×

มองปัญหาความเหลื่อมล้ำไทยในมุมนักธุรกิจและผู้เชี่ยวชาญ ชี้ความร่วมมือทุกภาคส่วน การแข่งขันที่เป็นธรรม ไม่มุ่งแต่กำไร คือทางออกที่ยั่งยืน

28.11.2021
  • LOADING...
ความเหลื่อมล้ำไทย

‘ความเหลื่อมล้ำ’ ถือเป็นปัญหาสำคัญของประชาชนไทย โดยเฉพาะในช่วงวิกฤตแพร่ระบาดของโรคโควิดที่เกิดขึ้น ซึ่งมีคนไทยจำนวนมากยังคงยากจน โดย Credit Suisse ประเมินว่า คนรวยที่สุด 10% ของไทยนั้นถือครองสินทรัพย์มากถึงกว่า 77% ของคนทั้งประเทศ 

 

ต้นตอของความเหลื่อมล้ำนั้นเกิดจากอะไร และไทยเราจะทำอย่างไรเพื่อแก้ไขปัญหานี้ เป็นคำถามสำคัญที่ถูกหยิบยกมาพูดคุยภายในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021 ในหัวข้อ K-Shaped Recovery: Resolving Thai Inequality ความเหลื่อมล้ำไทย ทำอย่างไรไม่ให้มีใครถูกทิ้งไว้ข้างหลัง

 

โดย เศรษฐา ทวีสิน กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้น ไม่ถูกแก้ไขที่รากฐานจริงๆ ของปัญหา และชี้ว่าไม่มีช่วงเวลาไหนที่ความแตกต่างของความเหลื่อมล้ำ จะมากเท่ากับช่วงวิกฤตโควิด 2 ปีที่ผ่านมา พร้อมยกตัวอย่าง เช่น เรื่องวัคซีนที่ประชาชนไม่ได้รับการฉีดอย่างทั่วถึง ซึ่งเขามองว่าเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศ 

 

เศรษฐากล่าวว่า วันนี้ ทั้งภาครัฐและเอกชนตระหนักดีถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ ซึ่งเขามีความเชื่อและความหวังว่า ทุกคนล้วนต้องการให้ช่องว่างในการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจแบบ K-Shaped ที่มีความเหลื่อมล้ำสูงนั้นแคบลงไปอีกเยอะๆ ซึ่งไทยเราคงจะใช้เวลานาน แต่ไม่ว่าจะเป็นรัฐบาลนี้หรือรัฐบาลหน้า ก็ยังต้องทำต่อไป พร้อมเน้นว่าสิ่งที่รัฐบาลนี้ต้องทำอย่างมาก คือการให้ความหวังและกำลังใจที่จับต้องได้ เพื่อให้ประชาชนในกลุ่มที่อ่อนแอ มีกำลังใจลุกขึ้นสู้ต่อไป โดยหวังว่าจะมีการออกมาตรการช่วยเหลือในระหว่างทาง ไม่ว่าจะเป็นมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ลดหย่อนดอกเบี้ยหรือมาตรการช่วยเหลือด้านภาษีต่างๆ

 

สำหรับคำถามหนึ่งที่น่าสนใจ คือตลอด 2 ปีมานี้ กลุ่มคนรวยที่อยู่อันดับต้นๆ ของประเทศมีการควบรวมกิจการเกิดขึ้นค่อนข้างมาก และหลายกิจการที่เกิดการควบรวม ทำให้ธุรกิจในบางอุตสาหกรรมมีคู่แข่งลดลง 

 

ซึ่งเศรษฐามองว่า ไม่ควรมีการควบรวมเช่นนี้ พร้อมชี้ว่า สิ่งที่เกิดขึ้นเป็นไปตามแนวคิด Winner’s Take All หรือผู้ชนะได้ไปทั้งหมด เพื่อขยายธุรกิจให้ใหญ่ที่สุดและทำให้เกิดความได้เปรียบในการแข่งขัน ซึ่งเป็นไปตามหลักเศรษฐศาสตร์พื้นฐาน ที่เมื่อมีผู้แข่งขันในธุรกิจน้อย ก็อาจเกิดการผูกขาดหรือการแข่งขันกึ่งผูกขาด ที่ทำให้ราคาและผลกำไรสูงขึ้น แต่เรื่องผู้บริโภคก็เป็นสิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึง

 

ในส่วนกลไกการตรวจสอบนั้น เขาอยากให้หน่วยงานควบคุมและกำกับดูแลการแข่งขันทางธุรกิจต่างๆ มีการดูแลผลประโยชน์ของธุรกิจรายย่อย และเสริมเขี้ยวเล็บที่ทรงพลังมากขึ้นในการตรวจสอบ ไม่ใช่เพียงทำหน้าที่แค่อนุมัติ ซึ่งแม้จะมีข้อโต้แย้งที่รับฟังได้ ว่าการควบรวมนั้น ก่อให้เกิดศักยภาพในการแข่งขันกับต่างประเทศได้มากขึ้น และมีการจ้างงานได้สูงขึ้น แต่สิ่งสำคัญที่ควรคำนึงถึงก็คือเรื่องผลประโยชน์ของผู้บริโภคราคาที่เป็นธรรม

 

ด้าน ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ ศาสตราจาร์ยด้านเศรษฐศาสตร์และนโยบายสาธารณะจาก University of California San Diego ชี้ว่าการควบรวม ทำให้ระบบเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้นได้ เนื่องจากหลายๆ อุตสาหกรรมมีธรรมชาติในเรื่องต้นทุน ซึ่งขนาดที่ใหญ่ขึ้นจะยิ่งมีประสิทธิภาพในการทำกำไรมากขึ้น 

 

อย่างไรก็ตาม เขามองว่าหากการแข่งขันไม่เป็นธรรม มีการกินรวบ ก็อาจจะทำให้ธุรกิจไม่ยั่งยืน เกิดความเหลื่อมล้ำและแตกแยก ซึ่งอาจส่งผลเสียต่อธุรกิจ โดยถูกบอยคอตจากผู้บริโภคได้เช่นกัน

 

ในเรื่องผลกระทบจากโควิดที่ซ้ำเติมและทำให้ความเหลื่อมล้ำของไทยแบ่งออกเป็น 2 ทาง และถ่างออกชัดมากขึ้นเรื่อยๆ นั้น ดร.กฤษฎ์เลิศกล่าวว่าตัวเลขในมิติต่างๆ แสดงให้เห็นชัดถึงความเหลื่อมล้ำ เช่น รายได้ประชากรครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ มีส่วนแบ่งรายได้เพียง 20% ขณะที่คนอีกราว 10% มีส่วนแบ่งรายได้คิดเป็น 40% 

 

ขณะที่ วิทัย รัตนากร ผู้อำนวยการธนาคารออมสิน กล่าวถึงปัญหาความเหลื่อมล้ำ โดยเห็นด้วยว่าโควิดรอบนี้ ส่งผลซ้ำเติมปัญหาที่มากขึ้นชัดเจน โดยการสูญเสียนักท่องเที่ยวกว่า 40 ล้านคนนั้น ส่งผลกระทบรุนแรง โดยเฉพาะในกลุ่มคนฐานราก หรือคนรายได้น้อยซึ่งพบว่ากว่า 62% มีรายได้ลดลงเฉลี่ยประมาณ 30% อีกทั้งข้อมูลจากรัฐยังชี้ว่าหนี้นอกระบบนั้นเพิ่มขึ้นกว่า 1.5 เท่า

 

ส่วนการเข้าถึงแหล่งเงินทุน วิทัยยอมรับว่าเรื่อง ‘คนรวยกู้ถูก คนจนกู้แพง’ นั้นเป็นจริง เนื่องจากคนจนมีความเสี่ยงสูงขึ้น ทำให้การปล่อยกู้ของธนาคารนั้นยากขึ้น แต่ในความเสี่ยงที่สูงขึ้นของคนจน ก็ถูกบริษัทสินเชื่อหลายแห่งนำไปใช้บิดเบือนโดยการตั้งดอกเบี้ยเพิ่มสูงขึ้นเกินจริง เช่น 24-36% ซึ่งเขามองว่าดอกเบี้ยนั้นสูงเกินไป แม้บริษัทเหล่านี้จะช่วยไม่ให้คนจนต้องไปกู้หนี้นอกระบบ

 

อีกต้นตอของความเหลื่อมล้ำนั้น มาจากโอกาสในการเข้าถึงทางการศึกษา ซึ่งในช่วงโควิดก็ยิ่งแสดงให้เห็นชัดเจนขึ้น โดย ดร.ไกรยส ภัทราวาท รองผู้จัดการกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) เผยว่ามีเด็กไทยที่อยู่ใต้เส้นความยากจน หรือรายได้ต่ำกว่า 2,700 บาทต่อเดือน มากเกือบ 2 ล้านคน ซึ่งในมุมของ กสศ. มองว่าความเสี่ยงของคนกลุ่มนี้ คืออาจหลุดจากระบบการศึกษา โดย กสศ. ได้มีการนำเงินจากภาครัฐและจากการระดมทุน เพื่อพยายามช่วยไม่ให้เด็กหลุดออกจากระบบการศึกษา

 

ทั้งนี้ ในช่วงวิกฤตโควิดตลอด 2 ปี พบว่ามีเด็กนักเรียนยากจนและยากจนพิเศษเพิ่มขึ้นถึงเทอมละเกือบ 200,000 คน และจนถึงปัจจุบันมีจำนวนกว่า 1.1 ล้านคน ขณะที่พบว่ามีเกือบ 15% ของเด็กนักเรียนกลุ่มยากจนพิเศษ ยังไม่กลับเข้าในระบบการศึกษา

 

ในด้านหนทางแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำนั้น เศรษฐาเผยว่าช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมานั้น บริษัทเอกชนใหญ่ๆ มีหน้าที่ต้องช่วยเหลือกันโดยไม่ต้องรอภาครัฐ ซึ่งเขามองว่าเอกชนไทยนั้นแข็งแกร่ง ขณะที่เขามองว่า กลไกหรือมาตรการช่วยเหลืออื่นๆ เช่น การเก็บภาษี Capital Gain หรือภาษีการลงทุน ตลอดจนภาษีมรดกหรือภาษีความมั่งคั่ง นั้นควรมีการผลักดันให้มีการพิจารณา เพื่อทำให้เกิดความเท่าเทียมทางสังคม

 

ด้านวิทัยเผยว่าตลอดช่วงวิกฤตโควิดที่ผ่านมา ธนาคารออมสินมีการปรับบทบาทด้วยการนำกำไรส่วนหนึ่งแบ่งมาอุดหนุนภารกิจเชิงสังคม เพื่อช่วยลดความเหลื่อมล้ำและทำให้ประชาชนเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เป็นธรรม ซึ่งการที่ธนาคารออมสินมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจที่ต้องส่งกำไรเข้ารัฐบาลใช้เป็นงบประมาณ ทำให้ธนาคารออมสินต้องลดต้นทุนบางส่วนลง

 

นอกจากนี้ ดร.กฤษฎ์เลิศ ชี้ว่าการแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนนั้น ต้องอาศัยกลไกตลาด มากกว่าพึ่งพาภาครัฐ ส่วนในประเด็นการใช้เทคโนโลยีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น ดร.ไกรยศชี้ให้เห็นตัวอย่าง เช่น การคัดกรองนักเรียนยากจนของ กสศ. ที่จะมีครูกว่า 400,000 คน ใช้แอปพลิเคชันในสมาร์ทโฟนเพื่อถ่ายรูปและดึงพิกัด GPS ยืนยันหลักฐานว่าจนจริง ซึ่งเป็นอีกหนึ่งในแนวทางลดต้นทุนและช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ และอีกอย่างคือการนำเทคโนโลยีทางการเงินหรือ FinTech มาช่วยในการแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำด้วย

 

ทั้งนี้ คำถามสำคัญเรื่องการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำนั้น เศรษฐามองว่า สิ่งที่ต้องปฏิรูปอย่างแรกคือความคิดของคน การแบ่งปันความมั่งคั่งและควบคู่ไปกับเรื่องการเมืองและสังคม โดยเฉพาะการปฏิรูปความคิดของผู้มีอำนาจ ที่มุ่งแสวงกำไรเพื่อตนเองอย่างสูงสุด 

 

ขณะที่วิทัยมองว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำและธรรมาภิบาลเป็นปัญหาเชิงโครงสร้างของไทย ซึ่งหากไม่แก้ไขจะทำให้การพัฒนาเดินต่อได้ยาก ซึ่งเรื่องความเหลื่อมล้ำนั้ต้องมีความร่วมมือกันระหว่างภาครัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งต้องดำเนินการในบริบทของตัวเองโดยสร้างสมดุลระหว่างการสร้างผลกำไรและช่วยเหลือสังคม

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X