×

TDRI มองเศรษฐกิจไทยกำลังติดหล่ม ต้องเปลี่ยนผ่านจาก ‘ทุนนิยมพวกพ้อง’ สู่ ‘ทุนนิยมนวัตกรรม’

25.11.2022
  • LOADING...
TDRI

TDRI มองเศรษฐกิจไทยกำลังติดหล่ม จำเป็นต้องเปลี่ยนผ่านจากทุนนิยมพวกพ้อง ไปสู่ทุนนิยมนวัตกรรม พร้อมมอง 4 ความท้าทายสำคัญ ได้แก่ ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ เทคโนโลยีที่เปลี่ยนเร็ว วิกฤตสิ่งแวดล้อม และสังคมสูงอายุ

 

จากงานเสวนา THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022 บนเวที EDGE OF TOMORROW: เศรษฐกิจไทยบนปากเหว สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) มองว่า แท้จริงแล้วเศรษฐกิจไทยอาจจะไม่ได้อยู่บนปากเหว เพราะเศรษฐกิจไทยไม่ได้ประสบวิกฤตแบบที่หลายประเทศต้องเผชิญ เช่น ศรีลังกา สปป.ลาว และบางประเทศในลาตินอเมริกา หรือไทยเมื่อปี 2540 ซึ่งนั่นคือเหวจริง 

 

อย่างปัญหาใหญ่ของโลกในปัจจุบัน เช่น ความขัดแย้งด้านภูมิศาสตร์ เราไม่ได้เผชิญปัญหาโดยตรง แต่ก็ไม่ได้อานิสงส์มากเท่าที่ควรดังเช่นในอดีต อย่างครั้งที่ญี่ปุ่นย้ายฐานการผลิตมาตั้งในไทยเนื่องจากเงินเยนแข็งค่า 

 

หรือวิกฤตพลังงาน ไทยไม่ได้มีปัญหาถึงขั้นขาดแคลน แม้ระยะยาวกองทุนน้ำมันอาจนำไปสู่ปัญหาด้านการคลัง ขณะที่เงินเฟ้อยังไม่ถึงขั้นวิกฤต แต่คนที่มีรายได้น้อย SME และคนทั่วไปอาจเดือดร้อน เช่น คนขับรถแท็กซี่ที่รัฐบาลอนุมัติให้ขึ้นค่าโดยสารประมาณ 7% ในรอบ 7 ปีที่ผ่านมา ทำให้คนขับแท็กซี่มีรายรับไม่พอกับเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น 

 

“ปัญหาของไทยไม่ใช่ปัญหาระยะสั้นเฉพาะหน้าที่จะเกิดวิกฤต แต่เป็นปัญหาที่ไทยฟื้นตัวช้า เศรษฐกิจไทยไม่ได้อยู่บนปากเหว แต่กำลังติดหล่ม วิ่งไปข้างหน้าได้แต่ช้ามาก เพราะเรามั่วกันมากเกินสมควร

 

ปัญหาที่เกิดขึ้นทำให้เศรษฐกิจไทยไม่ได้คึกคักเหมือนเวียดนามและอินโดนีเซีย ปัญหาต่างๆ ทั้งเรื่องของภูมิรัฐศาสตร์ สภาพภูมิอากาศ วิกฤตพลังงาน และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด จะทำให้หล่มของเมืองไทยลึกขึ้น และแก้ปัญหาได้ยากขึ้น 

 

“ปัญหายากๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะแก้ไม่ได้ ถ้าไทยยังเป็นทุนนิยมพวกพ้อง และภาครัฐที่เต็มไปด้วยความมั่ว” 

 

ตัวอย่างหนึ่งที่เห็นเป็นรูปธรรมคือ การถ่ายทอดสดฟุตบอลโลก เป็นตัวอย่างที่เป็นโลกจิ๋วจำลองของไทย ซึ่งคือตัวอย่างเล็กๆ ที่สามารถบอกอะไรได้หลายอย่างเกี่ยวกับประเทศไทย

 

“สิ่งที่มั่วคือ กสทช. ออกกฎ Must Have, Must Carry เมื่อรัฐบาลขอเงินก็อนุมัติทั้งๆ ที่อาจจะไม่มีอำนาจ ส่วนกรณีที่ทรูจะควบรวมกับดีแทคเป็นสิ่งที่อยู่ในอำนาจของ กสทช. แต่บอกว่าไม่มีอำนาจ” 

 

ในระยะสั้นเศรษฐกิจภายนอกกำลังถดถอย โดยเฉพาะเศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ และยุโรป ขณะที่จีนอาจไม่ถึงขั้นถดถอยติดลบ แต่เป็นการเติบโตช้ากว่าที่เคยเป็นมา ทำให้เศรษฐกิจไทยจะฟื้นตัวได้แต่ไม่น่าจะเร็ว เฉลี่ยประมาณ 2-3% 

 

“สิ่งที่จะเจอปีหน้าในเชิงเศรษฐกิจคือของแพง แม้เงินเฟ้อจะพีคไปแล้วในไทย ระดับราคาไม่ได้พุ่งขึ้นเร็ว แต่ก็ไม่ได้กลับลงมา” 

 

ส่วนปัญหาหนี้ครัวเรือน แม้ยังไม่ถึงขั้นวิกฤตแต่น่าเป็นห่วงมาก ด้วยหนี้จำนวน 13 ล้านล้านบาท จะเกิด NPL ประมาณ 8.6% หรือมากกว่า 1 ล้านล้านบาท เกี่ยวข้องกับคน 5.5 ล้านครัวเรือน นอกจากนี้จะมีหนี้เงินกู้พิเศษ (SML) ที่อาจกลายเป็นหนี้เสียอีก 3% รวมทั้งหนี้เสียที่เข้าสู่การปรับโครงสร้างหนี้ (TDR) อีกราว 6% ฉะนั้นหากรวมหนี้เสียทั้ง 3 ก้อน จะคิดเป็นราว 16-18% 

 

“ถ้าเศรษฐกิจไทยฟื้นช้า คนที่มีรายได้น้อยจะเดือดร้อน และจะแก้ปัญหาหนี้ได้ยาก” 

 

นอกจากนี้ เรากำลังจะมีการเลือกตั้งในปีหน้า ด้วยภาวะที่ของแพงและคนมีหนี้สูง จะทำให้แต่ละพรรคการเมืองอาจแข่งขันออกนโยบายลด แลก แจก แถม ซึ่งจะน่าเป็นห่วงหากท้ายที่สุดแล้วเป็นการใช้เงินนอกงบประมาณ เช่น เงินของรัฐวิสาหกิจหรือเงินกู้ จะทำให้ความเสี่ยงทางการเงินของประเทศสูงขึ้น

 

4 ความท้าทายของเศรษฐกิจไทย

ประธาน TDRI มองว่า เศรษฐกิจไทยจะเผชิญกับความท้าทายสำคัญ 4 ด้าน ได้แก่

 

  1. ปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ จะทำให้ตลาดโลกซึ่งเคยเป็นหนึ่งเดียวถูกแบ่งออกมา และทำให้มาตรฐานแตกต่างกัน 

 

ยกตัวอย่างเช่น ธุรกิจไทยจะต้องเจรจากับจีนผ่านออนไลน์ จะต้องใช้ซอฟต์แวร์ใดในการคุย ธุรกิจไทยอาจจะใช้ Zoom หรือ Microsoft Teams หรือ Google Meet แต่จีนอาจจะบอกว่าต้องใช้ WeChat เท่านั้น ในขณะที่ฝ่ายไอทีของไทยก็อาจจะไม่กล้าใช้ผ่านระบบคอมพิวเตอร์ 

 

หรือแม้แต่มาตรฐานทางเทคโนโลยีในอนาคตที่อาจแบ่งออกเป็นสองฝั่ง เช่น การติดตั้งซอฟต์แวร์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ ทำให้ผู้ผลิตต้องเจอปัญหา Supply Chain Disruption 

 

  1. เทคโนโลยีที่ปรับเปลี่ยนเร็ว รถยนต์จะเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมที่เราต้องคิดอย่างรอบคอบว่าจะปรับตัวอย่างไร ในมุมหนึ่งการเปลี่ยนไปสู่ EV ถือเป็นโอกาส เพราะหากทั่วโลกจะเลิกผลิตเครื่องยนต์สันดาปภายใน (ICE) ในมุมกลับถ้าเรายังผลิตขายต่อไปจะทำให้เรามีตลาดจำนวนมาก แต่ในเวลาเดียวกันถ้าเราจมกับตลาดนี้นานเกินไป สุดท้ายหากอุตสาหกรรมเปลี่ยนไปโดยสิ้นเชิง จะทำให้เราเสียหายได้ 

 

  1. วิกฤตสิ่งแวดล้อม ไทยเป็นประเทศที่เสี่ยงอันดับ 9 ของโลก ที่อาจจะเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ประเด็นที่สำคัญคือการต้องเร่งปรับเข้าสู่สังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งสิ่งที่เราทำได้ดีคือสาขาพลังงานและยานยนต์ที่เรามีแผนปรับเปลี่ยนชัดเจน แต่สาขาอื่นๆ แทบจะไม่มีแผนออกมา

 

“โจทย์สำคัญที่ไทยต้องคิดในระยะ 4-5 ปีนี้ คือหากจะให้ครัวเรือนและธุรกิจต่างๆ ลดการปล่อยคาร์บอน จะใช้มาตรการอะไร โดยหลักมี 2 ส่วน คือ จัดเก็บภาษีคาร์บอน หรือกำหนดปริมาณการปล่อยและเปิดให้ซื้อขายเครดิต” 

 

นอกจากนี้ อุณหภูมิโลกที่น่าจะร้อนขึ้นเกิน 2% หลังสิ้นศตวรรษนี้ อาจทำให้เราต้องเผชิญกับ 4 ภัยธรรมชาติ ได้แก่ น้ำท่วมใหญ่ ไฟป่าแรง แห้งแล้งจัด วิบัติคลื่นความร้อน ตลอด 20 ปีที่ผ่านมา เกิดอากาศวิปริตในไทยเฉลี่ยปีละ 7 ครั้ง และจะรุนแรงขึ้น 

 

  1. สังคมสูงอายุและอายุยืน จะทำให้คน 6 รุ่นอยู่พร้อมกัน ท่ามกลางสังคมที่เปลี่ยนเร็วมาก และนำไปสู่ความขัดแย้งแห่งช่วงวัย 

 

ความหวังของเศรษฐกิจไทย

“เลิกมั่วกันเสียที ปัญหายากๆ กำลังจะมีมามากมายในอนาคต ถ้าเราอยากหลุดออกจากหล่มต้องเลิกมั่วทั้งทางเศรษฐกิจและการเมือง” 

 

จากการสำรวจพบว่าคนไทยเกือบครึ่งเชื่อว่าความสำเร็จมาจากโชคดีและมีเครือข่าย ไม่ใช่การทำงานหนัก 

 

“นี่คืออาการของการที่ระบบเศรษฐกิจเมืองไทยเป็นแบบทุนนิยมพวกพ้อง สิ่งที่ต้องเปลี่ยนผ่านคือออกจากทุนนิยมพวกพ้องไปสู่ทุนนิยมแบบนวัตกรรม” 

 

ทุนนิยมแบบนวัตกรรมสร้างโดย 2 กลุ่ม คือ บริษัทขนาดใหญ่และสตาร์ทอัพ หากเราไม่เปิดให้บริษัทใหญ่หากินจากการผูกขาด ธุรกิจใหญ่จะไปสร้างนวัตกรรม และช่วยให้สตาร์ทอัพมีที่ยืน 

 

ส่วนรัฐวิสาหกิจต่างๆ ไม่จำเป็นต้องมีนวัตกรรมมากมาย แต่ขอให้มีธรรมาภิบาล และหยุดเป็น ‘พระคลังข้างที่’ หรือเป็นทุนของรัฐที่รัฐบาลจะวิ่งมาใช้เงินได้ทุกเมื่อ ส่วนทุนขนาดเล็กขอให้มีการผลิตอย่างมีประสิทธิภาพ 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising