×

The Staircase (2022) มินิซีรีส์เรื่องเยี่ยม ว่าด้วยการตายอันเป็นปริศนา และการงมหาความจริงที่หล่นหายในมหาสมุทร

16.06.2022
  • LOADING...
The Staircase (2022)

HIGHLIGHTS

5 mins. read
  • The Staircase (2022) สร้างจากเหตุการณ์จริงที่สุดแสนอื้อฉาวเมื่อ 20 กว่าปีก่อนในอเมริกา จุดปะทุของเรื่องทั้งหมดเริ่มต้นช่วงปลายปี 2001 จากการเสียชีวิตกะทันหันของ Kathleen Peterson ภรรยา Michael Peterson นักเขียนชื่อดัง และนักการเมืองสอบตกของเมืองเดอแรม รัฐนอร์ทแคโรไลนา สาเหตุการตายเบื้องต้นคือ เธอพลัดตกบันได แต่จากสภาพศพซึ่งเป็นภาพที่น่าขนพองสยองเกล้า ตำรวจพิสูจน์หลักฐานตั้งข้อสงสัยว่า นี่อาจไม่ใช่การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุตามที่ผู้เป็นสามีกล่าวอ้าง และตรงไหนสักแห่งแถวนี้เอง ที่ถ้าหากใช้สำนวนฝรั่ง ก็ต้องบอกว่า ‘All hell breaks loose’ หรือทวารของยมโลกทุกขุมถูกเปิดออกพร้อมๆ กัน
  • ความเข้มข้นและชวนติดตามอย่างยิ่งยวดของ The Staircase ส่วนหนึ่งมาจากกลวิธีในการบอกเล่าที่ไม่ได้ดำเนินไปตามลำดับเวลาแบบหนึ่งสองสาม ทว่าตัวซีรีส์ใช้ความตายของ Kathleen เป็นจุดเริ่มต้นในการพาผู้ชมกระโดดข้ามกาลเวลาไปดูทั้ง ‘เรื่องแต่หนหลัง’ กับ ‘สิ่งที่เกิดขึ้นในภายภาคหน้า’ แท็กติกดังกล่าวเปิดโอกาสให้ผู้ชมได้รู้จักและสำรวจตื้นลึกหนาบางของตัวละครหลักทั้งสองคน แม้ว่าถึงที่สุดแล้วมันจะยังคงใช้เป็นกุญแจไขความกระจ่างเกี่ยวกับปริศนาการเสียชีวิตไม่ได้อยู่นั่นเอง
  • Toni Collette สวมบทเป็น Kathleen ได้อย่างวิเศษ เธอเป็นคาแร็กเตอร์ที่เต็มเปี่ยมด้วยสีสันและความมีชีวิตชีวา Colin Firth แสดงเป็น Michael Peterson ได้ล้ำลึกและน่าพิศวงจริงๆ เขาดูเป็นตัวละครที่ผู้ชมไม่ไว้วางใจ และก้ำกึ่งระหว่างความเป็นผู้บริสุทธิ์กับฆาตกร แต่ก็น่าแปลกตรงที่ยิ่งเวลาผ่านพ้นไป พวกเรากลับเอาใจช่วยให้เขารอดพ้นความผิด หรืออย่างน้อยเขาก็ดูมีเสน่ห์บางอย่างที่ดึงดูดผู้ชม

จนถึงขณะที่เขียนต้นฉบับอยู่นี้ คดีการจมน้ำเสียชีวิตของนักแสดงสาว แตงโม-ภัทรธิดา (นิดา) พัชรวีระพงษ์ เรื่องเกิดช่วงปลายเดือนกุมภาพันธ์ที่ผ่านพ้นไป ก็ยังคงฟันธงไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นอุบัติเหตุ ความประมาทจนทำให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย หรือการฆาตกรรมอำพรางกันแน่ 

 

 

และประมวลจากความลึกลับซับซ้อนของเหตุการณ์ที่ทวีความยอกย้อนมากขึ้นเรื่อยๆ รวมถึงวาระทั้งเปิดเผยและซ่อนเร้นของตัวบุคคลที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม (หวังผลประโยชน์ หิวแสง ต้องการไขความเป็นจริง) อย่างหนึ่งที่สรุปได้แน่ๆ ก็คือ ต่อให้คดีดำเนินไปจนถึงจุดสิ้นสุดอย่างไร และศาลมีคำพิพากษาไปในทางหนึ่งทางใด ความน่าฉงนสนเท่ห์ก็จะยังคงปกคลุมตราบนานเท่านาน 

 

กระทั่งน่าเชื่อว่ามันจะเป็นอีกหนึ่ง ‘การตายอันเป็นปริศนาและโด่งดัง’ ที่จะนำพาให้เหล่าผู้สันทัดกรณีใช้เป็นช่องทางนำเสนอสมมติฐาน ตลอดจนทฤษฎีสมคบคิดต่างๆ นานา จนสาธารณชนต้องจำนนกับข้อเท็จจริงที่ว่า ไม่มีวันที่พวกเราจะรับรู้ ‘ความจริง’ ของค่ำคืนนั้นว่าเกิดอะไรเกิดขึ้น เพราะสุดท้ายแล้วมักจะมีฝ่ายที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย เชื่อและไม่เชื่อ และงัดข้อมูลหลักฐานมาโต้แย้งและหักล้างให้เกิดข้อกังขาได้ตลอดเวลา

 

ว่าไปแล้ว มินิซีรีส์ขนาด 8 ตอนจบที่ชื่อว่า The Staircase (2022) ผลงานสร้างสรรค์ของ Antonio Campos สร้างจากเหตุการณ์จริงที่สุดแสนอื้อฉาวเมื่อ 20 กว่าปีก่อนในอเมริกา และกำลังเผยแพร่ทางช่อง HBO GO ตอนนี้ ก็บอกเล่าเรื่องราวในลักษณะคล้ายคลึงกับคดีของแตงโม

 

 

เพื่อเป็นแบ็กกราวด์สำหรับผู้ชมที่ไม่มีพื้นเพความรู้มาก่อน จุดปะทุของเรื่องทั้งหมดเริ่มต้นช่วงปลายปี 2001 จากการเสียชีวิตกะทันหันของ Kathleen Peterson ภรรยา Michael Peterson นักเขียนชื่อดัง และนักการเมืองสอบตกของเมืองเดอแรม รัฐนอร์ทแคโรไลนา สาเหตุการตายเบื้องต้นคือ เธอพลัดตกบันได (ตามชื่อซีรีส์) แต่จากสภาพศพที่เลอะเทอะเปรอะเปื้อนด้วยคราบเลือด หนังศีรษะฉีกขาดเป็นหย่อมๆ (แต่หัวกะโหลกกลับไม่แตกร้าว) และร่างกายมีร่องรอยฟกช้ำ ซึ่งเป็นภาพที่น่าขนพองสยองเกล้า และชวนให้รู้สึกอเนจอนาถอย่างสุดแสนจะทานทน ตำรวจพิสูจน์หลักฐานตั้งข้อสงสัยว่า นี่อาจไม่ใช่การเสียชีวิตจากอุบัติเหตุตามที่ผู้เป็นสามีกล่าวอ้าง และตรงไหนสักแห่งแถวนี้เอง ที่ถ้าหากใช้สำนวนฝรั่ง ก็ต้องบอกว่า ‘All hell breaks loose’ หรือทวารของยมโลกทุกขุมถูกเปิดออกพร้อมๆ กัน

 

ข้อมูลสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ควรระบุเพิ่มเติมก็คือ ก่อนหน้า ‘ดราม่าซีรีส์’ ของ Antonio Campos จะได้รับการเผยแพร่สู่สายตาผู้ชม คดีความที่ Michael Peterson ถูกกล่าวหาว่าฆ่าเมียตัวเอง เคยถูกนำเสนอในรูปสารคดีชุด หรือ Docuseries ซึ่งใช้ชื่อเดียวกัน และสตรีมทางช่อง Netflix ความแตกต่างของซีรีส์ทั้งสอง ส่วนหนึ่งเป็นเรื่องของรูปแบบการนำเสนอ (สารคดี vs. เรื่องแต่ง) อีกส่วนได้แก่เป้าประสงค์ในการบอกเล่า หนังสารคดีชุดของ Jean-Xavier de Lestrade (ซึ่ง Michael Peterson อนุญาตให้ทีมงานเก็บภาพฟุตเทจความเคลื่อนไหวระหว่างต่อสู้คดี) มุ่งบันทึกเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่ไม่มีใครรู้ว่าคณะลูกขุนจะวินิจฉัยอย่างไร และพร้อมๆ กันนั้นก็มุ่งสำรวจระบบกฎหมายของอเมริกา ที่บางครั้งไม่เอื้อให้เกิดความยุติธรรม ขณะที่มินิซีรีส์ของ Antonio Campos ใช้กรอบเนื้อหาเดียวกันด้วยจุดมุ่งหมายหลายประการ 

 

 

อย่างแรกที่สุด มินิซีรีส์ของ Campos ถูกสร้างและออกฉายในช่วงที่คดีความจบสิ้นไปแล้ว ซึ่งแปลว่า ความน่าตื่นเต้นของการเฝ้าคอยผลการตัดสินไม่ใช่สาระสำคัญแต่อย่างใด และโฟกัสของซีรีส์ก็หันเหไปที่การศึกษาบุคลิกตัวละคร ซึ่งไม่ได้จำกัดเฉพาะตัว Michael เพียงคนเดียว แต่รวมถึง Kathleen ในช่วงก่อนที่จุดจบมาเยือน และสมาชิกคนอื่นๆ ซึ่งล้วนแล้วมีภูมิหลังไม่ค่อยปกติธรรมดา อีกประเด็นที่เกี่ยวเนื่องได้แก่การพูดถึงความล่มสลายของครอบครัว Peterson อันเป็นผลพวงจาก 1. ความน่าเคลือบแคลงสงสัยในเหตุการณ์ที่ดูไม่ชอบมาพากลจริงๆ 2. จากการปกปิดอำพรางข้อเท็จจริงของตัว Michael เอง ตลอดจน 3. จากแรงกดทับที่ถาโถมเข้ามาจากทุกทิศทาง 

 

จุดประสงค์ถัดไปได้แก่ การตั้งคำถามเกี่ยวข้องกับสิ่งที่เรียกว่าความจริง (Truth) ทำนองว่ามันมีอยู่จริงหรือไม่ เพราะทุกสิ่งทุกอย่าง นั่นรวมถึงสิ่งที่เรียกว่านิติวิทยาศาสตร์ ในท้ายที่สุดแล้วก็ต้องผ่านการสรุปและตีความในเชิงอัตวิสัยอยู่นั่นเอง และเอาเข้าจริงๆ แล้ว ข้อความจากคัมภีร์ไบเบิลที่ถูกใช้ในตอนเริ่มต้นซีรีส์ก็ตั้งคำถามถึงเรื่องนี้โดยตรง (‘ความจริงคืออะไร’) และสุดท้ายแต่ไม่ท้ายสุด ซีรีส์ของ Campos วิพากษ์วิจารณ์ระบบกฎหมาย (ในลักษณะคล้ายกับซีรีส์สารคดี) ที่จนแล้วจนรอด ถูกใช้เป็นเครื่องมือเล่นงานฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง

 

 

ไม่ว่าจะอย่างไร ความเข้มข้นและชวนติดตามอย่างยิ่งยวดของมินิซีรีส์เรื่อง The Staircase ส่วนหนึ่งมาจากกลวิธีในการบอกเล่า ที่นอกจากไม่ได้ดำเนินไปตามลำดับเวลาแบบหนึ่งสองสาม ทว่าตัวซีรีส์ใช้ความตายของ Kathleen เป็นจุดเริ่มต้นในการพาผู้ชมกระโดดข้ามกาลเวลาไปทั้งข้างหน้าและข้างหลังพร้อมๆ กัน ในรูปของการตัดสลับไปมาระหว่าง ‘เรื่องแต่หนหลัง’ กับ ‘สิ่งที่เกิดขึ้นในภายภาคหน้า’ หรือว่ากันตามจริง ซีรีส์ของ Campos มีหลาย ‘ไทม์ไลน์’ ผสมปนเป แน่นอนว่าผลพวงที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ก็คือมันเบรกความต่อเนื่องลื่นไหลของสิ่งที่ถ่ายทอด และผู้ชมรู้สึกได้ถึงความยุ่มย่ามหรือจุ้นจ้านของผู้สร้าง (ด้วยจุดประสงค์บางประการ) อีกทั้งวิธีการ ‘แฟลชฟอร์เวิร์ด’ ก็ยังแอบไปเฉลยชะตากรรมของตัวละครทางอ้อม

 

แต่ในทางกลับกัน แท็กติกดังกล่าวก็เป็นอย่างที่บอก เปิดโอกาสให้ผู้ชมได้รู้จักและสำรวจตื้นลึกหนาบางของตัวละครหลักทั้งสองคนอย่างที่เวอร์ชันหนังสารคดีหยิบยื่นให้ไม่ได้ และแง่มุมโน่นนี่นั่นที่ผู้สร้างสอดแทรกเข้ามา ก็ช่วยให้ผู้ชมมองเห็นคู่สามีภรรยานี้ในภาพที่คมชัดมากขึ้น (หรือคลุมเครือน้อยลง) แม้ว่าถึงที่สุดแล้วมันจะยังคงใช้เป็นกุญแจที่ไขความกระจ่างเกี่ยวกับปริศนาการเสียชีวิตไม่ได้อยู่นั่นเอง

 

 

และไหนๆ ก็ไหนๆ 2-3 อย่างที่ผู้ชมสรุปได้เกี่ยวกับ Kathleen (Toni Collette สวมบทนี้ได้อย่างวิเศษ) ก็คือเธอเป็นคาแร็กเตอร์ที่เต็มเปี่ยมด้วยสีสันและความมีชีวิตชีวา เธอเป็นเสาหลักทั้งในทางเศรษฐกิจและความเป็นปึกแผ่นแน่นแฟ้นของครอบครัวใหญ่ แต่ก็นั่นแหละ เธอไม่ได้เป็นตัวละครที่ปราศจากข้อบกพร่อง บางเหตุการณ์ที่ผู้สร้างเลือกมาบอกเล่า เช่น อีพีแรกที่เธอมึนเมาและจู่ๆ ก็กระโดดลงสระว่ายน้ำอย่างขาดสติและเกือบเอาชีวิตไม่รอด ก็ชวนให้ผู้ชมปะติดปะต่อว่า บางทีนั่นอาจเป็นเงื่อนงำบ่งบอกถึงสาเหตุการตายของตัวละคร แต่กลับกัน ฉาก Kathleen มีปากเสียงกับ Michael ในร้านอาหารจีนช่วงอีพี 7 และฝ่ายแรกไม่อาจจะทานทนพฤติกรรมปอกลอกของหนุ่มใหญ่ได้อีกต่อไป ก็สามารถจะโยกความคิดเห็นของผู้ชมไปอีกทาง

 

ขณะที่ผู้ชมรู้สึกว่า Kathleen เป็นคนเปิดเผย หรืออย่างน้อยก็ไม่ได้ดูมีลับลมคมใน Michael กลับเป็นคาแร็กเตอร์ที่ขมุกขมัว และยิ่งผู้ชมรับรู้ข้อมูลเกี่ยวกับตัวละครนี้มากเท่าไร เขาก็ยิ่งดูเป็นบุคลิกที่หยั่งไม่ถึงมากขึ้นเท่านั้น และความพิรุธก็เพิ่มพูน ทั้งการที่เจ้าตัวถูกจับได้คาหนังคาเขาว่าโกหกเรื่องเคยได้รับเหรียญกล้าหาญในสงครามเวียดนามระหว่างหาเสียงเลือกตั้งเป็นนายกเทศมนตรี การถูกอัยการเขตเปิดโปงว่ามีรสนิยมทางเพศแบบไบเซ็กชวล และนอนกับใครต่อใครไปทั่ว ซึ่งอาจโยงไปสู่การก่ออาชญากรรม หรือความลับดำมืดบางอย่างในอดีตที่กลายเป็น ‘ตลกร้าย’ ที่หัวเราะไม่ออกด้วยประการทั้งปวง Colin Firth แสดงเป็น Michael Peterson ได้ล้ำลึกและน่าพิศวงจริงๆ เขาดูเป็นตัวละครที่ผู้ชมไม่ไว้วางใจ และก้ำกึ่งระหว่างความเป็นผู้บริสุทธิ์กับฆาตกร แต่ก็น่าแปลกตรงที่ยิ่งเวลาผ่านพ้นไป พวกเรากลับเอาใจช่วยให้เขารอดพ้นความผิด หรืออย่างน้อยเขาก็ดูมีเสน่ห์บางอย่างที่ดึงดูดผู้ชม

 

 

มองในแง่มุมหนึ่ง ความได้เปรียบของการเป็นซีรีส์ 8 ตอนจบ ส่งผลให้ผู้สร้างมีทั้งเวลาและพื้นที่ในการกระจายบทให้กับตัวละครสมทบอย่างครอบคลุม และทีละน้อย เรื่องปลีกย่อยของสมาชิกตระกูล Peterson ก็ช่วยชะล้าง ‘ภาพครอบครัวใหญ่ที่อบอุ่นและเปี่ยมสุข’ ที่ผู้ชมได้เห็นตอนต้นเรื่องให้มลายหายไป 

 

ยกตัวอย่าง Todd (Patrick Schwarzenegger) กับ Clayton (Dane DeHaan) หน่อเนื้อเชื้อไขของ Michael ซึ่งคนหนึ่งเป็นลูกรัก อีกคนเป็นลูกชัง และสถานการณ์ก็ไม่ได้แตกต่างจากเรื่อง Qayin กับ Hebel ในคัมภีร์ไบเบิล ยกเว้นเพียงแค่ Michael ในฐานะ ‘พระเจ้า’ รักลูกผิดคนเท่านั้น หรือกรณีของ Margaret (Sophie Turner) กับ Martha (Odessa Young) ซึ่งเป็นลูกเลี้ยงของครอบครัว Peterson ทว่าทั้งสองก็นับถือ Kathleen และโดยเฉพาะ Michael เป็นเหมือนบุพการีจริงๆ ก่อนที่พวกเธอจะได้รู้บางเรื่องที่ทำให้มอง ‘พ่อ’ ของตัวเองเปลี่ยนไป

 

ความน่าทึ่งอีกอย่างของการใช้ประโยชน์จากการไม่ถูกบีบเค้นเรื่องกรอบเวลาเหมือนหนัง 2 ชั่วโมง และยังเป็นการหาทางออกให้กับเรื่องที่ไม่มีคำตอบอย่างแยบยล ได้แก่การจำลองให้ผู้ชมได้เห็นสมมติฐานการตายในหลากหลายรูปแบบ รวมถึงพาผู้ชมไปรับฟังสารพัดสมมติฐานของใครต่อใคร ทั้งที่หนักแน่นและสมเหตุสมผล หรือพิลึกพิลั่นและเหลือเชื่อ (เช่น ทฤษฎีนกเค้าแมว) อย่างที่กล่าวข้างต้น สุดท้ายสิ่งที่ผู้สร้างบอกเล่าไม่ใช่เรื่องของการพยายามค้นหา ‘ความจริง’ (ซึ่งเป็นเรื่องป่วยการไปแล้ว) ทว่าได้แก่การยอมรับว่าอัตวิสัยของมนุษย์เป็นส่วนผสมที่จำแนกแยกแยะไม่ได้ อันส่งผลให้ ‘ความจริง’ มีหลายเวอร์ชัน

 

แต่ก็อีกนั่นแหละ ถ้าหากจะมีสักประโยคที่ใช้ขมวดเรื่องที่บอกเล่าทั้งหมดได้อย่างรัดกุม มันก็น่าจะได้แก่คำพูดของตัวละครที่สวมบทโปรดิวเซอร์ของหนังสารคดี ซึ่งเอ่ยไว้ตั้งแต่ตอนที่คดีความยังไม่สิ้นสุด ทำนองว่า ไม่ว่าในตอบจบ Michael จะได้รับการพิสูจน์ว่าเป็นผู้บริสุทธิ์ หรือผิดจริงตามข้อกล่าวหา 

 

บั้นปลายของเรื่องทั้งหมดก็หลีกหนีไม่พ้นโศกนาฏกรรม มานึกๆ ดูแล้ว กรณีการเสียชีวิตของแตงโมก็เช่นเดียวกัน

 

 

The Staircase (2022)

สร้างสรรค์: Antonio Campos

ผู้แสดง: Colin Firth, Toni Collette, Michael Stuhlbarg, Sophie Turner, Juliette Binoche ฯลฯ

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X