×

ชัชชาติกางกลยุทธ์เมืองที่ต้องอยู่รอดในภาวะ ‘Talent War’ ชูแผนเมืองน่าอยู่ ดึงดูดคนเก่งเป็นทรัพยากรกรุงเทพฯ

โดย THE STANDARD TEAM
27.11.2022
  • LOADING...

วันนี้ (27 พฤศจิกายน) ที่ Crystal Design Center (CDC HALL) งาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2022 ธีม ‘EDGE OF TOMORROW เศรษฐกิจไทยบนปากเหว’ ชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ได้เข้าร่วมบรรยายในหัวข้อ ‘METROPOLITAN ECONOMY บทบาทกรุงเทพฯ ต่อเศรษฐกิจไทย’

 

ชัชชาติกล่าวว่า สถานการณ์ปัจจุบันเรากำลังเจอสงครามขนาดใหญ่ 1 เรื่อง ซึ่งกรุงเทพมหานคร (กทม.) มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง สงครามนี้ยังเกี่ยวข้องกับทุกคนด้วย ทั้งระดับเมืองอย่าง กทม. และภาพใหญ่ระดับประเทศเจอกับภาวะสงครามนี้แล้ว

 

อ้างอิงคำพูดจาก Alain Bertaud นักวิชาการอาวุโสเชี่ยวชาญด้านการวิจัยผังเมืองเคยกล่าวไว้ว่า Cities are primarily labor markets เมืองคือตลาดแรงงาน ซึ่งเหตุผลหนึ่งที่หลายคนเลือกมาอาศัยอยู่ที่กรุงเทพฯ ก็เพราะมีงานรองรับ มีตลาดแรงงาน ฉะนั้นแล้วหัวใจของเมืองคือการสร้างงาน ถ้ามองย้อนกลับไปสมัยก่อนเจ้าของงานคือข้าราชการ การสร้างงานเกิดจากภายในเท่านั้น แต่ปัจจุบันงานเปลี่ยนไปอยู่กับเอกชนเป็นหลัก

 

ชัชชาติกล่าวต่อไปว่า หน้าที่ของ กทม. คือการช่วยเอกชนให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ รวมทั้งดูแลคุณภาพชีวิตให้ดี สร้างโอกาส ลดความเหลื่อมล้ำ และสิ่งที่ตนมองว่าสำคัญที่สุดคือการสร้างความเชื่อมั่นให้เมืองสามารถก้าวเดินต่อไปได้

 

Talent War ที่เจอทุกวันนี้ เมื่อเมืองคือตลาดแรงงาน คนที่สร้างงานคือคนหรือบริษัทที่เก่ง ฉะนั้นอนาคตเมืองต้องแข่งกันสร้างคนเก่งและดึงคนเก่ง หากเมืองและประเทศไม่สามารถทำได้ คนเก่งหนีไปอยู่ที่อื่น สุดท้ายเราจะมีแต่งานที่คุณภาพไม่ดี อุตสาหกรรมที่ไม่ดี เมืองจะอยู่ไม่ได้

 

ชัชชาติกล่าวด้วยว่า สถานการณ์ดังกล่าวถือว่าเป็นเรื่องที่น่ากังวล อ้างอิงจากส่วนหนึ่งของอัตราการเกิดที่ลดลง เมื่อก่อนประเทศไทยอัตราการเกิดจำนวนปีละกว่าล้านคน แต่ทุกวันนี้เกิดไม่ถึง 5 แสนคน อนาคตจึงเป็นเรื่องจำเป็นที่ต้องแข่งกันหาคนเก่ง เนื่องจากคนเก่งเป็นทรัพยากรที่จำกัด

 

สำหรับประเทศไทยเมื่อวัดจากประเทศอาเซียน 7 ประเทศ ภาวะน่ากลัวที่เราพบคือเด็กไทยที่เรียนจบอยากไปอยู่ต่างประเทศมากเป็นอันดับ 2 มีจำนวน 53% เด็กเหล่านี้ไม่อยากอยู่ที่ประเทศไทย รองจากประเทศฟิลิปปินส์ เพราะพวกเขาไม่เห็นความหวัง เด็กรุ่นใหม่ไม่เห็นอนาคต ขณะที่สิงคโปร์มีเพียง 34% เท่านั้นที่ไม่อยากอยู่ในประเทศตัวเอง แต่เกินครึ่งอยากอยู่ในประเทศตามเดิม ดังนั้นถ้าเมืองไม่มีแผนรองรับจะอยู่ยาก

 

ขณะที่หลายประเทศมีรูปแบบวีซ่าที่พร้อมดึงดูดพลเมืองเข้าไปทำงานในประเทศของตนเอง เช่น ประเทศสิงคโปร์ให้วีซ่าประเภท Overseas Networks & Expertise Pass (One Pass) ระยะเวลา 5 ปี, ประเทศอังกฤษให้วีซ่าประเภท High Potential Individual Visa (HPI) ระยะเวลา 2 ปี (เปลี่ยนเป็นวีซ่าทำงานระยะยาว) และประเทศญี่ปุ่นให้วีซ่าประเภท High End Talent Visa ไม่จำกัดระยะเวลา ทุกคนแข่งขันกันดึงดูดคนเก่ง

 

ชัชชาติยังได้กล่าวถึงประโยคหนึ่งของ Edward Glaeser จากหนังสือ Triumph of the City ระบุไว้ว่า “To thrive, cities must attract smart people and enable them to work collaboratively.” ซึ่งแปลได้ว่า เมืองที่ดี อนาคตต้องสามารถดึงดูดคนเก่ง ซึ่งเราสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ แต่ถ้าให้คนเก่งมาอยู่เป็นปีได้ไหม เรื่องนี้เป็นคำถาม

 

ทั้งนี้ เราสามารถจะเอาชนะ Talent War ครั้งนี้ได้หรือไม่ ชัชชาติกล่าวว่า เรามีโอกาสแพ้ เพราะต้องยอมรับว่าเรามีปัจจัยเสี่ยงหลายอย่าง แต่ปัจจัยที่จะช่วยให้เราชนะคือเรื่อง Social Contract ในที่นี้ไม่ใช่เรื่องกฎหมาย รัฐบาล แต่เป็นเรื่องของพันธสัญญาในสังคม

 

ชัชชาติยังได้กล่าวถึงเรื่องแรกที่ต้องพิจารณาคือแนวคิด ‘เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน’ โดยกล่าวว่า “เมืองเรามี Soft Power มหาศาล แต่ความน่าอยู่ยังไม่ค่อยน่าอยู่ เราไม่ต้องการเป็น Smart City เมืองฉลาด อัจฉริยะ เราไม่ต้องการขนาดนั้น เราฉลาดประมาณนี้พอ แต่ขอให้กรุงเทพฯ เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน เรื่องนี้ กทม. มีส่วนที่ต้องดูแล”

 

ประโยคนี้ทรงพลัง ถ้าทำได้เราจะชนะ Talent War ขอให้เมืองเราน่าอยู่สำหรับทุกคน ไม่ว่าจะเป็นแม่บ้าน รปภ. วีลแชร์ คนมีเงิน คนไม่มีเงิน ให้เป็นเมืองน่าอยู่สำหรับทุกคนได้ อันนี้คือพลัง ตัวอย่างหนึ่งของการปรับปรุงเมือง เช่น การทำสวนสุนัขภายในสวนเบญจกิติใช้เนื้อที่ประมาณ 10 ไร่ เนื่องจากสวนสุนัขในเมืองไม่ค่อยมี หลายคนที่เลี้ยงสุนัขในเมืองไม่มีพื้นที่ ย้อนกลับไป 2 วันแรกที่เปิด มีสุนัขเข้ามา 1,460 ตัว แต่ประชาชนประมาณ 5,000 คน

 

ในเรื่องนี้ช่วงแรกที่ทำชัชชาติยอมรับว่าไม่คิดว่าจะเกี่ยวข้องกับ Talent War เพราะเป็นการทำแบบไม่ต้องใช้งบประมาณ ต่อมาเมื่อได้ไปพูดคุยในงาน ‘American Chamber E-Commerce’ เมื่อพูดจบมีผู้บริหารจากบริษัทในสหรัฐอเมริกาเข้ามาพูดคุยและบอกกับตนว่า “Thank you for the dog park” ผู้บริหารท่านนั้นบอกว่าแม้ตัวเขาจะไม่มีสุนัข แต่เขามีวิศวกรที่เก่งที่สุดของญี่ปุ่นสองคนที่สุดท้ายตัดสินใจยอมมาเมืองไทยเพราะมีสวนสำหรับสุนัขที่เขารักเหมือนลูก

 

ชัชชาติกล่าวอีกว่า เรื่องนี้สะท้อนให้เห็นอย่างหนึ่งว่า Talent หรือคนเก่ง การที่จะไปทำงานที่ไหนเขาย่อมพิจารณาถึงคุณภาพชีวิตที่เขาจะได้รับ เรื่องที่มองว่าเล็กแค่นี้แต่มีมิติที่เราสามารถดึงคนเก่งเข้ามาสร้างงาน สร้างธุรกิจ เป็นไปได้เพียงเราปรับมุมมองของเมือง

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising