The Pope’s Exorcist เป็นภาพยนตร์สยองขวัญที่ผสมผสานองค์ประกอบของความจริงและนิยาย โดยผู้กำกับอย่าง Julius Avery ได้รับแรงบันดาลใจมาจากเรื่องราวของบาทหลวง Gabriele Amorth หัวหน้าหมอผีแห่งวาติกันที่เคยมีชีวิตอยู่ในช่วงปี 1986-2016 และเป็นผู้ที่กล่าวอ้างว่าได้ทำการไล่ปีศาจไปมากกว่า 160,000 ครั้งในระหว่างการปฏิบัติศาสนกิจ
นอกจากเรื่องราวของบาทหลวงแล้ว ภาพยนตร์ยังมีการนำเอาเหตุการณ์จริงมาใช้อ้างอิงเพื่อสอดแทรกเนื้อหาทางประวัติศาสตร์ด้วย เช่น การสืบสวนของสเปน และการหายตัวไปอย่างลึกลับของเด็กสาววัย 15 ปี นามว่า Emanuela Orlandi ที่กลายเป็นคดีอื้อฉาวโยงใยกับทางวาติกันมาหลายทศวรรษ
The Pope’s Exorcist ว่าด้วยเรื่องราวของบาทหลวง Gabriele Amorth (Russell Crowe) หัวหน้าหมอผีแห่งวาติกันที่มักจะตระเวนไปตามสถานที่ต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้คนที่ถูกความชั่วร้ายสิงสู่ แต่หลังจากกลับมาถึงวาติกันได้ไม่นาน เขาก็ได้รับมอบหมายให้ไปจัดการกับปัญหาที่เกิดขึ้นในโบสถ์เก่าของสเปน และที่แห่งนั้นเองบาทหลวง Amorth ก็ได้พบกับครอบครัวหนึ่งประกอบไปด้วย Julia (Alex Essoe) ผู้เป็นแม่, Amy (Laurel Marsden) พี่สาวคนโต และ Henry (Peter DeSouza-Feighoney) น้องชายคนเล็กที่กำลังถูกปีศาจยึดร่าง เขาที่เห็นดังนั้นจึงถามไถ่เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นกับบาทหลวง Esquibel (Daniel Zovatto) ผู้ที่เป็นคนดูแลครอบครัวนี้ก่อนที่ตัวเขานั้นจะไปถึง
หลังจากที่ได้รับรู้เรื่องราวทั้งหมด บาทหลวง Amorth ได้เผชิญหน้ากับปีศาจในตัวของเด็กน้อย และพบว่าสิ่งที่เขาจะต้องต่อกรนั้นไม่เหมือนครั้งที่ผ่านๆ มา มันไม่ใช่ปีศาจปลายแถว หรืออาการทางจิตทั่วไป หากแต่เป็นความชั่วร้ายที่คอยชักใยอยู่เบื้องหลังเหตุการณ์อันดำมืดของศาสนจักร เขากับบาทหลวง Esquibel จึงต้องร่วมมือกันเพื่อขับไล่มันกลับไปยังขุมนรกอีกครั้ง
ว่ากันตามเนื้อผ้า แง่หนึ่งที่น่าสนใจใน The Pope’s Exorcist คือการนิยามถึงคนที่ถูกปีศาจสิงเหมือนอาการทางจิตที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วย และดูเหมือนว่าประเด็นนี้เองได้กลายเป็นสิ่งที่ดึงดูดและตั้งคำถามในเวลาเดียวกัน เมื่อผู้กำกับเลือกที่จะใส่มันเข้าไปราวกับต้องการจะสะกิดให้ผู้ชมครุ่นคิดถึงอีกด้านของอำนาจทางความเชื่อที่อาจเกิดมาจากเรื่องแต่ง
ทว่าในเวลาต่อมาพวกเขากลับให้น้ำหนักแก่เรื่องนี้น้อยลงเรื่อยๆ จนแทบจะทำให้ภาพยนตร์กลายเป็นเพียงแค่การเดินตามรอยเท้าที่ภาพยนตร์ตระกูลปราบผีรุ่นเก่าเคยทำเอาไว้ ซึ่งถือเป็นเรื่องที่น่าเสียดาย เพราะหากต่อยอดประเด็นนี้ได้อย่างแหลมคม ภาพยนตร์ก็อาจจะมีไอเดียที่แข็งแรงเป็นของตัวเองได้มากกว่านี้
ถึงอย่างนั้น เป้าประสงค์ของภาพยนตร์ก็ไม่ได้ถูกวางเอาไว้ในฐานะที่ ‘จริงจัง’ หากแต่เป็นการสร้างเสียงหัวเราะให้กับผู้ชม โดยเฉพาะการจัดวางจังหวะของภาพยนตร์ที่มีความละม้ายคล้ายคลึงกับแฟรนไชส์ภาพยนตร์สุดยียวนอย่าง Scary Movie แต่ปัญหาก็เกิดจากจุดนี้ เมื่อภาพยนตร์เลือกที่จะวางท่าทีที่ไร้สาระมากเกินไป จนทำให้อีกนัยหนึ่งมันกลายเป็นการเหยียบย่ำงานเขียนของบาทหลวง Amorth ไปโดยปริยาย ทั้งที่จริงแล้ว เรื่องราวบนหน้ากระดาษนั้นสามารถต่อยอดออกไปได้อีกหลายมิติมากกว่าการเล่นตลกที่ตื้นเขินของตัวละคร ด้วยเหตุนี้ภาพยนตร์จึงขาดความมั่นคงทั้งในแง่ของความบันเทิง สาระ และดราม่า
Emanuela Orlandi
แต่มีประเด็นหนึ่งที่น่าสนใจนั่นคือ การเชื่อมโยงเรื่องราวที่เกิดจากเรื่องแต่งไปสู่ความจริงที่เกิดขึ้นในหน้าประวัติศาสตร์ เมื่อภาพยนตร์ได้เล่าถึงความผิดบาปที่อยู่ในใจของบาทหลวง Amorth ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการตายของเด็กสาวนามว่า Rosaria และในขณะที่กำลังสารภาพบาปกับบาทหลวง Esquibel เขายังบอกเป็นนัยถึงข่าวลือว่าเด็กสาวนั้นถูกล่วงละเมิดทางเพศภายในกำแพงวาติกัน ซึ่งรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ นี้เองที่ได้เชื่อมโยงเรื่องราวของ Rosaria กับ Emanuela Orlandi เข้าด้วยกัน
ทั้งนี้ คนที่น่าจะสร้างสีสันให้กับภาพยนตร์มากที่สุดคงหนีพ้นใครอื่น นอกเสียจาก Russell Crowe ในบทบาทหลวง Gabriele Amorth หัวหน้าหมอผีแห่งวาติกันที่มาพร้อมกับสกูตเตอร์คู่ใจ ซึ่งถ้าว่ากันตามตรงนอกเหนือจากทักษะการแสดงที่ ‘แบก’ ความหละหลวมของงานกำกับทั้งหมดเอาไว้ ไอเดียนี้ถือเป็นสิ่งที่สร้างสรรค์และโดดเด่นที่สุดในภาพยนตร์
อย่างไรก็ตาม แม้ The Pope’s Exorcist จะเต็มไปด้วยเรื่องราวที่ชวนตั้งคำถาม แต่ในแง่ของความบันเทิงภาพยนตร์ถือว่าตอบโจทย์ได้ดีพอสมควร โดยเฉพาะจังหวะการรับส่งบทสนทนาระหว่างคู่หูนักบวชกับปีศาจ ถึงกระนั้นก็น่าสงสัยว่าเป้าประสงค์ หรือเจตนารมณ์ที่แท้จริงของผู้กำกับเป็นอย่างไร เพราะนอกจากความไม่หนักแน่นในทิศทางแล้ว การมีอยู่ของตัวละครหลายคนยังไม่มีความสำคัญอะไรต่อเนื้อเรื่องด้วย
สามารถรับชม The Pope’s Exorcist ได้ทาง Netflix
รับชมตัวอย่างได้ที่: