ในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021 หัวข้อ Reforming Thailand’s Education: ยุทธศาสตร์ใหม่ยกเครื่องการศึกษาไทย ที่จัดขึ้นวันนี้ (28 พฤศจิกายน) มีการหยิบยกหลายประเด็นเกี่ยวกับแนวทางปฏิรูประบบการศึกษาของไทยขึ้นมาพูดคุยกันอย่างน่าสนใจ ทั้งในด้านบทบาทของครู นักเรียน ผู้ปกครอง และระบบนิเวศทางการศึกษา ไปจนถึงหนทางแก้ไขปัญหาอำนาจนิยมในโรงเรียน
บทบาทของนักเรียนต่อการปฏิรูปการศึกษา
โดยประเด็นแรกเรื่องบทบาทของนักเรียนต่อการปฏิรูปการศึกษานั้น ลภนพัฒน์ หวังไพสิฐ หรือ มิน แกนนำกลุ่มนักเรียนเลว ให้ความเห็นว่า สิ่งสำคัญอันดับแรกที่เป็นปัญหาของนักเรียน คือเรื่องสิทธิมนุษยชนภายในรั้วโรงเรียน ที่ยังมีการละเมิดและเป็นปัญหาที่ยังไม่หมดไป ซึ่งในการปฏิรูปการศึกษานั้น เขามองว่า ในส่วนของนักเรียนนั้นควรมีส่วนร่วม แต่ไม่ใช่หน้าที่หรือความรับผิดชอบของนักเรียนที่จะต้องสละเวลาชีวิตในวัยเด็กเพื่อมาออกแบบระบบการศึกษา และควรเป็นหน้าที่ของรัฐบาลหรือผู้ใหญ่ โดยมองว่าผู้ใหญ่นั้นควรรับฟังเสียงเด็ก และเอาความคิดเห็นหรือสิ่งที่เด็กต้องการมาปรับใช้กับการออกแบบระบบการศึกษา
ขณะที่ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.สาคร สุขศรีวงศ์ ประธานบริหาร King’s College International School Bangkok มองว่า เขาเห็นด้วยกับมิน ในมุมการปฏิรูปการศึกษาที่เป็นหน้าที่ของผู้ใหญ่ แต่นักเรียนควรมีส่วนร่วม พร้อมชี้ว่าระบบการศึกษาของไทยนั้น เน้นไปที่ความเก่งแต่ละเลยในส่วนความดีและความสุข ซึ่งโรงเรียนควรเป็นแหล่งที่เด็กเข้ามาเรียนและใช้ชีวิตอย่างสนุกสนาน มีกิจกรรม ดนตรี กีฬา ศิลปะ และชมรมต่างๆ โดยครูมีหน้าที่โอบอุ้มดูแลอย่างครบถ้วนรอบด้าน ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ ถ้ามีการจัดโครงสร้างอย่างผสมกลมกลืน จะเป็นโครงสร้างทางการศึกษาที่ตอบโจทย์
ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง มองในประเด็นสิทธิเสรีภาพของนักเรียน เช่น การแต่งกายที่ไม่จำเป็นต้องเป็นเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งทุกวันนี้มีการเปิดโอกาสบ้างในระดับมหาวิทยาลัย แต่เขาเห็นว่า ควรเปิดให้ลองได้ตั้งแต่ระดับชั้นมัธยมศึกษา ขณะที่เรื่องเสรีภาพในการเลือกวิชาเรียน เขาคิดว่านักเรียนไม่ควรต้องถูกบังคับให้เรียนเพียงสายวิทย์หรือสายศิลป์ ส่วนเรื่องการปฏิรูปการศึกษานั้น มองว่าเป็นหน้าที่ของรัฐ แต่ไม่ใช่ 100% และควรเป็นเรื่องของภาคสังคม ผู้ปกครอง และเอกชน ที่มีส่วนร่วมมากกว่าเดิม ซึ่งเชื่อว่าจะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้อย่างแน่นอน
ส่วน ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล อาจารย์ประจำคณะครุศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่าสิ่งที่เป็นมะเร็งร้ายในระบบการศึกษามี 2 อย่าง คือ 1. เรื่องอำนาจนิยมในโรงเรียนและคุณค่าความเป็นมนุษย์ของนักเรียน ซึ่งการที่โรงเรียนปฏิบัติต่อนักเรียนโดยไม่เริ่มต้นจากชุดความคิดในการเคารพคุณค่าและศักดิ์ศรีของนักเรียน ก็จะเป็นปัญหาที่ทำให้นักเรียนไปโรงเรียนแล้วไม่มีความสุข และ 2. คือปัญหาจากการเป็นรัฐราชการรวมศูนย์ที่ทำให้โรงเรียนไม่ได้ตัดสินใจและออกแบบการศึกษาที่ตอบโจทย์ผู้เรียน แต่ตอบโจทย์ส่วนกลาง
ซึ่งเขาเห็นว่า ระบบการศึกษานั้นมีบทบาทสำคัญในการสร้างโอกาสจากประสบการณ์เพื่อให้นักเรียนมีโอกาสเลือกจนค้นพบตัวเอง แต่หากนิยามระบบการศึกษาว่าเป็นเพียงหน้าที่ของรัฐนั้น จะทำให้ความเป็นเจ้าของตกอยู่ในมือรัฐเพียงอย่างเดียว ซึ่งเขามองว่ารัฐนั้นมีหน้าที่ในการบริหารจัดการการศึกษา แต่ควรเป็นความรับผิดชอบร่วมกันของสังคมในการตัดสินใจร่วมกัน
การศึกษาที่ตอบโจทย์ของนักเรียน
สำหรับประเด็นการศึกษาที่ตอบโจทย์ของนักเรียนนั้น ลภนพัฒน์กล่าวว่าไม่มีโจทย์ที่ตายตัวในเรื่องนี้ โดยนักเรียนแต่ละคนมีการศึกษาและบริบทความต้องการที่แตกต่างกัน ซึ่งการศึกษาที่นักเรียนอยากเห็นนั้น เขาคิดว่าควรเป็นการศึกษาที่โอบรับนักเรียนทุกคนได้โดยไม่มีใครถูกกีดกันออกจากระบบการศึกษา เพียงเพราะไม่เรียนในสิ่งที่ผู้ใหญ่ต้องการ อีกเรื่องที่เขาย้ำคือเรื่องอำนาจนิยมในระบบการศึกษา ซึ่งเชื่อว่าเป็นสิ่งที่แก้ไขได้ง่ายและไม่กระทบต่อโครงสร้างด้วยการปรับเปลี่ยนกรอบความคิดหรือ Mindset
ทั้งนี้ ผศ.อรรถพลมองว่าหลักสูตรสำหรับนักเรียนในยุคปัจจุบันนั้น ควรต้องมีเป้าหมายร่วม เช่น โรงเรียนมีบทบาทสำคัญเพื่อให้นักเรียนค้นพบตัวเอง ส่วนที่เหลือควรเปิดพื้นที่ให้เด็กได้เลือก
ขณะที่ ดร.สาครเห็นด้วยในเรื่องนี้ แต่มองว่ามีความยากในวิธีปฏิบัติที่ไม่รู้จะเริ่มต้นจากตรงไหน ซึ่งเขามองว่าหลักสูตรนั้นไม่ใช่แค่เรื่องการเรียนในห้อง และการเรียนนอกห้องเรียนไม่ใช่ส่วมเสริมของการศึกษา แต่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษา เนื่องจากหากเปิดโอกาสให้นักเรียนสามารถเลือกได้ ก็จะเป็นการฝึกความกล้า และทำให้นักเรียนรู้ว่าชอบอะไรและทำอะไรได้ดี
ด้าน ศ.ดร.สุชัชวีร์เห็นว่าในเรื่องการปฏิรูปหลักสูตรการศึกษานั้นไม่ควรจะไปทางขวาสุดหรือซ้ายสุดและควรมีจุดสมดุล แต่ไม่ควรโยนภาระแก่ทางโรงเรียนเพียงฝ่ายเดียว โดยทุกภาคส่วนควรมีส่วนร่วมในการช่วยให้เกิดการปรับเปลี่ยน ขณะที่การปรับตัวนั้นคงไม่เกิดขึ้นทันทีทันใด และขอให้นักเรียนให้โอกาสผู้ใหญ่ได้มีเวลาในการปรับตัวบ้าง
ผศ.อรรถพล ยังชี้ถึงความสำคัญในการสร้างความเป็นเจ้าของร่วมระหว่างโรงเรียนและชุมชน ซึ่งปัจจุบันการตัดสินใจหลักๆ ยังรวมศูนย์ที่ส่วนกลางคือกระทรวงศึกษาธิการ โดยมองว่าควรเพิ่มอำนาจการตัดสินใจแก่หน่วยงานท้องถิ่นเช่นระดับจังหวัด
นอกจากนี้ยังสะท้อนถึงปัญหาการจัดสรรงบประมาณให้กับโรงเรียน ในขณะที่แต่ละโรงเรียนมีความพร้อมไม่เท่ากัน ซึ่งเขาเห็นว่าการจัดสรรงบประมาณไม่สามารถใช้สูตรเดียวกันระหว่างโรงเรียนขนาดเล็กและขนาดใหญ่ได้ และทุกวันนี้ โรงเรียนขนาดเล็กต้องดิ้นรน ส่งผลให้ครูเกิดความรู้สึกไม่มั่นคงและต้องการย้ายไปโรงเรียนที่ใหญ่กว่า ขณะเดียวกันยังเกิดปัญหาที่โรงเรียนกลายเป็นสินค้าของการแข่งขัน ซึ่งการจ่ายแพงกว่าจะได้โรงเรียนดีกว่า และโรงเรียนต่างๆ ต้องแย่งกันหาเด็กเข้าเรียน
ส่วนในมุมมองเรื่องการออกแบบหลักสูตรการศึกษานั้น ดร.สาครแสดงความเห็นโดยยกหลักพระพุทธศาสนา คือนอกจากการพัฒนาในด้านศีล หรือการปฏิบัติที่ถูกต้อง และปัญญาหรือการพัฒนาความรู้ทางวิชาการ ควรให้ความสำคัญกับการพัฒนาจิตใจ ซึ่งเป็นสิ่งที่ไทยเราขาดไป
อย่างไรก็ตาม ลภนพัฒน์กล่าวว่า หากทัศนคติของครูหรือบุคลากรทางการศึกษายังเป็นเช่นเดิม แต่เปลี่ยนหลักสูตรการศึกษา สิ่งที่เขากลัวคือจะมีการตัดสินที่ตัวเด็กว่า เด็กคนนี้ค้นหาตัวเองเจอคือผ่าน เด็กที่ค้นหาตัวเองไม่เจอคือไม่ผ่าน โดยเขามองว่าการค้นหาตัวเองของเด็กนั้นขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส และสิ่งสำคัญคือการเปิดพื้นที่ของโรงเรียนเพื่อเปิดโอกาสให้นักเรียนได้ค้นหาตัวเอง และปรับเปลี่ยนทัศนคติและวิธีการประเมินผลของครู
ผลกระทบจากอำนาจนิยมในโรงเรียน
ในเรื่องผลกระทบจากอำนาจนิยมในโรงเรียนนั้น ศ.ดร.สุชัชวีร์ มองว่าเรื่องอำนาจนิยม เช่น การไว้ผมยาวไปเรียนเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสมนั้น ไม่ควรโทษว่าเป็นปัญหาที่เกิดจากเฉพาะโรงเรียน แต่ยังรวมถึงผู้ปกครองและความเชื่อในสังคม ซึ่งควรมีการปรับตัวไปพร้อมๆ กัน
ขณะที่ ลภนพัฒน์ตั้งคำถามง่ายๆว่า “ระบบการศึกษาที่ทุกคนเห็นตรงกันว่าควรโอบรับความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์นั้น จะเกิดได้อย่างไรหากเรายังไม่สามารถยอมรับความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์ได้” พร้อมชี้ว่าอำนาจนิยมนั้นแฝงอยู่ในทุกที่ แต่ต้องมองย้อนไปว่าคนรุ่นก่อน ถูกสอนค่านิยมนี้มาจากโรงเรียนตั้งแต่ต้น และเห็นว่าโรงเรียนและครูควรเป็นกลุ่มแรกที่ปรับเปลี่ยนเพื่อทำให้ค่านิยมนี้หายไป
ทั้งนี้ ดร.สาครมองว่าปัญหาเรื่องอำนาจนิยมอย่างเรื่องการแต่งเครื่องแบบนักเรียนนั้นยังมีประโยชน์อยู่บ้าง เช่น เพื่อความเป็นระเบียบและนักเรียนไม่ต้องแข่งกันแต่งตัว แต่มองว่าควรเปิดพื้นที่และกำหนดกติกา ว่าทำได้มากน้อยแค่ไหนอย่างไร เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาการแข่งขันและการฟุ้งเฟ้อ และทำให้เด็กใช้เวลามุ่งไปที่การกระตุ้นพัฒนาการได้ดีที่สุด พร้อมยกตัวอย่างในบางประเทศ เช่น อังกฤษ ว่ายังมีโรงเรียนจำนวนมากที่บังคับแต่งเครื่องแบบและทรงผมอยู่ ซึ่งแม้จะมีระบบระเบียบ แต่ในขณะเดียวกันก็ไม่ขาดจิตวิญญาณที่เป็นอิสระในการค้นหาตัวเอง และทำอะไรให้ประสบความสำเร็จ
อิทธิพลยุคโซเชียลต่อระบบการศึกษา
ส่วนเรื่องระบบการศึกษาในยุคอินเทอร์เน็ต ลภนพัฒน์ตั้งข้อสังเกตถึงระบบการสอนของโรงเรียนไทย ที่ต้องใช้เวลาเรียนหลายปี ในขณะที่เด็กยุคนี้สามารถเรียนรู้ได้รวดเร็วและใช้เวลาน้อยกว่า
ขณะที่ ดร.สาครเห็นด้วยที่ความรู้ไม่ควรอยู่แค่ในห้องเรียน แต่มองว่าโรงเรียนยังมีประโยชน์หลายอย่าง เช่น เป็นสถานที่ฝึกฝนทักษะ การเข้าใจคน การอยู่ร่วมกันในสังคม และการมีกัลยาณมิตรหรือเพื่อนที่ดี ซึ่งคำถามสำคัญคือ เราจะทำอย่างไรจึงจะทำให้เทคโนโลยีอยู่ในโรงเรียนได้อย่างเหมาะสม
บทบาทของผู้ปกครองต่อการปฏิรูปการศึกษา
ศ.ดร.สุชัชวีร์ให้ความเห็นว่า บทบาทของผู้ปกครองต่อการปฏิรูปการศึกษาในตอนนี้เป็นเรื่องไม่ง่าย เนื่องจากในอดีตพ่อแม่ผู้ปกครองมีเวลามากกว่า และมีความเครียดน้อยกว่า เมื่อเทียบกับปัจจุบัน อีกทั้งยังเผชิญทั้งมลพิษจากสิ่งแวดล้อมและโซเชียลมีเดีย ขณะที่เขาขอต่อสังคมว่า ไม่ควรแสดงท่าทีต่อเรื่องปฏิรูปการศึกษา ขวาสุดหรือซ้ายสุดจนเกินไป ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ระหว่างครูและลูกศิษย์ และคนที่เดือดร้อนคือเด็กนักเรียน
ข้อเสนอเพื่อเดินหน้าปฏิรูปการศึกษาไทย
สำหรับข้อเสนอเพื่อเดินหน้าปฏิรูประบบการศึกษาไทยให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโดยเร็วที่สุดนั้น ศ.ดร.สุชัชวีร์เสนอว่า ให้ระบบการศึกษาไม่รวมศูนย์ที่กระทรวงศึกษาธิการ และเพิ่มอำนาจให้ท้องถิ่นเพื่อมีส่วนร่วมในการศึกษาเต็มรูปแบบเหมือนต่างประเทศ ซึ่งทำได้ทันที
ส่วน ดร.สาครชี้ว่าควรเปลี่ยนเครื่องมือ ทั้งมาตรฐานชี้วัดด้านการศึกษาต่างๆ ที่มีอยู่ และควรมีการเปิดพื้นที่สะท้อนความเห็น เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ระหว่างกัน
ขณะที่ ผศ.อรรถพล อนันตวรสกุล ให้ข้อเสนอว่า ควรเอาความเป็นวิชาการกลับมาในการทำงานการศึกษา โดยให้การกำหนดนโยบายต่างๆ ตั้งอยู่บนฐานของงานวิจัย และรัฐบาลควรเป็นผู้รับผิดชอบ ขณะที่สนับสนุนความเห็นในการเพิ่มอำนาจการตัดสินใจจากส่วนกลางสู่ท้องถิ่น ซึ่งเขายังแสดงความเป็นห่วงต่อร่าง พ.ร.บ.การศึกษาฉบับใหม่ ที่อำนาจการตัดสินใจทางการศึกษาไปอยู่ที่ซูเปอร์บอร์ด
นอกจากนี้ยังสนับสนุนให้องคาพยพทางการศึกษานั้นเชื่อมโยงกัน ไม่ทอดทิ้งทั้งผู้ปกครองและนักเรียน
ทางด้านลภนพัฒน์ทิ้งท้ายข้อเสนอในประเด็นอำนาจนิยม ว่าเป็นสิ่งที่ทั้งโรงเรียน สังคม และครอบครัว ต้องช่วยกันและทำความเข้าใจว่ามันไม่ควรมีอยู่ต่อไป และยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของบุคคลให้มากขึ้น