การเดินสายรับฟังความเห็นของคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนเกี่ยวกับแนวทางในการทำประชามติ เพื่อแก้ไขรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 ซึ่งนำโดย นิกร จำนง ประธานคณะอนุกรรมการฯ ในวันนี้ (14 พฤศจิกายน) เดินทางมาถึงคิวของพรรคก้าวไกล โดยมี ชัยธวัช ตุลาธน หัวหน้าพรรค ร่วมประชุมหารือ
ชัยธวัชกล่าวว่า ภายหลังการประชุมหารือการรับฟังความคิดเห็นของคณะอนุกรรมการฯ ของรัฐบาลวันนี้เป็นไปด้วยดี มีการแลกเปลี่ยนหลายเรื่อง ต่างฝ่ายต่างเข้าใจเจตนาและเนื้อหาของกันและกัน เชื่อว่าข้อเสนอของก้าวไกลจะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานของคณะอนุกรรมการฯ และคณะกรรมการชุดใหญ่หลังจากนี้
3 ข้อเสนอจากก้าวไกลถึงคณะอนุกรรมการฯ
พรรคก้าวไกลยืนยันจุดยืนเดิมว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ทั้งฉบับ โดยสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ที่มาจากการเลือกตั้งของประชาชนทั้งหมด เพื่อให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความชอบธรรมทางประชาธิปไตยและเกิดขึ้นได้จริงภายใต้ความเห็นที่แตกต่าง พรรคก้าวไกลมีข้อเสนอหลัก 3 ข้อที่ได้ยื่นต่อคณะอนุกรรมการฯ ของรัฐบาลในวันนี้
1. เรื่องจำนวนประชามติ
พรรคก้าวไกลเสนอว่าควรมีการทำประชามติ 3 ครั้ง โดย 2 ครั้งหลังเป็นไปตามกระบวนการตามรัฐธรรมนูญและคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ส่วนครั้งแรก พรรคก้าวไกลเสนอให้มีการจัดทำประชามติก่อนที่รัฐสภาจะเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภา เนื่องจากเหตุผล 3 ข้อ
- เพื่อให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่มีความชอบธรรมทางการเมือง
- เพื่อแก้ปัญหาการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ 4/2564 ที่ยังคงแตกต่างกันว่า หากจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ควรจะถามประชาชนตั้งแต่แรกหรือไม่
- เพื่อใช้ประชามติครั้งแรกเป็นกลไกสำคัญในการหาข้อยุติระหว่างความคิดเห็นที่แตกต่างด้วยกระบวนการประชาธิปไตย และทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ราบรื่น ประสบความสำเร็จ
2. เรื่องคำถามในการจัดทำประชามติครั้งแรก
แม้จุดยืนของพรรคก้าวไกลเห็นว่าการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ควรทำใหม่ทั้งฉบับ โดย สสร. ที่มาจากการเลือกตั้งโดยตรงทั้งหมดจากประชาชน อย่างไรก็ตาม ยังมีความกังวลและความเห็นแตกต่างกันทั้งจากฝั่งรัฐบาล สว. กระทั่งประชาชน ในบางประเด็นที่สำคัญ โดยเฉพาะความคิดเห็นเรื่องการแก้ไขหมวด 1 (บททั่วไป) หมวด 2 (พระมหากษัตริย์) หรือบางความเห็นที่ว่า แม้เห็นด้วยกับการจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่โดย สสร. แต่ สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงหรือไม่
ดังนั้นข้อเสนอทางเลือกซึ่งจะทำให้กระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถกลายเป็นเวทีที่สำคัญในการหาฉันทมติใหม่ของสังคมไทย แก้ไขคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองในรอบเกือบ 20 ปีที่ผ่านมา จึงควรออกแบบคำถามประชามติเพื่อให้บรรลุเป้าหมายนี้ โดยไม่ทำให้ใครรู้สึกถูกกีดกันออกจากกระบวนการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่ต้น และสามารถทำให้เกิดความชอบธรรมทางประชาธิปไตย เกิดการยอมรับรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้ แม้แต่ละฝ่ายจะไม่สามารถผลักดันเนื้อหาของรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ที่ตัวเองต้องการได้ทั้งหมด
เปิดคำถามประชามติจากพรรคก้าวไกล
พรรคก้าวไกลจึงเสนอต่อคณะอนุกรรมการฯ ว่าควรออกแบบคำถามในการจัดทำประชามติครั้งแรก โดยมีคำถามหลัก 1 คำถาม และคำถามพ่วง 2 คำถาม สำหรับคำถามหลัก 1 คำถาม ควรเป็นคำถามที่กว้างที่สุดและสามารถสร้างความเห็นร่วมได้มากที่สุด คือ
คำถามหลัก: “เห็นชอบหรือไม่ว่าควรมีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดย สสร.” เชื่อว่าจะเป็นคำถามที่ประชาชนเข้าใจได้ง่าย และไม่มีเงื่อนไขปลีกย่อยที่จะทำให้เกิดความเห็นแตกต่างกันหรือการคัดค้านการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตั้งแต่ต้น
เมื่อมีคำถามหลัก ก็ให้นำคำถามหรือประเด็นที่ยังมีความเห็นแตกต่างกันมาเป็นคำถามพ่วงอีก 2 ข้อ ได้แก่
คำถามพ่วงข้อที่ 1: “เห็นชอบหรือไม่ว่าควรล็อกเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 ให้เหมือนกับเนื้อหาในหมวด 1 และหมวด 2 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2560 โดยที่ สสร. ไม่มีอำนาจพิจารณาแก้ไข”
คำถามพ่วงข้อที่ 2: “เห็นชอบหรือไม่ว่า สสร. ควรมาจากการเลือกตั้งโดยตรงของประชาชนทั้งหมด”
3. ข้อเสนอแก้ไข พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ พ.ศ. 2564
ในเมื่อบางฝ่ายโดยเฉพาะฝั่งรัฐบาลมีความกังวลว่าการใช้เสียงส่วนใหญ่สองชั้น (Double Majority) ใน พ.ร.บ.ประชามติฯ อาจเป็นอุปสรรคและสร้างความไม่เป็นธรรมในการจัดทำประชามติ ไม่ใช่เฉพาะการจัดทำประชามติรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่รวมถึงทุกเรื่องที่มีการทำประชามติในอนาคต
พรรคก้าวไกลจึงเห็นว่าหากมีความกังวลก็ควรมีการแก้ไข พ.ร.บ.ประชามติฯ อย่างรวดเร็วเร่งด่วน เพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงวิธีการเขียนเงื่อนไขเรื่องนี้ รวมถึงเสนอว่าคณะอนุกรรมการฯ และกรรมการชุดใหญ่ น่าจะหาข้อยุติในประเด็นนี้ได้ก่อน เพราะถ้าได้ข้อยุติร่วมกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาลก็สามารถร่วมมือกันเสนอร่างแก้ไขเพิ่มเติม พ.ร.บ.ประชามติฯ ได้ทันทีที่สภาเปิดในเดือนหน้า เพื่อไม่ให้กระทบต่อกรอบเวลาในการจัดทำประชามติ
เช็กความคืบหน้าเส้นทางสู่การแก้รัฐธรรมนูญ
รัฐบาลของพรรคเพื่อไทยที่นำโดย เศรษฐา ทวีสิน แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเมื่อวันที่ 11 กันยายน 2566 ว่านโยบายเร่งด่วนสุดท้ายคือ การแก้ปัญหาความเห็นที่แตกต่างในเรื่องรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2560 เพื่อให้คนไทยได้มีรัฐธรรมนูญที่เป็นประชาธิปไตยมากขึ้น โดยยึดรูปแบบการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข และไม่แก้ไขในหมวดพระมหากษัตริย์
ในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกเมื่อวันที่ 13 กันยายน 2566 มอบหมายให้ ภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรีคนที่ 1 เป็นผู้รับผิดชอบแต่งตั้งคณะกรรมการศึกษาแนวทางการทำประชามติ ก่อนมีคำสั่งนายกรัฐมนตรีให้แต่งตั้ง 35 คณะกรรมการฯ ดังกล่าว โดยประกอบไปด้วยหลายภาคส่วน ทั้งตัวแทนพรรคการเมือง นักวิชาการ ภาคประชาสังคม และนักกิจกรรม
คณะกรรมการฯ ชุดดังกล่าวได้ประชุมนัดแรกเมื่อวันที่ 11 ตุลาคม 2566 มีมติให้ตั้งอีก 2 อนุกรรมการ ชุดหนึ่งทำหน้าที่รับฟังความเห็นจากทุกภาคส่วน และอีกชุดให้ศึกษาว่าแนวทางการทำประชามติควรทำกี่ครั้ง รูปแบบใด ใช้งบประมาณเท่าไร ก่อนที่ทั้งสองชุดจะต้องนำส่งข้อสรุปให้คณะกรรมการชุดใหญ่พิจารณาต่อ
จนถึงขณะนี้ผ่านมาแล้วกว่า 2 เดือน หลังมีมติ ครม. ให้ตั้งคณะกรรมการฯ ยังไม่มีข้อสรุปในเรื่องใดๆ แม้แต่เรื่องเดียว ทั้งจำนวนการทำประชามติ คำถามของการทำประชามติ หรือแนวทางการแก้ไขรัฐธรรมนูญจะออกมาในรูปแบบใด จะเป็นการร่างใหม่ทั้งฉบับหรือแก้เฉพาะบางมาตรา
อีกทั้งคำตอบของคำถามที่ว่า ประชาชนจะได้เข้าคูหาประชามติครั้งแรกในช่วงเวลาใดก็ยังไม่มีความคืบหน้า มีเพียงคำตอบที่ว่า การทำประชามติน่าจะเริ่มต้นขึ้นได้ไม่เกินไตรมาสแรกปี 2567 เท่านั้น