×

อธิการบดี ม.มหิดล เผย ‘3 เทรนด์สำคัญ’ เปิดพรมแดนใหม่ พลิกวงการสุขภาพในสังคมไทย

โดย THE STANDARD TEAM
13.11.2024
  • LOADING...

วันนี้ (13 พฤศจิกายน) ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ศรีธรา อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหิดล ขึ้นกล่าวสปีชในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2024: BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่ ในหัวข้อ The Next Frontier: Game-Changing Trends in Healthcare พรมแดนใหม่ เทรนด์พลิกวงการสุขภาพ โดยระบุว่า ‘ตัวเปลี่ยนเกม’ (Game Changer) ในวงการสุขภาพขณะนี้มีอยู่ 3 ด้านสำคัญ นั่นคือ

 

  1. นวัตกรรมการรักษา เทรนด์ใหม่น่าจับตาในวงการสุขภาพ

 

ตลาดยาและอาหารเสริมเติบโตขึ้นอย่างมาก โดยเฉพาะตลาดยามีมูลค่าอยู่ที่ 2.2 แสนล้านบาท ขณะที่ตลาดอาหารเสริมมีมูลค่าสูงถึง 8.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีอัตราการเติบโตสูงกว่าค่าใช้จ่ายด้านเฮลท์แคร์ในปัจจุบัน

 

ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ชี้ว่านวัตกรรมการรักษาใหม่ๆ ที่ใช้ตัว ‘ยาใหม่’ ซึ่งเป็น Game Changer คือ ‘ยาที่มีชีวิต’ ที่เรียกว่า ‘Advanced Therapy Medicinal Products’ (ATMP) โดยนำเซลล์ในร่างกายคนมาใช้รักษาโรคผ่านการตัดต่อยีน เช่น การตัดต่อยีนในเม็ดเลือดขาว CAR T-cell Therapy เพื่อทำให้เม็ดเลือดขาวจัดการกับมะเร็งได้อย่างมีประสิทธิภาพ จนนำไปสู่การจัดตั้งบริษัท Genepeutic Bio Company Limited (GNPT) โดยเป็นการร่วมทุนของ Thai Foods Group Public Company Limited กับ สวทช.

 

การตัดต่อยีนยังทำได้ในอีกหลายโรค เช่น ธาลัสซีเมีย โดยตัดต่อยีนธาลัสซีเมียให้ปกติแล้วใส่กลับไปในร่างกายคนเดียว เพื่อให้ผลิตเม็ดเลือดแดงที่ปกติได้ นอกจากนี้ Xenotransplantation ก็จะเป็นอีกหนึ่งแนวทางการรักษาที่น่าสนใจ โดยการนำอวัยวะหมูมาตัดต่อยีน เพื่อให้ความสามารถในการทำปฏิกิริยาจำเพาะ (Antigenicity) ของหมูลดลง เหมือนได้เนื้อเยื่อ (Tissue) ของคนมากขึ้น ในอนาคตไทยอาจมีฟาร์มหมูที่มีคุณภาพสูง มีการติดเชื้อน้อยมากๆ หรือเลี้ยงหมูปลอดเชื้อได้ ก็จะเป็นแหล่งผลิตอวัยวะสำคัญๆ อย่างหัวใจ ไต และตับ ให้กับพวกเราในอนาคต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการทดลอง

 

ขณะที่สมุนไพรถือเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญ เพราะไทยมีความหลากหลายทางสมุนไพรเป็นอย่างมาก และควรได้รับการสนับสนุน เพื่อลดการนำเข้ายาจากต่างประเทศ

 

สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติจะผลักดันนโยบายเพิ่มการเบิกจ่ายสมุนไพรเพิ่มขึ้นอีก 10% ในปีนี้ และลดการเบิกจ่ายยาที่มีสรรพคุณด้านเดียวกันกับสมุนไพรลดลงอีก 5% เพื่อสนับสนุนให้คนมาใช้สมุนไพรมากขึ้น เช่น ขมิ้นชันที่มีสรรพคุณแก้ท้องอืดท้องเฟ้อได้ดี จากขมิ้นชันที่อาจมีมูลค่าราว 20 บาทต่อกิโลกรัม อาจเพิ่มขึ้นเป็น 80,000 บาทต่อกิโลกรัมได้ ถ้านำไปสกัดเป็น Facial Oil และเวชสำอางที่สำคัญ โดยการศึกษาล่าสุดของศิริราชพบว่าขมิ้นชันยังมีคุณสมบัติชะลอการแตกของเม็ดเลือดแดงในคนไข้ที่เป็นธาลัสซีเมียได้ อีกทั้งพืชสมุนไพรอย่างพรมมิยังมีสรรพคุณช่วยรักษาสมองเสื่อม ขณะที่ใบบัวบกสายพันธุ์ศาลายา 1 มีสรรพคุณช่วยรักษาอาการผิวหนังอักเสบได้

 

นอกจากนี้ ยังจัดตั้งองค์กรอย่าง Clinixir ซึ่งเป็นความร่วมมือของ Bualuang Ventures และโรงเรียนแพทย์อีก 8 แห่ง โดยองค์กรนี้จะทำหน้าที่เป็น ‘ผู้จัดการในการทำวิจัย’ ให้เกิดการขึ้นทะเบียน จะเป็น Game Changer ของไทยที่ทำให้มีวิธีการผลิตยาใหม่ได้ตลอดขั้นตอน

 

  1. Wellness Center กับการแก้โจทย์ ‘สังคมผู้สูงอายุ’ ของไทย

 

ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ระบุว่าไทยต้องเน้นเรื่อง ‘ความเป็นอยู่ที่ดี’ (Wellness) ให้เพิ่มมากขึ้น เพราะในอีก 100 ปีข้างหน้า ประชากรไทยราว 66 ล้านคน ตัวเลขคาดการณ์จะเหลือเพียงแค่ราว 27 ล้านคนเท่านั้น

 

ขณะที่ตัวเลขคาดการณ์อาเซียนในปี 2050 จะมีประชากรสูงอายุสูงถึง 21% แต่ถ้าดูเฉพาะประเทศไทยขณะนี้เรามีประชากร 20% ที่อายุเกิน 60 ปีแล้ว ไทยเป็นประเทศเดียวในอาเซียนที่มีประชากรสูงอายุสูงมาก โดยในอีก 20 ปีข้างหน้า 1 ใน 3 ของประชากรไทยจะเป็นผู้สูงอายุ ซึ่งจะตามมาด้วยค่ารักษาพยาบาลที่แพงมากขึ้น เนื่องจากเทคโนโลยีใหม่ๆ เช่น การเปลี่ยนหรือซ่อมลิ้นหัวใจโดยไม่ผ่าตัด จึงทำให้แนวคิดที่อยากทำให้ผู้สูงอายุมาอยู่ร่วมกันหรือทำงานให้นานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้กลายเป็นเรื่องสำคัญ ตัวอย่างที่จะนำมาใช้แก้โจทย์สังคมผู้สูงอายุของไทย เช่น การสร้าง Wellness Center อย่างที่พักผู้สูงอายุ รามาฯ-ธนารักษ์ รวมถึงส่งเสริมการอบรมและเสริมอาชีพ ‘นักบริบาล’ (Caregiver) และสนับสนุน Living Will ให้ผู้ป่วยระยะสุดท้ายเสียชีวิตที่บ้านแทนโรงพยาบาล

 

  1. เทคโนโลยีล้ำสมัยปฏิวัติการรักษาพยาบาล

 

ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร กล่าวว่าแบบจำลองภาษาขนาดใหญ่ (Large Language Model: LLM) กลายมาเป็นผู้ช่วยการรักษาทางการแพทย์ได้เป็นอย่างดี ปัจจุบันมีการใช้ LLM รวมถึงเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) อย่าง ChatGPT มาใช้ในการช่วยรักษาและให้คำปรึกษาคนไข้ ทั้งยังพยายามสนับสนุนการรักษาทางไกล (Telemedicine) ส่งยาทางไปรษณีย์ และเพิ่มศูนย์เจาะเลือดตามจุดต่างๆ เพื่อลดความแออัดในโรงพยาบาล

 

ศาสตราจารย์ นพ.ปิยะมิตร ยังระบุว่าในอนาคต Game Changer ที่สำคัญคงจะเป็นเรื่องของการเปลี่ยนการรักษาแบบที่ต้องไปโรงพยาบาล เอารองเท้าไปเข้าคิวแบบในภาพยนตร์ หลานม่า มาเป็นการรักษาแนวใหม่ที่มี AI มาช่วยหมอในเรื่องต่างๆ เช่น อ่านฟิล์มเอ็กซเรย์ หรือแปลผลแล็บ

 
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising