×

‘The PARQ Collection’ Public Art ที่ไม่จำกัดแค่ห้องสี่เหลี่ยม และอยากเป็นพื้นที่สร้างแรงบันดาลใจ และความคิดสร้างสรรค์สำหรับทุกคน [Advertorial]

โดย THE STANDARD TEAM
19.11.2020
  • LOADING...
The PARQ Collection Public Art

HIGHLIGHTS

  • ‘เดอะ ปาร์ค (The PARQ)’ เป็นโครงการไลฟ์สไตล์มิกซ์ยูสแห่งใหม่ภายใต้แนวคิด Life Well Balanced ที่มุ่งพัฒนาออฟฟิศและรีเทลอัจฉริยะ จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้ศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นองค์ประกอบหลักของการพัฒนาพื้นที่ใช้งานแบบผสมผสาน
  • การเปิดตัว ‘เดอะ ปาร์ค คอลเลคชั่น (The PARQ Collection)’ งานศิลปะสาธารณะร่วมสมัย หรือ Public Art ภายในพื้นที่โครงการเดอะ ปาร์ค สะท้อนการเชื่อมต่อกันอย่างสมดุลระหว่างเมืองกับธรรมชาติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างคุณค่าทางจิตใจให้แก่ผู้ใช้อาคารและผู้มาเยือน
  • ภายใน ‘เดอะ ปาร์ค คอลเลคชั่น’ มีผลงานศิลปะทั้งหมด 5 ชิ้น โดยในจำนวนนี้ 3 ชิ้นเป็นผลงานของคนไทย เนื่องจาก ‘เดอะ ปาร์ค’ ต้องการส่งเสริมให้ศิลปินไทยมีพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงาน และได้มีโจทย์ท้าทายใหม่ๆ ในการรังสรรค์ผลงานที่ผสานองค์ประกอบด้านธรรมชาติและความร่วมสมัยในแบบของตัวเอง
  • ที่สุดแล้ว ‘เดอะ ปาร์ค’ อยากให้คนคุ้นชินกับงานศิลปะว่าไม่ใช่ของไกลตัว ไม่ต้องไต่บันไดขึ้นไปเข้าใจ เป็นของที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เรามีสิทธิ์ที่จะเข้าใจหรือตีความมันอย่างไรก็ได้ ตามประสบการณ์หรือความรู้สึก

ปฏิเสธไม่ได้ว่าวันนี้ ‘ศิลปะ’ ถูกนำมาเป็นตัวชี้วัดคุณภาพของอาคารและชีวิตของผู้คนมากขึ้น นั่นเพราะงานศิลปะสามารถสร้าง ‘ความผ่อนคลาย’ ได้ และด้วยแนวความคิดที่ว่า งานศิลปะไม่จำเป็นต้องพบเจอในภายห้องสี่เหลี่ยมเพียงอย่างเดียว เพราะถ้าแบบนั้นเท่ากับว่า หากเราต้องการดื่มด่ำกับงานศิลปะ เราอาจไม่สามารถเดินทางไปได้ทุกวัน ต้องตั้งใจหาจังหวะดีๆ ไปในช่วงวันหยุด แต่แท้จริงแล้วเราควรพบเจอกับงานศิลปะได้ทุกวัน และไม่ต้องอยู่ในห้องสี่เหลี่ยมเท่านั้น

 

แนวคิดดังกล่าวทำให้ ‘เดอะ ปาร์ค (The PARQ)’ โครงการไลฟ์สไตล์มิกซ์ยูสแห่งใหม่ภายใต้แนวคิด Life Well Balanced ที่มุ่งพัฒนาออฟฟิศและรีเทลอัจฉริยะ ให้ความสำคัญอย่างยิ่งต่อการใช้ศิลปะและวัฒนธรรมร่วมสมัยเป็นองค์ประกอบหลักของการพัฒนาพื้นที่ใช้งานแบบผสมผสาน

 

การเปิดตัว ‘เดอะ ปาร์ค คอลเลคชั่น (The PARQ Collection)’ งานศิลปะสาธารณะร่วมสมัย หรือ Public Art ภายในพื้นที่โครงการเดอะ ปาร์ค สะท้อนการเชื่อมต่อกันอย่างสมดุลระหว่างเมืองกับธรรมชาติ เพื่อยกระดับคุณภาพชีวิต และสร้างคุณค่าทางจิตใจให้แก่ผู้ใช้อาคารและผู้มาเยือน

 

The PARQ Collection Public Art   

 

เตรียมการ 2 ปีกว่าจะเป็น ‘เดอะ ปาร์ค คอลเลคชั่น’

ด้วยความที่ ‘เดอะ ปาร์ค คอลเลคชั่น’ เป็นงานศิลปะร่วมสมัยสำหรับจัดแสดงอย่างถาวร ดังนั้นงานนี้จึงต้องอาศัยการวางแผนอย่างเป็นขั้นตอน ซึ่ง ‘เดอะ ปาร์ค’ เองก็จริงจังกับเรื่องศิลปะเป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่ตั้งแผนก Art & Culture ขึ้นมาดูแลเรื่องงานศิลปะโดยตรง โดยมี ‘จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย’ ทำหน้าที่เป็นหัวหน้าภัณฑารักษ์ และผู้บริหารฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม โครงการ เดอะ ปาร์ค

 

‘จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย’ คร่ำหวอดอยู่ในแวดวงศิลปะมานานกว่า 10 ปี โดยสั่งสมประสบการณ์จากการทำงานที่ศูนย์สร้างสรรค์งานออกแบบ หรือ TCDC (Thailand Creative & Design Center) มา 11 ปี ก่อนจะมาเริ่มทำงานในเฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) ซึ่งเป็นผู้พัฒนาโครงการเดอะ ปาร์ค จนเรียกได้ว่าเป็นผู้ที่ปลุกปั้น ‘เดอะ ปาร์ค คอลเลคชั่น’ มาเองกับมือ 

 

“การมี เดอะ ปาร์ค คอลเลคชั่น ไม่เพียงแต่ทำให้เมืองไทยมี Public Art เพิ่มขึ้น แต่ในมุมของวิชาชีพ เรารู้สึกยินดีเป็นอย่างมากเมื่อภาคเอกชนให้ความสำคัญกับงานศิลปะและงานออกแบบเชิงวัฒนธรรม ผู้บริหารโครงการเดอะ ปาร์ค ตั้งใจลงทุนกับทรัพยากรบุคคล และดึงผู้ที่เชี่ยวชาญเข้ามาดูแลด้านศิลปะและวัฒนธรรมโดยเฉพาะ” จรินทร์ทิพย์เล่าด้วยน้ำเสียงและแววตาจริงจัง

 

The PARQ Collection Public Art

จรินทร์ทิพย์ ชูหมื่นไวย หัวหน้าภัณฑารักษ์และผู้บริหารฝ่ายศิลปะและวัฒนธรรม โครงการ เดอะ ปาร์ค

 

แต่กว่า เดอะ ปาร์ค คอลเลคชั่น จะสำเร็จเป็นที่เรียบร้อยก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมีการเตรียมการมากว่า 2 ปี โดยอันดับแรกนั้น ทีมภัณฑารักษ์ต้องทำความเข้าใจถึงคอนเซปต์ Life Well Balanced ของโครงการเดอะ ปาร์ค ให้ถ่องแท้เสียก่อน ตลอดจนสำรวจพื้นที่จริงที่จะใช้สำหรับติดตั้งงานศิลปะ และด้วยความที่เป็น Public Art ชิ้นงานจึงต้องเข้ากับบริบทของพื้นที่ที่นำมาตั้งอย่างลงตัว

 

“หลังจากพิจารณาพื้นที่แล้ว เราได้แนวคิดว่า ธรรมชาติคือแก่นแท้ของสรรพสิ่งทุกอย่างในโลก และเป็นสิ่งที่ถูกนำมาตีความเป็นความหมายหรือรูปแบบทางศิลปะได้มากมาย”

 

‘The Cradle’ การเกิด เติบโต และรุ่งเรืองของบางสิ่งบางอย่าง 

‘เดอะ ปาร์ค คอลเลคชั่น’ ประกอบด้วยงานศิลปะ 5 ชิ้น โดยแต่ละชิ้นนั้นศิลปินจะได้รับโจทย์ที่ไม่เหมือนกัน แต่สิ่งที่น่าสนใจคือในจำนวนนี้ ผลงาน 3 ชิ้นเป็นฝีมือที่มาจากศิลปินคนไทย เริ่มด้วยผลงานศิลปะชิ้นแรก เนื่องจากจรินทร์ทิพย์ต้องการผลักดันให้ศิลปินไทยมีพื้นที่สำหรับจัดแสดงผลงาน และได้มีโจทย์ท้าทายอันใหม่ในการทำงานวิชาชีพของตัวเอง สำหรับชิ้นแรกนั้นจรินทร์ทิพย์และทีมภัณฑารักษ์ได้ตีความคำว่าธรรมชาติ ที่หมายถึงผลงานที่แสดงสัจจะของวัสดุ จึงได้นึกถึงงานเซรามิกขึ้นมา

 

“ด้วยความที่งานเซรามิกทำจากดิน มันจึงมีความเป็นสัจจะแห่งวัสดุ และความเป็นธรรมชาติอยู่ในนั้น และเป็นงานคราฟต์ที่ต้องอาศัยความประณีต ใช้เวลา อีกทั้งมีคุณสมบัติที่ดูแล้วสร้างความสงบผ่อนคลาย และอยู่กับอาคารได้ตลอดไป อย่างไรก็ตาม ความท้าทายคือเราต้องเอาชนะข้อจำกัดในด้านการผลิตให้ได้ เนื่องจากโดยทั่วไปเรามักไม่ค่อยพบเห็นประติมากรรมที่ทำมาจากเซรามิกขนาดใหญ่เท่าไรนัก”

 

เมื่อนึกถึงงานเซรามิก ชื่อแรกที่จรินทร์ทิพย์นึกถึง ‘อ้อ สุทธิประภา’ ศิลปินผู้มีคาแรกเตอร์ที่ชัดเจนในเรื่องกระบวนการผลิตที่ประณีตและละเอียดลออ จนเป็นที่ยอมรับทั้งในไทยและต่างชาติ

 

The PARQ Collection Public Art

 

งานชิ้นนี้ชื้อว่า ‘The Cradle’ ซึ่งถูกติดตั้งอยู่ตรงบริเวณโถงลิฟต์อาคารสำนักงาน โดยมีรูปแบบเป็นงานเซรามิกที่มีลักษณะเหมือนถูกสานเข้าไว้ด้วยกัน โดยความยากของการรังสรรค์งานชิ้นนี้อยู่ที่การออกแบบเซรามิกให้เป็นรูปทรงโค้งที่เผาแล้วไม่ยุบตัว และขณะเดียวกันก็ยังเป็นชิ้นงานที่มีน้ำหนักมากอีกด้วย จึงต้องมีการพูดคุยกับวิศวกรอย่างใกล้ชิด เพื่อคำนวณน้ำหนักสำหรับการติดตั้งให้พอดี 

 

ดังนั้น ‘The Cradle’ จึงอาศัยความพิถีพิถันในทุกขั้นตอน ตั้งแต่การออกแบบและคำนวณโครงสร้าง ไปจนถึงการสร้างชิ้นส่วนเซรามิกเพื่อประกอบเป็นชุดประติมากรรมที่สมบูรณ์แบบ โดยมีเป้าหมายเพื่อสื่อความรู้สึกเกี่ยวกับการเกิด เติบโต และรุ่งเรืองของบางสิ่งบางอย่าง 

 

“สาเหตุที่ทำเป็นลักษณะเซรามิกติดตั้งบริเวณโถงลิฟต์ เนื่องจากศิลปินมีแนวคิดว่า ตึกใหญ่นั้นเปรียบเสมือนต้นไม้ใหญ่ และส่วนสำคัญที่ทำให้ต้นไม้ต้นนั้นยังคงอยู่ได้คือรากอันแข็งแรง แต่รากนั้นมักจะชอนไชอยู่ใต้ดิน ไม่ค่อยโผล่ขึ้นมาด้านบน เช่นเดียวกัน อาคารแห่งนี้ รวมไปถึงความเจริญของศิลปะก็เปรียบเสมือนองค์กร สิ่งที่สำคัญสำหรับองค์กร และขาดไม่ได้เลยคือมนุษย์ผู้ทำงานอยู่เบื้องหลัง เสมือนรากที่ยึดต้นเอาไว้ ศิลปินจึงตั้งใจออกแบบให้รู้สึกว่า ชิ้นงานนี้เป็นรากที่โผล่ออกมาจากตึก” จรินทร์ทิพย์กล่าว

 

‘เกื้อกูล’ สมดุลแห่งชีวิตและการพักผ่อน

สำหรับชิ้นที่สองนั้น จรินทร์ทิพย์อยากได้งานที่มีลักษณะรูปทรงเลียนแบบความเป็นธรรมชาติ สำหรับตั้งอยู่บริเวณหน้าอาคารคอยต้อนรับผู้คนในบริเวณจุดรับส่ง โดยใช้วัสดุเป็นสเตนเลส เนื่องจากไม่ว่าเวลาจะผ่านไปเท่าไร เสน่ห์ของวัสดุก็จะยังคงอยู่ โดยงานนี้ได้ ‘พงษธัช อ่วยกลาง’ ประติมากรผู้มีผลงานมากมายเป็นผู้รับผิดชอบ 

 

โจทย์ของผลงานชิ้นนี้คือต้องเป็นประติมากรรมสเตนเลสผิวกระจกที่มีขนาดใหญ่แบบไร้รอยต่อ และด้วยสถานที่ติดตั้งอยู่บริเวณเกาะกลาง ดังนั้นการออกแบบจึงต้องมีขนาดและมิติที่พอดีให้รถสามารถเลี้ยวได้ และเมื่อได้ขนาดที่เหมาะสมก็ถึงเวลาลงมือสร้าง เนื่องจากการผลิตในเมืองไทยมีข้อจำกัดเรื่องหน้ากว้างของสเตนเลส ทำให้พงษธัชต้องนำสเตนเลสมาตีด้วยมือจนเนี้ยบที่สุดแบบไร้รอยต่อ

 

The PARQ Collection Public Art

 

ผลงานของพงษธัชใช้ชื่อว่า ‘เกื้อกูล’ ซึ่งสื่อถึงสองพลังที่เกื้อกูลกัน ได้แก่ พลังแห่งการทำงาน และพลังแห่งการใช้ชีวิต ซึ่งเปรียบได้กับพลังทั้งสองชนิดที่ต่างดำรงอยู่ได้ด้วยตัวเอง แต่ยังคงจำเป็นต้องพึ่งพิงซึ่งกันและกัน โดยลักษณะของชิ้นงานมีรูปร่างหน้าตาเหมือนดอกมันแซง ซึ่งเป็นมันประเภทหนึ่งที่พบได้ในภาคอีสาน ซึ่งมีขนาดยาวอยู่ใต้ดิน และตัวใบรูปทรงคล้ายกับศิลปะชิ้นนี้

 

“อาจจะจินตนาการได้ว่ารูปทรงของผลงานชิ้นนี้เหมือนกับใบมันแซงที่หล่นลงมา เสน่ห์ของมันคือรูปทรงของสองใบที่เกือบจะซ้อนกัน คล้ายกับมือของพระเจ้าและมือของมนุษย์ที่กำลังจะสัมผัสกัน คุณโด่งเห็นโลโก้ของ เดอะ ปาร์ค ที่เป็นตัวอักษร P และ Q กำลังจะซ้อนกัน จึงตีความเป็นแบบนี้” จรินทร์ทิพย์เผย

 

‘The Cocoon’ พื้นที่สงบเล็กๆ สำหรับหลบหลีกความวุ่นวาย

ส่วนงานชิ้นที่สามนั้น จรินทร์ทิพย์ระบุว่า อยากได้งานที่กลมกลืนไปกับสภาวะแวดล้อม และสื่อถึงธรรมชาติกับมนุษย์ที่อยู่ร่วมกันอย่างลงตัว ด้วยความที่โครงการฯ มีพื้นที่สวนลอยฟ้าบริเวณชั้น 3 จึงมองหางานศิลป์ที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน ช่วยสร้างความผ่อนคลาย โดยเฉพาะคนทำงาน ในช่วงพักสั้นๆ ระหว่างวัน

 

ผู้รับผิดชอบงานนี้คือ ‘สนิทัศน์ ประดิษฐ์ทัศนีย์’ แห่งสนิทัศน์ สตูดิโอ ซึ่งเป็นภูมิสถาปนิกที่มีความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ อีกทั้งยังเป็นศิลปินที่เน้นการทำงานที่เกี่ยวข้องกับ ‘Space’ ที่หมายถึงพื้นที่ข้างในและข้างนอก ทั้งในเชิงรูปธรรมและนามธรรม

 

งานศิลปะชิ้นนี้ใช้ชื่อว่า ‘The Cocoon’ ซึ่งทำหน้าที่เป็นพื้นที่สงบเล็กๆ ใจกลางเมืองสำหรับหลบหลีกความวุ่นวาย ให้ผู้ที่ผ่านไปมาได้แวะพักผ่อนหย่อนใจในระหว่างวัน โดยดีไซน์ได้รับแรงบันดาลใจจากรังไหมที่ห่อหุ้มและปกป้องดักแด้ที่อยู่ภายใน

 

The PARQ Collection Public Art

 

ผลงานชิ้นนี้ต้องการสื่อถึงเมืองและธรรมชาติ ซึ่งแม้จะมีความแตกต่างกัน แต่กลับสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างลงตัว ผิวของผลงานทำจากสเตนเลส เพื่อสะท้อนภาพธรรมชาติโดยรอบ และในขณะเดียวกันก็เป็นการนำธรรมชาติเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของสภาพแวดล้อมที่มนุษย์สร้างขึ้น รวมถึงเมื่อสายลมพัดมากระทบ ชิ้นงานจะมีเสียงกระดิ่งคลอเบาๆ ลอดออกมา 

 

‘งานศิลปะ’ ที่มีเบื้องหลังเป็น ‘เทคโนโลยี’

สำหรับอีกสองผลงานของ ‘เดอะ ปาร์ค คอลเลคชั่น’ เป็นฝีมือรังสรรค์ของ Studio Drift ศิลปินจากอัมสเตอร์ดัม ซึ่งคาดว่าจะติดตั้งเสร็จพร้อมให้รับชมอย่างเต็มรูปแบบ (Full Collection) ภายหลังจากสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายในช่วงไตรมาสแรกของปี 2564 

 

ถึงจะไม่สามารถเปิดเผยดีไซน์ได้ เพราะอยากให้ทุกคนเห็นพร้อมกันเมื่อการติดตั้งชิ้นงานเสร็จสิ้น แต่จรินทร์ทิพย์ก็ทิ้งน้ำจิ้มเล็กๆ ไว้ว่า งานทั้งสองชิ้นจะเป็นศิลปะที่นำเทคโนโลยีเข้ามาเกี่ยวข้อง ด้วยอาคารของเดอะ ปาร์ค ออกแบบโดยอาศัยเทคโนโลยีมากมายเข้ามาใช้เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตของผู้คน จึงอยากได้งานศิลปะที่ผสมผสานเทคโนโลยี แต่ยังให้ความรู้สึกเป็นงานศิลปะอยู่ ซึ่งผลงานของ Studio Drift นับว่าตอบโจทย์เป็นอย่างมาก 

 

“Studio Drift เป็นศิลปินชาวเนเธอร์แลนด์ที่โด่งดังมาก และเป็นศิลปินที่มีแนวคิดตรงกับ เดอะ ปาร์ค จุดเด่นของ Studio Drift คือเป็นศิลปินที่ทำงานศิลปะโดยใช้เทคโนโลยีเป็นองค์ประกอบทุกชิ้น โดยงานทุกชิ้นมีระบบสมองกล วิศวกรรม และการคำนวณอยู่เบื้องหลังเสมอ อีกทั้งประเด็นที่ทางศิลปินสนใจล้วนเกี่ยวข้องกับปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ ที่สำคัญคืองานที่จะถูกนำมาติดตั้งเป็นส่วนหนึ่งของ เดอะ ปาร์ค คอลเลคชั่นนี้ ยังถือเป็นงานศิลปะชิ้นแรกของ Studio Drift ที่ติดตั้งถาวรในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย”

 

ศิลปะไม่ใช่เรื่องที่เข้าถึงยาก 

จรินทร์ทิพย์ย้ำว่า ไม่อยากให้คนมองศิลปะเป็นเรื่องที่เข้าใจยาก แต่เป็นเรื่องของปัจเจกที่แล้วแต่ว่าใครจะชอบ และทำความเข้าใจอย่างไร ในฐานะหัวหน้าภัณฑารักษ์ของโครงการ เดอะ ปาร์ค แล้ว จรินทร์ทิพย์มองว่าหน้าที่ของศิลปะที่ดีคือช่วยจรรโลงบรรยากาศให้ดูสวยงาม และสร้างบทสนทนา แต่ถ้าหากใครต้องการทำความเข้าใจเกี่ยวกับงานศิลปะบางอย่าง นั่นคือคำตอบที่ศิลปินแฝงเอาไว้

 

The PARQ Collection Public Art

 

“อยากให้มองความงามเป็นเรื่องปัจเจก จะชอบหรือไม่ชอบ จะว่าสวยหรือไม่สวยนั้นแล้วแต่คนมอง แต่อย่างน้อยคนที่ได้สัมผัสกับศิลปะเหล่านี้ทุกวันจะรู้สึกเริ่มคุ้นชินกับมัน ในฐานะส่วนหนึ่งในชีวิตประจำวัน สิ่งที่ เดอะ ปาร์ค ต้องการจะทำคือ ลดทอนแนวคิดที่ว่าศิลปะคือเรื่องแปลกปลอม และเชื่อว่าถ้าหากศิลปะจะช่วยจุดประกาย สร้างบทสนทนา มันก็เป็นไปตามระดับขั้นของมัน

 

“สำหรับศิลปะนั้น หน้าที่ในเบื้องต้นของมันเลยก็คือเห็นแล้วสวยงาม โดยเฉพาะอย่าง เดอะ ปาร์ค คอลเลคชั่น ที่เราตั้งใจสร้างสรรค์ออกมาให้ผู้ที่พบเห็นรู้สึกสงบ ผ่อนคลาย มีความสุข ทำให้พื้นที่มีชีวิตชีวาขึ้นมา เพียงเท่านี้ก็เท่ากับประสบความสำเร็จเบื้องต้นแล้ว และถ้าหากผลงานเหล่านี้มันทำให้เกิดบทสนทนาขบคิดขึ้นมา ก็ถือว่าประสบความสำเร็จมากขึ้น

 

“ที่สุดแล้ว เราอยากให้คนคุ้นชินกับงานศิลปะ และมองว่ามันไม่ใช่ของไกลตัว แต่เป็นของที่อยู่ในชีวิตประจำวันของเรา เรามีสิทธิ์ที่จะเข้าใจหรือตีความมันอย่างไรก็ได้ ตามประสบการณ์หรือความรู้สึกของเรา นั่นคือหน้าที่ของงานศิลปะ และในอนาคตก็ฝันอยากให้เราได้มีโอกาสสัมผัสศิลปะดีๆ โดยที่ไม่ต้องมีรั้วกั้นมากขึ้น” จรินทร์ทิพย์กล่าว

 

สนับสนุนงานศิลปะในทุกรูปแบบ

ในฐานะที่ ‘เดอะ ปาร์ค’ ให้ความสำคัญกับงานศิลปะถึงขนาดที่ตั้ง ‘แผนก Art & Culture’ ขึ้นมาโดยเฉพาะ ที่นี่จึงเป็นสถานที่พร้อมสนับสนุนงานศิลปะในทุกรูปแบบ 

 

โดยล่าสุด เดอะ ปาร์ค ได้เป็นผู้สนับสนุนหลักของงาน ‘บางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ 2020 (Bangkok Art Biennale)’ เทศกาลศิลปะนานาชาติร่วมสมัยที่หลายคนตั้งตาคอย โดยจัดสรรบริเวณของโครงการฯ ให้เป็นพื้นที่จัดแสดงผลงานจากศิลปินชื่อดังทั้งชาวไทยและต่างประเทศ ตั้งแต่วันที่ 12 ตุลาคม 2563 ไปจนถึง 31 มกราคม 2564

 

นอกจากนี้ในระหว่างวันที่ 14-15 พฤศจิกายน ที่ผ่านมา ยังมีการจัดกิจกรรม ‘Art in The PARQ’ ซึ่งมีทั้งอาร์ต เวิร์กช็อป และการจัดนิทรรศการ ‘Balancing Your Life’ ที่จัดแสดงภาพวาดแอ็บสแตรกต์สีสันสดใส ภายใต้แนวคิดการเพิ่มสมดุลแห่งชีวิต พร้อมกับเวิร์กช็อปสุดพิเศษโดย ป๊อด-ธนชัย อุชชิน

 

สิ่งที่เกิดขึ้นทั้งหมดนี้ทำให้ ‘เดอะ ปาร์ค’ ไม่ใช่แค่อาคารสำนักงานและพื้นที่รีเทล แต่เป็นสถานที่แห่งการค้นหาแรงบันดาลใจ และความคิดสร้างสรรค์สำหรับทุกคน

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

FYI

การให้คุณค่าแก่ศิลปะเมื่อรวมกับการพัฒนาโครงการด้วยแนวคิดความยั่งยืน อันประกอบด้วยการดูแลสิ่งแวดล้อมของอาคารตามมาตรฐาน LEED และการส่งเสริมสุขภาพที่ดีของผู้ใช้อาคารตามมาตรฐาน WELL ทำให้ เดอะ ปาร์ค เป็นโครงการที่ได้รับการรับรอง Pre-WELL Certification และกำลังมุ่งสู่การคว้าทั้งมาตรฐาน WELL และ LEED Gold v4 เป็นโครงการแรกในเมืองไทย

 

โดย LEED: Leadership in Energy and Environmental Design เป็นระบบการจัดเรตติ้งที่คิดขึ้นโดยสภาการก่อสร้างอาคารสีเขียวแห่งสหรัฐอเมริกา (United States Green Building Council-USGBC) เพื่อประเมินผลงานด้านสิ่งแวดล้อมของอาคาร และส่งเสริมวงการให้เปลี่ยนผ่านไปสู่การออกแบบที่ยั่งยืน 

 

ส่วน WELL: มาตรฐานอาคาร WELL เป็นมาตรฐานระดับสูงสุดที่ใช้กับอาคาร การออกแบบพื้นที่ภายในและชุมชน กำหนดมาตรฐานโดยสถาบัน International WELL Building Institute ซึ่งตั้งอยู่ที่วอชิงตัน ดี.ซี. เพื่อมุ่งเน้นให้เกิดการออกแบบส่วนประกอบเพื่อการใช้งาน สร้างให้เกิดความสมบูรณ์ และการวัดผลที่สนับสนุน และพัฒนาสุขภาพและสวัสดิภาพของมนุษย์

 

ติดตามข่าวสารและกิจกรรมอัพเดทจาก The PARQ ได้ที่ Theparq.com

  • LOADING...

READ MORE





Latest Stories

Close Advertising