×

สุพัฒนพงษ์ ชี้ยุทธศาสตร์ไทย ระยะสั้นเน้นความร่วมมือเพื่อเปิดประเทศอย่างยั่งยืน ระยะยาวต้องปรับเปลี่ยนไปตามเทรนด์โลก

26.11.2021
  • LOADING...
สุพัฒนพงษ์

วันนี้ (26 พฤศจิกายน) สุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และกรรมการศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ปาฐกถาผ่านระบบ Virtual ภายในงาน THE STANDARD ECONOMIC FORUM 2021 หัวข้อ ‘The Great Reform: Thailand’s Tipping Point for a Sustainable Future ปฏิรูปประเทศไทยเพื่ออนาคตที่ยั่งยืน’ 

 

สุพัฒนพงษ์ กล่าวถึงยุทธศาสตร์เร่งด่วนและระยะยาวในการปฏิรูปประเทศไทยซึ่งเน้นย้ำสิ่งสำคัญสำหรับยุทธศาสตร์ระยะสั้นของรัฐบาล คือความร่วมมือกันทั้งจากภาครัฐ เอกชน และประชาชนชาวไทย เพื่อให้สามารถเปิดประเทศได้อย่างยั่งยืน และจะเป็นก้าวแรกของการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยอย่างจริงจัง ส่วนยุทธศาสตร์ระยะยาวนั้น เขามองว่าต้องมีการปรับเปลี่ยนไปตามเทรนด์ของโลก ทั้งด้านดิจิทัลเทคโนโลยี พลังงานสะอาด และอุตสาหกรรมใหม่ๆ

 

“เรื่องความท้าทายระยะสั้น สิ่งแรกที่ต้องทำและอย่าไปมองไกล วันนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือความร่วมไม้ร่วมมือเพื่อให้เปิดประเทศได้อย่างยั่งยืนเป็นเรื่องที่สำคัญมาก และความสำเร็จนี้จะเป็นก้าวแรกของการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยได้อย่างจริงจัง ซึ่งปัญหาระยะสั้นเหล่านี้จะผ่อนคลายมากขึ้นถ้ามีการผ่อนคลายต่างๆ รวมถึงการควบคุมโควิดได้อย่างดี” สุพัฒนพงษ์ กล่าว 

 

สุพัฒนพงษ์ กล่าวด้วยว่ารัฐบาลได้ทดลองเปิดประเทศตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา และเห็นว่าทุกอย่างนั้นดีขึ้น มีสัญญาณบวกต่างๆ ทั้งด้านการอุปโภคบริโภค และการลงทุนทั้งจากนักลงทุนไทยและต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาไทยยังขาดเรื่องความมั่นใจและการดูแลเรื่องการแพร่ระบาด

 

“ในเมื่อวันนี้เราเปิดประเทศและผ่อนคลายแล้ว เราผ่านระยะเวลาหนึ่งแล้ว และเห็นประโยชน์ของมันอย่างชัดเจนแล้ว สิ่งสำคัญคือต้องรักษาและต้องดำเนินการเรื่องนี้ให้ได้อย่างต่อเนื่อง”

 

สุพัฒนพงษ์ ยังย้ำถึงสิทธิและหน้าที่ของประชาชนในการช่วยกันประคับประคองและร่วมกันฟื้นฟูประเทศไทย รวมถึงปกป้องการเปิดประเทศให้เป็นไปอย่างสมบูรณ์และผ่านพ้นปีหน้าไปได้อย่างยั่งยืน ซึ่งในส่วนของความท้าทายระยะสั้นของการเปิดประเทศ โดยเฉพาะเรื่องโควิดนั้น เขายืนยันว่ารัฐบาลมองเห็นความสำคัญและมีการเตรียมระบบนิเวศไว้รองรับการเปิดประเทศ ทั้งการฉีดวัคซีน ซึ่งผ่านเป้าหมายแรกคือ 50 ล้านโดสไปแล้วเมื่อเดือนตุลาคม และกำลังมุ่งสู่เป้าหมายที่ 2 คือการฉีดวัคซีนให้ประชาชนครบ 2 เข็มเกิน 70% หรือ 50 ล้านคนภายในสิ้นปี พร้อมทั้งเรียกร้องประชาชนให้ฉีดวัคซีนและให้ความมั่นใจในวัคซีนที่มีอยู่ รวมถึงระบบการแพทย์ของไทยว่ามีคุณภาพ

 

นอกจากนี้ยังเปิดเผยว่า ปีหน้ารัฐบาลยังได้มีการจัดเตรียมวัคซีน โดยคณะรัฐมนตรีได้อนุมัติการสั่งซื้อวัคซีนจาก Pfizer เพิ่มเติมอีก 30 ล้านโดส โดยก่อนหน้านั้นมีการสั่งซื้อวัคซีนจาก AstraZeneca แล้ว 60 ล้านโดส และยังมีความตั้งใจจัดหาวัคซีนเพิ่มเติมอีก 30 ล้านโดส เพื่อให้ถึง 120 ล้านโดส สำหรับใช้เป็นวัคซีนเข็มกระตุ้น หรือ Booster Dose ซึ่งน่าจะเพียงพอ

 

ส่วนความกังวลเรื่องไวรัสโควิดสายพันธุ์ใหม่ๆ ยืนยันว่าวัคซีนทั้ง Pfizer และ AstraZeneca ที่รัฐบาลสั่งซื้อนั้น หากในอนาคตมีการพัฒนาให้รองรับไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ ก็สามารถเลือกปรับเปลี่ยนเป็นวัคซีนรุ่นใหม่ได้ ขณะที่เรื่องยารักษาผู้ป่วยโควิดนั้น รัฐบาลให้ความสำคัญในการจัดเตรียมยาสำหรับใช้รักษาผู้ป่วยในแต่ละสภาวะ เพื่อป้องกันการเกิดปัญหาเตียงเต็มและลดอัตราการเสียชีวิต 

 

สำหรับความท้าทายระยะสั้นเรื่องเศรษฐกิจนั้น รองนายกรัฐมนตรีตอบคำถามเรื่องแนวทางแก้ไขปัญหา โดยเฉพาะในเรื่องจำนวนนักท่องเที่ยวในปีหน้า ที่หลายคนมองว่าจะยังไม่มีทางกลับไปถึงระดับ 40 ล้านคน และอย่างมากไม่เกิน 6 ล้านคน อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องหลุมรายได้ เรื่องหนี้สิน การจ้างงาน ถึงแม้ภาครัฐจะมีนโยบายเยียวยา 

 

สุพัฒนพงษ์ ระบุว่าต้องมีการให้ข้อมูลและข้อเท็จจริง โดยเรื่องการจ้างงานนั้น เขามองว่า เมื่อมีการเปิดประเทศและผ่อนคลายขึ้น จะมีการจ้างงานเพิ่มขึ้นแน่นอน ซึ่งในช่วงหลังจากที่เริ่มควบคุมสถานการณ์ระบาดของโควิดได้และมีการดูแลภาคการผลิตและการส่งออก พบว่าการจ้างงานในตอนนี้เป็นบวกมากกว่า 180,000 ตำแหน่ง

 

ส่วนในเรื่องหนี้สินนั้น รัฐบาลรับรู้ว่าเป็นผลจากการแพร่ระบาดและการล็อกดาวน์ที่ทำให้ประชาชนขาดแคลนรายได้ ซึ่งทางด้านธนาคารแห่งประเทศไทยและธนาคารพาณิชย์ทั้งหมด ได้ร่วมมือกันในการช่วยลดภาระให้ประชาชน ซึ่งยอดพักชำระหนี้จากวิกฤตโควิดรอบนี้มีจำนวน 6 ล้านบัญชี ต่ำกว่าในปีที่แล้วที่มีกว่า 12 ล้านบัญชี ขณะที่ธนาคารต่างๆ ยังมีมาตรการรองรับในการปรับโครงสร้างหนี้ให้อยู่ในระดับที่ประชาชนทุกคนพอจะชำระได้ และยังมีความพยายามหลีกเลี่ยงบังคับใช้กฎหมาย โดยเฉพาะเรื่องที่อยู่อาศัยและการดำรงชีพ

 

ด้านความท้าทายในระยะยาวนั้น สุพัฒนพงษ์ ยอมรับว่าไทยเราไม่สามารถอยู่แบบเดิมได้ เนื่องจากทิศทางของโลกนั้นเปลี่ยนไป ซึ่งคนไทยทุกคนต้องติดตามสถานการณ์ โดยเทรนด์ในอนาคตของโลกมุ่งไปด้านดิจิทัลเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมใหม่ ทั้ง รถยนต์ไฟฟ้า (EV), Cloud Service, AI Platform, Data Center ตลอดจนพลังงานสะอาดและการเพิ่มฐานการผลิตใหม่ๆ 

 

ส่วนคำถามที่ว่า จะทำอย่างไรเพื่อให้ประเทศไทยสามารถฉกฉวยโอกาสที่ดีนี้ได้ และรัฐบาลได้วางโครงสร้างและระบบนิเวศอะไรเพื่อเอื้ออำนวยให้เกิดโอกาสของทุกฝ่าย โดยเฉพาะภาคเอกชนและคนรุ่นใหม่ เขามองว่าเป็นโชคดีของไทยที่มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานทุกๆ ด้านไว้อย่างต่อเนื่อง ทั้งในด้าน Digital Network โทรคมนาคม ถนน ระบบขนส่ง ท่าเรือ และระบบราง ที่มีการเชื่อมต่อในระดับภูมิภาค ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ซึ่งรัฐบาลไทยมีการลงทุนต่อเนื่องและใช้เวลายาวนาน โดยทุ่มเม็ดเงินสำหรับ 165 โครงการไปกว่า 2 ล้านล้านบาท และวันนี้เริ่มทยอยเสร็จสิ้นแล้ว โดยคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ในอีก 5 ปีจากนี้

 

ทั้งนี้สิ่งสำคัญของการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานจะไม่ใช่เพียงการเชื่อมโยงภูมิภาค โดยใช้กรุงเทพฯ เป็นศูนย์กลาง โดยระบบขนส่งที่มี 2 ราง ซึ่งสะดวกและรวดเร็วขึ้น จะส่งเสริมเศรษฐกิจชายแดนและจะมีการกระจายตัวไปยังจังหวัดต่างๆ ซึ่งทั้งหมดนี้เป็นสิ่งที่รัฐบาลวางแผนไว้ในระยะ 7 ปีที่ผ่านมาเพื่อให้เกิดการต่อยอด

 

นอกจากนี้ สุพัฒนพงษ์  ระบุว่า รัฐบาลยังส่งเสริมการเป็นศูนย์กลางด้านดิจิทัล โดยมีความพยายามทาบทามบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ระดับ Hyper Scale อาทิ ผู้ให้บริการด้าน Cloud Service, AI Service และ Data Center ให้มาลงทุนในไทย เนื่องจากการแข่งขันทางอุตสาหกรรมดิจิทัลในปัจจุบันที่เน้นกันด้วยความเร็วในการส่งข้อมูล อีกทั้งบริษัทเหล่านี้ยังเล็งเห็นศักยภาพของไทย ซึ่งมีระบบโครงสร้างพื้นฐานรองรับ และในช่วงโควิดที่ผ่านมา ไทยยังเป็นหนึ่งในประเทศที่มีการใช้ระบบดิจิทัลสู่ชุมชนมากที่สุดด้วย

 

สำหรับเรื่องพลังงานสะอาดนั้น ไทยกำหนดเป้าหมาย Peak Year หรือปีที่จะมีการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสูงสุดในปี 2030 ก่อนจะลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงต่อเนื่อง ซึ่งในช่วง 9 ปีจากนี้ ไทยจะดำเนินการทุกอย่างเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกคู่ขนานไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ 

 

ซึ่งสิ่งที่จะตามมาหลังจากนี้ คือผลการดำเนินการใหม่ๆ ด้านพลังงานสะอาด และจะนำมาซึ่งอุตสาหกรรมใหม่ๆ เช่น รถยนต์ไฟฟ้า หรือ EV ที่ใช้พลังงานสะอาดเป็นเชื้อเพลิง ขณะที่รัฐบาลจะมีการดึงดูดผู้ผลิตรถยนต์ต่างๆ ให้มาผลิตยานยนต์ไฟฟ้าในไทย ซึ่งจะช่วยให้ไทยยังเป็นศูนย์กลางผลิตรถยนต์ของอาเซียนต่อไป

 

อย่างไรก็ตาม คำถามสำคัญสำหรับการเติบโตของเศรษฐกิจไทยในระดับโลกหลังจากนี้คือ ไทยจะตกขบวนหรือไม่ ซึ่ง สุพัฒนพงษ์ มั่นใจและเชื่อว่าไทยจะไม่ตกขบวน เนื่องจากรัฐบาลได้วางระบบนิเวศไว้ทั้งหมด ที่เกิดจากความร่วมมือและความเชื่อของคนทั้งประเทศ ซึ่งเขาชี้ว่า สิ่งสำคัญอีกอย่างคือการเปิดโอกาสและดึงดูดให้คนมีความสามารถเข้ามาทำงานในไทยในระยะยาว ซึ่งรัฐบาลมีการอนุมัติเรื่องนี้ใน ครม. แล้ว

 

ส่วนความเป็นไปได้ในการเติบโตอย่างมีส่วนร่วม หรือ Inclusive Growth ในไทย ซึ่งหมายถึงการเติบโตที่ก่อให้เกิดการแบ่งปันผลประโยชน์และสร้างโอกาสอย่างเสมอภาคกันระหว่างคนทุกกลุ่มในสังคม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐบาลนั้นเป็นการกระจายการเติบโตไปสู่ท้องถิ่นแล้ว และศูนย์กลางตอนนี้ไม่ได้อยู่แค่ที่กรุงเทพฯ อีกต่อไป ซึ่งรัฐบาลนั้นให้ความสำคัญกับกลุ่มจังหวัดต่างๆ 

 

ทั้งนี้โจทย์ของรัฐบาลในการสร้างความเชื่อมั่นของรัฐบาล ซึ่งที่ผ่านมายังมีคนไม่เชื่อมั่นในรัฐบาล แม้จะมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานไปหลากหลาย สุพัฒนพงษ์ มองว่าควรมีการปฏิรูปกรอบความคิด หรือ Mindset ของคนไทย ซึ่งการเห็นตรงกันทั้งประเทศนั้นเป็นเรื่องที่ยาก และเขาอยากให้สื่อรุ่นใหม่มานั่งคุยกับข้าราชการรุ่นใหม่ เพื่อแสดงให้ประชาชนเห็นว่ารัฐบาลทำอะไรอยู่ และมีการแก้ปัญหาที่เห็นผลและเพียงพอหรือไม่

ขณะที่เขาแนะว่า เราควรเริ่มมองหาสิ่งที่ดีและจุดแข็งของไทยเพื่อผลักดันให้มีการเติบโตและพัฒนา ซึ่งจะส่งผลให้เกิดการปฏิรูปต่างๆ ของภาครัฐและการสื่อสารระหว่างกันตามมา ดีกว่าการพูดคุยกันอย่างยาวนานโดยไม่มีการเริ่มลงมือทำอะไร

 

“ทำมันทุกวัน เดินวันละก้าวยังไงก็ถึง ท่ามกลางความขัดแย้ง ยังไงก็พักไว้ก่อน แต่ยังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่จะเดินไปข้างหน้าและหาจุดร่วมที่ตรงกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และเราจะร่วมผลักดันด้วยกัน” สุพัฒนพงษ์ กล่าว

 


 

ช่องทางติดตาม THE STANDARD WEALTH

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising