×

ทางรอดเศรษฐกิจไทย และความท้าทายเมื่อ AI ฉลาดกว่ามนุษย์ บทสรุปวันแรกของ THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023

โดย THE STANDARD TEAM
23.11.2023
  • LOADING...

ท่ามกลางพายุแห่งความเปลี่ยนแปลงที่สร้างความท้าทายในทุกมิติ เศรษฐกิจไทยมีความพร้อมมากน้อยแค่ไหน? THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2023: FUTURE READY THAILAND เศรษฐกิจไทยไล่ล่าอนาคต ในวันแรก (23 พฤศจิกายน) พาทุกคนมาร่วมกันหาคำตอบ เพื่อเป็นทางออกจากวิกฤตในทุกด้าน

 

โดยประเด็นที่น่าสนใจของวันแรก คือการสะท้อนภาพความเปลี่ยนแปลงของเศรษฐกิจไทยท่ามกลางความผันผวนของโลก

 

เศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวปาฐกถาพิเศษเปิดงานว่า เราเสียโอกาสดีๆ หลายด้านนานนับทศวรรษ ตอนนี้รัฐบาลพลเรือนที่ทำหน้าที่บริหารประเทศ ต้องการนำศักดิ์ศรีของประเทศไทยคืนกลับสู่เวทีโลก โดยใช้วิธีการต่างๆ ทั้งการทูตเชิงรุกเพื่อดึงดูดนักลงทุน ออกมาตรการสนับสนุนด้านภาษี เพิ่มรายได้ประชาชนในประเทศ เร่งแก้ปัญหาหนี้สิน นายกรัฐมนตรียังยืนยันว่าจำเป็นต้องกระตุ้นเศรษฐกิจครั้งใหญ่ด้วยโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งประเทศไทยมีศักยภาพมากพอ เพียงแค่ขาดโอกาสที่จะแสดงพลังเท่านั้น

 

ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ระบุถึง 3 เป้าหมายที่ธนาคารแห่งชาติจะเปลี่ยนแปลงภูมิทัศน์ทางการเงิน ในเวที ‘Thailand Financial Landscape 2024: ภูมิทัศน์เศรษฐกิจการเงินไทยปี 2024’ ได้แก่ 1. Payment กระตุ้นให้ประชาชนใช้ Digital Payment และ QR Payment เปลี่ยนธนบัตรจากกระดาษเป็น Polymer เพื่อช่วยลดต้นทุนการผลิต 2. Transition Finance ธนาคารแห่งประเทศไทยจะประเมินทั้งโอกาสกับความเสี่ยง ศึกษาหาข้อมูลในด้านต่างๆ เพื่อให้ทุกภาคส่วนเข้าใจ Green Trend ตรงกัน 3. Open Data for Consumer Empowerment เกี่ยวกับเรื่องสิทธิที่ผู้ให้บริการจะต้องส่งข้อมูลข่าวสารให้กับผู้ใช้บริการ  

 

ผยง ศรีวณิช ประธานสมาคมธนาคารไทย และกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงไทย พูดถึงการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย ในเวที ‘Reshaping Country Competitiveness Towards Sustainable Growth: พลิกขีดความสามารถไทยสู่การเติบโตที่ยั่งยืน’ โดยระบุว่าเวลานี้ไทยยังมีปัญหาในเชิงโครงสร้าง ทั้งความสามารถในการแข่งขันที่ยังอยู่ในระดับต่ำ สวนทางกับความเหลื่อมล้ำในสังคมที่อยู่ในระดับสูง ปัญหาหนี้ครัวเรือน และการเข้าสู่สังคมสูงวัย ที่ไทยจะต้องเร่งแก้ไขและหาทางออก ด้วยการดึงเทคโนโลยีเข้ามาใช้ประโยชน์ ห้ามละเลยโครงสร้างพื้นฐาน ทำให้ Data ต่างๆ ของหน่วยงานรัฐเชื่อมโยงกันเป็น Platform พัฒนาการศึกษาโดยใช้ AI เป็นผู้ช่วยสอน ปิดท้ายด้วยภาครัฐต้องวางยุทธศาสตร์ให้ชัดเจน 

 

ดร.ฟาบริซิโอ ซาร์โคเน World Bank Country Manager for Thailand ในเวที ‘Thailand’s Economy in a Changing Global Landscape: เศรษฐกิจไทยในภูมิทัศน์โลกที่ผันผวน’ ระบุว่าตอนนี้ธนาคารโลกกำลังแก้ไขข้อมูลการประมาณการเศรษฐกิจโลกที่จะเผยแพร่ในเดือนมกราคม 2024 คาดว่า GDP โลกจะโตเพียง 2.3% จากคาดการณ์ปัจจุบันที่ขยายตัว 2.4% นับเป็นหนึ่งในอัตราการฟื้นตัวที่ต่ำที่สุดในรอบ 50 ปี เป็นผลจากภาวะการเงินตึงตัว นโยบายควบคุมอัตราเงินเฟ้อสูงในรอบหลายทศวรรษ เงื่อนไขการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวดขึ้น และการค้าโลกชะลอตัว ขณะที่ GDP ไทยในปี 2024 จะขยายตัว 3% ยังไม่รวมโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ซึ่งหากรวมเข้าไปคาดว่า GDP ไทยจะขยายตัวอีก 1% สู่ระดับ 4% ไทยจำเป็นต้องมีการปฏิรูปเชิงโครงสร้าง เพิ่มระดับการลงทุนทั้งภาครัฐและเอกชน 2 เท่า เพิ่มผลผลิต รวมถึงพัฒนามนุษย์และการศึกษา

 

ดร.สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) กล่าวบนเวที ‘Future Ready Policies for Thailand: โจทย์นโยบายเศรษฐกิจไทย ไล่ล่าอนาคต’ ว่า ตอนนี้ไทยยังขาดความพร้อมหลายด้าน ทั้งการประกาศนโยบาย Net Zero การประยุกต์ใช้ AI ก็ยังอยู่ในระดับต่ำ ความรู้ทางภาษาอังกฤษก็ด้อยกว่าหลายชาติในอาเซียน อีกทั้งประชากรไทยส่วนใหญ่ก็ยังไม่มีความพร้อมในการวางแผนการเงินหลังเกษียณ ขณะที่กองทุนประกันสังคมก็ยังคงมีปัญหา เพื่อแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจ ข้อเสนอจาก ดร.สมเกียรติ ระบุว่ารัฐบาลจำเป็นต้องเพิ่มประสิทธิภาพหลายด้าน ทั้งการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาว ต้องมีศักยภาพทั้งวินัยการคลัง วินัยการเงิน และวิจัยการลงทุน เพราะรัฐบาลจะต้องเป็นผู้รับความเสี่ยง ขณะเดียวกันก็ต้องไม่สร้างความเสี่ยงให้กับประเทศ และมีคำถามทิ้งท้ายว่า รัฐบาลจะแจกเงินอย่างไรให้มีปัญหาน้อยที่สุด? 

 

ศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด และประธานกรรมการ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น แสดงวิสัยทัศน์ในเวที ‘The Future of Education: พลิกโฉมการศึกษาไทยเท่าทันอนาคต’ ว่าทุกวันนี้การศึกษาในบ้านเราต้องเผชิญกับปัญหาและความท้าทายหลายด้าน ทั้งปัญหาหลักสูตรที่ไม่ตอบโจทย์อนาคต ก้าวไม่ทันกระแสโลกในยุคปัจจุบัน ปัญหาความเหลื่อมล้ำ การมาใหม่ของเทคโนโลยี สิ่งที่ควรทำคือการส่งเสริม Soft Skills เช่น ทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีม ความคิดสร้างสรรค์ การแก้ปัญหาระหว่างบุคคล การจัดการความสัมพันธ์ และการแก้ไขข้อขัดแย้ง ขณะเดียวกันต้องลดภาระงานที่ไม่จำเป็นของครู ให้บทบาทของผู้สอนเป็น Facilitator นำเทคโนโลยีไอซีทีและสื่อดิจิทัลมาบูรณาการการเรียนการสอน เพิ่มพูนประสบการณ์โดยมีผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง 

 

ดร.ไพรินทร์ ชูโชติถาวร ประธานกรรมการ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน), ดร.สันติธาร เสถียรไทย คณะกรรมการนโยบายการเงินของ ธปท. และ อดีตผู้บริหารบริษัทเทคโนโลยีระดับโลก และ ดร.การดี เลียวไพโรจน์ ประธานเจ้าหน้าที่อนาคตศาสตร์และสินทรัพย์ ดิจิทัล บริษัท ฟิวเจอร์เทลส์ แล็บ โดย MQDC ได้แลกเปลี่ยนวิสัยทัศน์กับคำถามที่ว่า Workforce ของโลกในอนาคตเป็นแบบไหน แล้วไทยจะเดินไปสู่จุดนั้นได้อย่างไร? ในเวที ‘Closing the Skills Gap for Future Ready Workforce: ทรานส์ฟอร์มงานและทักษะคนไทยในโลกใหม่’

 

ดร.สันติธาร มองว่าการ Reskilling และ Upskilling จะต้องเป็นวาระแห่งชาติ เช่นเดียวกับ ดร.การดี ที่ระบุว่าปัจจัยทุนด้านมนุษย์เป็นสิ่งจำเป็น แต่ตอนนี้เรายังคงติดปัญหาเรื่องความเหลื่อมล้ำ ที่จะทำให้แรงงานจำนวนมากไม่สามารถเข้าถึงการศึกษา เพื่อพัฒนาศักยภาพของตัวเองได้ ไม่เพียงเท่านี้ ในทศวรรษข้างหน้าจะมี AI กว่า 10% ที่จะเชื่อมต่อกับสมองมนุษย์ ทำให้ AI มีไอคิวสูงกว่า 1,600 ซึ่งเราต้องหาคำตอบว่ามนุษย์ควรปรับตัวกับเรื่องนี้อย่างไร ด้าน ดร.ไพรินทร์ แสดงความคิดเห็นว่า หลักสูตรการศึกษาที่เคยเป็นแบบคณะหรือภาควิชาต่างๆ จะใช้ไม่ได้อีกแล้วในโลก 4.0 ที่ใช้ AI เป็น Based และเราจำเป็นที่จะต้องปรับตามสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป

 

ด้าน Vinayak HV ในฐานะ Senior Partner and Leader of McKinsey Digital in Asia-Pacific ขึ้นพูดในหัวข้อ ‘Edge of Generative AI: Insights by McKinsey: ถอดรหัส Generative AI ในศตวรรษใหม่’ ระบุว่า Generative AI สามารถเพิ่มมูลค่าให้กับเศรษฐกิจโลกได้ประมาณ 2.6-4.4 ล้านล้านดอลลาร์ต่อปี ผ่าน 63 กรณีการใช้งานทางธุรกิจที่ McKinsey ใช้วิเคราะห์ โดยตัวเลขดังกล่าวคิดเป็นมูลค่า 5-8 เท่าของ GDP ไทย ดังนั้นในทางกลับกันไทยก็สามารถเพิ่มผลผลิตทางเศรษฐกิจได้ผ่านการใช้เทคโนโลยีนี้เช่นกัน

 

ดร.อารักษ์ สุธีวงศ์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) พูดถึงความท้าทายของ AI Transformation เพื่อสร้างแต้มต่อที่ยั่งยืนให้องค์กร โดยระบุว่า สิ่งสำคัญคือการร่วมมือกับผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เพื่อให้เกิดแต้มต่อ ตั้งเป้าให้ชัดว่าเราต้องการจะทำอะไร แม้ AI จะมีคุณประโยชน์มหาศาล หากจัดการไม่ดีจะกลายเป็นดาบสองคม ความรับผิดชอบจึงเป็นหัวใจสำคัญในการสร้างนวัตกรรม ใช้เทคโนโลยีให้เป็นเพื่อยกระดับตัวเองให้แข่งขันกับคนอื่นได้ 

 

ดร.ณภัทร จาตุศรีพิทักษ์ ผู้ก่อตั้ง Vialink และกรรมการบริหารสถาบันอนาคตไทยศึกษา, ดร.ศุภศรณ์ สุวจนกรณ์ อาจารย์ประจำสถาบันวิทยสิริเมธี และ ธนวัฒน์ สุธรรมพันธุ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไมโครซอฟท์ (ประเทศไทย) จำกัด แบ่งปันความคิดเห็นว่าการมาของ AI กระทบต่อแรงงานทั่วโลกมากน้อยแค่ไหน อาชีพอะไรจะหายไป และอาชีพใดที่จะเข้ามาทดแทน ในเวที ‘Thailand’s Roadmap for Generative AI: ความพร้อมประเทศไทยในโลก Generative AI’ โดยทุกคนมองว่า AI เป็นทั้งโอกาสและความเสี่ยง ขึ้นอยู่กับการนำไปใช้ ซึ่งแนวโน้มในอนาคตความสามารถของ AI จะครอบคลุมมากกว่าที่มนุษย์เคยประเมินไว้ แม้จะทำให้การทำงานง่ายขึ้น แต่ก็อาจสร้างผลกระทบแบบเป็นลูกโซ่หากใช้ไม่เหมาะสม ดังนั้นจึงต้องหาจุดร่วมที่จะเกิดประโยชน์กับทุกฝ่าย

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X