×

เลือกตั้ง 2566 : วิทยาเชื่อ ภาษาพาทีตั้งใจสอนความเอื้อเฟื้อ ด้านวทันยาค้าน แบบเรียนไม่ควรยัดเยียดคำตอบหนึ่งเดียว กรณ์ย้ำ นโยบายการศึกษาพูดถึงน้อย เหตุไม่พัฒนา

โดย THE STANDARD TEAM
26.04.2023
  • LOADING...

วันนี้ (25 เมษายน) ที่รอยัล พารากอน ฮอลล์ สยามพารากอน THE STANDARD จัดงาน THE STANDARD DEBATE: เลือกตั้ง 66 ENDGAME เกมที่แพ้ไม่ได้ ตั้งแต่เวลา 19.30 น. เป็นต้นไป โดยมีตัวแทน 10 พรรคการเมืองร่วมประชันวิสัยทัศน์ 

 

สำหรับ Round 2 : The Grand Battle ดวลวิสัยทัศน์ตัวต่อตัว คำถามว่า จากดราม่าแบบเรียนภาษาไทย ภาษาพาที ป.5 ตั้งแต่กรณีกินไข่ต้มสะท้อนความพอเพียง จนล่าสุดกรณี ด.ญ.ใบพลู ซื้อข้าวมันไก่ แล้วอยากได้น้ำปลาจากร้านข้าวแกง แต่แม่ค้าไม่เต็มใจให้ ซึ่งต้องการสอนถึงขนบธรรมเนียมประเพณีไทย การมีน้ำใจ เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ต่อกัน 

 

คำถามคือ ตรรกะในแบบเรียนนี้ถูกต้องหรือไม่ สมควรหรือไม่ที่จะปลูกฝังแนวคิดดังกล่าวให้กับเยาวชน และหลักสูตรการศึกษาของไทยควรเป็นอย่างไร

 

วิทยา แก้วภราดัย ตัวแทนพรรครวมไทยสร้างชาติ หมายเลข 22 กล่าวว่า แบบเรียนของ ป.5 ที่พูดถึงกรณีไข่ต้ม เป็นเรื่องที่พยายามสื่อสารถึงสภาวะที่ลำบาก

 

ทั้งนี้ ตนได้อ่านบทความของบางรายที่ออกมาแสดงความคิดเห็นถึงที่มาของเรื่องนี้ ทั้งหมดคือเด็กคนหนึ่งที่เป็นเด็กกำพร้าและถูกนำไปเลี้ยงดูกับครอบครัวที่ยากจนและใช้ชีวิตลำบาก 

 

ในวันที่ไปโรงเรียน ไปเจอเพื่อนที่ใช้ชีวิตอย่างฟุ้งเฟ้อ อยากได้โน่นนี่ และรู้สึกว่าคิดไม่ตรงกัน เธอชวนเด็กคนนั้นมาที่บ้านและเล่นอย่างสนุกสนาน เล่นจนเหนื่อยก็ชวนมากินข้าว ข้าวที่จะกินก็คือไข่ต้มใบหนึ่ง เด็กที่เป็นลูกคนรวยมากินข้าวแบบนี้ก็มีความเอร็ดอร่อย เรื่องเหล่านี้กำลังสื่อสารถึงการมีน้ำใจ เผื่อแผ่ รวมถึงครอบครัวยากจนที่เอาเด็กคนนี้มาเลี้ยง

 

ตนเข้าใจว่าเป็นการพยายามโน้มน้าวให้คนรู้สึกเผื่อแผ่ต่อกัน กรณี ดญ.ใบพลู ซื้อข้าวมันไก่ แล้วอยากได้น้ำปลาจากร้านข้าวแกง แต่แม่ค้าไม่เต็มใจให้ อันนี้ตนยังไม่ได้ติดตามว่าที่ไปที่มาเป็นอย่างไร แต่เข้าใจว่าคงเป็นการสะท้อนในแบบเดียวกัน

 

วิทยากล่าวต่อว่า ช่วงหลังนี้ต้องยอมรับความจริงว่า คนเราเริ่มใจจืดใจดำกันมากกว่าจิตใจที่เผื่อแผ่ มีความรู้สึกที่จะให้อภัยกันน้อยกว่า ดังนั้นตนคิดว่าวัฒนธรรมไทยเราจริงๆ สิ่งที่สวยงามก็คือความมีน้ำใจ นักท่องเที่ยวที่มีความสุขมากที่สุดก็คือรอยยิ้มคนไทย เขาอยากเห็นแบบนี้ เพราะฉะนั้นบทเรียนในระดับประถมศึกษาถึงได้ปลูกฝังวัฒนธรรมสิ่งที่ดีงามเป็นสิ่งสำคัญ

 

หลายครั้งเราบ่นว่าเด็กรุ่นหลังทำไมไม่มีโอกาสเรียนถึงประวัติศาสตร์ความเป็นมาชาติไทย รุ่นตนเรียนตั้งแต่เทือกเขาอัลไตอพยพกันมา แต่วันนี้หายไปหมด วิชาเหล่านั้นจำเป็นหรือไม่ที่เราจำเป็นต้องรู้ อย่างน้อยวิชาภาษาไทยวันนี้เขากำลังสอนบางสิ่งบางอย่าง เช่น ความรู้จักพอเพียง ความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ความมีน้ำใจ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ตนคิดว่าเป็นวัฒนธรรมไทยที่ละทิ้งไปไม่ได้

 

ด้าน วทันยา บุนนาค ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ หมายเลข 26 กล่าวว่า ปัญหาของแบบเรียนนี้กำลังบอกเราว่า เป็นการใช้แบบเรียนวิชาการครอบงำคนไทย แบบเรียนปัจจุบันไม่ควรสอนว่าคำตอบมีแบบเดียว ต้องสอนให้เด็กกล้าคิด ใช้เหตุและผล ต้องยอมรับว่าการเรียนรู้ไม่มีที่สิ้นสุด และการพัฒนาคุณภาพการศึกษาของไทยในเรื่องความเหลื่อมล้ำ แบบเรียนแบบเดียวกัน ครูสอนคนละคน คนละโรงเรียน ทำให้กังวลว่าเด็กจะได้รับความรู้เท่ากันหรือไม่ จึงต้องฝึกเด็กในเรื่องของการพัฒนาการเรียนรู้ตลอดชีวิต ฝึก Critical Thinking ลดความเหลื่อมล้ำในการศึกษาอย่างไร

 

“นอกจากแบบเรียนที่เราพยายามยัดเยียดเรื่องของเนื้อหาวิชาการให้เด็กเรียนรู้ว่า คำตอบมีแค่หนึ่งเดียวบนโลก ทำไมวันนี้รูปแบบการศึกษาของประเทศไทยเราถึงไม่กลับหัวกลับหางใหม่ที่ไม่ได้เอาครูเป็นตัวตั้ง แต่เอานักเรียนเป็นตัวตั้งแทน ควรจะฝึกให้เด็กกล้าถก ฝึกทักษะในการเรียนรู้ แต่สิ่งที่โรงเรียนไทยเน้นมาตลอดเรื่องไอคิว แต่ไม่เน้นเรื่องอีคิวให้กับเด็ก” วทันยากล่าว

 

กรณ์ จาติกวณิช แคนดิเดตนายกรัฐมนตรี พรรคชาติพัฒนากล้า กล่าวว่า ตนดีใจที่มีคำถามเรื่องการศึกษา เพราะต้องยอมรับว่าทุกครั้งที่มีการเลือกตั้งเราอดมีความรู้สึกไม่ได้ว่าการศึกษามีการพูดถึงกันน้อยมาก ข้อเท็จจริงทางการเมืองที่ทุกพรรครู้ดีคือ นโยบายการศึกษาไม่สามารถทำให้เราชนะการเลือกตั้งได้ นี่คือจุดเริ่มต้นของปัญหาในการแก้ไข 

 

ประเด็นการศึกษาของไทยเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้มีการสลับสับเปลี่ยนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการบ่อยที่สุด ย้อนหลังไปดูจะเห็นว่าการสับเปลี่ยนปีละ 1 ท่าน วันนี้ตนขออนุญาตบอกว่า มันเป็นส่วนหนึ่งของการสะท้อนปัญหา เรามักจะพูดถึงการศึกษาด้วยการโฟกัสไปที่เรื่องของการดราม่า สงครามวัฒนธรรม แทนที่เราจะพูดถึงประเด็นที่เป็นปัญหา สาระสำคัญของระบบการศึกษา และยอมรับว่าการศึกษาของเรานั้นขาดการพัฒนา 

 

กรณ์กล่าวต่อว่า ตนพูดถึงโอกาสและการสร้างโอกาสเสมอ ไม่ว่าจะเกิดมารวยหรือเกิดมาจน ต้องมีโอกาสที่จะมีความก้าวหน้าทางการศึกษา วันนี้ข้อเท็จจริงก็คือ การศึกษาที่ดีต้องใช้เงินซื้อในประเทศไทย เรื่องของการเข้าถึงการศึกษาที่ดีควรจะเป็นประเด็นที่เราควรจะหยิบยกมาพูดมากที่สุด การปฏิรูปการศึกษาเป็นเรื่องสำคัญ เราพูดกันมาเยอะแล้ว แต่มันไม่ไปไม่ถึงไหนสักที

 

เรื่องภาษาไทยสำคัญแน่นอน แต่มันไม่พอ ยุคสมัยนี้ตนถึงบอกว่าต้องเรียนอย่างน้อย 3 ภาษา ภาษาที่ 3 ไม่ว่าจะเป็นจีนหรืออังกฤษก็ได้ เพราะประเทศเราเป็นประเทศค้าขาย มีนักท่องเที่ยวภาษาที่ 3 หลีกเลี่ยงไม่ได้คือภาษาคอมพิวเตอร์ Coding ตนไม่อยากเห็นการทะเลาะกันในประเด็นเรื่องวัฒนธรรม แต่ควรทะเลาะเรื่องของสาระ

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X