×

ศบค.ชุดเล็ก ยังไม่เคาะเปิดจังหวัดท่องเที่ยวเพิ่ม โยน ททท. และ สธ. หารือให้ชัดเจน อาจต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ หาก พ.ร.บ.โรคติดต่อ ยังใช้ไม่ทัน

โดย THE STANDARD TEAM
22.09.2021
  • LOADING...

วันนี้ (22 กันยายน) ที่ประชุมศูนย์ปฏิบัติการ ศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 (ศปก.ศบค.) หรือ ศบค.ชุดเล็ก ที่มี พล.อ. ณัฐพล นาคพาณิชย์ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ (สมช.) ในฐานะผู้อำนวยการ โดยประชุมผ่านระบบ Zoom เพื่อหารือถึงความคืบหน้าการดำเนินการของจังหวัดนำร่องในการเปิดรับนักท่องเที่ยว จังหวัดภูเก็ต รวมถึงมาตรการป้องกันโรคในการขนส่งสาธารณะ ในรถโดยสารประจำทางปรับอากาศและรถไฟ ของกระทรวงคมนาคม รวมถึงการขยายระยะเวลาการเปิดรับนักท่องเที่ยวประเภทพิเศษ Special Tourist Visa (STV) ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา

 

นอกจากนี้ ที่ประชุมยังได้มีการหารือถึงการเปิดพื้นที่นำร่องการท่องเที่ยว เพื่อรับนักท่องเที่ยวที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้วโดยไม่กักตัว ของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา โดยการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้เสนอหลักเกณฑ์และการปฏิบัติสำหรับนักท่องเที่ยวที่จะเข้าพื้นที่ ทั้งการสแกนเข้าพื้นที่ผ่านแอปพลิเคชัน การฉีดวัคซีน 2 เข็ม รวมถึงการตรวจโควิดก่อนเข้าพื้นที่ 

 

แต่ทั้งนี้ยังมีข้อห่วงใยจากบุคลากรทางการแพทย์อยู่ ที่ประชุมจึงมอบหมายให้ ททท. ไปหารือร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข เพื่อให้ได้ข้อยุติอีกครั้ง ก่อนเสนอเข้าสู่ที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ ในวันที่ 27 กันยายนนี้ และหากที่ประชุมเห็นชอบ จะนำเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในวันที่ 28 กันยายนต่อไป

 

ขณะที่การประชุม ศปก.ศบค. แบบเต็มคณะในวันพรุ่งนี้ (23 กันยายน) ที่ทำเนียบรัฐบาล จะพิจารณาเรื่องการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ว่า จะขยายระยะเวลาต่อไปหรือไม่ ก่อนเสนอที่ประชุม ศบค.ชุดใหญ่ พิจารณา โดยมีรายงานว่ามีความเป็นไปได้ที่จะต่อ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ไปก่อนจนกว่า พ.ร.บ.โรคติดต่อ จะมีผลบังคับใช้แล้ว จึงจะยกเลิกการใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ

 

ซึ่งสอดคล้องกับการแถลงข่าวของ นพ.เฉวตสรร นามวาท ผู้อำนวยการกองควบคุมโรค กรมควบคุมโรค ที่ระบุว่า กรณี พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 นั้น เมื่อวานนี้ (21 กันยายน) ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบร่าง พ.ร.ก. แก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.โรคติดต่อ พ.ศ. 2558 อย่างไรก็ตาม หลังจากนี้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องปรับปรุงเนื้อหาให้มีความเหมาะสม ละเอียดถี่ถ้วน ซึ่งต้องใช้เวลา ยังไม่สามารถกำหนดช่วงเวลาบังคับได้ ยืนยันว่ายังไม่บังคับใช้ และไม่น่าจะทันวันที่ 1 ตุลาคม 2564

 

  • LOADING...

READ MORE






Latest Stories

Close Advertising