ทีมชาติสเปน เป็นหนึ่งในทีมที่ทำผลงานได้ดีและน่าประทับใจที่สุดในฟุตบอลยูโร 2024
เป็นทีมเดียวที่ชนะในรอบแรก 3 นัดรวด และในรอบ 16 ทีมสุดท้ายพวกเขาไล่ถล่มจอร์เจียขาดลอยถึง 4-1 ทั้งๆ ที่โดนยิงไปก่อนด้วย
ก่อนที่ทีม ‘กระทิงดุ’ จะต้องพบกับศึกหนักที่สุดในการเจอกับเจ้าภาพเยอรมนีในรอบ 8 ทีมสุดท้ายที่แทบจะเป็น ‘ดรีม (ควอเตอร์) ไฟนอล’ อยากให้ได้มาลองถอดรหัสในการทำงานของโค้ชทีมชาติสเปน หลุยส์ เด ลา ฟวนเต ที่อาจจะไม่ได้โดดเด่นมากนักเมื่อเทียบกับกุนซือชื่อดังคนอื่น แต่มีแนวทางในการทำงานดีที่สุดคนหนึ่ง
โค้ชที่เชื่อว่าพรสวรรค์เพียงอย่างเดียวไม่เคยเพียงพอ และที่สุดแล้วถ้าพรสวรรค์ไม่พยายามให้มากพอ คนที่ทำงานหนักกว่าก็จะเป็นผู้ชนะเสมอ
เรื่องราวของ เด ลา ฟวนเต ที่กำลังจะเล่านี้ไม่ได้มาจากจินตนาการของผมเองนะครับ แต่มาจากบทความที่ชื่อว่า Talent and Hard Work ของ The Coaches’ Voice สื่อสายฟุตบอลที่โฟกัสเรื่องการทำงานของโค้ช, Insight ต่างๆ จากประสบการณ์ในการทำงานของคนตัวจริง
แน่นอนว่าคนที่มาบอกเล่าก็คือตัวของโค้ชคนนั้นเอง
บทความ Talent and Hard Work นี้จึงมาจากการถ่ายทอดของ เด ลา ฟวนเต โดยตรง ซึ่งเผยแพร่ครั้งแรกในปี 2022 ในช่วงที่เขายังไม่ได้เข้ารับตำแหน่งโค้ชทีมชาติสเปนชุดใหญ่ แต่เพิ่งจะพาทีมชาติสเปนชุดเยาวชน รุ่นอายุไม่เกิน 21 ปี คว้าแชมป์ยุโรปได้ (และก่อนนั้นก็พาทีมชาติสเปนชุด U-19 คว้าแชมป์ยุโรปได้เช่นเดียวกัน)
เด ลา ฟวนเต บอกเล่าถึงการทำงานของเขาเอาไว้แบบนี้ครับ
“เพื่อที่จะเปลี่ยนแปลงโดยไม่จำเป็นต้องละทิ้งสไตล์ของเราเอง”
คำพูดนี้คือสิ่งที่อยู่ในใจของเด ลา ฟวนเต และเป็นคำตอบที่เขาตอบกับสื่อที่ถามถึงแนวทางในการทำงานของเขาในช่วงที่เข้ารับตำแหน่งโค้ชทีมชาติสเปนรุ่นอายุไม่เกิน 21 ปีเมื่อปี 2018
เด ลา ฟวนเต อยากให้ทีมมีเครื่องมือหลากหลายรูปแบบ เพื่อที่จะรับมือกับทุกสถานการณ์ที่ต้องเผชิญในระหว่างเกม
เพราะพรสวรรค์อย่างเดียวไม่เคยเพียงพอ
และเขาบอกกับลูกทีมทุกคนเสมอว่า ถ้าคนมีพรสวรรค์แต่ไม่พยายาม คนที่ทำงานหนักกว่า ทุ่มเทกว่า ก็จะเป็นผู้ชนะเสมอ
โค้ชสเปนชุดเล็กในวันนั้น (ก่อนจะเป็นโค้ชชุดใหญ่ในวันนี้) บอกว่าเขาโชคดีครับที่ ‘ข้อความ’ นี้ส่งตรงถึงใจของนักเตะภายในทีม สเปนจึงไม่ได้มีเพียงแค่ผู้เล่นที่มีพรสวรรค์เท่านั้น (ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีอยู่แล้ว) แต่สเปนยังเป็นทีมที่ทุ่มเททำงานหนักด้วย
ในเกมฟุตบอลไม่ต่างอะไรจากชีวิตจริง สิ่งที่ทุกคนหวังในตอนท้ายที่สุดคือ การประสบความสำเร็จให้เร็วที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้
แต่ความสำเร็จของทีมชาติสเปนที่คว้าแชมป์ยุโรปรุ่น U-21 ในการแข่งขันที่อิตาลีเมื่อปี 2019 ไม่ใช่ความสำเร็จที่เกิดขึ้นในชั่วข้ามคืน
มันเกิดขึ้นจาก ‘กระบวนการที่ยาวนาน’ (Long Process) ซึ่งต้องย้อนกลับไปถึงปี 2015 ในการแข่งขันฟุตบอลชิงแชมป์ยุโรปรุ่นอายุไม่เกิน 19 ปีที่ประเทศกรีซ
ในศึกชิงเจ้ายุทธจักรยุโรปรุ่นละอ่อนน้อยครั้งนั้น สเปนจัดเป็นตัวเก็งเต็งหามของรายการก็ว่าได้ และผลงานในเกมแรกก็ถือว่าสวยงามเลยทีเดียวด้วยการถล่มเยอรมนีขาดลอยถึง 3-0
แต่พอถึงเกมต่อมากลับต้องช็อกไปตามๆ กัน เพราะไปแพ้ให้กับรัสเซีย 3-1 ความพ่ายแพ้เกมนี้ทำให้เกิดสถานการณ์ที่ตึงเครียดภายในทีมสูงมาก
เด ลา ฟวนเต เล่าให้ฟังครับว่า ที่เป็นแบบนี้เพราะปกติแล้วนักเตะภายในทีมล้วนมาจากทีมสโมสรระดับชั้นนำของประเทศ พวกเขาแทบไม่ค่อยได้สัมผัสกับความพ่ายแพ้ เพราะลงเล่นทีไรก็ชนะแทบทั้งหมด
การพ่ายแพ้และเผชิญกับสถานการณ์สุ่มเสี่ยงที่จะตกรอบจึงเป็นบททดสอบที่หนักหนาเอาการ โดยเฉพาะเมื่อคิดถึงสภาพจิตใจของเด็กที่ยังไม่โตมากในเวลานั้น
แต่สเปนก็ผ่านเข้ารอบได้หลังจากยันเสมอกับเนเธอร์แลนด์ในเกมสุดท้ายของรอบแรก 0-0 โดยเข้ารอบด้วยผลต่างประตูได้เสียที่ดีกว่าคู่แข่งแค่ลูกเดียว ก่อนที่จะทะลุเข้ารอบรองชนะเลิศไปเจอกับฝรั่งเศส ดาวเด่นของทีมชุดนั้นอย่าง มาร์โก อเซนซิโอ เหมาคนเดียว 2 ประตูในชัยชนะ 2-0
แล้วปิดท้ายด้วยการล้างตาเอาชนะรัสเซีย 2-0 ในรอบชิงชนะเลิศ ได้แชมป์ไปครอง
บทเรียนจากรายการนี้ที่เด ลา ฟวนเต ได้คือ เขาคิดว่าในฐานะโค้ชแล้วเขาต้องสื่อสาร ‘อย่างชัดเจน’ ด้วยข้อความที่ ‘เข้าใจง่าย’
สิ่งที่ได้เรียนรู้จากปี 2015 ได้ถูกนำมาใช้ในปี 2019 กับทีมชาติสเปนชุด U-21 ที่เจ้าตัวได้ขยับขึ้นชั้นมาคุมทีมที่สูงกว่าแทนครับ
ข้อความที่เด ลา ฟวนเต บอกกับลูกทีมทุกคนก่อนจะไปลุยศึกใหญ่ด้วยกันคือ “ใส่ใจ ทำหน้าที่ ทุ่มเท และเหนือสิ่งอื่นใดคือความสามัคคี”
ในความหมายของเขาคือ ทุกคนทีมไม่ว่าใครก็ตาม รวมถึงคนที่โดดเด่นเหนือคนอื่น ต้องทุ่มเทเพื่อประโยชน์ต่อส่วนรวมของทีม ถ้าทำได้ เด ลา ฟวนเต มั่นใจว่าพวกเขามีโอกาสที่จะเป็นแชมป์ในรายการนี้
และความหมายโดยนัยของข้อความนี้แปลได้ว่า “เราจะเป็นแชมป์ให้ได้” ซึ่งมีการพูดย้ำแล้วย้ำอีกภายในทีม เพราะเขาต้องการให้มันติดตรึงในใจของทุกคน
แต่ลึกๆ แล้วปัญหาสำหรับตัวของเด ลา ฟวนเต คือการที่เขาติดนิสัยชอบพูดยาว ลงรายละเอียดเยอะ จนถูกล้อเลียนเรื่อง Teamtalk (การพูดคุยก่อนลงสนาม) ที่นานจนลิงแทบหลับ
นักเตะบางคนหัวเราะเขาในบางทีที่เขาเริ่มพูดจาดุดัน ร้อนแรง
เด ลา ฟวนเต ยอมรับปัญหาเรื่องนี้และพยายามกระชับเวลาในการพูด เพราะนักฟุตบอลจะมีสมาธิไม่เกิน 20 นาที สื่อสารให้ชัดเจน เข้าใจง่าย แต่ก็ยังคงรักษาแนวทางของตัวเองคือ พยายามลงรายละเอียดต่างๆ โดยจะคุยกับผู้เล่นแต่ละคนแยกไป
ที่ทำแบบนั้นเพราะการได้รู้ว่าแต่ละคนคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไรในช่วงเวลานั้น เป็นสิ่งสำคัญมากสำหรับคนทำงานเป็นโค้ช
สมัยที่เป็นนักเตะ เด ลา ฟวนเต ที่เคยเล่นให้กับแอธเลติก บิลเบา, เซบียา และเดปอร์ติโบ อลาเบส ชอบที่จะดูปฏิกิริยาของเพื่อนร่วมทีมในเวลาที่โค้ชพยายามใส่ Input ต่างๆ ให้ ซึ่งเขาเก็บประสบการณ์เหล่านั้นมาใช้ในการเป็นโค้ช
เพื่อให้เข้าถึงใจได้ง่าย ต้องพยายามหาทางที่ใช่ที่สุดที่จะ ‘เชื่อมจิต กับนักฟุตบอลเพื่อให้เขาตอบสนองได้ มันอาจจะไม่สำเร็จกับทุกคนหรือทุกทีม แต่เด ลา ฟวนเต จะพยายามหาทางที่ดีที่สุดให้ได้
หนึ่งในตัวอย่างที่ดีสำหรับผู้เล่นที่อยู่ในสโมสรแต่ไม่ค่อยได้โอกาสลงเล่นมากนัก เด ลา ฟวนเต เลือกจะหยิบมุมดีๆ มาบอก เช่น “การลงเล่นไม่เยอะแปลว่านายจะสดกว่าคนที่เขาเล่นมามากกว่า 50 นัดนะ”
นักเตะได้ยินแบบนี้ก็รู้สึกดีขึ้น มีกำลังใจ พอได้โอกาสลงสนามเรียกจังหวะสัก 2-3 นัดก็กลับมาเล่นได้ดีอีกครั้ง และด้วยสภาพร่างกายที่ยังสดทำให้เล่นได้ดี
เพียงแต่สเปนเริ่มต้นรายการนั้นได้ไม่ดีนัก พวกเขาแพ้อิตาลีในเกมประเดิมก่อนเลย
แต่ว่าในเกมต่อมาพวกเขาเอาชนะเบลเยียมในสภาพอากาศที่ร้อนจัดได้ ก่อนจะถล่มโปแลนด์ 5-0 ได้ผ่านเข้ารอบรองชนะเลิศไปเจอกับฝรั่งเศส ซึ่งโดนนำไปก่อนแต่แซงกลับมาชนะได้
สเปนต้องเจอกับเยอรมนีในนัดชิงชนะเลิศครั้งนั้น ซึ่งสำหรับเด ลา ฟวนเต เขามองว่าเกมนี้คือช่วงเวลาที่สำคัญ ไม่ได้สำคัญแค่กับทีมชุดนี้ แต่สำคัญกับยุคสมัยของวงการฟุตบอลสเปนเลยทีเดียว
Teamtalk ของเกมนัดนี้จึงต้องเข้าเป้าและตรงใจที่สุด
เด ลา ฟวนเต บอกกับทีมในวันนั้นว่า “นี่คือโอกาสของเรา นี่คือรางวัลสำหรับทุกสิ่งทุกอย่างที่เราได้ร่วมกันสร้างขึ้นมา” เขาบอกแค่นี้
เกมวันนั้นเป็นเกมที่ยากลำบากมาก ถึงสเปนจะนำ 2-0 แต่เยอรมนีก็สู้ได้อย่างน่าประทับใจ สุดท้ายพวกเขาเฉือนเอาชนะไป 2-1
ชัยชนะในเกมวันนั้นไม่ได้เป็นความสำเร็จของเด ลา ฟวนเต คนเดียว แต่มันพลิกชีวิตของเด็กๆ ในทีมด้วย เด็กๆ หลายคนเล่นให้สโมสรใหญ่อยู่แล้ว แต่การไปคว้าแชมป์รายการนี้ได้ทำให้ทุกคนมองเห็น ‘คุณค่า’ ในตัวของเด็กๆ เหล่านี้มากขึ้น
ที่สำคัญที่สุดคือ มันคือแชมป์ที่แสดงให้เห็นถึงพรสวรรค์ของนักเตะเยาวชนของสเปน ซึ่งเป็นสิ่งที่เด ลา ฟวนเต มองเห็นและเชื่อมั่นมาโดยตลอดว่าเหล่านักเตะเยาวชนภายในประเทศนั้นเก่งไม่น้อยไปกว่าใครที่ไหนเลย
และโดยส่วนตัวแล้ว เด ลา ฟวนเต ก็ได้เรียนรู้และเติบโตไปพร้อมกับเด็กๆ เหล่านี้ด้วย
โรดรี แกนหลักของทีมในชุดแชมป์ยุโรป U-17 เมื่อปี 2015
ดานี โอลโม และ ฟาเบียน รูอิซ แกนหลักของทีมชุดแชมป์ยุโรป U-19 ในปี 2019
พวกเขาเหล่านี้เติบโตขึ้นมาเป็นกำลังสำคัญของทีมชาติสเปน พร้อมๆ กับโค้ชอย่างเด ลา ฟวนเต และพวกเขากำลังจะไล่ล่าแชมป์ยูโร 2024 ไปด้วยกัน
อ้างอิง: