เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวปาฐกถาในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021 หัวข้อ ‘The Future of Thai Economy and Finance: อนาคตเศรษฐกิจและการเงินไทย’ ว่า อนาคตของเศรษฐกิจและการเงินไทยในระยะข้างหน้าจำเป็นต้องเติบโตแบบ Inclusive หรือทั่วถึงมากกว่าเดิม เนื่องจากโครงสร้างเศรษฐกิจไทยในปัจจุบันมีความเหลื่อมล้ำสูงและไม่สามารถเติบโตต่อไปได้อย่างยั่งยืน
ทั้งนี้ ปัญหาความเหลื่อมล้ำของโครงสร้างเศรษฐกิจไทยสามารถสะท้อนออกมาได้ชัดเจนผ่านข้อเท็จจริง 3 ประการ ได้แก่
- ตระกูลที่ร่ำรวยที่สุด 50 อันดับแรกของประเทศตามการจัดอันดับของนิตยสาร Forbes มีทรัพย์สินเท่ากับประชากร 13 ล้านครัวเรือน หรือ 0.0004% ของครัวเรือนทั้งประเทศ มีทรัพย์สินเกือบ 50% ของทั้งประเทศ ซึ่งสะท้อนถึงช่องว่างระหว่างคนรวยและคนจนที่เกิดจากการเติบโตของรายได้และความมั่งคั่งเฉพาะในบางกลุ่มมาเป็นเวลายาวนาน
- 50% ของกำไรภาคธุรกิจทั้งประเทศ กระจุกตัวอยู่ในบริษัทขนาดใหญ่เพียง 600 รายในตลาดหลักทรัพย์ สะท้อนถึงความได้เปรียบของบริษัทเหล่านี้ในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่ปัจจุบัน SMEs ไทยกว่า 60% ยังไม่ใช้บริการสินเชื่อในระบบสถาบันการเงิน
- เกือบ 2 ใน 3 ของผลผลิตของเศรษฐกิจโดยรวมกระจุกตัวอยู่ในแค่ 11 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ และปริมณฑล ชลบุรี ระยอง เชียงใหม่ และภูเก็ต สะท้อนถึงการเติบโตที่กระจุกตัวอยู่ในบางพื้นที่
“ข้อเท็จจริงเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่าเศรษฐกิจไทยมีความเปราะบางและเราคงจะเติบโตแบบเดิมๆ โดยหวังพึ่งพาเศรษฐกิจที่เติบโตจากบางกลุ่มคน บางกลุ่มธุรกิจ และบางพื้นที่อย่างไม่ทั่วถึงไม่ได้อีกแล้ว เห็นได้จากที่ในทศวรรษนี้เศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ไม่เกิน 4% และมีโอกาสที่จะโตได้ต่ำลงอีกหากยังไม่มีการปรับตัว” ผู้ว่า ธปท. กล่าว
เศรษฐพุฒิกล่าวว่า การเติบโตอย่างไม่ทั่วถึงของเศรษฐกิจไทยในช่วงที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดปัญหาหนี้ครัวเรือน ซึ่งล่าสุดเร่งตัวสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 90% ของ GDP โดย 1 ใน 3 ของคนไทยมีหนี้และยอดหนี้ต่อหัวเพิ่มขึ้นถึง 2 เท่า จาก 10 ปีก่อน
“หนี้ครัวเรือนที่สูงนี้เป็นปัจจัยฉุดรั้งการบริโภคของประชาชน เมื่อรายได้ไม่โต คนก็จำเป็นต้องก่อหนี้เพื่อนำมาใช้จ่ายและด้วยภาระหนี้ที่สูงเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว การก่อหนี้เพิ่มก็ทำได้ยากและเศรษฐกิจไทยจะโตไปได้ด้วยความลำบาก” ผู้ว่า ธปท. กล่าว
ทั้งนี้ หากมองไปข้างหน้า เศรษฐพุฒิเชื่อว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องเผชิญกับ 2 กระแสการเปลี่ยนแปลงสำคัญของโลก คือ กระแสดิจิทัลและสิ่งแวดล้อมหรือกรีน ซึ่งทั้งสองเรื่องนี้อาจนำมาซึ่งศักยภาพในการเพิ่ม Inclusion ทางเศรษฐกิจให้กับประเทศหรือซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้เพิ่มขึ้นได้เช่นกัน ทำให้เศรษฐกิจไทยในอนาคตสามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ภาพ หรือ 2 Scenarios ได้แก่
ภาพแรกคือ อนาคตที่มืดมนไม่สดใสของไทย เพราะทั้งกระแสดิจิทัลและกรีน ซ้ำเติมความเหลื่อมล้ำให้รุนแรงขึ้น ธุรกิจรายใหญ่คว้าโอกาสปรับตัวได้เร็วกว่า จึงต่อยอดการเติบโตยิ่งทิ้งห่างรายเล็กไปไกลกว่าเดิม
ภายใต้ Scenario นี้ กระแสดิจิทัลจะทำให้ธุรกิจรายใหญ่ที่สามารถสร้างเครือข่ายและใช้ประโยชน์จากข้อมูลจำนวนมหาศาลบนแพลตฟอร์มของตัวเองมีแต้มต่อและได้ประโยชน์ เกิดการครอบงำตลาดที่เรียกว่า Winner Takes All เช่นที่เกิดขึ้นกับกลุ่มบริษัทเทคโนโลยีขนาดใหญ่
ขณะที่กระแสกรีนก็จะมีเพียงธุรกิจขนาดใหญ่ที่ปรับตัวได้ในระดับสากล ขณะที่ธุรกิจรายเล็กที่มีสายป่านสั้นและยังอยู่ในช่วงฟื้นตัวจากโควิดจะปรับตัวได้ยาก และจากกรณีที่สหภาพยุโรปได้ออกแผนการปฏิรูปสีเขียว (European Green Deal) พร้อมบังคับใช้ Carbon Border Adjustment Mechanism ซึ่งคล้ายการจัดเก็บภาษีตามปริมาณ Carbon Footprint ของสินค้าประเภทต่างๆ จะยิ่งทำให้ช่องว่างระหว่างธุรกิจขนาดใหญ่และเล็กของไทยยิ่งถ่างกว้างกว่าเดิม
นอกจากนี้ ยังมีความเป็นไปได้ที่แรงงานกว่าครึ่งจากทั้งระบบของไทยจะได้รับผลกระทบจากปัญหาการเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ โดยกลุ่มแรกที่อาจได้รับผลกระทบคือเกษตรกรซึ่งมีรายได้จากผลผลิตที่ขึ้นกับสภาพอากาศและมีทรัพย์สินส่วนใหญ่เป็นที่ดินการเกษตร ซึ่งหากเกิดภัยพิบัติหรือภัยธรรมชาติถี่ขึ้นก็อาจทำให้มีรายได้ที่ลดลง
ขณะที่แรงงานอีกหนึ่งกลุ่มที่จะได้รับผลกระทบคือ แรงงานในภาคการท่องเที่ยว เนื่องจากกระแสกรีนจะทำให้ต้นทุนการเดินทางเพิ่มสูงขึ้น โดยเฉพาะในเที่ยวบินประเภท Long Haul ที่มี Carbon Footprint สูง นอกจากนี้ ระดับน้ำทะเลที่เพิ่มสูงขึ้นยังอาจก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของแหล่งท่องเที่ยวจนลดความน่าดึงดูดใจ ทำให้รายได้ของแรงงานในภาคนี้มีความเสี่ยงที่จะลดลง
อย่างไรก็ดี เศรษฐพุฒิยังมองว่า ภายใต้อนาคตอีกรูปแบบหนึ่ง กระแสดิจิทัลและกรีนก็อาจส่งผลบวกต่อเศรษฐกิจไทยในแง่การสร้าง Inclusive Growth ได้มากกว่าเดิม
โดยเทคโนโลยีดิจิทัลจะสามารถช่วยเพิ่มการเติบโตให้กับธุรกิจ SMEs ได้ใน 3 ด้าน คือ
- ช่วยเพิ่มโอกาสเข้าสู่ธุรกิจและสร้างรายได้ผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์ม ทำให้ธุรกิจสามารถขยายฐานลูกค้าไปสู่จังหวัดใหม่หรือนอกภูมิภาคตัวเองได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำ ซึ่งจากสถิติในช่วงวิกฤตโควิดพบว่า ประเทศไทยมีผู้ที่ค้าขายผ่านดิจิทัลแพลตฟอร์มหน้าใหม่เพิ่มขึ้นถึง 9 ล้านราย และในจำนวนนี้มีสัดส่วนถึง 70% ที่อาศัยอยู่ในเมืองรอง
- เมื่อประชาชนและธุรกิจเข้าสู่โลกดิจิทัลมากขึ้นก็จะก่อให้เกิด Digital Footprint หรือข้อมูลขนาดมหาศาลที่นำไปต่อยอดใช้ประโยชน์ได้ เช่น การเข้าถึงแหล่งเงินทุนของกลุ่ม SMEs จะทำได้ง่ายขึ้นจากการที่ผู้ปล่อยกู้มีข้อมูลที่นำไปใช้ประเมินความเสี่ยงได้มากขึ้น
- เทคโนโลยีดิจิทัลในภาคการเงินจะทำให้เกิดผู้เล่นหน้าใหม่ในระบบ ซึ่งจะช่วยเพิ่มการแข่งขันทำให้ผู้บริโภคได้รับประโยชน์มากขึ้น
สำหรับกระแสกรีนก็เชื่อว่าภายใต้ Scenario นี้ ก็เชื่อว่าจะช่วยเพิ่มโอกาสให้ผู้ประกอบการรายเล็กมากขึ้น เช่น การทำเกษตรสมัยใหม่ เกษตรอินทรีย์ การลดการใช้สารเคมี และการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิต ซึ่งจะช่วยเพิ่มมูลค่าให้สินค้าเกษตรไทย ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวก็อาจเป็นโอกาสให้ไทยหันมาทำการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์และการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนมากขึ้น ซึ่งจะช่วยกระจายรายได้สู่ชุมชนและท้องถิ่น
“จากอนาคตทั้ง 2 แบบในข้างต้น หน้าที่หลักของผู้กำหนดนโยบายซึ่งรวมถึง ธปท. คือ การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อให้เกิดอนาคตที่สดใส และ Inclusive สำหรับประเทศไทยให้ได้มากที่สุด โดยมีโจทย์สำคัญ 3 เรื่องที่ต้องทำเป็นอย่างน้อย” ผู้ว่า ธปท. กล่าว
โจทย์แรกคือ การทำให้ภาคการเงินส่งเสริม Inclusion หรือเพิ่มโอกาสให้ทุกคนใช้ประโยชน์จากดิจิทัลและข้อมูลได้เต็มที่ เช่น การมี Digital ID ที่สะดวกและปลอดภัย สามารถใช้ยืนยันตัวในการทำธุรกรรมออนไลน์ต่างๆ ได้ ขณะที่ภาคธุรกิจก็ต้องสามารถทำธุรกิจบนระบบดิจิทัลได้แบบ End-to-End เช่น วางบิล จ่ายเงิน และบริหารคลังสินค้า ซึ่งข้อมูลเหล่านี้จะกลายเป็น Digital Footprint ที่ใช้ต่อยอดในการขอสินเชื่อได้ เชื่อมต่อข้อมูลระหว่างกันเป็นวงกว้างขึ้นในอนาคต ซึ่งจะเอื้อให้เกิดกลไกการค้ำประกันเครดิตให้ทุกคนเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่เหมาะสมได้
เศรษฐพุฒิกล่าวว่า ปัจจุบัน ธปท. อยู่ระหว่างผลักดันนโยบายในทิศทางนี้ด้วยแนวนโยบายที่เรียกว่า 3 Open ซึ่งประกอบด้วย
- Open Infrastructure คือมีโครงสร้างพื้นฐานทางการเงินที่เปิดกว้างให้ผู้ให้บริการเชื่อมต่อได้ในราคาที่เหมาะสม ซึ่งเรื่องนี้ยังรวมถึงการพัฒนา CBDC หรือสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลางด้วย
- Open Data โดยผลักดันให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาครัฐ เอกชน ทั้งภายในและนอกภาคการเงิน เพื่อเก็บเป็น Digital Footprint ป้องกันการผูกขาดข้อมูลโดยบริษัทขนาดใหญ่
- Open Competition สนับสนุนให้มีผู้เล่นรายใหม่เข้ามาในระบบภายใต้เกณฑ์กำกับดูแลที่เท่าเทียมกัน
โจทย์ที่สองคือ การมีระบบที่เท่าทันต่อความเสี่ยงที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีดิจิทัล ทั้งการป้องกันและรับมือกับภัยทางไซเบอร์ การหลอกลวง รวมถึงกลไกการป้องกันข้อมูลรั่วไหลที่มีโอกาสเกิดเพิ่มมากขึ้นในอนาคต
และโจทย์สุดท้ายคือ การเตรียมกลไกภาคการเงินและออกแบบแรงจูงใจให้เกิดการเปลี่ยนผ่านการเติบโตทางเศรษฐกิจสู่ความยั่งยืนได้อย่างราบรื่น โดยในช่วงที่ผ่านมา ธปท. และหน่วยงานกำกับทางการเงินอื่นๆ ได้ร่วมกันออกมาตรการจูงใจให้เกิดผลิตภัณฑ์ทางการเงินที่เน้นความยั่งยืนขึ้นในระบบ และในระยะต่อไปจะดูแลระบบนิเวศให้รองรับโจทย์ท้าทายต่างๆ ได้
ผู้ว่า ธปท. กล่าวอีกว่า การเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วและความไม่แน่นอนที่จะเพิ่มขึ้นในระบบการเงินจากสองกระแสใหม่ของโลก คือ ดิจิทัลและกรีน จะทำให้หน้าที่ในการรักษาเสถียรภาพ หรือ Stability ให้กับภาคการเงินของ ธปท. ยังมีความสำคัญอยู่ อย่างไรก็ดี หาก ธปท. มุ่งเน้นเฉพาะนโยบายด้านการรักษาเสถียรภาพเพียงอย่างเดียว ก็อาจทำให้ประเทศสูญเสียโอกาสได้รับประโยชน์บางประการจากนวัตกรรมใหม่ๆ
“ผมคิดว่าการทำนโยบายของธนาคารกลางในยุคนี้จะต้องให้ความสำคัญกับเรื่อง Resiliency มากกว่าการรักษาเฉพาะ Stability เพราะ Resiliency แม้ในภาษาไทยจะมีความหมายว่าเข้มแข็ง มั่นคงเหมือนกัน แต่ยังกินความหมายถึงความสามารถในการฟื้นตัวจากช็อกต่างๆ ได้ด้วย เราต้องหาจุดสมดุลระหว่างการสนับสนุนให้เกิดนวัตกรรมและการบริหารความเสี่ยงที่จะตามมา ทำหน้าที่สนับสนุนให้ระบบการเงินสามารถกระจายทรัพยากรและโอกาสทางการเงินไปสู่ผู้ที่ต้องการได้อย่างเหมาะสม เป็น Enabler ให้เศรษฐกิจโตอย่างยั่งยืน สร้างความเจริญมั่งคั่งให้ทั่วถึง” เศรษฐพุฒิกล่าว