×

เลือกตั้ง 2566 : หมอวรงค์ มาดามเดียร์ หมอมิ้ง นิยามคำว่าชาติต่างกันในการดีเบตรอบ 2

25.04.2023
  • LOADING...
หมอวรงค์ มาดามเดียร์ หมอมิ้ง

วันนี้ (25 เมษายน) ที่สยามพารากอน THE STANDARD จัดงาน THE STANDARD DEBATE: เลือกตั้ง 66 ENDGAME เกมที่แพ้ไม่ได้ ตั้งแต่เวลา 19.30 น. เป็นต้นไป โดยมีตัวแทน 10 พรรคการเมือง ร่วมประชันวิสัยทัศน์

 

สำหรับ Round 2 : The Grand Battle ดวลวิสัยทัศน์ตัวต่อตัว ในคำถามที่ว่า “คำว่า ‘ชาติ’ มักถูกหยิบยกมาพูดถึงและตีความในมุมของแต่ละคน ‘ชาติ’ ในนิยามของคุณคืออะไร และมีนโยบายส่งเสริม ‘ชาติ’ ตามความหมายของตัวเองอย่างไร” ซึ่งมีผู้เข้าร่วมตอบคำถาม 3 ท่าน ได้แก่ นพ.วรงค์ เดชกิจวิกรม แคนดิเดตนายกรัฐมนตรีพรรคไทย​​ภักดี, วทันยา บุนนาค ตัวแทนพรรคประชาธิปัตย์ และ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช ตัวแทนพรรคเพื่อไทย

 

นพ.วรงค์กล่าวว่า จุดสำคัญของคำว่าความเป็นชาติคือศูนย์รวมของชาติ นั่นคือ ชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ หากประเทศใดไม่มีสิ่งเหล่านี้นั้นไม่ใช่ชาติและเกิดความแตกแยก และสิ่งที่ตนกังวลใจนั้นคือคำว่า Republic เพราะนั่นคือกระบวนการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการปกครองของประเทศ ซึ่งตนเห็นว่าในทุกวันนี้มีกระบวนการที่เชื่อมโยงกับจักรวรรดินิยมตะวันตก

 

“ผมก็ยังเชื่อว่าความเป็นชาติที่เราต้องการนั้นคือความรักชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ เพื่อดำรงความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนให้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น” นพ.วรงค์กล่าว

 

ด้านวทันยาได้ให้ความหมายของคำว่า ‘ชาติ’ ไว้ว่า ชาติคือการหลอมรวมความหลากหลายของประชาชน ไม่ว่าจะมีความแตกต่างทางชาติพันธุ์ สถานะทางสังคม หรืออุดมการณ์ทางการเมือง ชาติจะต้องรองรับความแตกต่างหลากหลายอย่างเสมอภาคและเท่าเทียม รัฐที่มาจากประชาชนจะต้องตอบสนองและให้สิทธิเสรีภาพการแสดงออกของประชาชน

 

“น่าเสียดายที่นักการเมืองบางคนกลับนิยามคำว่าชาติโดยยึดตัวเองเป็นศูนย์กลาง ใครที่คิดไม่เหมือนก็ผลักให้เขาเป็นศัตรู ป้ายสีว่าเขาชังชาติ และไล่เขาออกไปอยู่นอกประเทศ ทั้งๆ ที่เราต้องไม่ลืมว่าประชาชนคือเจ้าของอำนาจอธิปไตยที่แท้จริง” วทันยากล่าว

 

ขณะที่ นพ.พรหมินทร์ได้ให้ความหมายของคำว่า ‘ชาติ’ ไว้คือประชาชน หากถามถึงความมั่นคงนั่นคือการจัดการภายในที่จะต้องทำให้ประชาชนอยู่อย่างผาสุก โดยอาศัยเสรีภาพอันมีขอบเขตที่ไม่ละเมิดสิทธิของผู้อื่น รัฐมีบทบาทหน้าที่ดูแลให้ประชาชนอยู่อย่างผาสุก มีความเสมอภาคในการทำมาหากิน และสิ่งสำคัญที่รัฐจะต้องมีคือนิติธรรม รัฐจะต้องดูแลประชาชนอย่างเท่าเทียมกัน

 

“ตราบใดที่ประเทศไม่มีมาตรฐานหลักนิติธรรมแล้ว ต่างประเทศไม่มีคนสนใจ ดังที่ผ่านมา เราเจรจาไม่มีใครคบด้วยมาตั้ง 7-8 ปี” นพ.พรหมินทร์กล่าวทิ้งท้าย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising