“การที่ตัวกฎหมายที่เราออกทับซ้อนกันเรื่อยๆ โดยไม่มีเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดช่องว่าง เช่น ทำให้ระบบช้า ทำให้คนไม่ดีที่รอฉวยประโยชน์จากช่องว่างมาคอร์รัปชัน มันเลยทำให้กฎกติกาหลายอย่างดำเนินได้ช้า ซึ่งตรงนี้คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ผมคิดว่ามันไม่ทันโลกยุคใหม่ที่ต้องเร็ว ยืดหยุ่น ปรับตัวไว และกล้าลองผิดลองถูก
“ท้ายที่สุด การที่โครงสร้างใหญ่ ปรับตัวช้า กฎหมายทับซ้อน ระบบไม่สามารถดึงคนเก่งให้มาทำงานได้ และไม่เอื้อให้คนตัดสินใจกล้าทำกล้าเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นเป็นปัญหาในอนาคตที่คนรุ่นใหม่ต้องมารับช่วงต่อ”
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร
“มันกลายเป็นว่าระบบราชการ ถ้ายังใช้กระบวนการแบบเดิมหรือแนวคิดเดิมๆ คิดว่าราชการต้องเป็นเจ้าคนนายคน เป็นผู้ปกครองเหนือประชาชนขึ้นไป มันคือสิ่งที่ขัดกับหลักแนวทางราชการบนพื้นฐานที่ต้องทำงานเพื่อประชาชน
“ส่วนตัวขออย่างเดียวคือ ‘ททท หรือ ทำทันที’ อย่าไปเสียเวลาในระบบราชการอย่างเปล่าประโยชน์ ผมไม่ได้จะบอกว่าต้องโยนให้ใครคนใดคนหนึ่งทำ แต่ทุกฝ่ายในระบบต้องร่วมมือกัน และที่สำคัญคือต้องไม่กลัวพลาด ถ้าทำ 100 อย่าง จะให้ถูกทุกอย่างเป็นไปไม่ได้”
วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง
“การแก้ปัญหาที่ถูกจุดคือ โครงสร้างที่ใหญ่ต้องแก้ให้เล็กลง ให้การทำงานดำเนินไปอย่างคล่องตัวขึ้น ถ้ากฎระเบียบเยอะก็ควรตัดออกไปบ้าง ถ้างบประมาณที่ติดอยู่ ก็ต้องดูว่าสามารถร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันภาครัฐไม่จำเป็นต้องทำหลายอย่างคนเดียว อะไรที่เป็นสิ่งที่จำเป็นก็ควรทำ และควรเปิดรับการร่วมมือจากภาคประชาสังคม ภาคศึกษา เครือข่ายอื่นๆ และภาคประชาชนมากขึ้น
“แนวทางการแก้ปัญหาหรือปฎิรูประบบราชการไม่ใช่การทำคู่มือสำหรับปี 2021 แต่ควรเป็นกระบวนการที่ต่อยอดต่อไปได้ในอนาคต โดยสิ่งเดียวที่จะทำให้ได้ยั่งยืนและทำให้กระบวนการทางระบบปรับเปลี่ยนได้คือการพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ ให้คน มันเป็นโจทย์ให้คิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้คนราชการรุ่นใหม่มีแนวคิดที่พร้อมจะเรียนรู้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปรอบตัว เพื่อนำมาผสานกับความคิดสร้างสรรค์ในการปรับระบบ และมีภาวะผู้นำภายใต้บริบทต่างๆ ดังนั้นทั้งหมดจะย้อนมาสู่จุดเริ่มต้นว่าสำคัญอย่างไรให้คนกล้าเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะลองผิดลองถูกกับการปรับปรุงระบบ”
ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
“สิ่งที่ต้องเร่งแก้จากความใหญ่โตในเรื่องของอำนาจคือแนวคิด แนวคิดในการกำกับและควบคุม มองประชาชนเป็นผู้ร้าย ต้องปรับเป็นราชการเพื่อประชาชน เพื่อให้บริการ ให้โอกาสประชาชนได้ทำมาหากิน ยิ่งในโลกยุคโควิด เราต้องทำให้คนไทยลุกขึ้นมาทำมาหากินได้เร็วที่สุด แข็งแรงที่สุด แต่จะทำอย่างไรในเมื่อรัฐ-ราชการ-กฎหมาย ยังเป็นอุปสรรค
“ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ แต่จะแก้แบบอำนาจรวมศูนย์อย่างปัจจุบันไม่ได้ จะมาคิดแทนประชาชนและแก้ปัญหาหน้าเดียวไม่ได้ เพราะปัญหาในแต่ละบริบทมีไม่เหมือนกัน การแก้ปัญหาแบบเดิมมันไม่ตอบโจทย์ในยุคปัจจุบันแล้ว”
สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย