×

ผลสำรวจชี้ ความนิยมพรรคก้าวไกลเพิ่มขึ้นสูง 1 ปีหลังเลือกตั้ง คนส่วนมากอยากให้พิธาเป็นนายกฯ มาอันดับ 1 พล.อ. ประยุทธ์ อันดับ 2

โดย THE STANDARD TEAM
26.05.2024
  • LOADING...

วันนี้ (26 พฤษภาคม) สถาบันพระปกเกล้า โดยสำนักนวัตกรรมเพื่อประชาธิปไตย ร่วมกับสำนักส่งเสริมการเมืองภาคพลเมือง และศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง 76 จังหวัด สำรวจความคิดเห็นของประชาชน เรื่อง ‘ความนิยมในพรรคการเมืองและนายกรัฐมนตรี: 1 ปีหลังการเลือกตั้ง 14 พฤษภาคม 2566’ จำนวน 1,620 ตัวอย่าง

 

โดยเก็บข้อมูลระหว่างวันที่ 7-18 พฤษภาคม 2567 ใช้วิธีการสัมภาษณ์ตามแบบสอบถามจากกลุ่มตัวอย่างซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้ง (อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป) ที่ได้จากการสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิ (Stratified Random Sampling) ในทุกจังหวัดรวมทั้งกรุงเทพมหานคร กำหนดค่าความเชื่อมั่นไว้ที่ร้อยละ 95 และค่าความคลาดเคลื่อนที่ ±2.5

 

ประชาชนเกือบครึ่งกาก้าวไกลทั้ง 2 บัตร

 

เมื่อสอบถามกลุ่มตัวอย่างว่า “ถ้ามีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (สส.) ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ท่านจะลงคะแนนเลือกผู้สมัครจากพรรคการเมืองใดในการเลือกตั้ง สส. แบบแบ่งเขต”

 

ผู้ตอบร้อยละ 35.7 ระบุว่า พรรคก้าวไกล, รองลงมาระบุว่า พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 18.1, พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 11.2, พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 9.2, พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 7.8, พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 5, พรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 1.6, พรรคประชาชาติ ร้อยละ 1.2 ตามลำดับ ในขณะที่มีผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่า จะลงคะแนนให้ผู้สมัครจากพรรคอื่นๆ หรือยังไม่ตัดสินใจเลือกใครในตอนนี้ รวมกันอีกร้อยละ 10.2

 

เมื่อสอบถามต่อไปว่า “แล้วในการเลือกตั้ง สส. แบบบัญชีรายชื่อ ถ้ามีการเลือกตั้งในอีกไม่กี่วันข้างหน้า ท่านจะลงคะแนนให้แก่บัญชีรายชื่อของพรรคใด”

 

ผู้ตอบแบบสอบถามร้อยละ 44.9 ระบุว่า พรรคก้าวไกล, รองลงมาระบุว่า พรรคเพื่อไทย ร้อยละ 20.2, พรรครวมไทยสร้างชาติ ร้อยละ 10.9, พรรคภูมิใจไทย ร้อยละ 3.5, พรรคพลังประชารัฐ ร้อยละ 3, พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 3, พรรคประชาชาติ ร้อยละ 1.3, พรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 0.7 ตามลำดับ ในขณะที่มีผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่า พรรคการเมืองอื่นๆ หรือไม่ต้องการลงคะแนนให้พรรคใดเลยในตอนนี้ ร้อยละ 12.6

 

ความนิยมก้าวไกลเพิ่ม เพื่อไทยลด

 

เมื่อเปรียบเทียบกับผลการเลือกตั้งเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ปรากฏว่า พรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเพิ่มขึ้นมี 2 พรรค คือ พรรคก้าวไกล และพรรคประชาชาติ โดยพรรคก้าวไกลได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 9.67 ซึ่งอาจส่งผลให้พรรคมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง และได้ สส. เพิ่มขึ้นถึง 49 ที่นั่ง, พรรคประชาธิปัตย์ ร้อยละ 3, พรรคประชาชาติ ร้อยละ 1.3 และพรรคชาติไทยพัฒนา ร้อยละ 0.7 ตามลำดับ นอกจากนี้น่าสนใจว่ายังมีผู้ตอบแบบสอบถามที่ระบุว่า จะลงคะแนนให้พรรคการเมืองอื่นๆ หรือไม่ต้องการลงคะแนนให้พรรคใดเลยในตอนนี้ รวมกันถึงร้อยละ 12.6

 

ส่วนพรรคประชาชาติได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 0.35 ซึ่งอาจทำให้พรรคมีโอกาสชนะการเลือกตั้ง และได้ สส. เพิ่มขึ้น 1 ที่นั่ง

 

ในขณะที่มีพรรคการเมืองที่ได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนในการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตลดลง 6 พรรค ได้แก่ พรรคเพื่อไทย ได้รับคะแนนนิยมลดลงร้อยละ 7 และอาจส่งผลให้พรรคมีโอกาสเสียที่นั่งที่มีอยู่เดิมไปราว 28 ที่นั่ง, พรรคพลังประชารัฐ คะแนนนิยมลดลงร้อยละ 3.41 มีโอกาสเสียที่นั่ง 11 ที่นั่ง, พรรคภูมิใจไทย คะแนนนิยมลดลงร้อยละ 2.64 มีโอกาสเสียที่นั่ง 10 ที่นั่ง, พรรคประชาธิปัตย์ คะแนนนิยมลดลงร้อยละ 1.13 มีโอกาสเสียที่นั่ง 3 ที่นั่ง อย่างไรก็ตาม สำหรับพรรครวมไทยสร้างชาติที่ได้รับคะแนนนิยมลดลงร้อยละ 0.47 และพรรคชาติไทยพัฒนาที่ได้รับคะแนนนิยมลดลงร้อยละ 0.02 นั้น คะแนนนิยมที่ลดลงดังกล่าวยังไม่มากพอที่จะส่งผลให้พรรคการเมืองทั้งสองมีที่นั่งลด

 

อยากให้พิธาเป็นนายกฯ มากสุด พล.อ. ประยุทธ์ ตามห่าง

 

เมื่อสอบถามว่า “ถ้าเลือกได้ ท่านอยากให้ใครเป็นนายกรัฐมนตรีของประเทศไทยในช่วงเวลานี้มากที่สุด” ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ระบุว่า อยากให้ พิธา ลิ้มเจริญรัตน์ เป็นนายกฯ มากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 46.9 รองลงมาระบุว่า พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา ร้อยละ 17.7, แพทองธาร ชินวัตร ร้อยละ 10.5, เศรษฐา ทวีสิน ร้อยละ 8.7, อนุทิน ชาญวีรกูล ร้อยละ 3.3, จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์ ร้อยละ 1.7 และ พล.อ. ประวิตร วงษ์สุวรรณ ร้อยละ 0.4 ตามลำดับ นอกจากนี้ยังมีผู้ตอบที่ระบุชื่อคนอื่นๆ รวมกับที่ยังไม่เห็นว่ามีคนที่เหมาะสมอีก ร้อยละ 10.9

 

ส่วนการเลือกตั้งแบบบัญชีรายชื่อ ผลการวิเคราะห์เปรียบเทียบพบว่า มีพรรคการเมือง 5 พรรคได้รับคะแนนนิยมจากประชาชนเพิ่มขึ้น คือ พรรคก้าวไกล ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นคิดเป็นร้อยละ 8.33, พรรคพลังประชารัฐ ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.62, พรรคประชาธิปัตย์ ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.66, พรรคภูมิใจไทย ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.6 และพรรคชาติไทยพัฒนา ได้รับคะแนนนิยมเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.19

 

เมื่อนำตัวเลขประมาณการที่นั่งที่พรรคการเมืองแต่ละพรรคมีโอกาสได้รับจากการเลือกตั้งทั้งสองระบบมารวมกัน พบว่า หากมีการเลือกตั้งในช่วงเวลานี้ พรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่มีโอกาสได้ที่นั่งมากที่สุด รวม 208 ที่นั่ง รองลงมาเป็นพรรคเพื่อไทย 105 ที่นั่ง, พรรคภูมิใจไทย 61 ที่นั่ง, พรรครวมไทยสร้างชาติ 34 ที่นั่ง, พรรคพลังประชารัฐ 30 ที่นั่ง, พรรคประชาธิปัตย์ 22 ที่นั่ง, พรรคชาติไทยพัฒนา 10 ที่นั่ง และพรรคประชาชาติ 9 ที่นั่ง ตามลำดับ ส่วนที่นั่งที่เหลือจะกระจายไปยังพรรคการเมืองอื่นๆ รวม 21 ที่นั่ง

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X