วันนี้ (13 พฤศจิกายน) อนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะที่กำกับดูแลกระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กล่าวถึงกลุ่มวัยรุ่นไล่ยิงนักศึกษามหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย จนทำให้มีผู้บริสุทธิ์เสียชีวิตว่า ทุกอย่างต้องอยู่ภายใต้กฎหมาย โรงเรียนก็มีระเบียบควบคุม กระทรวงมหาดไทยก็ต้องออกกฎหมายควบคุมอาวุธ เพื่อให้ลดการใช้อาวุธในการทำร้ายผู้อื่น
อนุทินกล่าวต่อว่า ฝากอธิบดีกรมการปกครองและสำนักงานตำรวจแห่งชาติเข้มงวดกับผู้ที่พกพาอาวุธปืน ตนย้ำมาโดยตลอดและมีการออกกฎหมายจำนวนมาก แต่ก็ยังมีการทำผิดกฎหมาย ตอนนี้กรมการปกครองประกาศไม่สามารถพกพาอาวุธปืนในที่สาธารณะได้ และจะไม่มีการต่อใบอนุญาตอาวุธปืน หากผู้ใดจงใจกระทำผิดกฎหมายก็จะต้องโดนลงโทษด้วยกฎหมายที่รุนแรง
ฟื้นวิชาจริยธรรม-คืนชีพวิชาประวัติศาสตร์
อนุทินยังกล่าวถึงความขัดแย้งของนักศึกษาต่างสถาบันว่า อยากจะร้องเพลงรักกันไว้เถิด ขอฝากผู้บริหารโรงเรียนและสถาบันการศึกษา เพื่อปลูกจิตสำนึกให้นักเรียนและนักศึกษาที่ไม่มีความขัดแย้งกันแต่ถูกคนอื่นลากไปด้วย เราจำเป็นต้องดูแลเยาวชนที่อายุน้อย โดยการนำวิชาประวัติศาสตร์ จริยธรรมศึกษา หน้าที่พลเมือง กลับคืนมา เพื่อปลุกจิตสำนึกความเป็นหนึ่งเดียวกัน
“เมื่อสังคมมีเหตุการณ์แบบนี้ก็ต้องปลูกฝังจิตสำนึกในการเป็นหนึ่งเดียวกัน ทำให้ประเทศพ้นวิกฤต ไม่เหมือนสมัยก่อน ทำไม่ดีเราก็นึกถึงสถาบัน เกียรติภูมิของประเทศ แต่ปัจจุบันไม่ใช่นักเรียนตีกันเท่านั้น แต่ผู้ใหญ่ก็ยังมีความขัดแย้ง เราต้องเร่งปลูกฝังค่านิยมใหม่ให้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ จึงต้องมีการพูดคุยกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ อว. เพื่อนำวิชาที่เคยถูกถอดไปกลับมา” อนุทินกล่าว
อนุทินยังระบุอีกว่า ตั้งคำถามว่าประเทศไทยควรจะปลอดอาวุธปืนได้หรือไม่นั้น อาจขัดใจหลายคน แต่เมื่อไม่รักษากฎหมาย ตั้งใจทำผิดกฎหมาย ก็ต้องมีกฎหมายห้ามพกพาออกมา เหตุการณ์นี้อาจกระทบต่อนักกีฬายิงปืน โดยคนที่ไม่หวังดีอาจอาศัยช่องโหว่ของกฎหมายสอดแทรกเข้ามามีอาวุธปืน สร้างความสูญเสียให้ผู้อื่นได้
แยกวิชาประวัติศาสตร์ จัดเวลาเรียน-คิดหน่วยกิต
เมื่อปลายปี 2565 ในรัฐบาล พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้สั่งการให้กระทรวงศึกษาธิการพัฒนาและปรับปรุงการเรียนการสอนประวัติศาสตร์ให้มีความน่าสนใจ และให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์แยกออกมา 1 วิชาอย่างชัดเจน เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจรักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษา สืบสาน ต่อยอด และนำมาปรับประยุกต์ในปัจจุบัน
ทั้งนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้มีนโยบาย 8+1 โดยการกำหนดโครงสร้างเวลาเรียน 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์แยกออกมา 1 วิชาอย่างชัดเจน จากนั้นที่ประชุมคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (กพฐ.) ได้เห็นชอบร่างประกาศกระทรวงศึกษาธิการในเรื่องนี้ไปเป็นที่เรียบร้อย และกระทรวงศึกษาธิการกำลังจะลงนามประกาศใช้ โดยมีกำหนดจะเริ่มต้นในภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2566
“การแยกวิชาประวัติศาสตร์ออกมาไม่ได้เป็นการบังคับให้เด็กรักชาติ แต่ต้องการปรับการเรียนประวัติศาสตร์ของเด็กให้มีความทันสมัยและน่าสนใจเท่านั้น ซึ่งไม่ได้เป็นการเพิ่มชั่วโมงเรียน และไม่ได้กระทบกับงบประมาณ แต่เป็นการออกแบบโครงสร้างการเรียนใหม่ โดยเด็กจะเรียนเท่าเดิม แต่เน้นการศึกษาประวัติศาสตร์เพื่อเชื่อมอดีตสู่อนาคตในมิติเศรษฐกิจ สังคม และหน้าที่พลเมือง” ตรีนุช เทียนทอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการขณะนั้นกล่าว
ทั้งนี้ เมื่อวันที่ 20 กุมภาพันธ์ 2566 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศกระทรวงศึกษาธิการ เรื่อง การบริหารจัดการโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ ของสถานศึกษาขั้นพื้นฐาน ระบุว่า ตามจุดเน้นและนโยบายของกระทรวงการศึกษาธิการ ที่กำหนดให้สถานศึกษาจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และ 1 รายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์
ทั้งนี้ เพื่อบ่มเพาะให้นักเรียนภาคภูมิใจ รักความเป็นไทย หวงแหนในสิ่งที่บรรพชนให้ไว้เป็นมรดกทางปัญญา รักษา สืบสาน ต่อยอด และนำมาปรับประยุกต์ใช้ในปัจจุบัน จึงกำหนดให้สถานศึกษาขั้นพื้นฐานจัดโครงสร้างหลักสูตรสถานศึกษา 8 กลุ่มสาระการเรียนรู้ และรายวิชาพื้นฐานประวัติศาสตร์ 1 วิชา โดยจัดเวลาเรียนรายวิชาประวัติศาสตร์ ดังนี้
- ระดับประถมศึกษา 40 ชั่วโมงต่อปี
- ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 40 ชั่วโมงต่อปี (1 หน่วยกิตต่อปี)
- ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย รวม 3 ปี 80 ชั่วโมง (2 หน่วยกิต)
อ้างอิง: