นอกจากจะมีคำสั่งหยุดยิงแล้วก็ไม่แน่ใจเหมือนกันว่า มาร์คัส แรชฟอร์ด จะเลิกส่องประตูคู่ต่อสู้เมื่อไร
ประตูในช่วงต้นเกมของศึกฟุตบอลลีกคัพรอบรองชนะเลิศเกมแรกที่ช่วยแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดขึ้นนำน็อตติงแฮม ฟอเรสต์นั้นคือประตูที่ 10 จากการลงสนาม 10 นัดหลังสุดของกองหน้าวัย 25 ปี ซึ่งต้องบอกว่านี่คือฟอร์มและเวอร์ชันที่ดีที่สุดของเขาเลยก็ว่าได้
ก่อนหน้านี้แรชฟอร์ดไม่ต่างจากหลายคนในทีมที่ประสบปัญหาอย่างหนักในเรื่องของฟอร์มการเล่น ซึ่งเป็นผลพวงมาจากความย่ำแย่ภายในสโมสร เรื่องของอาการบาดเจ็บที่กระทบอย่างหนัก ไปจนถึงเรื่องของสภาพจิตใจที่เหลวแหลก โดยเฉพาะหลังเปลี่ยนสภาพจากฮีโร่ของประเทศชาติในช่วงโควิด ที่ช่วยให้ผู้คนไม่ต้องอดอาหารนับล้านคน กลายเป็นแพะรับบาปเมื่อยิงจุดโทษพลาดในนัดชิงชนะเลิศฟุตบอลยูโร 2020
วันนี้แรชฟอร์ดทิ้งความเจ็บปวดทุกอย่างไว้เบื้องหลังได้แล้ว เพียงแต่การกลับมาแบบเบิ้มๆ ของเขาครั้งนี้ไม่ได้เกิดขึ้นจากแค่บอกว่า “ความพยายามไม่เคยทำร้ายใคร”
มันมีรายละเอียดมากกว่านั้น
กองหน้าไฮบริด
หนึ่งในปัญหาของนักฟุตบอลที่มีความสามารถสูงและดูเหมือนจะเล่นได้หลายตำแหน่ง คือการที่ไม่สามารถหาตำแหน่งที่แท้จริงเจอ
แรชฟอร์ดเป็นหนึ่งในนักเตะที่ประสบปัญหานี้มาก่อน ซึ่งหนึ่งในต้นเหตุของปัญหาคือความปรารถนาส่วนตัวของเจ้าตัวที่อยากจะเล่นในบทกองหน้าอยู่กับเขาเหมือนกัน และบางครั้งก็โดนโยกไปยืนในตำแหน่งปีกขวาด้วย
แต่ในฤดูกาล 2022/23 ภายใต้การนำของ เอริก เทน ฮาก ดูเหมือนแรชฟอร์ดจะค้นพบบทบาทใหม่และที่ทางของตัวเองแล้ว ซึ่งความจริงก็ไม่ได้ต่างอะไรจากเดิม แต่เพิ่มเติมคือรายละเอียด เพราะมันคือกองหน้าฝั่งซ้ายที่เป็นรูปแบบไฮบริดระหว่าง ‘ปีก+กองหน้า’
ตามข้อมูลในวันที่ 20 มกราคม แรชฟอร์ดลงสนามในบทกองหน้าฝั่งซ้ายในระบบ 4-2-3-1 ของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดไปถึง 54 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่เล่นบทสไตรเกอร์ (ช่วงที่ อองโตนี มาร์กซิยาล บาดเจ็บ) 38 เปอร์เซ็นต์ และปีกขวา 8 เปอร์เซ็นต์
เจ้าตัวบอกว่า “ผมชอบยืนทางซ้ายมากกว่าที่ผ่านมา” เพราะจากจุดนี้สามารถตัดเข้าในซึ่งจะเข้าเท้าขวาข้างถนัดได้เลย
เพื่อนมา วาสนาส่ง
อีกเหตุผลที่ช่วยให้แรชฟอร์ดทำผลงานได้ดีขึ้นในฤดูกาลนี้ คือการมีเพื่อนร่วมทีมที่ดีขึ้นกว่าที่ผ่านมา
การได้ คริสเตียน อีริกเซน และ คาเซมิโร เข้ามาเสริมทัพในแดนกลาง ทำให้แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดมีทรงบอลที่ดีขึ้น และทำให้แรชฟอร์ดสามารถอยู่ในพื้นที่ที่สามารถสร้างความอันตรายให้แก่เกมรับของคู่ต่อสู้ได้มากกว่าเดิม
ตามสถิติแล้วในฤดูกาลนี้กองหน้าวัยเบญจเพสเป็นนักเตะแมนฯ ยูไนเต็ดที่ได้รับบอลในพื้นที่แดนบนสูงที่สุดของทีมที่ 96 ครั้ง เรียกว่าอยู่ในพื้นที่ที่ควรจะอยู่มากขึ้น และที่สำคัญ จุดที่รับบอลนั้นไม่ได้ถ่างออกไปริมเส้นเหมือนในช่วงหลายฤดูกาลก่อน แต่อยู่ในพื้นที่อันตรายอย่างพื้นที่ Half Space
การอยู่ในพื้นที่ Half Space ทำให้เขาสามารถประสานกับเพื่อนร่วมทีมได้มากขึ้น โดยเฉพาะ บรูโน แฟร์นันด์ส ซึ่งทำให้เกมรุกของทีมอันตรายขึ้นอย่างมาก
จุดเด่นใช้ให้เป็นแล้วจะดี
สิ่งที่โค้ชสามารถสร้างความแตกต่างให้กับนักเตะได้ คือการอ่านให้ออกว่านักเตะคนนั้นจะมีประโยชน์มากที่สุดในพื้นที่ตรงไหนและด้วยวิธีการเล่นแบบไหน
ตรงนี้เองที่ เอริก เทน ฮาก มีส่วนช่วยแรชฟอร์ดอย่างมาก ด้วยการติวเข้มว่าเขาจะมีความอันตรายที่สุดก็ต่อเมื่ออยู่ในพื้นที่ที่ถูกต้องเหมาะสมและใช้ความเร็วในการช่วยขึ้นไปไล่เพรสซิงในแดนบน
“เขาอยากให้ผมอยู่ในพื้นที่ที่ถูกต้อง คอยทำประตูและเพรสซิงแดนบน มันเป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ที่ผมพยายามที่จะปรับตัวและทำตาม” แรชฟอร์ดกล่าวหลังจากที่ยิงประตูที่ 100 ให้แมนฯ ยูไนเต็ดในเกมกับเวสต์แฮม ยูไนเต็ด เมื่อวันที่ 30 ตุลาคม
อีกคนที่มีส่วนช่วยอย่างเงียบๆ คือ เบนนี แม็คคาร์ธีย์ อดีตศูนย์หน้าดาวดังทีมชาติแอฟริกาใต้ที่มาเป็นโค้ชกองหน้าคนใหม่ของแมนฯ ยูไนเต็ดในช่วงฤดูร้อนที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนช่วยขัดเกลาเรื่องการจบสกอร์ของบรรดากองหน้าในทีมให้ดีขึ้น
Run Devil Run
โดยนอกจากเรื่องของการเข้าพื้นที่อันตรายแล้ว ยังมีเรื่องของการชิงเหลี่ยมกับกองหลังในเสี้ยววินาทีที่ทำให้แรชฟอร์ดกลายเป็นกองหน้าที่หาทางหยุดได้ยาก เพราะนอกจากจะมีความเร็วแล้วยังวิ่งฉลาดขึ้น การวัดใจด้วยการเช็กล้ำหน้ากับเขาคือการเดิมพันราคาสูงมากของกองหลัง รวมถึงแรชฟอร์ดยังเพิ่มการอ่านสถานการณ์ที่ทำให้หาพื้นที่และตำแหน่งที่กองหลังจะตามเขาไม่ทันด้วย
เหมือนในเกมแมนเชสเตอร์ ดาร์บี ที่เขายิงประตูชัยให้ทีมได้ก็มาจากการขยับกลับมาอยู่ในตำแหน่งที่ไม่ล้ำหน้า โดยที่ไม่มีกองหลังแมนฯ ซิตี้คนไหนได้ทันระวังตัว
หรือประตูสำคัญที่เป็นจุดเปลี่ยนสำหรับทั้งตัวเขาและของแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ดในฤดูกาลนี้ คือประตูชัยเหนือลิเวอร์พูลในเกมที่โอลด์แทรฟฟอร์ด ที่ทะลุกับดักล้ำหน้าเข้าไปยิงประตูสำคัญได้
ในฤดูกาลนี้มีแค่ เบรนแนน จอห์นสัน กองหน้าดาวรุ่งของน็อตติงแฮม ฟอเรสต์เท่านั้นที่ได้โอกาสยิงจากการเล่น Fast Break สูงกว่าแรชฟอร์ด (9 ต่อ 6 ครั้ง) โดยทั้งสองยิงได้ 3 ประตูเท่ากันจากการเล่นลักษณะนี้
ปลดปล่อยตัวเอง
สิ่งสุดท้ายที่มีส่วนในการช่วยให้แรชฟอร์ดกลับมาเป็นสุดยอดนักเตะในแบบที่เขาควรจะเป็นมาตั้งนานแล้ว คือการปลดปล่อยตัวเองจากพันธนาการทั้งปวง
เริ่มจากอาการบาดเจ็บที่ไหล่ซึ่งกระทบต่อการเล่นอย่างมาก โดยแรชฟอร์ดตัดสินใจที่จะเข้ารับการผ่าตัดในปี 2021 และมีส่วนสำคัญในการช่วยทำให้ความเร็วและความคล่องตัวของเขาค่อยๆ กลับมา
แต่นอกจากเรื่องของกำลังกายแล้ว กำลังใจก็สำคัญ ในช่วงก่อนหน้านี้แรชฟอร์ดประสบปัญหาทางใจอย่างหนัก โดยเฉพาะการเผชิญกระแสวิพากษ์วิจารณ์เกี่ยวกับการเล่น ที่หลายคนบอกให้เขากลับมา ‘โฟกัส’ กับการทำหน้าที่ในสนามอีกครั้ง ไม่ใช่สนใจแต่การทำงานเพื่อสังคม และเคยมีข่าวว่าอาจจะย้ายออกจากทีมด้วยซ้ำไป
เรื่องนี้เขาเลือกที่จะยอมเปิดใจให้เห็นถึงด้านที่อ่อนแอของตัวเองว่าก็เป็นคนหนึ่งที่มีปัญหาเหมือนกัน ซึ่งนับจากนั้นก็เหมือนการได้ปลดปล่อยตัวเองจากสิ่งไม่ดีทั้งปวง และค่อยๆ กลับมาเป็นกำลังสำคัญที่พาแมนฯ ยูไนเต็ดกลับมามีลุ้นชิงพื้นที่ท็อปโฟร์ รวมถึงมีโอกาสลุ้นโทรฟี่แรกในรอบ 6 ปี กับถ้วยลีกคัพที่น่าจะเข้าชิงได้ไม่ยากหลังชัยชนะ 3-0 เหนือฟอเรสต์
เป็นการกลับมาแบบเบิ้มๆ ของขวัญใจแห่งโอลด์แทรฟฟอร์ดที่ใครก็หยุดไม่อยู่แล้ว!
อ้างอิง: