วันนี้ (28 พฤศจิกายน) จากเวทีสัมมนา THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021 หัวข้อ ‘Reforming Thai Bureaucracy: ปฏิรูปรัฐราชการ: สร้างหรือถ่วงความเจริญ’ เป็นการพูดคุย ถกเถียง และนำเสนอแนวทางปฏิรูปโดย ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร รองผู้จัดการ หัวหน้าสายงานวางแผนกลยุทธ์องค์กร ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย, ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร, วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี ผู้ว่าราชการจังหวัดอ่างทอง และ สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานพรรคไทยสร้างไทย
ดร.เอกนิติ ในฐานะอธิบดีกรมสรรพากร เริ่มต้นด้วยการชวนมองให้เห็นถึงปัญหาที่คาราคาซังในระบบรัฐบาลหรือระบบราชการไทยในปัจุบันว่า ระบบราชการไทยถูกสร้างมานาน และไม่เคยได้รับการปรับเปลี่ยนระบบตั้งแต่สมัยอดีต จึงขัดกับโลกในยุคปัจจุบันที่ต้องอยู่รอดได้ด้วยการยอมปรับและเปลี่ยนแปลง เพราะโลกยุคใหม่ต้องเร็วและไว
อีกทั้งโครงสร้างที่ใหญ่เกินไป ฉุดรั้งให้การทำงานทำได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ รวมถึงการติดข้อจำกัดเรื่องงบประมาณ พร้อมยกตัวอย่างว่า ในอดีตพนักงานราชการ-เอกชน มีสัดส่วนเงินเดือนที่ใกล้เคียงกัน แต่ปัจจุบันมีความต่างหลายเท่า ฉะนั้นโอกาสในการพาคนมีคุณภาพเข้าสู่ระบบราชการก็น้อยลง
“การที่ตัวกฎหมายที่เราออกทับซ้อนกันเรื่อยๆ โดยไม่มีเปลี่ยนแปลง ทำให้เกิดช่องว่าง เช่น ทำให้ระบบช้า ทำให้คนไม่ดีที่รอฉวยประโยชน์จากช่องว่างมาคอร์รัปชัน มันเลยทำให้กฎกติกาหลายอย่างดำเนินได้ช้า ซึ่งตรงนี้คือสิ่งสำคัญที่ทำให้ผมคิดว่ามันไม่ทันโลกยุคใหม่ที่ต้องเร็ว ยืดหยุ่น ปรับตัวไว กล้าลองผิดลองถูก
“ระบบราชการที่ทุกท่านคุ้นเคยกันคือการกลัวทำผิดมาตรา 157 ประมวลกฎหมายอาญา เพราะมันเป็นจุดที่ทุกคนใช้จุดนี้ในการฟ้องราชการ เลยไม่มีใครกล้าทำผิดพลาด แต่ในโลกสมัยใหม่ที่ต้องเรียนรู้ให้เร็ว เพื่อเรียนรู้ความผิดพลาด แต่ระบบราชการไม่สามารถทำให้เห็นภาพตรงนี้ได้ เพราะถ้าผิดพลาดมาจะเสี่ยงติดคุก มันเลยทำให้คนในระบบไม่กล้าทำอะไร ท้ายที่สุดการที่โครงสร้างใหญ่ปรับตัวช้า กฎหมายทับซ้อน ระบบไม่สามารถดึงคนเก่งให้มาทำงานได้ และไม่เอื้อให้คนตัดสินใจกล้าทำ กล้าเปลี่ยน สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้้นเป็นปัญหาในอนาคตที่คนรุ่นใหม่ต้องมารับช่วงต่อ”
ด้าน ผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ วิจิตร์แสงศรี เห็นด้วยกับปัญหาของระบบราชการที่ ดร.เอกนิติ กล่าวข้างต้น โดยกล่าวเสริมว่า ปัจจุบันโครงสร้างราชการใหญ่โต เทอะทะเกินไป มีกฎระเบียบซับซ้อนและยุ่งยาก ซึ่งจะนำไปสู่การทำงานแบบซื้อเวลา คือ ไม่กล้าปรับอะไรเยอะ เพราะกลัวผลกระทบจากมาตรา 157
“มันกลายเป็นว่าระบบราชการ ถ้ายังใช้กระบวนการแบบเดิมหรือแนวคิดเดิมๆ คิดว่าราชการต้องเป็นเจ้าคนนายคน เป็นผู้ปกครองเหนือประชาชนขึ้นไป มันคือสิ่งที่ขัดกับหลักแนวทางราชการบนพื้นฐานที่ต้องทำงานเพื่อประชาชน”
ขณะที่ ดร.ศรพล ตุลยะเสถียร ระบุว่า หากมองถึงปัญหาต้องมองกันในหลายมิติ ตั้งแต่เรื่องของขนาดองค์กร กระบวนการทำงาน เรื่องงบประมาณ และสำคัญสุดคือการแก้ปัญหา โดยการให้หัวหน้าแต่ละภาคส่วนขึ้นมาแก้โครงสร้างและกระบวนการต่างๆ แบบนี้คือการแก้ไขที่ไม่ยั่งยืน เพราะต้องอาศัยความกล้าหลายๆ อย่าง ที่ไม่ใช่ทุกคนจะกล้าลงมือแก้ไขปัญหาที่สะสมมายาวนานในหลากเรื่องหลากประเด็น
“การแก้ปัญหาที่ถูกจุด คือ โครงสร้างที่ใหญ่ ต้องแก้ให้เล็กลง ให้การทำงานดำเนินอย่างคล่องตัวขึ้น ถ้ากฎระเบียบเยอะก็ควรคัดออกไปบ้าง ถ้างบประมาณที่ติดอยู่ ก็ต้องดูว่าสามารถร่วมกับภาคส่วนอื่นๆ ได้หรือไม่ เพราะปัจจุบันภาครัฐไม่จำเป็นต้องทำหลายอย่าง อะไรที่เป็นสิ่งที่จำเป็นก็ควรทำ และควรเปิดรับการร่วมมือจากภาคประชาสังคม ภาคศึกษา เครือข่ายอื่นๆ และภาคประชาชนมากขึ้น”
ส่วน สุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ กล่าวว่า ระบบราชการปัจจุบันยังจมกับคำว่า ‘ไม่ทำไม่ผิด’ ยิ่งมีกฎหมายที่ล้าสมัย มีระบบราชการที่ใหญ่โตและแข็งกระด้าง ยิ่งทำให้ข้าราชการส่วนใหญ่เน้นเอาตัวรอด ตั้งแต่เปลี่ยนแปลงการปกครอง แนวคิดอำนาจนิยมและราชการรวมศูนย์ในอดีต วันนี้มันไม่ตอบโจทย์โลกปัจจุบัน ทั้งในแง่ของประชาธิปไตย เทคโนโลยี และควรยอมรับว่าระบบราชการใหญ่โต เทอะทะ และไร้ประสิทธิภาพ
“และสิ่งที่ต้องเร่งแก้จากความใหญ่โตในเรื่องของอำนาจ คือ แนวคิด แนวคิดในการกำกับและควบคุม มองประชาชนเป็นผู้ร้าย ต้องปรับเป็นราชการเพื่อประชาชน เพื่อให้บริการให้โอกาสประชาชนได้ทำมาหากิน ยิ่งในโลกยุคโควิด เราต้องทำให้คนไทยลุกขึ้นมาทำมาหากินได้เร็วที่สุด แข็งแรงที่สุด แต่จะทำอย่างไรในเมื่อรัฐ-ราชการ-กฎหมายยังเป็นอุปสรรค ดังนั้นมันจึงเป็นสิ่งที่ต้องเร่งแก้ แต่จะแก้แบบอำนาจรวมศูนย์อย่างปัจจุบันไม่ได้ จะมาคิดแทนและแก้ปัญหาหน้าเดียวไม่ได้ เพราะปัญหาในแต่ละบริบทมีไม่เหมือนกัน การแก้ปัญหาแบบเดิมมันไม่ตอบโจทย์ในยุคปัจจุบันแล้ว”
สุดารัตน์ กล่าวต่อไปว่า ประเด็นนี้จะแก้ไขได้ หากฝ่ายการเมืองหรือหัวเรือใหญ่ที่มีอำนาจต้องกล้านำ กล้าที่จะเปลี่ยนแปลง นำความเปลี่ยนแปลงไปอยู่ให้ถูกที่ถูกทาง โดยเริ่มจากการตั้งเป้าหมายให้ประชาชนเป็นศูนย์กลาง ลดขนาดราชการ ลดอำนาจ หรือเปลี่ยนวิธีการคิดจากผู้ควบคุมและกำกับเป็นผู้ส่งเสริม สนับสนุนให้ประชาชนสามารถทำมาหากิน รวมถึงเข้าใช้บริการจากภาครัฐอย่างสะดวก และกระจายอำนาจหรือความรับผิดชอบในการทำงานเป็นสัดส่วนที่ชัดเจน ราชการต้องกำหนดเป้าหมายในส่วนนี้ก่อนถึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้
“เราต้องเริ่มกันตั้งแต่ทำให้เกิดความเข้าใจ เพราะส่วนตัวเชื่อว่าคนที่รับราชการก็มีหัวจิตหัวใจในการอยากทำเพื่อส่วนรวม เราจะทำอย่างไรถึงจะสร้างภารกิจ สร้างเป้าหมายร่วมกันให้เห็นว่า ถ้าเราไม่แก้ไข้ตั้งแต่วันนี้ ประเทศนี้เดินต่อไปไม่ได้ ท้ายที่สุดข้าราชการเองจะได้รับผลกระทบ ทั้งเงินเดือน สวัสดิการ ดังนั้นวันนี้เราต้องสร้างแนวคิดที่ดี สร้างสปิริตร่วมกัน เพื่อสร้างประเทศไทยใหม่ให้ดีที่สุด” สุดารัตน์ กล่าว
ส่วน ดร.เอกนิติ ระบุว่า การปฎิรูประบบราชการต้องอาศัยเวลาที่นานพอสมควรกว่าจะแก้ไขทั้งระบบ แต่สำคัญที่สุดคือ ต้องเริ่มตั้งแต่วันนี้ เพราะหากรอการแก้ตัวกฎหมายเพื่อแก้ระบบราชการ ต้องรอไปอีกอย่างน้อย 3 ปี
ดังนั้นสิ่งที่ทำได้ตั้งแต่วันนี้ คือ การเสริมจุดแข็งให้ระบบราชการ เริ่มจากจุดแข็งแรก คือ ระบบราชการเป็นระบบที่ต้องฟังนาย ถ้าคนในองค์กรสามารถทำให้เจ้านายกล้าตัดสินใจลงมือทำสิ่งดีๆ ให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่างเช่นการนำดิจิทัลมาใช้ จะเป็นการปรับรูปแบบกระบวนการทำงานให้องค์กรราชการนั้นๆ ได้ทันที
เมื่อเสริมจุดแข็งได้ก็ต้องกำจัดจุดอ่อนที่กัดกินระบบ เช่น เสริมกฎหมายป้องกันคนดีที่กล้าจะลงมือทำอะไรสักอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลงในระบบให้มีทิศทางที่ดี ไม่ต้องระแวงว่าจะถูกมาตรา 157 ฟ้องร้องเมื่อทำราชการเสียหาย รวมถึงการปรับปรุงงบประมาณจากคนเกษียณราชการ ปรับโครงสร้างราชการให้สอดรับกับความต้องการของประชาชน รวมถึงการใช้ข้อมูล (Data) บนฐานให้เกิดประโยชน์ และสำคัญสุดคือ โครงสร้างการกระจายภารกิจอย่างมีประสิทธิภาพและผลลัพธ์ที่ดี
“โดยสรุปคือ ถ้าต้องการปรับปรุงต้องเริ่มจากเสริมจุดแข็ง ช่วยให้ระบบราชการดึงคนเก่ง คนดี เข้ามาทำงานในระบบ ให้กล้าตัดสินใจ กำจัดจุดอ่อนเรื่องงบประมาณ แรงงาน กระบวนการทำงาน และที่สำคัญคือ กฎหมายสนับสนุนให้ปกป้องคนดีให้กล้าคิดกล้าตัดสินใจ” ดร.เอกนิติ กล่าว
ซึ่งข้อเสนอของ ดร.เอกนิติ สอดคล้องกับข้อเสนอที่ ดร.ศรพล เห็นด้วยว่า “แนวทางการแก้ปัญหาหรือปฏิรูประบบราชการไม่ใช่การทำคู่มือสำหรับปี 2021 แต่ควรเป็นกระบวนการที่ต่อยอดต่อไปได้ในอนาคต โดยสิ่งเดียวที่จะทำให้ได้ยั่งยืนและทำให้กระบวนการทางระบบปรับเปลี่ยนได้คือการพัฒนาแนวคิดใหม่ๆ ให้คน มันเป็นโจทย์ให้คิดต่อว่าจะทำอย่างไรให้คนราชการรุ่นใหม่มีแนวคิดที่พร้อมจะเรียนรู้บริบทที่เปลี่ยนแปลงไปรอบตัว เพื่อนำมาผสานกับความคิดสร้างสรรค์ในการปรับระบบ และมีภาวะผู้นำภายใต้บริบทต่างๆ ดังนั้นทั้งหมดจะย้อนมาสู่จุดเริ่มต้นว่าสำคัญอย่างไรให้คนกล้าเปลี่ยนแปลง กล้าที่จะลองผิดลองถูกกับการปรับปรุงระบบ”
ทางด้าน ผู้ว่าฯ วีระศักดิ์ เห็นด้วยกับ ดร.ศรพล ที่ภาวะผู้นำในระบบราชการต้องกล้าเปลี่ยนแปลงและทำในสิ่งที่เป็นประโยชน์ แต่ส่วนตัวขออย่างเดียวคือ ‘ททท หรือ ทำทันที’ อย่าไปรอเวลา อย่ากลัวความล้มเหลวที่จะกล้าทำในสิ่งที่ดีแล้วถูกต้อง
“ส่วนตัวขออย่างเดียวคือ ‘ททท หรือ ทำทันที’ อย่าไปเสียเวลาในระบบราชการอย่างเปล่าประโยชน์ ผมไม่ได้จะบอกว่าต้องโยนให้ใครคนใดคนหนึ่งทำ แต่ทุกฝ่ายในระบบต้องร่วมมือกัน และที่สำคัญคือต้องไม่กลัวพลาด ถ้าทำ 100 อย่าง จะให้ถูกทุกอย่างเป็นไปไม่ได้ และถ้ามัวแต่กลัวมาตรา 157 เราก็ไม่ได้ทำอะไรสักอย่าง เราจงอย่างกลัวถ้างานที่ทำยึดอยู่กับผลประโยชน์ที่จะตกถึงประชาชนเป็นหลัก เพราะฉะนั้นวันนี้ถ้าคุณคิดจะทำอะไรก็ทำเลย อย่ามัวแต่พูดอย่างเดียว ถ้าสิ่งนั้นให้ผลตอบแทนกับสังคมโดยรอบ” วีระศักดิ์ กล่าวในท้ายที่สุด