ตลาดหุ้นที่ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงสิ้นสุดไตรมาส 4 ของปีที่ผ่านมา ทำเอาเม็ดเงินจำนวนมหาศาลกว่า 2 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐไหลเข้ากระเป๋ากลุ่มคนที่ร่ำรวยที่สุด 1% ของสหรัฐฯ โดยความมั่งคั่งของคนกลุ่มนี้รวมกันแล้วอยู่ที่ 44.6 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ สูงสุดเป็นประวัติการณ์
CNBC อ้างอิงงานวิจัยจากธนาคารกลางสหรัฐฯ ว่า แหล่งที่สร้างความมั่งคั่งให้กับผู้คนทั้งในระดับท็อปและระดับชนชั้นกลางมากที่สุดในช่วงหลังโควิดก็คือ หุ้นและกองทุนรวม ซึ่งเป็นประเภทสินทรัพย์ที่กลุ่มคนร่ำรวยที่สุด 1% ถือครองอยู่เป็นจำนวนมาก
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนชี้ว่า การปรับตัวขึ้นของตลาดหุ้นเป็นเชื้อเพลิงที่ยิ่งกระตุ้นการใช้จ่ายของประชาชน หรือเป็นปรากฏการณ์ที่เรียกว่า ‘Wealth Effect’ ซึ่งหมายความว่าเมื่อมูลค่าสินทรัพย์ที่ถือครองในพอร์ตการลงทุนเพิ่มสูงขึ้น ความมั่นใจและความกล้าที่จะเสี่ยงก็เพิ่มตาม และนำไปสู่อัตราการใช้จ่ายที่สูงกว่าปกติ
อย่างไรก็ตาม Mark Zandi นักวิเคราะห์จาก Moody’s กล่าวว่า “การพึ่งพาตลาดหุ้นในการเป็นแหล่งหารายได้ก็บ่งบอกให้เห็นถึงความเปราะบางทางเศรษฐกิจ โดยเฉพาะถ้าหากตลาดเกิดเจอเข้ากับวิกฤต”
นอกจากนี้ รายงานยังเผยข้อมูลให้เห็นถึงความกระจุกตัวของหุ้นที่ถูกครอบครองโดยชาวอเมริกัน เพราะกลุ่มคนระดับบน 10% ถือครองหุ้นและกองทุนรวมสูงถึง 87% โดยในกลุ่มนี้คนระดับท็อป 1% ก็ถือครองไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่ง หมายความว่าขาขึ้นของตลาดหุ้นให้ประโยชน์กับกลุ่มคนแค่ส่วนน้อยเท่านั้น เนื่องจากชนชั้นกลางและล่างส่วนมากยังคงต้องพึ่งพาแหล่งเงินจากค่าจ้างหรือมูลค่าที่อยู่อาศัย ซึ่งสถานการณ์แบบนี้อาจทำให้ปัญหาความเหลื่อมล้ำแย่ลงไปอีก
จริงอยู่ที่มูลค่าตลาดหุ้นที่เพิ่มขึ้นเป็นสัญญาณที่กำลังบอกถึงความมั่นใจของผู้บริโภคที่เพิ่มขึ้น แต่ถ้าสินทรัพย์ประเภทนี้มีการกระจุกตัวอยู่แค่ในคนกลุ่มน้อย การใช้จ่ายในระบบเศรษฐกิจก็อาจจะไม่เพิ่มขึ้นมากเท่าที่ควร เนื่องจากคนที่ร่ำรวยอยู่แล้วมีแนวโน้มที่จะใช้จ่ายเพิ่มขึ้นน้อยกว่าคนทั่วไป แม้ว่าพวกเขาจะมีรายได้เพิ่มขึ้น แต่ในทางกลับกัน พวกเขามีแนวโน้มที่จะเก็บออมเงินไว้เฉยๆ
สำหรับในปีนี้ จากการที่ดัชนี S&P 500 ปรับตัวเพิ่มขึ้นแล้ว 10% มีความเป็นไปได้สูงว่าความมั่งคั่งของคนระดับท็อปจะทำสถิติใหม่ไปแล้ว ส่งผลให้ความไม่เท่าเทียมของระดับรายได้ (Wealth Gap) ห่างมากขึ้น และกลับมาอยู่ในระดับเดียวกันกับช่วงก่อนโควิดแล้ว
ภาพ: francescoch / Getty Images
อ้างอิง: