×

ดร.สุรเกียรติ์ ชี้โลกาภิวัตน์ถูกท้าทายจากภูมิรัฐศาสตร์ ไทยต้องปรับตัว เลือกข้างฝ่ายที่ถูกต้อง อยู่ข้างกฎหมายระหว่างประเทศ

26.11.2022
  • LOADING...

ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM วันที่ 2 เวที THE END OF GLOBALIZATION?: จากยูเครนถึงไต้หวัน ไทยควรวางหมากอย่างไร ในเกมภูมิรัฐศาสตร์โลก ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ขึ้นปาฐกถาพิเศษในหัวข้อ GLOBALIZATION ON THE BRINK โดยชี้ว่า ปัจจุบันโลกาภิวัตน์มีความหมายที่แตกต่างไปจากที่เราคุ้นเคย คือโลกาภิวัตน์ไม่ได้หมุนตามกำไร หรือมีกำไรที่ไหนไปลงทุนหรือค้าขายที่นั่น แต่ปัจจุบันมีหลายปัจจัยเข้ามาเกี่ยวข้อง และทำให้เกิดโลกาภิวัตน์รูปแบบใหม่ขึ้น

 

ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า ช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์จากสงครามการค้า และสงครามเทคโนโลยี ทำให้เกิดกระแส Decoupling หรือแนวคิดการแยกตัวทางเศรษฐกิจหรือแยกห่วงโซ่อุปทาน ส่งผลให้โลกาภิวัตน์มีลักษณะที่แตกเป็นเสี่ยงเสี้ยว (Fragmented Globalization) ซึ่งกระทบกับทุกภาคส่วน รวมถึงภาครัฐและภาคเอกชนของไทยที่ต้องเตรียมพร้อมรับมือ

 

ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงของโลกหลายอย่างกำลังท้าทายโลกาภิวัตน์ โดยปัจจุบันโลกาภิวัตน์ถูกท้าทายโดยแนวโน้มใหญ่ของโลก ถูกท้าทายโดยค่านิยมระหว่างประเทศ ถูกท้าทายโดยการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกทางเศรษฐกิจ และถูกท้าทายโดยระเบียบโลกทางการเมือง

 

สำหรับความท้าทายจากแนวโน้มใหญ่ของโลกนั้น ดร.สุรเกียรติ์ ยกตัวอย่างให้เห็นภาพว่าปัจจุบันหลายประเทศกำลังเผชิญกับเทรนด์สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งในเอเชียมีจีน ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และไทย ที่กำลังเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ โจทย์ใหญ่คือเรามีนโยบายรับมืออย่างไร เพราะผู้สูงอายุมักไม่ใช้เงิน ไม่ชอบความเสี่ยง ไม่ค่อยลงทุน ในขณะที่เวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์เป็น Young Society ที่มีศักยภาพสูง ดังน้ันการตัดสินใจลงทุนระหว่างประเทศจึงอาจเปลี่ยนแปลงไป  

 

แต่ ดร.สุรเกียรติ์ มองว่าในบางแง่มุมโลกาภิวัตน์ก็มีความเข้มแข็งขึ้น เช่น ในมิติการขยายตัวของชนชั้นกลาง เพราะกลุ่มชนชั้นกลางมีความเชื่อมโยงกันสูง นอกจากนี้หลายประเทศ โดยเฉพาะในเอเชียนั้นมีสังคมการเป็นเมืองมากขึ้น ส่งผลให้เกิดการเชื่อมโยงระหว่างเมือง การลงทุนของความเป็นเมืองมากขึ้น และอีกส่วนก็เชื่อมระหว่างเมืองในประเทศกับเมืองต่างประเทศ ซึ่งเสริมความเป็นโลกาภิวัตน์

 

นอกจากนี้ยังมีแนวโน้มใหญ่อื่นๆ ที่ส่งผลกระทบต่อโลกาภิวัตน์ เช่น หลังเกิดโรคระบาดโควิด เทรนด์ทางสังคมมีลักษณะที่เน้นความมั่นคงทางสุขภาพมากขึ้น ขณะที่สงครามในยูเครนทำให้เกิดเทรนด์ที่ให้ความสำคัญกับความมั่นคงทางพลังงานและอาหาร ตลอดจนปัญหาโลกรวนทำให้เกิดเทรนด์การใส่ใจสิ่งแวดล้อมมากขึ้น เช่น เกิดการเชื่อมโยงของโลกในเวที COP26 และ COP27 

 

ในด้านความท้าทายจากค่านิยมระหว่างประเทศนั้น ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวว่า ประเทศที่ไม่มีประชาธิปไตยจะได้รับผลกระทบ ไม่ว่าจะมากหรือน้อย ซึ่งอาจส่งผลกระทบด้านการลงทุน หรืออาจถูกประณามในเวทีระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของธรรมาภิบาล ปัญหาคอร์รัปชัน และสิทธิมนุษยชน เช่นหลายประเทศละเมิดสิทธิมนุษยชนก็ถูกนานาชาติคว่ำบาตร 

 

อย่างไรก็ตาม มาตรการคว่ำบาตรของหลายประเทศมีลักษณะที่ไม่เป็นไปในทางเดียวกัน หรือมีลักษณะ Individual มากขึ้น เช่น สหรัฐฯ คว่ำบาตรเมียนมาแบบหนึ่ง ญี่ปุ่นคว่ำบาตรเมียนมาอีกแบบหนึ่ง เมื่อการคว่ำบาตรไม่เหมือนกัน คำถามคือ แล้วโลกาภิวัตน์จะไปต่ออย่างไร ยกตัวอย่างเช่น การลงทุนผลิตสินค้าในเมียนมาเพื่อส่งออกไปจีน การลงทุนในเมียนมาเพื่อส่งออกไปไทย หรือลงทุนในไทยเพื่อส่งออกไปเมียนมา ก็เกิดขึ้นไม่ได้ 

 

ในด้านของสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาที่ยั่งยืนที่เป็นค่านิยมใหม่นั้น หากไม่มีแผนยุทธศาสตร์ ESG (Environmental, Social และ Corporate Governance) ที่ชัดเจน ก็เป็นปัจจัยที่ทำให้ต่างชาติไม่มาลงทุน ธนาคารไม่ปล่อยกู้ให้กับบริษัทที่ไม่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม หรือภาครัฐอาจมีการเก็บภาษีเพิ่มเติมกับบริษัทที่ปล่อยมลพิษ ขณะเดียวกันผู้บริโภคก็มีแนวโน้มใช้จ่ายมากขึ้นกับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เป็นต้น 

 

ดร.สุรเกียรติ์ เตือนว่าหากเราไม่ปรับตัว ในอนาคตไทยอาจไม่สามารถส่งออกข้าวไปยุโรปได้ เพราะข้าวของเรามีมีเทน 

 

ประการต่อมาคือโลกาภิวัตน์ถูกท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงของระเบียบโลกทางเศรษฐกิจ ซึ่งจริงๆ แล้ว ดร.สุรเกียรติ์ มองว่ามีการเปลี่ยนแปลงมานานแล้ว และกำลังจะเปลี่ยนต่อไป เช่น เศรษฐกิจแบบพหุภาคีนิยมกำลังเปลี่ยนไปสู่ภูมิภาคนิยม เดิมมีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลางก็คลายความศักดิ์สิทธิ์ลง แต่ปัจจุบันมีการให้ความสำคัญกับความร่วมมือทางเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคแทน เช่น กลุ่ม RCEP, CPTPP หรือ APEC ที่ไทยเพิ่งเป็นเจ้าภาพ

 

“เราจะเห็นว่า ระเบียบโลกนั้นเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นความร่วมมือ การค้าเสรี การลงทุน ซึ่งหดจากพหุภาคีนิยมมาเป็นภูมิภาคนิยม เช่น จีนตั้งธนาคารเพื่อการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานเอเชียขึ้นมา ซึ่งถ้าย้อนกลับไปเมื่อ 10 ปีที่แล้ว มีใครเสนอแนวคิดนี้ขึ้นมา รับรองได้ว่าธนาคารโลกย่อมไม่ยอมแน่ แต่เมื่อภูมิรัฐศาสตร์โลกเปลี่ยน จีนมีความเข้มแข็งทางเศรษฐกิจมากขึ้น เวลาเสนออะไรขึ้นมา ชาติตะวันตกก็อาจจะเห็นด้วย” ดร.สุรเกียรติ์กล่าว

 

โลกาภิวัตน์ยังถูกท้าทายโดยการต่างประเทศที่มาจากสงครามยูเครน-รัสเซีย เพราะมาตรการคว่ำบาตรส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการโอนเงินระหว่างประเทศ การเกิดวิกฤตพลังงาน และปัจจุบันห่วงโซ่อุปทานเกิดดิสรัปชัน ส่งผลให้หลายประเทศเริ่มคิดที่จะพึ่งพาตนเองมากขึ้น สหรัฐฯ ต้องการแยกเศรษฐกิจและห่วงโซ่อุปทานออกจากจีน หรือ Decoupling แต่เป็น Managed Decoupling หรือการแยกตัวแบบมีการบริหารจัดการ เช่น ต้องการค้าขายลงทุนกับประเทศที่เป็นมิตร (Friendshoring) เพราะฉะนั้นโลกจึงปั่นป่วนไปหมด

 

นอกจากนี้ โลกาภิวัตน์ยังถูกท้าทายจากการแข่งขันของมหาอำนาจในด้านการเมือง โลกแบ่งเป็นสองขั้ว คือกลุ่มประชาธิปไตยกับกลุ่มเผด็จการ ซึ่งในทางหนึ่งก็บีบให้ประเทศต่างๆ ต้องเลือกฝ่าย ซึ่งส่งผลกระทบต่อความร่วมมือระหว่างประเทศ ขณะที่เวทีพหุนิยมที่มีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลางอ่อนแอลง ยกตัวอย่างเช่น การโหวตมติในเวทีคณะมนตรีความมั่นคงหรือเวทีสมัชชาใหญ่ไม่มีความเป็นเอกภาพ เมื่อมีมหาอำนาจคัดค้านก็ไม่สามารถทำอะไรต่อได้

 

เพราะฉะนั้น ดร.สุรเกียรติ์ ย้ำว่า ความผันผวน ความไม่แน่นอน ความสลับซับซ้อน และความคลุมเครือ (VUCA World) จึงเขย่าโลกาภิวัตน์อย่างต่อเนื่อง

 

ช่วงสุดท้ายของปาฐกถา ดร.สุรเกียรติ์ ตั้งคำถามว่าไทยพร้อมแค่ไหนกับการเป็น Future Ready Thailand โดยมองว่าไทยยังขาดการวาดภาพอนาคต และที่สำคัญคือไทยต้องปฏิรูประบบราชการด้วย 

 

ดร.สุรเกียรติ์ ชี้ว่า การต่างประเทศไม่ใช่การต่างประเทศของกระทรวงการต่างประเทศเท่านั้น แต่ในบางครั้งกระทรวงการต่างประเทศรับบทเป็นเพียงผู้สนับสนุนหรือช่วยขับเคลื่อน โดยมีหน่วยงานอื่นหรือภาคเอกชนเป็นตัวนำ คำถามสำคัญคือจะทำอย่างไรที่ภาครัฐทั้งทบวง กระทรวง กรม หรือเอกชน ภาคประชาสังคมจะร่วมกันหาจุดยืนในด้านการต่างประเทศ ซึ่งเป็นการต่างประเทศของประเทศไทยอย่างแท้จริง นอกจากนี้ผู้นำก็ต้องรับฟังมากขึ้น ต้องโน้มตัวลงมารับฟังมากขึ้น

 

อีกสิ่งสำคัญคือการวางจุดยืนของไทยในยุคที่เปลี่ยนแปลงไป เรามักพูดถึงการเป็นกลาง แต่อันที่จริงเรื่องบางเรื่องเราเป็นกลางไม่ได้ แต่เราต้องเลือกข้าง คือเลือกข้างที่ถูกต้อง เราเป็นประเทศเล็กแต่ต้องอยู่ข้างหลักการ อยู่ข้างกฎหมายระหว่างประเทศ เราต้องปรับตัวเพื่อเดินเข้าสู่ระเบียบใหม่ด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศให้ได้

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising