×

สัญญาณอันตราย ‘โอไมครอน’ ถล่มพรีเมียร์ลีก จะแข่งกันต่อได้ไหม?

14.12.2021
  • LOADING...
The Premier League and Omicron

จากภาพที่คนทั่วโลกเห็นแล้วอิจฉา เมื่อฟุตบอลพรีเมียร์ลีกสามารถเปิดประตูต้อนรับแฟนลูกหนังกลับคืนมาแบบเต็มความจุโดยที่ไม่มีใครถูกบังคับให้ต้องสวมใส่หน้ากาก แต่เวลานี้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโควิดสายพันธุ์โอไมครอนกำลังสั่นคลอนมาถึงลีกฟุตบอลที่ดีที่สุดในโลกอีกครั้ง

 

โดยหลังจากที่เริ่มมีกระแสข่าวว่าเกิดการระบาดของโควิดภายในทีมท็อตแนม ฮอตสเปอร์ ซึ่งเป็นสโมสรในกรุงลอนดอน มีผู้ติดเชื้อเป็นผู้เล่น 6 ราย และสตาฟฟ์อีก 2 ราย จนทำให้ทางด้านยูฟ่าตัดสินใจที่จะยอมเลื่อนเกมยูฟ่ายูโรปาคอนเฟอเรนซ์ลีกรอบแบ่งกลุ่มนัดสุดท้าย ซึ่งจะต้องพบกับแรนส์ สโมสรจากฝรั่งเศสออกไป ทางด้านพรีเมียร์ลีกก็ได้ประกาศเลื่อนเกมที่สเปอร์สจะพบกับไบรท์ตันในช่วงสุดสัปดาห์ต่อทันที

 

สถานการณ์ยังลามไปถึงเลสเตอร์ ซิตี้ และแอสตัน วิลลา ที่ออกมาเปิดเผยว่ามีผู้ติดเชื้อโควิดภายในทีม และที่หนักที่สุดคือแมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด ซึ่งในการตรวจก่อนเกมกับนอริชไม่พบผู้ติดเชื้อ แต่กลับมีรายงานในวันต่อมา (วันอาทิตย์) ว่าพบผู้ติดเชื้อ ‘จำนวนไม่มาก’ ภายในทีม และในวันจันทร์ได้ประกาศปิดสนามซ้อมแคร์ริงตันเป็นเวลา 24 ชั่วโมงเพื่อจำกัดการระบาดไม่ให้แพร่กระจายอย่างรวดเร็ว โดยผู้ที่ถูกตรวจพบว่าติดเชื้อโควิดต้องกักตัวทันทีตามมาตรการที่พรีเมียร์ลีกระบุไว้

 

ก่อนที่วันนี้มีการประกาศจากพรีเมียร์ลีกให้เลื่อนเกมที่จะไปเยือนเบรนท์ฟอร์ด ซึ่งจะลงสนามคืนนี้ (14 ธันวาคม) ออกไปก่อน และมีรายงานว่าในการตรวจเชื้อโควิดรอบล่าสุดถึงวันอาทิตย์ที่ผ่านมา พบนักฟุตบอลและสตาฟฟ์ติดเชื้อมากถึง 42 รายด้วยกัน

 

นี่หมายถึงการที่พรีเมียร์ลีกกำลังเผชิญกับวิกฤตครั้งใหม่โดยไม่ทันตั้งตัวหรือไม่? พวกเขาจะรับมืออย่างไร? และจะยังสามารถดำเนินการแข่งขันต่อไปได้ไหม?

 

โอไมครอนถล่มฟุตบอลอังกฤษ

 

สถานการณ์ของพรีเมียร์ลีกสอดคล้องกับสถานการณ์การระบาดของเชื้อโอไมครอนในสหราชอาณาจักร ซึ่งตามรายงานจากหน่วยความความปลอดภัยด้านสุขภาพของสหราชอาณาจักรคาดคะเนว่า ปัจจุบันอาจมีผู้ติดเชื้อโควิดสายพันธุ์โอไมครอนจำนวน 2 แสนรายต่อวัน ขณะที่รัฐมนตรีสาธารณสุขยืนยันว่า ณ เวลานี้ สายพันธุ์โอไมครอนมีสัดส่วนกว่า 20% ในกลุ่มเคสผู้ป่วยใหม่ในอังกฤษ

 

โดยตามรายงานล่าสุด สโมสรที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดคือ ท็อตแนม​ ฮอตสเปอร์ ที่ไม่สามารถลงแข่งได้ใน 2 นัดหลังสุดกับแรนส์และไบรท์ตัน และเพิ่งจะมีการเรียกนักเตะที่ตรวจแล้วไม่พบเชื้อมาฝึกซ้อมอีกครั้ง

 

ขณะที่แมนเชสเตอร์ ยูไนเต็ด และแอสตัน วิลลาเองได้รับผลกระทบด้วยเช่นกัน โดยทีมแรกอย่างที่รายงานไปข้างต้นว่าถึงขั้นต้องปิดศูนย์ฝึกแคร์ริงตันทันที แม้ตามรายงานจะมีจำนวนผู้ติดเชื้อไม่มาก ขณะที่ทีมจากมิดแลนด์อย่างวิลลา ทางด้าน สตีเวน เจอร์ราร์ด ผู้จัดการทีม เปิดเผยว่ามีผู้เล่นในทีมติดเชื้อ 2 ราย และสตาฟฟ์อีก 2 รายด้วยกัน

 

ไบรท์ตันเป็นอีกหนึ่งสโมสรที่มีรายงานผู้ติดเชื้อ แต่ The Athletic รายงานว่าผู้ติดเชื้อนั้นเป็นสตาฟฟ์ ไม่ใช่ผู้เล่นแต่อย่างใด เพียงแต่จำนวนนั้นเพิ่มสูงขึ้น 2 เท่าภายในระยะเวลา 7 วัน ทั้งที่สโมสรมีมาตรการในการป้องกันโควิดเป็นอย่างดี

 

ขณะที่นอกพรีเมียร์ลีกแล้ว ในระดับลีกแชมเปียนชิป เกมระหว่างเชฟฟิลด์​ ยูไนเต็ด กับควีนส์ปาร์ค เรนเจอร์ส ต้องเลื่อนออกไปเช่นกัน เนื่องจากฝ่ายหลังไม่มีผู้เล่นเพียงพอที่จะสามารถลงแข่งได้ ด้านเวสต์บรอมวิช อัลเบียน ซึ่งเอาชนะเรดดิ้งได้ 1-0 เมื่อวันเสาร์ ก็พบนักเตะติดเชื้อ 4 ราย และสตาฟฟ์อีก 2 รายด้วยกัน

 

ทั้งนี้ แม้จะยังไม่มีข้อมูลที่ชัดเจนเกี่ยวกับโควิดสายพันธุ์ใหม่โอไมครอนว่ามีความอันตรายแค่ไหน แต่การที่นายกรัฐมนตรีอังกฤษ บอริส จอห์นสัน เปิดเผยว่ามีผู้เสียชีวิตจากเชื้อใหม่อย่างน้อย 1 ราย ทำให้สถานการณ์เริ่มเป็นที่น่าวิตกกังวลเป็นอย่างยิ่ง

 

มาตรการรับมือโอไมครอนของพรีเมียร์ลีก

 

การเปิดเกมรุกของเชื้อโอไมครอนทำให้รัฐบาลอังกฤษมีการประกาศมาตรการใหม่ที่เรียกว่า ‘Plan B’ ตั้งแต่วันพุธที่ผ่านมา ซึ่งมีส่วนที่สโมสรฟุตบอลทั้งในระดับพรีเมียร์ลีกและระดับรองลงไปต้องดำเนินการด้วย

 

โดย ริชาร์ด มาสเตอร์ส ซีอีโอพรีเมียร์ลีก ได้ส่งจดหมายถึงสโมสรทุกแห่งให้ปฏิบัติตามมาตรการใหม่ทันที เพื่อให้ทุกคนปลอดภัยและลดความเสี่ยงที่อาจจะเกิดสถานการณ์วุ่นวายในช่วงก่อนหน้าที่จะถึงโปรแกรมส่งท้ายปีที่อัดแน่นอย่างมาก

 

สำหรับมาตรการที่กำหนดไว้มีรายละเอียดคร่าวๆ ดังนี้

 

  • สโมสรทั้ง 20 แห่งจะต้องกลับมาใช้มาตรการฉุกเฉินในสนามซ้อม
  • จะต้องสวมหน้ากากหากอยู่ในอาคาร และสวมถุงมือ
  • การนวดกล้ามเนื้อประจำวันจะถูกจำกัดเวลาไม่ให้เกิน 15 นาทีต่อคน หากต้องใช้ระยะเวลาเกินจะต้องได้รับอนุญาตจากแพทย์ประจำทีม
  • เจ้าหน้าที่ทีมแพทย์จะต้องสวมชุด PPE ในการปฏิบัติหน้าที่ทุกครั้งเมื่อต้องสัมผัสกับผู้เล่น
  • โรงอาหารในสนามซ้อมจะต้องกลับมารักษาระยะห่างอีกครั้ง
  • ตรวจหาเชื้อเพิ่ม จากเดิม 3 ครั้งต่อสัปดาห์เป็นการตรวจทุกวัน โดยจะเป็นการตรวจระหว่างผู้เล่นยังอยู่บนรถและก่อนเข้าศูนย์ฝึกซ้อม

 

แฟนฟุตบอลจะเข้าสนามได้ไหม?

 

เวลานี้ยังไม่มีการปิดกั้นแฟนฟุตบอลในการเข้ามาชมเกมในสนาม แต่มีการเพิ่มความเข้มข้นของมาตรการต่างๆ ก่อน

 

โดยแฟนบอลที่จะเข้าสนามฟุตบอล – ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความจุผู้คนมากกว่า 10,000 คน – จะต้องแสดงหลักฐานในการเข้ารับวัคซีนครบ 2 เข็ม หรือตรวจหาเชื้อโควิดก่อนหน้าที่จะเข้าชมเกมในสนาม ส่วนหลังจากนี้แฟนบอลที่จะเข้าชมเกมจะต้องมี Vaccine Passports ที่จะแสดงในแอปพลิเคชันของ NHS

 

ขณะที่บางสโมสรเพิ่มความเข้มงวดในการตรวจสอบแฟนบอลด้วย อาทิ ไบรท์ตัน ที่นอกจากจะต้องแสดงหลักฐานการเข้ารับวัคซีนครบหรือการตรวจหาเชื้อที่หน้าสนามแล้ว หากแฟนบอลคนใดคิดจะฝ่าฝืนเพื่อเข้าไปในสนามให้ได้ นอกจากจะเสี่ยงต่อการถูกส่งเรื่องให้ตำรวจแล้ว ยังเสี่ยงจะโดนตัดสิทธิ์จากการเป็นสมาชิกตั๋วปีของสโมสรด้วย

 

และถึงต่อให้เข้าไปถึงสนามได้ก็จะต้องถูกเจ้าหน้าที่ตรวจสอบด้วย ขณะที่แฟนบอลในสนามได้รับการร้องขอให้สวมหน้ากากเอาไว้ตลอดเวลา นอกจากเวลาที่รับประทานอาหารหรือดื่มเครื่องดื่ม และที่นั่งในชั้นผู้บริหารก็มีการรักษาระยะห่างด้วย

 

แผนสำรองฉุกเฉินของพรีเมียร์ลีก

 

ขณะนี้พรีเมียร์ลีกยังไม่มีการเตรียมแผนสำรองฉุกเฉินแต่อย่างใด โดยยังให้ทุกอย่างดำเนินไปตามเดิม และหวังว่ามาตรการที่ใช้จะสามารถควบคุมสถานการณ์การระบาดได้ เนื่องจากพรีเมียร์ลีกเองก็ไม่ต่างจากภาคธุรกิจอื่นที่ไม่ต้องการได้รับผลกระทบที่รุนแรงจากโรคระบาดอีกครั้ง

 

อย่างไรก็ดี ในกลุ่มผู้ให้บริการที่ซื้อลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดได้เริ่มหารือเกี่ยวกับผลกระทบทางเศรษฐกิจที่อาจจะเกิดขึ้นจากการระบาดรอบนี้ โดยที่การขอเงินคืนจากค่าลิขสิทธิ์ที่ต้องเลื่อนการถ่ายทอดสดในปีที่แล้วยังไม่ยุติ เนื่องจากบางสโมสรเองก็ต้องการเรียกร้องเงินชดเชยจากบริษัทประกันเช่นกัน

 

สิ่งที่ดีที่สุดสำหรับทุกฝ่ายคือความหวังว่าจะกลับมาควบคุมสถานการณ์ได้อีกครั้งโดยเร็วที่สุด ไม่เช่นนั้นหายนะจะบังเกิดอย่างแน่นอน

            

อ้างอิง:

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising
X