ซีรีส์ The Crown ที่นำเสนอเรื่องราวอิงประวัติศาสตร์เกี่ยวกับราชวงศ์อังกฤษ ได้ดำเนินเรื่องมาถึงซีซันที่ 4 ซึ่งกำลังจะออกฉายทาง Netflix ในวันที่ 15 พฤศจิกายนนี้ โดยเนื้อหานั้นมีความเข้มข้นและน่าติดตามมากยิ่งขึ้น ผ่านการปรากฏตัวของสองสตรีที่ต่างมีความสำคัญและสัมพันธ์กับสถาบันกษัตริย์อังกฤษคือ เลดี้ไดอานา สเปนเซอร์ อดีตเจ้าหญิงแห่งเวลส์ที่คนไทยรู้จักกันในชื่อ ‘เจ้าหญิงไดอานา’ และ มาร์กาเร็ต แธตเชอร์ นายกรัฐมนตรีหญิงคนแรกของอังกฤษ ผู้ได้รับสมญานามว่า ‘หญิงเหล็ก’
การปรากฏตัวของสองตัวละครดังกล่าวจึงส่งผลต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษในรัชสมัยสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 อย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งก่อนที่จะรับชมซีซันที่ 4 จะขอพาย้อนกลับไปพิจารณาบทบาทและสถานะของสถาบันกษัตริย์อังกฤษที่ปรากฏในซีซันที่ 1-3 เพื่อให้เข้าใจถึงพัฒนาการและความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนสถานะและการดำรงตนของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ
พัฒนาการของสถาบันกษัตริย์อังกฤษ
หากได้ชมตอนที่ 5 ของซีซันที่ 2 ‘Marionette’ คำกล่าวในตอนจบ ซึ่งเป็นบทของสมเด็จพระราชินีเอลิซาเบธ นั้นถือเป็นการนำเสนอพัฒนาการของสถาบันกษัตริย์อังกฤษที่มีมากว่า 1,000 ปีได้เป็นอย่างดี กล่าวโดยสรุป คือ
“ประวัติศาสตร์ของผู้ครองบัลลังก์แห่งประเทศนี้นั้นมีแต่เรื่องที่ชวนให้อับอายขายหน้า การยอมอุทิศตนและการเสียสละมอบสิ่งต่างๆ ให้แก่ผู้อื่น เพื่อที่เราจะสามารถ ‘ดำรงความอยู่รอด’ ต่อไปได้ ในช่วงแรกเราต้องเผชิญหน้ากับเหล่าขุนนางบารอน จากนั้นก็เป็นพวกพ่อค้านายทุน และเป็นพวกนักข่าว นักหนังสือพิมพ์
“สิ่งเล็กๆ ที่เรายังคงเหลือคือ พิธีการ ขนบธรรมเนียม หรือประเพณีปฏิบัติแต่โบราณ ซึ่งถูกวิจารณ์อย่างมาก แต่นั่นก็เป็นเพียงสิ่งที่เราเหลือเป็นเกราะคุ้มกันของเรา จากอำนาจที่มีมากล้นในฐานะผู้ปกครอง ค่อยๆ ลดลงเหลือเพียงการครองราชย์ และสุดท้ายก็จะไม่เหลืออะไร คือเป็นเพียงตัวหุ่นให้ถูกเชิดเท่านั้น”
“The history of the monarchy in this country is a one-way street of humiliation, sacrifices and concessions in order to survive. First, the barons came for us, then the merchants, now the journalists. Small wonder we make such a fuss about curtsies, protocol, and precedent. It’s all we have left. The last scraps of armor as we go from ruling to reigning to…to being nothing at all. Marionettes.”
คำกล่าวในบทนั้นคงจะไม่เกินจริงไปนัก หากพิจารณาจากประวัติศาสตร์ของอังกฤษที่ผ่านมาเกือบ 1,000 ปีนับแต่พระเจ้าวิลเลียมที่ 1 ผู้พิชิต ทรงสถาปนาราชวงศ์นอร์มันบนเกาะอังกฤษในปี 1066 สถาบันกษัตริย์อังกฤษก็มีบทบาทสำคัญในการปกครองเกาะอังกฤษ และได้ผ่านร้อนผ่านหนาว ผ่านพ้นเหตุการณ์สำคัญและวิกฤตการณ์รุนแรงต่างๆ มากมาย
เหตุการณ์สำคัญเหตุการณ์แรกคือ การที่พระเจ้าจอห์นถูกจำกัดพระราชอำนาจจากการที่ทรงเก็บภาษีอย่างหนักและปกครองโดยอำเภอใจ โดยทรงถูกบังคับให้ลงนามในมหากฎบัตร Magna Carta ในปี 1215 เพื่อยอมรับในสิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ตลอดจนเป็นการกำหนดขอบเขตอำนาจของผู้ปกครอง
เหตุการณ์ต่อมาคือ ความขัดแย้งระหว่างสถาบันกษัตริย์กับฝ่ายรัฐสภาในสมัยสงครามกลางเมืองอังกฤษ ซึ่งจบลงด้วยการที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทรงถูกสำเร็จโทษด้วยการบั่นพระเศียรในปี 1649 ทำให้เกิดช่วงเวลาที่ราชบัลลังก์ว่างกษัตริย์ และนำไปสู่การปกครองระบอบสาธารณรัฐโดย โอลิเวอร์ ครอมเวลล์ ขึ้นเป็นครั้งแรกและครั้งเดียวในอังกฤษ
แม้จะมีการฟื้นฟูสถาบันกษัตริย์ขึ้นใหม่ในปี 1660 แต่ความขัดแย้งระหว่างฝ่ายกษัตริย์และรัฐสภายังคงมีอยู่ และทวีความรุนแรงขึ้นจนถึงจุดแตกหักอีกครั้ง เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ทรงถูกขับไล่ออกจากราชบัลลังก์ อันเป็นส่วนหนึ่งของเหตุการณ์การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์ และพระเจ้าวิลเลียมที่ 2 และสมเด็จพระราชินีนาถแมรีที่ 2 ซึ่งเป็นกษัตริย์พระองค์ใหม่ที่ครองราชย์สืบต่อ ได้ทรงยอมรับอำนาจของรัฐสภาและต้องจำกัดบทบาทของสถาบันกษัตริย์ในฐานะที่เป็นเพียงประมุขหรือสัญลักษณ์ในทางการปกครองเท่านั้น
หลังจากนั้นนับตั้งแต่สมัยราชวงศ์แฮนโนเวอร์สในคริสต์ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมา กษัตริย์อังกฤษก็ไม่ทรงอยู่ในฐานะผู้ปกครองอีกต่อไป หากแต่เป็นเพียงประมุขของประเทศเท่านั้น พระราชอำนาจที่ทรงเคยมีมาแต่ดั้งเดิมก็เปลี่ยนสภาพไป จากเดิมที่ทรงใช้พระราชอำนาจนั้นเอง ก็ทรงใช้โดยคำแนะนำและยินยอมของรัฐสภาและรัฐบาล โดยที่ไม่ต้องทรงรับผิดชอบใดๆ เพราะพระองค์ไม่ต้องทรงทำอะไรด้วยพระองค์เอง
ดังนั้นแล้ว ด้วยประวัติศาสตร์และพัฒนาการทางการเมืองการปกครองที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า สถาบันกษัตริย์อังกฤษต้องปรับตัวให้เข้ากับสังคมและสถานการณ์ เพื่อให้สามารถธำรงรักษาสถานะประมุขของประเทศไว้ต่อไปได้
เมื่อกษัตริย์ต้องไม่มีตัวตนของพระองค์เอง
แม้บทบาทของกษัตริย์อังกฤษจะเป็นเพียงหุ่นเชิดในระบบการปกครอง แต่การเป็นหุ่นเชิดนั้นก็หาได้เป็นเรื่องง่าย เนื่องจากเมื่อได้สวมมงกุฎเป็นกษัตริย์อังกฤษแล้ว ย่อมเท่ากับมีสถานะหรือตัวตนใหม่ในฐานะกษัตริย์ การคิดหรือตัดสินใจต่างๆ ย่อมไม่อาจทำได้โดยลำพังตัวตนของบุคคลนั้น แต่จะต้องคำนึงถึงบทบาทของการเป็นกษัตริย์เป็นหลัก ซึ่งต้องละวางหรือลดตัวตนของตนเองให้น้อยที่สุด อันจะเห็นได้จากบทพูดหลายตอนในเรื่อง กล่าวคือ
เมื่อ เซอร์แอนโธนี อีเดน ผู้นำพรรคอนุรักษ์นิยมในขณะนั้น ต้องการให้พระเจ้าจอร์จที่ 6 ทรงใช้สถานะความสัมพันธ์ที่ดีของพระองค์กับ เซอร์วินสตัน เชอร์ชิลล์ เพื่อหว่านล้อมให้เขาลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และตนจะได้ขึ้นดำรงตำแหน่งแทน แต่พระเจ้าจอร์จทรงตอบปฏิเสธด้วยเหตุผลว่า
“บัดนี้ข้าพเจ้าหาใช่ อัลเบิร์ต วินด์เซอร์ อีกต่อไป บุคคลคนนั้นได้ตายจากไปแล้ว เมื่อพี่ชายคนโตของเขาสละราชสมบัติ”
การที่พระองค์ตรัสเช่นนั้นย่อมเป็นการแสดงว่า เมื่อพระองค์ทรงเป็นกษัตริย์แล้ว สถานะของพระองค์ย่อมเปลี่ยนแปลงไป ทรงมิได้เป็น อัลเบิร์ต วินด์เซอร์ ที่เป็นมิตรสหายกับเชอร์ชิลล์อีกต่อไป อันแสดงให้เห็นถึงการเปลี่ยนแปลงตัวตนเมื่อขึ้นครองราชสมบัติ และแสดงถึงหน้าที่ของกษัตริย์ที่จะไม่ทรงแทรกแซงกิจการทางการเมืองด้วย
และอีกครั้งในซีซัน 1 ตอนที่ 2 ‘Hyde Park Corner’ เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 6 เสด็จสวรรคต สมเด็จพระราชินีแมรี ซึ่งเป็นพระราชมารดาของพระเจ้าจอร์จ ได้ทรงมีจดหมายไปยังสมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 พระราชนัดดา ผู้เป็นพระราชินีพระองค์ใหม่ ถึงการทำหน้าที่ของกษัตริย์ที่ดีว่า
“…ในขณะที่หลานกำลังเศร้าโศกถึงท่านพ่อ หลานก็ต้องอาลัยถึงการจากไปของคนอีกคนหนึ่งคือ เอลิซาเบธ เมาท์แบตแทน (พระนามเดิมของสมเด็จพระราชินีนาถ) ที่ซึ่งตอนนี้จะถูกแทนที่ด้วยบุคคลอีกคนคือ สมเด็จพระนางเจ้าเอลิซาเบธ และแม้ว่าเอลิซาเบธทั้งสองคนนี้จะมีความย้อนแย้งขัดกันอยู่เสมอในตัวเอง แต่ในความเป็นจริงแล้ว ราชบัลลังก์ต้องชนะ ต้องชนะอยู่เสมอ”
จากพระดำรัสดังกล่าว เท่ากับเป็นการเน้นย้ำว่า ในฐานะพระมหากษัตริย์นั้น สมเด็จพระราชินีนาถจะต้องทรงละวางความรู้สึกนึกคิดส่วนพระองค์ในฐานะบุคคลคนหนึ่ง โดยจะต้องเหลือเพียงตัวตนที่จะต้องปฏิบัติหน้าที่ในฐานะพระมหากษัตริย์เท่านั้น
ความเป็นกลางอย่างแท้จริงของกษัตริย์
ดังที่ได้กล่าวมาในตอนที่แล้วว่า การขึ้นครองราชสมบัติเป็นพระมหากษัตริย์แห่งอังกฤษนั้นจะต้องละวางความรู้สึกส่วนตัวออกไป เหลือเพียงการดำรงไว้ซึ่งมงกุฎแห่งกษัตริย์ ซึ่งนอกจากเรื่องดังกล่าวแล้ว ซีรีส์เรื่องนี้ยังได้เน้นย้ำถึงบทบาทของกษัตริย์อังกฤษในอีกแง่มุมหนึ่งคือ การต้องวางพระองค์อย่างเป็นกลาง และอยู่เหนือปัญหาหรือความขัดแย้งใด
เรื่องดังกล่าวปรากฏผ่านบทสนทนาระหว่างสองพระราชินีแห่งราชบัลลังก์อังกฤษในซีซัน 1 ตอนที่ 4 ‘The Act of God’ เมื่อสมเด็จพระราชินีนาถเสด็จมาทรงปรึกษากับพระราชินีแมรี พระอัยยิกา ว่า พระองค์ในฐานะประมุขของประเทศ จะทรงดำเนินการใดๆ เพื่อช่วยเหลือแก้ไขปัญหาของประเทศได้หรือไม่ เนื่องจากทรงไม่สบายพระทัยที่ต้องทรงอยู่เฉยโดยไม่ต้องทำอะไร ซึ่งทำให้ดูเหมือนว่าทรงไม่มีภาระใดๆ
ซึ่งพระราชินีแมรีได้ทรงชี้แนะแก่พระราชนัดดาว่า “การที่ไม่ทำอะไรนั้นเป็นสิ่งที่ยากและท้าทายที่สุดแล้ว ซึ่งมันเป็นสิ่งที่จะต้องใช้พลังงานอย่างมากทั้งหมดที่มี
“การวางตนเป็นกลางนั้นเป็นสิ่งที่ไม่เป็นธรรมชาติ และไม่ใช่ภาวะวิสัยปกติของมนุษย์ เนื่องจากประชาชนจะเรียกร้องให้หลานต้องยิ้ม หรือเห็นด้วย หรือทำหน้านิ่ว และในขณะที่หลานแสดงอาการใดออกไปนั้นเอง ก็จะเท่ากับว่าหลานได้แสดงความรู้สึกหรือแสดงจุดยืนไปแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่ผู้ทรงไว้ซึ่งอำนาจอย่างหลานไม่อาจที่จะทำได้ ยิ่งพูด ยิ้ม หรือแสดงอาการให้น้อยลงเท่าไร จะยิ่งดีเท่านั้น”
ดังนั้นจะเห็นได้ว่า บทบาทของสถาบันกษัตริย์อังกฤษนั้นจึงไม่ใช่แต่เพียงการแสดงออกหรือมีบทนำในการปกครอง หากแต่จะเป็นเพียงสัญลักษณ์หรือเป็นหุ่นเชิดในการปกครองที่ต้องวางตัวเป็นกลางและไม่แสดงความรู้สึกใดๆ นั่นเอง
บุคคลที่อยู่แวดล้อมสถาบันกษัตริย์
นอกเหนือจากการปฏิบัติพระองค์ในฐานะกษัตริย์ที่จะต้องเป็นประมุขของประเทศและเป็นกลางทางการเมืองแล้ว ส่วนสำคัญอีกส่วนที่มีบทบาทต่อสถาบันกษัตริย์อังกฤษอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้คือ บรรดาบุคคลที่อยู่แวดล้อมสถาบันกษัตริย์
ในด้านการเมืองนั้นกษัตริย์อังกฤษจะทรงมีรัฐบาลเป็นที่ปรึกษา แต่ในส่วนการดำรงสถานะความเป็นกษัตริย์หรือการปฏิบัติพระราชกรณียกิจต่างๆ กษัตริย์หรือพระราชินีนาถจะได้รับคำแนะนำ รวมถึงข้อเสนอแนะต่างๆ จากบุคคลที่อยู่แวดล้อมพระองค์ ไม่ว่าจะเป็นพระราชวงศ์พระองค์อื่นๆ ราชเลขานุการในพระองค์หรือเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวัง ซึ่งต่างทำหน้าที่เพื่อธำรงพระเกียรติยศและรักษาสถานะอันศักดิ์สิทธิ์และสูงส่งของสถาบันกษัตริย์
หากติดตามซีรีส์ The Crown ทั้ง 3 ซีซัน ภาพที่เรามักจะเห็นอยู่เสมอคือ ก่อนที่สมเด็จพระราชินีนาถเอลิซาเบธที่ 2 จะทรงไปปฏิบัติพระราชกรณีกิจในที่ต่างๆ พระองค์จะทรงได้รับคำแนะนำจากบรรดาราชเลขานุการส่วนพระองค์ ไม่ว่าจะเป็น เซอร์อลัน ลาสเซลส์, เซอร์ไมเคิล แอดีน และ เซอร์มาร์ติน ชาร์เตอริส
ฉากที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นการพบหารือที่ห้องทรงพระอักษรที่พระราชวังบักกิงแฮม การทรงพระอักษรระหว่างการเดินทางบนรถไฟหรือเครื่องบินก่อนที่จะไปทรงปฏิบัติพระราชกรณียกิจ รวมถึงการหารือระหว่างแปรพระราชฐานที่ประทับ ย่อมแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของบุคคลผู้อยู่แวดล้อมสถาบัน ซึ่งจะคอยให้คำแนะนำให้สมเด็จพระราชินีนาถทรงปฏิบัติพระองค์อย่างถูกต้อง เหมาะสม และสง่างาม
โดยฉากสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความสำคัญของบรรดาที่ปรึกษาหรือข้าราชสำนักเหล่านี้ปรากฏอยู่ในซีซันที่ 2 ตอนที่ 5 ‘Marionettes’ ก่อนที่สมเด็จพระราชินีนาถจะไปทรงเปิดโรงงานรถยนต์และมีพระราชดำรัสกับคนงานในโรงงานนั้น จะมีการประชุมกันของราชเลขานุการและเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องในการยกร่างพระราชดำรัสเพื่อเสนอให้ทรงพิจารณา ซึ่งมักจะทรงเห็นชอบตามที่เสนอ
อย่างไรก็ตาม พระราชดำรัสในครั้งดังกล่าวทำให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรงจากลอร์ดอัลทรินแฮมว่า มีเนื้อหาที่ไม่สอดคล้องกับยุคสมัย รวมถึงพระสุรเสียงหรือการอ่านของพระองค์ที่ทำได้ไม่ดีนัก ซึ่งเป็นผลจากการถวายคำแนะนำและการยกร่างของราชเลขานุการส่วนพระองค์
ดังนั้นบทบาทของราชเลขานุการในพระองค์และเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังจึงมีความสำคัญยิ่งในฐานะผู้มีหน้าที่รับผิดชอบให้การปฏิบัติพระราชกรณียกิจเป็นไปโดยเรียบร้อยและสมพระเกียรติ รวมถึงไม่ก่อให้เกิดการวิพากษ์วิจารณ์และการผิดกฎเกณฑ์ต่างๆ
ดังที่ลอร์ดอัลทรินแฮมได้กล่าวว่า แม้เรื่องพระราชดำรัสนั้นจะไม่ใช่ความผิดของสมเด็จพระราชินีนาถทั้งหมด แต่เหตุที่เขาต้องวิจารณ์พระองค์นั้นเป็นเพราะว่าในฐานะที่พระองค์ทรงเป็นเจ้านายของคนเหล่านั้นจึงต้องทรงมีส่วนรับผิดชอบด้วย
นอกจากการมีพระราชดำรัสในโอกาสต่างๆ แล้ว การปฏิบัติพระองค์ของสมเด็จพระราชินีนาถก็มีส่วนสำคัญต่อภาพลักษณ์และสถานะของสถาบันกษัตริย์ด้วย ซึ่งอาจจะเห็นได้จากซีซันที่ 1 ตอนที่ 2 ‘Hyde Park Corner’ เมื่อพระเจ้าจอร์จที่ 6 สวรรคตในปี 1952 เจ้าหญิงเอลิซาเบธขึ้นครองราชสมบัติสืบต่อ โดยเหตุที่ยังทรงไม่ได้เตรียมพร้อมที่จะขึ้นครองราชย์ ทำให้ต้องทรงปรึกษาและขอคำแนะนำจากที่ปรึกษาอยู่เสมอ
ไม่ว่าจะเป็นตอนที่ทรงทราบข่าวการสวรรคตของพระราชบิดาขณะเสด็จพระราชดำเนินเยือนประเทศเคนยา ซึ่งมีนักข่าวมารอทำข่าว ณ ที่ประทับ พระองค์ได้ทรงถามเจ้าหน้าที่สำนักพระราชวังว่าควรต้องทรงทำตัวอย่างไร หรือเมื่อเสด็จพระราชดำเนินกลับถึงอังกฤษแล้ว ราชเลขานุการส่วนพระองค์ก็ให้คำแนะนำเกี่ยวกับการปฏิบัติตัวของดยุกแห่งเอดินบะระต่อสมเด็จพระราชินีนาถ เป็นต้น
เนื่องจากสมเด็จพระราชินีนาถนั้นทรงมีสถานะเป็นประมุขของประเทศ จึงทรงเป็นศูนย์กลางของความสนใจของประชาชน ทุกความเคลื่อนไหว การพูด หรือการแสดงออกของพระองค์จึงถูกจับจ้องอยู่เสมอ ทำให้ทรงต้องวางพระองค์เป็นกลางและไม่ทรงแสดงออกซึ่งความรู้สึกใดๆ ออกมา อันอาจถูกนำมาตีความในทางใดทางหนึ่งได้
ดังนั้นการจะทรงดำเนินการสิ่งใดหรือมีพระราชดำรัสในเรื่องใดจึงต้องผ่านการพิจารณาหรือการไตร่ตรองอย่างถี่ถ้วน ซึ่งหากเป็นเรื่องที่มีความสำคัญและสัมพันธ์กับการเมืองแล้ว นายกรัฐมนตรีอาจจะเข้าเฝ้าฯ เพื่อกราบบังคมทูลถวายคำแนะนำ หรืออาจจะทรงถามความเห็นของนายกรัฐมนตรีก่อนก็ได้
ในขณะเดียวกัน หากเป็นเรื่องสำคัญภายในพระราชวงศ์ สมเด็จพระราชินีนาถก็อาจปรึกษาหารือกับพระญาติหรือข้าราชสำนัก เพื่อขอความเห็นหรือคำแนะนำประกอบการตัดสินพระทัย เพื่อให้ทรงมีพระราชวินิจฉัยที่เหมาะสมและสอดคล้องกับธรรมเนียมปฏิบัติที่เคยเป็นมา
ดังนั้นแล้ว บรรดาบุคคลที่แวดล้อมหรืออยู่ใกล้ชิดกับสถาบันกษัตริย์อังกฤษจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อการธำรงคงอยู่ของสถาบันกษัตริย์ เนื่องจากเป็นกลุ่มบุคคลเดียวที่ได้มีโอกาสใกล้ชิดหรืออยู่ร่วมกับสถาบันกษัตริย์แทบจะตลอดเวลา ซึ่งจะมีอิทธิพลหรือมีส่วนในการตัดสินใจดำเนินการใดๆ ขององค์กษัตริย์
การที่สถาบันกษัตริย์จะสามารถทำหน้าที่ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม และสง่างาม รวมถึงเป็นไปตามกลไกการปกครองในประเทศนั้นๆ ย่อมไม่อาจปฏิเสธได้ว่า บุคคลผู้อยู่แวดล้อมใกล้ชิดล้วนมีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่งที่จะช่วยทำให้สถาบันกษัตริย์ธำรงคงอยู่ได้อย่างมั่นคง
สุดท้ายนี้จะเห็นได้ว่า ซีรีส์เรื่อง The Crown นั้นได้แสดงให้เห็นถึงพัฒนาการและบทบาท ตลอดจนการธำรงสถานะของสถาบันกษัตริย์อังกฤษได้เป็นอย่างดี