วันนี้ (28 พฤศจิกายน) เวทีสุดท้ายของ THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021 ในหัวข้อ Bridging the Generation Gap เราจะสร้างอนาคตประเทศไทยในความคิดต่างได้อย่างไร ผู้ร่วมพูดคุยประกอบด้วย ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี และอดีตคณบดีคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, บรรยง พงษ์พานิช ประธานกรรมการบริหาร กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร (KKP), กนกรัตน์ เลิศชูสกุล อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และ มายด์-ภัสราวลี ธนกิจวิบูลย์ผล สมาชิกกลุ่มราษฎร
มุมมองเกี่ยวกับ Generation Gap เป็นปัญหาหรือไม่
มายด์ ภัสราวลี มองว่าเป็นไปได้ที่คนซึ่งเกิดคนละยุคสมัยเติบโตมาคนละช่วงวัยจะมีความคิดที่แตกต่างกัน ดังนั้นจึงไม่อยากมองว่า Generation Gap เป็นปัญหา แต่เป็นสิ่งปกติที่เกิดขึ้นในทุกยุคสมัย ที่ต้องหาทางแก้ไข
ขณะที่ธงทองยกตัวอย่างรัชกาลที่ 5 กับสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ซึ่งในเวลานั้นมีอายุห่างกันมาก มีช่วงหนึ่งรัชกาลที่ 5 อยากสร้างวังเป็นอาคารรูปแบบฝรั่ง แต่สมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ ต้องการให้สร้างแบบไทยดั้งเดิม สุดท้ายเกิดเป็นพระที่นั่งจักรีมหาปราสาท ตึกเป็นฝรั่ง แต่มียอดหลังคาแบบไทย นี่คือตัวอย่างของการไปด้วยกันได้ระหว่างความคิดแบบเก่ากับแบบใหม่
ด้านบรรยงอยากยกเหตุผลว่าทำไมเราถึงคิดต่างกัน ว่าคนยุคเก่าเกิดมาในช่วงที่ประเทศไทยยากจน แต่เศรษฐกิจเติบโตขึ้นมากในช่วงชีวิตตามการพัฒนาของประเทศ
แต่ยุคน้องมายด์เกิดมาในยุคที่เศรษฐกิจเติบโตแล้ว แต่เศรษฐกิจในประเทศเติบโตน้อยมาก ไทยกลายเป็นประเทศที่เติบโตต่ำที่สุดติดอันดับโลก ทำให้โอกาสในชีวิตมันน้อย โอกาสมันหายไป มันทำให้คนรุ่นใหม่เกิดความรู้สึกว่าขาดโอกาส
ขณะที่กนกรัตน์มองว่า ปัญหาไปไกลกว่า Generation Gap แต่มันเป็นการเผชิญหน้ากันของสองพลัง ระหว่างพลังของคนที่ต้องการความเปลี่ยนแปลง กับพลังของคนที่ไม่ต้องการหรือต้องการให้เปลี่ยนแบบช้าๆ ซึ่งทั้งสองพลังนี้มีการต่อสู้กันมาตั้งแต่การเปลี่ยนแปลงการปกครอง 2475 และหลังจากนั้นเราก็เห็นอีกหลายระลอกตั้งแต่พฤษภาทมิฬ หรือยุคเสื้อเหลือง-เสื้อแดง แต่จุดสำคัญของครั้งนี้ที่ต่างกับครั้งก่อนๆ คือในอดีตพลังกลุ่มที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงอาจเป็นคนกลุ่มน้อย แต่ด้วยปัจจัยการต่อสู้บางอย่างทำให้เขาอาจจะชนะในบางครั้ง แต่ในปัจจุบันกลุ่มที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงขยายตัวมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้นโจทย์ครั้งนี้ต่างจากเดิมตรงที่การหาทางออกต้องหาฉันทามติใหม่เพราะพลังทั้งสองกลุ่มมีปริมาณพอๆ กัน
จะรีบไปไหน ทำไมต้องทะลุฟ้า? ชวนคนรุ่นใหญ่-รุ่นใหม่ ตอบคำถามข้อเรียกร้องสุดร้อนแรง
มายด์ ภัสราวลี เห็นว่าต้องแยกระหว่าง ‘รีบไป’ กับ ‘อย่ารีรอ’ เพราะหลายปัญหาที่เกิดตรงหน้าแล้วเราจะทำเป็นมองไม่เห็น หรือไม่เช่นนั้นปัญหามันก็จะวนและค้างไว้แบบนี้เรื่อยๆ อีกทั้งการวิพากษ์วิจารณ์สถาบันพระมหากษัตริย์ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพียงแต่คนในรุ่นเราถูกกดทับด้วยความกลัวมานาน แต่เมื่อถึงวันนี้ตนมองว่ามีคนเห็นแล้วว่าความกลัวเป็นมายาที่ถูกสร้าง และเราทำลายมันได้ การวิพากษ์ด้วยเหตุผลเป็นทางออกของการช่วยให้ออกจากปัญหา แต่การรีรอปัญหาคือการปิดหูปิดตาและซ้อนปัญหาไว้ใต้พรมเรื่อยๆ ถ้าเรารีรอประเทศเราก็จะเดินหน้าช้าไปเรื่อยๆ
ขณะที่ธงทองอธิบายถึงเหตุผลว่าทำไมคนรุ่นเก่าถึงบอกว่าอย่าเปลี่ยนเลยหรืออย่าเปลี่ยนเร็ว โดยเก็บรวบรวมจากพรรคพวกเพื่อนฝูง พวกเขามักจะเห็นว่า คนรุ่นเก่ามีความสุขกับอดีต ซึ่งคนพวกนี้มักจะมีความสุขกับปัจจุบันเพราะชีวิตสุขสบบายแล้ว ส่วนคนที่ไม่มีฐานะก็เหนื่อยกว่าที่จะพูดแล้ว คนอายุมากอยากให้อนาคตเป็นปัจจุบัน แต่ถ้าคนในวัยนี้อยากเห็นอนาคตที่เปลี่ยนแปลงก็เหนื่อย หมดแรงจนเสียงแผ่วเบาแล้ว
นอกจากความต่างเรื่องอายุแล้ว ยังมีปัจจัยความรู้ทางประวัติศาตร์ซึ่งคนรุ่นใหญ่ก็เรียนรู้แล้วรับทราบประวัติศาสตร์ด้วยข้อมูลชุดเดิม และยังคงเชื่ออยู่แบบนั้นจนมีคำกล่าวของคนรุ่นเก่าว่า สมัยนี้เด็กไม่ได้เรียนประวัติศาสตร์เลยเกิดเหตุการณ์แบบนี้ แต่ในทางกลับกันเด็กสมัยนี้เรียนประวัติศาสตร์อีกแบบหนึ่งด้วยชุดข้อมูลที่หลากหลายและไปไกลกว่าในแบบเรียนมาก ตนไม่สามารถบอกได้ว่าข้อมูลชุดใหม่นั้นถูกหรือผิด แต่มันก็มีมุมให้วิพากษ์วิจารณ์และวิเคราะห์ได้น่าสนใจ
ด้านบรรยงกล่าวว่า เราอยากเปลี่ยนแต่เรายังไม่รู้เลยว่าเราจะเปลี่ยนไปเป็นอะไร เป้าหมายเรายังไม่ชัดเลย เพียงแต่เราอึดอัดสิ่งที่เป็นอยู่แบบนี้ วันนี้จึงอยากชวนให้เรามาคิดตกผลึกกันว่าการปฏิรูปนั้นอะไรคือเป้าหมาย เราต้องรู้ก่อนว่าเราอยากมีสถาบันแบบไหน มีหน้าที่และบทบาทแบบใด ซึ่งตนยังเชียร์เรื่องการปฏิรูปเพราะเราต้องทำอย่างมีกระบวนการกันต่อไป ไม่มีใครกระโดดไปถึงเป้าหมายได้เลยทันที
ถ้าการปฏิรูปไม่สำเร็จ จะนำไปสู่ปฏิวัติแบบฝรั่งเศส ซึ่งไม่ใช่สิ่งดี เพราะการเปลี่ยนแปลงหลังจากนั้นในฝรั่งเศสก็วุ่นวาย คนปฏิวัติเองก็ถูกกิโยติน ดังนั้น ตนดูข้อเรียกร้องแล้ว 3 ข้อ จะเอาอะไรก่อน จะเอารัฐบาลออกก่อน หรือแก้รัฐธรรมนูญ หรือจะปฏิรูปสถาบัน
บรรยงอยากชวนคนรุ่นใหม่ให้คิดไล่ประเด็นใหม่ เช่น แก้รัฐธรรมนูญก่อน แต่เราต้องยอมรับว่าเขาผ่านประชามติท่วมท้น ถึงแม้จะบอกว่าคนไปโหวตเขาไม่ได้อ่านคำถามพ่วง แต่เราก็ต้องเคารพเขา เพราะการทำประชามติเป็นสิทธิตามระบอบประชาธิปไตย
ชวนคุยประเด็นปฏิรูปสถาบันพระมหากษัตริย์
หัวข้อที่สนทนากันต่อไปคือประเด็นสถาบันพระมหากษัตริย์ ว่าเป็นสิ่งที่เห็นด้วยกันมาก่อนแล้ว หรือเลยตามเลย มีคนเปิดประเด็นแล้วจึงตามกันมา
มายด์ ภัสราวลี ตอบว่า ทุกคนรู้สึกว่าการวิพากษ์สถาบันอยู่กับเรามาตลอดในทางลับ แต่มันจะไม่ดีกว่าหรือถ้าจะเอาสิ่งเหล่านี้มาพูดในพื้นที่โล่ง ข้อเรียกร้องดังกล่าวเมื่อมีการเปิดประเด็นมา เราได้เห็นว่าเสียงตอบรับเยอะ มันชัดเจนว่าทุกคนสนใจเยอะแต่ไม่มีที่พูด ดังนั้นถ้าเราไม่พูดอย่างเสรี เราจะไม่มีทางรู้เลยว่าจะหาทางออกร่วมกันอย่างไร อีกทั้งข้อเสนอต่างๆ ที่ถูกตั้งขึ้นก็ถูกปัดตก ทำให้ข้อเสนออื่นๆ ต้องดันเพดานไปเรื่อยๆ
ขณะที่กนกรัตน์มองว่า แม้ว่าข้อเรียกร้องของคนรุ่นใหม่จะดูรุนแรง แต่อยากชวนทำความเข้าใจเรื่องนี้กันว่าสถาบันพระมหากษัตริย์เป็นจุดที่สังคมรู้สึกว่าเป็นจุดสูงสุดของอำนาจ แต่จากการเก็บข้อมูลเยาวชนมากกว่า 350 คน จะพบว่ามีความแตกต่างหลากหลายมาก ซึ่งประเด็นสถาบันกษัตริย์เป็นหนึ่งในประเด็นของคนรุ่นใหม่เท่านั้น เพราะจากการทำวิจัยจะพบว่าปัญหาของคนรุ่นใหม่ที่มาชุมนุมเรียกร้องหลากหลายมาก
แต่เมื่อถามถึงทางออกว่าจะเอาอย่างไร พบว่า เยาวชนส่วนใหญ่ไม่มีข้อเสนอว่าจะเอาอย่างไรต่อไป
ดังนั้นอาจสรุปได้ว่า เยาวชนมีความรู้สึกโกรธจริงๆ แต่เป็นความแตกต่างทางวัฒนธรรม เยาวชนเห็นว่า สิ่งเหล่านี้เป็นวิธีการที่ทำให้ผู้ใหญ่ได้ยินเขา พวกเขาจึงอยากพูดให้ผู้ใหญ่ช่วยกันคิดหน่อยว่าจะทำอย่างไร
กนกรัตน์กล่าวต่อว่า ข้อเสนอ 10 ข้อเกี่ยวกับสถาบันที่เราคิดว่าแกนนำเป็นคนนำ แต่จากการเก็บข้อมูลก่อนข้อเสนอพวกนี้ออกมา พบว่าประเด็นเหล่านี้อยู่ในพื้นที่การเมืองอยู่ก่อนแล้วโดยเฉพาะกลุ่มเด็กมัธยมศึกษา
ขณะที่ มายด์ ภัสราวลี บอกว่า อยากชวนมองไปที่แก่นของการสื่อสารนั้น สุดท้ายสิ่งเหล่านี้เกิดจากเรา (คนรุ่นใหม่) ไม่มีพื้นที่ให้แสดงออกอย่างมีเหตุผล
ด้านบรรยงยกตัวอย่างสิ่งที่ตนค้าน แต่ยังไม่เป็นฉันทามติของม็อบ คือการแทรกมาร์กซิสต์เข้ามา เพราะม็อบไม่มีแกนนำต้องระวัง แต่ Agenda มันจะถูกเพิ่มหรือเปลี่ยนได้ง่าย
“ผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงผมเห็นด้วย แต่ว่าเราต้องมีความอดทน ต้องออร์กาไนซ์ให้มันเกิดจริง แต่ถ้ามันแตกหักไปถึงขั้นสงครามกลางเมืองนั้นคือเลวร้ายที่สุด ใช่ครับสงครามกลางเมืองมันไม่เกิดจากฝั่งน้องหรอก แต่เราจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงอย่าให้มันเกิดขึ้น” บรรยงกล่าว
ช่วงท้ายข้อสรุปที่วิทยากรทุกคนเห็นตรงกันคือ ข้อสรุปจากอาจารย์กนกรัตน์ สิ่งที่แย่ที่สุดหากเราไม่ปฏิรูปอะไรเลยคือ จะไม่มีการชุมนุมอีกแล้ว ทุกคนเชื่อเหมือนกันว่าไม่ต้องเปลี่ยนแปลง พลังของคนรุ่นใหม่ที่ต้องการความเปลี่ยนแปลงจะไม่ต้องการความเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป คนรุ่นใหม่เหล่านี้จะกลายเป็น Lost Generation และเราจะไปสู่ยุคที่ไม่สามารถคาดการณ์อะไรได้เลย