×

3 นักวิชาการมองการเมืองไทยติดหล่ม พร้อมตกเหวอีกครั้ง โจทย์เลือกตั้งปีหน้าคือจะเลือกนายพลคนพี่หรือคนน้อง

โดย THE STANDARD TEAM
27.11.2022
  • LOADING...

วันนี้ (27 พฤศจิกายน) บนเวที THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022 ในช่วง ‘THE POWER GAME การเมืองไทยบนปากเหว’ โดยมี รศ.ดร.ประจักษ์ ก้องกีรติ, รศ.ดร.สิริพรรณ นกสวน สวัสดี และ รศ.ดร.อภิชาต สถิตนิรามัย โดยมี สรกล อดุลยานนท์ หรือ หนุ่มเมืองจันท์ และ ชัยนนท์ หาญคีรีรัตน์ ดำเนินรายการ

 

เริ่มต้นด้วยคำถามถึงการเมืองไทยติดหุบเหวอะไรบ้างในช่วงที่ผ่านมา ซึ่ง รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราติดหุบเหวทั้งหมด 2 อย่าง คือกับดักประชาธิปไตยแบบไทยๆ และกับดักการแบ่งแยกแตกขั้วร้าวลึก ซึ่งเราติดหล่มเหล่านี้มาตั้งแต่การรัฐประหารปี 2549 ซึ่งประเทศที่ติดกับดักเหล่านี้ออกจากกับดักยาก

 

“พอมันเข้าไปอยู่ในหล่มนี้นานๆ แล้วเราไม่แก้ไขมัน มันก็จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของความสำคัญทางสังคม กระทั่งร้าวลึกถึงครอบครัว ผมคิดว่าจนถึงวันนี้เราก็ยังติดกับดักนี้ แล้วเรายังไม่ออก เผลอๆ จะร้าวลึกกว่าเดิมด้วยซ้ำ เราต้องเริ่มจากการยอมรับความจริงว่าทศวรรษที่ผ่านมาเรามีการเมืองไม่ปกติ” รศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

 

รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวต่อไปว่า ส่วนกับดักประชาธิปไตยแบบไทยๆ มันก็มาซ้ำเติมกับกับดักการแบ่งแยกแตกขั้วร้าวลึก ซึ่งการแก้ปัญหาคือต้องหาสัญญาประชาคมร่วมกัน ต้องมีกติกาที่ยอมรับร่วมกัน ถ้าทำตรงนี้ได้มันก็จะไม่มีความรุนแรง ซึ่งเมื่อเราพูดถึงความรุนแรงมันคือปลายเหตุแล้ว ความรุนแรงไม่ใช่ต้นเหตุของวิกฤต แต่คือมีวิกฤตมาก่อนแล้วก่อให้เกิดความขัดแย้งและความรุนแรง อีกทั้งเราอยู่ในการเมืองที่ไม่ปกติของไทย คือไทยเราเป็นประเทศเดียวในโลกที่มีรัฐประหาร 2 ครั้ง ในเวลาไม่ถึง 10 ปี

 

“การรัฐประหารมันคือวิธีการแก้ความขัดแย้งที่ล้าหลังที่สุดในโลก แต่เราเอามาใช้ พอเป็นแบบนี้ไม่มีทางที่การเมืองจะปกติได้ แต่เราอาจหลีกเลี่ยงที่จะพูดกันแบบตรงไปตรงมาว่าการเมืองของไทยมันพัฒนาอยู่ในระดับไหน” รศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

 

ขณะที่ รศ.ดร.อภิชาตกล่าวว่า ตนเห็นด้วยตามที่ รศ.ดร.ประจักษ์ กล่าวมาว่าหุบเหวของการเมืองไทยคือการรัฐประหาร ซึ่งเป็นวงจรอุบาทว์ที่นำไปสู่ความรุนแรง และการแก้ไขปัญหาความรุนแรงไม่ใช่ไปแก้ที่ความรุนแรง แต่ต้องแก้ที่สาเหตุ หนึ่งในนั้นคือความเหลื่อมล้ำ

 

“ความเหลื่อมล้ำมันไม่ใช่ตัวจุดระเบิดความรุนแรงด้วยตัวมันเอง แต่ในทัศนะของผมคือมันเหมือนกับเชื้อเพลิงที่สะสมไว้ มันรอประกายไฟ รอคนมาลั่นไกปืน ถ้าเราสะสมเชื้อไฟของความรุนแรงนี้ไว้ ถ้ามันถึงเวลาเหมาะสม มีคนมาจุดไฟ มันก็จะระเบิดด้วยความรุนแรง” รศ.ดร.อภิชาตกล่าว

 

รศ.ดร.อภิชาตกล่าวต่อไปว่า หากเราดูประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทย การปฏิวัติปี 2475 มันเกิดเพราะว่าถูกจุดประกายด้วยภาวะวิกฤตทางเศรษฐกิจโลก แล้วก็นำไปสู่กบฏบวรเดช เมื่อถามว่าทำไมมันระเบิดขนาดนั้น เพราะว่าความเหลื่อมล้ำที่มันสะสมตั้งแต่รัชกาลที่ 4 และ 5 มันก็ระเบิดช่วงนั้น โดยเฉพาะชนชั้นนำที่สะสมที่ดินมากมายให้ชาวนาเช่าและเกิดการเปรียบเปรยว่าทำนาบนหลังคน หลังจากปี 2475 ข้อเสนอหลักหนึ่งของ ปรีดี พนมยงค์ คือให้รัฐบังคับซื้อที่ดินคืน ซึ่งขัดผลประโยชน์ของชนชั้นนำ ก็ระเบิดความรุนแรงเป็นกบฏบวรเดช

 

“ปัจจุบันเราถึงไหนแล้ว ถ้าเราดูตัวเลขเมื่อ 3-4 ปีก่อน คน 1% ของไทยครองสินทรัพย์ถึง 67% ถ้าเราใช้มาตรวัดเราถือว่าเหลื่อมล้ำที่สุดในโลก แล้วอาจารย์ในคณะผมเขาก็บอกว่าข้อมูลมันไม่สมบูรณ์ แต่แกเดาว่าตัวเลขนี้ถูก แล้วมากกว่านั้น ถ้าเราดูตัวเลข Top 10 ตระกูลที่ร่ำรวยในไทยช่วงรัฐประหารปี 2549-2561 รวยขึ้น 7.7 เท่า

 

“เมื่อความเหลื่อมล้ำสูง ความเป็นประชาธิปไตยมันจะเป็นไปยาก มันจะตั้งมั่นได้ยาก เพราะเมื่อเป็นประชาธิปไตยก็จะมีแรงกดดันให้กระจายรายได้สูงขึ้นแน่นอน เพราะคนชั้นล่างมีปากมีเสียงมากขึ้น และระดับความเหลื่อมล้ำที่สูงมันแปลว่าเขาจะเสียประโยชน์ที่ค่อนข้างสูง” รศ.ดร.อภิชาตกล่าว


ด้าน รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า เมื่อเราย้อนกลับไป 20 ปี ก็จะพบว่าทุกครั้งที่มีการรัฐประหารนั่นคือสังคมตกเหว และทุกครั้งเราก็พยายามขึ้นจากเหว ถ้าจะมองแบบปราณีก็ถือว่าขึ้นจากเหวแล้ว แต่ขึ้นมาแล้วเราก็ยังวนอยู่รอบปากเหว และการวนนี้ทำให้เราไม่สามารถพัฒนาไปมากกว่านี้ได้ เหมือนการขับรถวน

 

“คนขับรถบางทีก็พาเราไปหลงทาง GPS ก็ใช้ไม่ค่อยเป็น บางครั้งก็ขับถอยหลัง เพราะทิศทางการเมืองของเราไมไ่ด้ถูกกำหนดเพื่อออกไปจากพื้นที่ตรงนี้ แต่ถูกกำหนดเพื่อรักษาคนขับรถ แล้วคนขับรถใบขับขี่ก็ใกล้หมดอายุ แต่ก็อยากขับรถต่อ” รศ.ดร. สิริพรรณกล่าว

 

รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวต่อไปว่า นี่คือโจทย์ใหญ่ว่าต่อไปขาข้างหนึ่งของเราจะจุ่มลงเหวหรือเปล่า และหากย้อนกลับไปเมื่อครั้งที่เราใช้รัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 ซึ่งทุกครั้งที่เราขึ้นจากเหว เราใช้พละกำลังค่อนข้างมาก เราออกแบบสถาบันทางการเมืองใหม่ ตัวอย่างง่ายๆ เช่น เราเคยมี ส.ว. ที่มาจากการเลือกตั้ง และทุกครั้งที่เราพยายามขึ้นจากเหว เราใช้ยาแรงมากขึ้น โดยหลังจากการรัฐประหารปี 2549 เราใช้ ส.ว. คนละครึ่ง คือเลือกตั้งครึ่งหนึ่ง แต่งตั้งครึ่งหนึ่ง แต่เมื่อรัฐธรรมนูญปี 2560 ประกาศใช้ เราใช้ระบบ ส.ว. แต่งตั้งทั้งหมด

 

“ดังนั้นจะเห็นได้ว่าการขึ้นจากหุบเหวมันเหนื่อย และบางอย่างก็ขึ้นมาจากเหวแล้วก็จริง แต่ยังตกหลุม ยังขุดหลุมพรางตัวเองอยู่ อย่างเช่นความชอบธรรมการเลือกตั้ง ในอดีตเรามีการรณรงค์อย่าเลือกสัตว์เข้าสภา รณรงค์ให้โหวตโน ซึ่งถือเป็นการทำลายความชอบธรรมให้การเลือกตั้ง” รศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

 

เมื่อผู้ดำเนินรายการถามถึงการเลือกตั้งครั้งต่อไป รศ.ดร.ประจักษ์กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งต่อไปคนไทยยังต้องเผชิญกับโจทย์เดิม เพราะว่าผู้นำยังต้องการรักษาอำนาจอยู่ แต่ยังฝืนแม้จะมีเงื่อนไขที่รัฐธรรมนูญจำกัดแต่ก็ยังอยากไปต่อ ดังนั้นโจทย์การเลือกตั้งปีหน้ามันล้าหลังมาก เพราะโจทย์คือจะเลือกนายพลคนพี่หรือนายพลคนน้อง

 

“คือโลกนี้เมื่อเรากวาดสายตาไป ไม่มีประเทศไหนเอานายพลมาบริหารประเทศในยุคปัจจุบัน และในประวัติศาสตร์การเมืองไทย ปรากฏการณ์ที่มีพรรคสองพรรค โดยนายพลสองคน ก็ถือว่าประหลาด ปกติก่อนหน้านี้รัฐประหารแล้วอยู่ได้สั้น 1-2 ปีก็ไป สังคมหยุดชะงักแป๊บเดียวก็เดินต่อได้ การรักษาอำนาจมันไม่มี แต่ครั้งนี้อยู่นาน มันไม่เปลี่ยนและเลือกตั้งปีหน้ามันไม่เปลี่ยนอีก ถ้าเป็นแบบนั้นมันเหมือนไม่สามารถมีกลไกเปลี่ยนผ่านอำนาจได้” รศ.ดร.ประจักษ์กล่าว

 

ขณะที่ รศ.ดร.สิริพรรณกล่าวว่า สิ่งที่คาดหวังได้คือพรรคเพื่อไทยจะชนะเลือกตั้ง แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปคือการจัดตั้งรัฐบาลมีความไม่แน่นอน ซึ่งในระบอบประชาธิปไตย การที่พรรคต่างๆ มีโอกาสสลับกันเป็นรัฐบาล จะทำให้ผู้เล่นต่างก็เคารพกติกา เพราะต่างมีโอกาสเข้ามามีบทบาททางการเมือง

 

“ครั้งนี้ถือเป็นประวัติศาสตร์การเมืองไทยครั้งแรกที่มีพรรคทหาร 2 พรรคพร้อมกัน เดิมเรามีพรรคเดียว ทั้งเสรีมนังคศิลา, สหประชาไทย และสามัคคีธรรม ตอนนี้เรามี 2 พรรค แต่ในทางปฏิบัติมันไม่ง่าย เพราะโฉมหน้าการจัดตั้งรัฐบาลครั้งหน้ามันจะมองว่าเป็นเสน่ห์ก็ได้ แต่อีกมุมหนึ่งคือระเบิดเวลาของความโกลาหล อลม่าน” รศ.ดร.สิริพรรณกล่าว

 

ด้าน รศ.ดร.อภิชาติกล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับอาจารย์ทั้ง 2 คน เพราะเหมือนประเทศไทยติดอยู่ในโคลนดูดที่ถูกดูดลงไปเรื่อยๆ ขณะนี้เรากำลังสู้กันระหว่างพลังอนุรักษ์นิยมกับพลังที่จะผลักสังคมไทยไปข้างหน้า ตนเชื่อว่า 1-2 ปีนี้จะเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญ เพราะความคิดของคนรุ่นใหม่เปลี่ยนไปมหาศาล ขณะที่พลังอนุรักษ์นิยมยังคงต้องการหมุนนาฬิกาย้อนกลับ

 

“เมื่อสิ่งใหม่กำลังจะเกิด แต่สิ่งเก่าไม่ยอมตาย เมื่อนั้นอสูรจะเกิดขึ้น อันนี้เป็นภาระ เป็นความห่วงใย ผมขอพูดแค่นี้ดีกว่า” รศ.ดร.อภิชาตกล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising