Founder of Venture Capital Fund มองว่า Impact Investing มีความสำคัญ เนื่องจากจะช่วยให้ประเทศกำลังพัฒนา โดยเฉพาะไทยก้าวกระโดดได้ พร้อมเผย 4 เทรนด์ที่ผู้ประกอบการไม่ควรพลาด บนเวที ‘Driving Positive Change: Impact Investment in Thailand การลงทุนเพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง’

 

เนื่องจากไทยกำลังอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากอุตสาหกรรมเก่าไปใหม่ ในฐานะ Impact Driven VC ได้เห็นโอกาสในอุตสาหกรรมหลากหลาย ทั้ง Climate Tech, เทคโนโลยีเกษตรกรรม, เทคโนโลยีอาหาร และ EV ที่ควรนำมาปรับใช้เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตผลในการผลิต รวมไปถึงผลิตภัณฑ์สีเขียวต่างๆ (Green Materials) ขณะเดียวกันไทยควรมี Venture Capital Fund ให้เพียงพอ เพราะ Corporate Venture Capital มักเลือกลงทุนตาม Agenda ตัวเอง และไม่ลงทุนในบริษัทเล็กๆ รวมถึงเหตุผลที่ว่า ไทยยังคงมีความเหลื่อมล้ำด้านสุขภาพค่อนข้างสูง ภาครัฐจึงต้องสนับสนุนในด้านกฎหมายและการกำกับดูแลอย่างใกล้ชิด 

 

ทางด้านของผู้ประกอบการ ดร.บุรณิน รัตนสมบัติ ประธานเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการกลุ่มธุรกิจใหม่และโครงสร้างพื้นฐาน บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) แบ่งปันประสบการณ์ถึงกลยุทธ์ในการมุ่งสู่อุตสาหกรรมแห่งอนาคตที่จะนำพาให้ประเทศไทยพ้นกับดักรายได้ปานกลาง เพื่อขึ้นไปยืนอยู่แนวหน้าของประชาคมโลก บนเวที ‘The Future Starts Now ผลักดัน ‘อุตสาหกรรมใหม่’ เพื่ออนาคตของไทยที่ยั่งยืน’

 

สิ่งที่ต้องช่วยกันคือ ทำให้ประเทศไทยที่กำลังหลับอยู่ตื่นขึ้นมา หากเราไม่มีการลงทุนในอุตสาหกรรมใหม่ๆ เพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจประเทศไทย เราจะติดอยู่ในกับดักรายได้ปานกลาง แม้การสร้างอุตสาหกรรมใหม่จะไม่ใช่เรื่องง่าย แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ เพราะต้องปรับโครงสร้างพื้นฐาน Advanced Technology ดึงดูดบุคลากรที่มีความรู้ ทุ่มเงินทุนและการสนับสนุนที่เชื่อว่าบริษัทเอกชนกับภาครัฐสามารถร่วมกันสร้างอนาคตไทยผ่านอุตสาหกรรมใหม่ได้  

 

ขัตติยา อินทรวิชัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย ได้ยกตัวอย่างบทเรียนการสร้าง Sustainable Finance และ Green Finance ที่ธนาคารกสิกรดำเนินการอย่างต่อเนื่อง เพื่อถอดสูตรความสำเร็จและความล้มเหลว นำไปสู่การสร้างวิถีแห่ง Sustainable Finance ให้เกิดขึ้นจริง และสร้างอิมแพ็กต์ในมิติของสังคม สิ่งแวดล้อม และเศรษฐกิจ บนเวที ‘Unlocking the Power of Green Financing ปลดล็อกการเงินสีเขียว เพื่อเศรษฐกิจเติบโตยั่งยืน’ 

 

สถานการณ์เศรษฐกิจประเทศไทยที่ผ่านมา เรียกได้ว่าเป็น Lost Decade เช่นเดียวกับที่ประเทศญี่ปุ่นเคยเผชิญ สะท้อนจากการเติบโตของ GDP ไทย ซึ่งไทยจะอยู่รอดหรือเติบโตต่อได้จำเป็นต้องมี New Business Model ต้องมี Structural Change เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงด้านผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจ ที่แต่เดิมเคยพึ่งพาภาคการท่องเที่ยวเป็นหลัก ซึ่ง Sustainable Finance เป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญ ที่ภาคการเงินใช้ช่วยผลักดันเศรษฐกิจไทยให้ก้าวไปสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน ซึ่งจะต้องลงมือทำให้เกิดขึ้นได้จริง

 

การพัฒนาของภาคเอกชนจะไม่สามารถทำได้เต็มประสิทธิภาพหากขาดการสนับสนุนและขาดความเข้าใจจากรัฐบาล ศ.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ประธานคณะก้าวหน้า และ ณัฐวุฒิ ใสยเกื้อ อดีตผู้อำนวยการครอบครัวเพื่อไทย แบ่งปันมุมมองว่า การแข่งขันทางการเมืองแบบไหนระหว่างพรรคเพื่อไทยและพรรคก้าวไกล ที่จะพาสังคมไทยขยับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตย และจะส่งผลต่อระบบและนโยบายเศรษฐกิจ บนเวที ‘Thailand’s Political Power Game อ่านเกมอำนาจใหม่การเมืองไทย’ 

 

ชัยชนะของพรรคก้าวไกลคือ การย้ำเตือนว่าสังคมไทยโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ ต้องการการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างและจุดยืนที่ชัดเจนทั้งในแง่การเมือง ท้องถิ่น การศึกษา และเศรษฐกิจ แม้กลุ่มอำนาจกลุ่มอิทธิพลอื่นๆ พยายามฝืนธรรมชาติแห่งการเปลี่ยนแปลงก็ตาม แสดงให้เห็นถึงความพร้อมของประชากรในประเทศที่ให้ความสนใจกับการเมือง สิ่งที่จะต้องทำต่อคือ การที่นักการเมืองทั้งสองพรรคจะต้องยกมือผ่านกฎหมายที่เป็นประโยชน์ให้กับประชาชน เพื่อทำให้ประเทศเดินไปข้างหน้า

 

 


 

📌อัปเดตเทรนด์โลกกว่า 20+ Sessions ซื้อบัตรชมย้อนหลังได้ที่ https://bit.ly/TSEF2023ED 

 

✅ ราคาพิเศษ! 2,500 บาท ถึง 31 ธันวาคม 2566 เท่านั้น

✅ รับชมออนไลน์ทุกที่ทั่วโลก 

✅ ดูย้อนหลังนาน 6 เดือน (1 ธันวาคม 2566 – 31 พฤษภาคม 2567)

✅ สรุปเนื้อหา Visual Summary ทุกเวที

 

Media Partner

📌รับสรุปเนื้อหาทุกเวที 20+ Sessions 

ซื้อบัตรชมย้อนหลังวันนี้ดูได้นานถึง 6 เดือน

https://bit.ly/TSEF2023MP 

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

X
Close Advertising