“ผมชื่อ บุ๊ค ธนายุทธ มาจาก สลัม ที่ทุกคนมองว่าแออัด
ทั้งที่เราอยู่ไม่ห่างจากพวกคุณ แต่ถูกตัดสินไม่ต่างจากสัตว์”
ธนายุทธ ณ อยุธยา หรือ บุ๊ค Elevenfinger แรปเปอร์หนุ่มวัย 20 ปี ตัวแทนจากชุมชมคลองเตย ขึ้นไปแรปเปิดเวที A Voice from Klong-toei จากงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021: The Great Reform: Thailand’s Tipping Point for a Sustainable Future ด้วยเพลง ‘กระบอกเสียง’ ที่ใช้ดนตรีบอกเล่าชีวิตและความในใจแทนความรู้สึกของคนในชุมชม และผู้คนที่ถูกมองข้ามทุกชีวิต
บุ๊คเริ่มต้นเล่าเรื่องของคุณปู่ที่เสียชีวิตด้วยโรคโควิด โดยไม่มีโอกาสเข้าถึงการรักษา จนวันสุดท้ายของชีวิต บุ๊คต้องอยู่กับร่างที่ไร้ลมหายใจของปู่อยู่เป็นวันกว่าจะมีคนมารับศพไปประกอบพิธี
แม้กระทั่ง ‘ความตาย’ ก็ยัง ‘เหลื่อมล้ำ’ ในความรู้สึกของเด็กหนุ่มที่อายุเพิ่ง 20 ปี
ไม่ใช่แค่ความตาย แต่ยังหมายถึง ‘สายตา’ ที่ผู้คนมองลงไปที่ชุมชนแออัด บุ๊คยกตัวอย่างเรื่องยาเสพติด สำหรับเขาแบ่งแยกเอาไว้เพียง 2 ประเภท คือยาเสพติดของ ‘คนจน’ และ ‘คนรวย’
เมื่อไรก็ตามที่เกิดเหตุร้าย คนจนใช้ยาเเละเกิดอาการคลุ้มคลั่ง ข่าวมักจะรายงานเหมารวมว่านี่คือปัญหาของ ‘คนจน’ หรือคนในสลัมใช้ยา ผิดกับเมื่อคนรวยมั่วยา สายตาก็พุ่งเป้าไปที่คนกลุ่มนั้นๆ ไม่มีการใช้คำว่า ‘คนรวย’ เข้ามาตัดสิน
บุ๊คถาม ‘บอล’ เพื่อนคนหนึ่งในชุมชนคลองเตย ว่าทำไมถึงใช้ยาเสพติด คำตอบที่ได้รับกลับเป็น ‘คำถาม’ ว่าตัวบุ๊คยังมีความฝันอะไรให้ยังเชื่ออยู่ แน่นอนว่าบุ๊คยังมีอนาคตทำเพลงให้เห็นอยู่ข้างหน้า เพราะถูกสังคมและสายตาที่ตัดสินกดทับ ริบสิ่งเหล่านั้นไปหมดแล้ว
ไม่มีใครอยากใช้ยาเสพติดจนสูญเสียทุกอย่าง ไม่มีใครอยากลูก ทิ้งครอบครัว ทำผิดเพื่อเข้าไปใช้ชีวิตในเรือนจำ หลายคนจำเป็นต้องทำอาชญากรรม เพราะการเป็นอาชญากรคือไม่กี่เส้นทางที่พวกเขามีสิทธิ์เลือก
บุ๊คยอมรับว่าจริงๆ แล้ว พวกเขาก็อิจฉาคนรวยอยู่เหมือนกัน แต่ความอิจฉานั้นไม่ใช่เงินทอง หรือยศถาบรรดาศักดิ์ เขาเพียงแค่อิจฉาที่คนเหล่านั้นมีสิทธิ์ที่จะฝัน และมี ‘โอกาส’ ไปถึงความฝันเหล่านั้นได้มากกว่า
ตั้งแต่วัยเด็กก่อนมาเป็นแรปเปอร์ บุ๊คเคยมีความฝันอยากเป็นนักฟุตบอลทีมชาติ และทุกความฝันต้องมีเงินมาต่อยอด บุ๊คต้องร้อยมาลัยไปขายตามสี่แยก เดินเช็ดกระจกเมื่อรถติด หลายคนมองพวกเขาเป็นขอทาน บางคนก็โบกมือไล่ด้วยความรำคาญให้ไปไกลๆ โดยไม่มีใครรู้ว่าเขาแค่อยากได้เงินไปซื้อลูกฟุตบอลและรองเท้าสตั๊ด
บุ๊คยืนยันว่าเรื่องการ ‘ต่อสู้’ คนในชุมชนมีหัวใจที่เข้มแข็งไม่แพ้ใคร
เพราะฉะนั้นสิ่งที่บุ๊คและผู้คนในชุมชมต้องการ ไม่ใช่แค่การบริจาคอาหาร หรือโยนเงินเข้ามาให้อยู่รอดไปวันๆ พวกเขาต้องการเพียงแค่ใครสักคนมาหยิบยื่น ‘โอกาส’ ให้พวกเขาได้เดินตามความฝัน
บุ๊กไม่ได้ต้องการแค่เงินไปกินข้าว เขาเพียงแค่อยากได้เงินสักก้อนหนึ่งไปทำเพลง ไปทำอาชีพ ไปทำสิ่งที่เขารัก และใช้เสียงดนตรีต่อยอดความฝัน เพื่อหล่อเลี้ยงตัวเอง หล่อเลี้ยงครอบครัว และหล่อเลี้ยงผู้คนในชุมชนที่พวกเขาเติบโตขึ้นมา
ถ้า ‘กระบอกเสียง’ ในวันนี้มีความหมาย บุ๊คเพียงแค่อยากให้ทุกคนเปลี่ยนสายตาที่มองมาหาพวกเขาด้วยความ ‘สงสาร’ มาเป็นความรู้สึกจากก้นบึ้ง ‘หัวใจ’
ว่าท้ายที่สุดแล้ว พวกเขาก็คือคนหนึ่งที่มีชีวิต เป็นหนึ่งชีวิตที่มีความฝัน
และขอให้เป็นความฝันที่มี ‘โอกาส’ เท่าเทียมกันเท่านั้นก็พอ