ดร.คงกระพัน อินทรแจ้ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) กล่าวในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM: BRAVE NEW WORLD เศรษฐกิจไทย ไล่กวดโลกใหม่ ในหัวข้อ Global Energy Transition: Pathway towards Sustainable Future พลังงานเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน ว่า โลกปัจจุบันมีเรื่อง Climate Change เพื่อเปลี่ยนผ่านพลังงานให้ใช้ฟอสซิลน้อยลง รวมไปถึงสังคมสูงวัย คนรุ่นใหม่ สังคมเมืองขยายตัวขึ้น และการเข้ามาของเทคโนโลยีต่างๆ
แน่นอนว่าบริบทต่างๆ เชื่อมโยงกับปัญหาโลกปัจจุบัน จะเห็นว่าตั้งแต่ปี 2000-2023 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงขึ้น เนื่องจากผู้คนใช้พลังงานเพิ่มขึ้น และส่วนหนึ่งก็มาจากภาคอุตสาหกรรมด้วย
และโลกมีความต้องการใช้พลังงานเพิ่มขึ้นทุกวัน ทุกคนต่างบอกเป็นเสียงเดียวกันว่าอยากใช้พลังงานสะอาดอย่างโซลาร์และน้ำมากขึ้น แต่อย่าลืมว่าความสมดุลเศรษฐกิจและสิ่งแวดล้อมต้องมาด้วยกัน ประเทศที่พัฒนาแล้วมีงบมากพอก็สามารถเปลี่ยนได้เร็ว
จะเห็นว่าตัวแปรที่สำคัญมากๆ คือก๊าซธรรมชาติ ฟอสซิลเป็นพลังงานไฮโดรคาร์บอนที่ถือว่าสะอาดที่สุด แล้วอย่างอื่นก็ค่อยๆ มา อย่างโรงไฟฟ้านิวเคลียร์ขนาดเล็ก ทุกอย่างต้องใช้เวลา ในหลายๆ ประเทศต่างมีความพร้อมในเรื่องนี้
เช่นเดียวกับ ASEAN รวมถึงประเทศไทย จะเห็นว่าโครงสร้างพื้นฐานที่เราอยู่สามารถใช้ก๊าซธรรมชาติได้อีกระยะหนึ่ง เพราะกว่าจะเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดต้องใช้เวลาและเงินจำนวนมาก
ปัจจุบันไทยมีก๊าซธรรมชาติใช้เองประมาณ 50% ของความต้องการทั้งหมด และอีก 50% นำเข้า ขณะที่น้ำมันนำเข้า 90% แต่ไทยก็มีแหล่งก๊าซธรรมชาติเหมือนกับมาเลเซีย อินโดนีเซีย และบริษัทพลังงานต่างๆ ที่พยายามสร้างโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อให้การใช้ก๊าซธรรมชาติคำนึงถึงการปล่อยคาร์บอนให้น้อยที่สุด ซึ่งขณะนี้ ปตท. ทำโครงการ Carbon Capture and Storage หรือ CCS เป็นการจับและกักเก็บคาร์บอนให้ไม่ถูกปล่อยไปสู่ชั้นบรรยากาศ ดังนั้นถ้าไทยจะมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero ก็จำเป็นต้องพัฒนาเทคโนโลยี CCS ซึ่งหากในอนาคตสามารถนำมาใช้ได้อย่างเต็มที่ก็จะช่วยให้ไทยไปสู่การเปลี่ยนผ่านพลังงานอย่างยั่งยืนได้ รวมถึงการพยายามเพิ่มทางเลือกในการใช้พลังงานที่สะอาดขึ้นอย่างพลังงานไฮโดรเจน