×

ราคาทองคำ ยังไหลลงต่อ ล่าสุดหลุด 1,700 ดอลลาร์อีกครั้ง ขณะที่ UBS และ Citigroup ชี้อาจได้เห็น 1,600 ดอลลาร์ในปีนี้

21.07.2022
  • LOADING...
ราคาทองคำ

ความเคลื่อนไหว ราคาทองคำ ล่าสุดยังคงอยู่ในทิศทางขาลง และหลุดลงมาต่ำกว่า 1,700 ดอลลาร์ต่อออนซ์อีกครั้ง ต่ำสุดเท่ากับช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2021 

 

ตลอดทั้งปี 2022 ราคาทองคำผันผวนอย่างมาก หลังจากพุ่งขึ้นไปจนเกือบจะทำจุดสูงสุดใหม่ได้เมื่อเดือนมีนาคม โดยขึ้นไปแตะระดับ 2,070 ดอลลาร์ หลังจากที่สงครามระหว่างรัสเซียและยูเครนปะทุขึ้นมา แต่หลังจากนั้นราคาทองคำกลับร่วงลงมา 18% จากจุดสูงสุดของปี จากการที่ธนาคารกลางสหรัฐฯ (Fed) ใช้นโยบายการเงินตึงตัว ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าต่อเนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ย 

 

ขณะที่ค่าเงินดอลลาร์แข็งค่าเป็นประวัติการณ์เมื่อ 14 กรกฎาคมที่ผ่านมา สวนทางกับราคาทองคำลดลงมาต่ำสุดในรอบปี ถือเป็นช่วงที่เงินดอลลาร์และราคาทองคำแปรผกผันกันมากที่สุดนับแต่เดือนกันยายน ขณะที่อัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงซึ่งปกติแล้วจะเป็นปัจจัยหนุนต่อทองคำ แต่ในครั้งนี้ก็ไม่ได้เป็นเช่นนั้น 

 

John LaForge หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์ของ Wells Fargo Investment Institute กล่าวว่า “ด้วยความกลัวต่อภาวะเศรษฐกิจถดถอย จึงน่าจะมีคนซื้อทองคำอยู่บ้าง แต่ไม่ได้มากนัก เพราะเงินดอลลาร์ที่แข็งค่า ราคาทองคำดูเหมือนจะอยู่ในกรอบ 1,650-1,850 ดอลลาร์ หากจะทะลุออกจากกรอบนี้ไปได้ คงจะถูกนำด้วยเงินดอลลาร์” 

 

ด้านฝ่ายบริหารสินทรัพย์ของ UBS Group AG ได้ปรับลดคาดการณ์ราคาทองคำลงมาเหลือ 1,600 ดอลลาร์ จากเดิมที่คาดว่าราคาทองคำจะอยู่ที่ 1,800 ดอลลาร์ในเดือนกันยายน และ 1,700 ดอลลาร์ ณ สิ้นปีนี้ ส่วน Citigroup ประเมินว่าราคาทองคำมีโอกาสจะลดลงไปแตะ 1,600 ดอลลาร์ในปีนี้ 

 

Kristina Hooper หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์การลงทุนโลกของ Invesco เปิดเผยว่า เงินดอลลาร์มีแนวโน้มจะแข็งค่าต่อไป จากแรงหนุนของท่าทีของ Fed ที่จะใช้นโยบายการเงินตึงตัวกว่าธนาคารกลางอื่นๆ อย่างไรก็ตาม ราคาทองคำมีโอกาสจะกลับมาน่าสนใจในช่วงสั้นอีกครั้ง หากความตึงเครียดระหว่างประเทศเพิ่มสูงขึ้น หรือเงินเฟ้อยังคงไม่พีคในเร็วๆ นี้ 

 

ทั้งนี้ Citigroup และ UBS มองไปในทิศทางเดียวกันว่าราคาทองคำน่าจะอ่อนลงตลอดทั้งปีนี้ ก่อนจะฟื้นตัวได้ในปีหน้า โดยการลดลงไปถึง 1,600 ดอลลาร์ จะดึงดูดให้นักลงทุนเข้ามาซื้อ

 

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising