×

วิมานหนาม (พ.ศ. 2567) ดินแดนแห่งโอกาสและเสรีภาพ…ที่ขัดสนฝืดเคือง

23.08.2024
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • ช่วงเวลาที่เอร็ดอร่อยของ วิมานหนาม และต้องปรบมือให้คนเขียนบท ได้แก่ตอนที่ต่างฝ่ายต่างเล่นสงครามประสาทแย่งชิงผลประโยชน์ด้วยไหวพริบและสติปัญญา ตลอดจนการเล่นเล่ห์เพทุบายของแต่ละคนเท่าที่มันเอื้ออำนวย และภาวนาว่าข้อด้อยของตัวเองจะไม่ถูกนำมาลำเลิกเบิกประจาน 
  • กรณีของ ทองคำ (เจฟ ซาเตอร์) ก็ได้แก่โดยนิตินัย เขากลายเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยในบ้านที่เขาสร้างขึ้นมากับมือ กรณีของ โหม๋ (อิงฟ้า วราหะ) คือคนนอกครอบครัวผู้ซึ่งลงทุนเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้ แสง (สีดา พัวพิมล) ‘แม่บุญธรรม’ ด้วยหวังว่าลึกๆ มันจะเป็นใบเบิกทางนำพาให้เธอมีศักดิ์และสิทธิ์ในฐานะทายาทคนถัดไป (มองในแง่นี้ เธอก็เวอร์ชันบ้านๆ ของตัวละคร มุ่ย จาก หลานม่า นั่นเอง)
  • ขณะที่แม่แสง ผู้ซึ่งพาตัวเองมาประดิษฐานเป็นการถาวร ณ บ้านของลูกชายที่ไม่อยู่แล้ว วาระซ่อนเร้นของเธอในฐานะหญิงชราทุพพลภาพก็ไม่ได้ซับซ้อน แค่มีคนช่วยทำสวนทุเรียน ซึ่งจะทำให้เกิดดอกผลและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจกับตัวเธอ และมีคนที่คอยปรนนิบัติพัดวี รวมถึงพาไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาล เท่านี้ก็แฮปปี้แล้ว

 

สำนวนหรือคำพังเพยหนึ่งที่เรามักได้ยินอยู่เรื่อยๆ โดยเฉพาะเวลานักการเมืองอภิปรายนโยบายที่ผิดพลาดของฝ่ายตรงข้าม สามารถนำมาใช้อธิบายต้นสายปลายเหตุของสิ่งที่บอกเล่าในหนังดราม่าเขย่าขวัญเรื่อง วิมานหนาม ผลงานกำกับที่เข้มข้น เผ็ดร้อน และจัดจ้านของ นฤเบศ กูโน (ซีรีส์ แปลรักฉันด้วยใจเธอ) ได้เหมือนกัน หรือพูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ความฉิบหายวายป่วงที่ใหญ่โตและบานปลายมากขึ้นเรื่อยๆ ก็เป็นผลพวงมาจากการ ‘กลัดกระดุมเม็ดแรกผิด’ นั่นเอง และการเริ่มต้นที่ผิดพลาดก็ไม่มีวันนำพาไปสู่จุดหมายปลายทางที่เหมาะควรหรือถูกต้อง

 

ข้อที่น่าครุ่นคิดต่อเนื่องก็คือ ความผิดพลาดหรือจะเรียกว่าบิดเบี้ยวก็ได้ ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะในโลกของหนังเพียงลำพัง แต่มันกลับส่องสะท้อนให้คนดูได้เห็นความเป็นจริงของโลกหรือสภาพแวดล้อมที่พวกเราอาศัยอยู่ด้วยเช่นกัน และไม่ว่าผู้สร้างตั้งใจจะให้หนังไปไกลถึงขนาดนั้นหรือไม่อย่างไร บทบาทสำคัญของหนังเรื่องนี้ก็นับเป็นทั้งการวิพากษ์วิจารณ์และอุทาหรณ์ที่แยบยล

 

 

ปมเรื่องของ วิมานหนาม ก็เป็นอย่างที่หนังตัวอย่างสาธยายไว้อย่างดึงดูดและเรียกน้ำย่อยของคนดูทีเดียว คู่รักชายรักชาย อันได้แก่ ทองคำ (เจฟ ซาเตอร์) และ เสกสรร (พงศกร เมตตาริกานนท์) ทุ่มเทหยาดเหงื่อแรงกายประคบประหงมและฟูมฟักสวนทุเรียนขนาดใหญ่ กระทั่งถึงเวลาที่พวกเขาจะได้เก็บเกี่ยวผลผลิตและสร้างเม็ดเงินเป็นกอบเป็นกำสักที ซึ่งนั่นหมายถึงการได้ลงหลักปักฐานในแง่ของความสัมพันธ์อย่างจริงจัง และในช่วงเวลาที่กฎหมายสมรสเท่าเทียมยังไม่เกิดขึ้นตามท้องเรื่อง การที่ทองคำใช้ทุนรอนส่วนตัวทั้งหมดไปช่วยไถ่โฉนดที่ดินซึ่งเสกสรรในฐานะเจ้าของกรรมสิทธิ์ไปจำนองเอาไว้ ให้กลับมาเป็นของฝ่ายหลังอย่างเต็มภาคภูมิ ก็เปรียบได้กับทะเบียนสมรสของทั้งสองคน คนดูถึงกับได้เห็นว่ามันถูกใส่กรอบแขวนไว้ในฐานะวัตถุพยานของความรัก

 

แต่เรื่องที่เริ่มต้นด้วยบรรยากาศที่อ่อนหวานและชวนฝันเหมือนเทพนิยายก็แปรเปลี่ยนไปเป็นดราม่าแย่งชิงกรรมสิทธิ์ของบ้านและที่ดิน หลังจากที่เสกสรรประสบอุบัติเหตุเสียชีวิตกะทันหัน เพราะก็อย่างที่ข้อมูลในเทรลเลอร์บอกไว้ตรงๆ กฎหมายไม่รองรับความสัมพันธ์ของเสกสรรและทองคำ อันส่งผลให้มรดกทั้งหมดของผู้วายชนม์ตกทอดเป็นของ แสง (สีดา พัวพิมล) แม่ของเสกสรร ผู้ซึ่งในตอนที่เราพบตัวละครนี้ เธอเป็นหญิงสูงวัยที่ถูกจองจำไว้กับรถเข็น (จากอุบัติเหตุระหว่างที่เธอตรากตรำงานหนัก) ไปไหนมาไหนไม่ได้ด้วยตัวเอง และต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจาก โหม๋ (อิงฟ้า วราหะ) ลูกสาวที่ไม่ใช่หน่อเนื้อเชื้อไขที่แท้จริง

 

 

ว่าไปแล้ว ‘ดราม่า’ อาจเป็นคำที่เบาไปสักหน่อย และไม่สะท้อนสถานการณ์ตามที่มันเกิดขึ้นจริง พูดไม่อ้อมค้อม เนื้อแท้ก็คือสงครามสามฝ่ายที่ไม่เพียงแค่ทวีความเข้มข้น แต่ยังนำไปสู่การเผชิญหน้าแบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน และเหนืออื่นใด ไม่มีใครยอมลดราวาศอกให้แก่กัน ประโยคหนึ่งที่อาจใช้สรุปสถานการณ์ที่ชี้ชวนให้คนดูมองเห็นเงื้อมเงาของหายนะที่เฝ้าคอยอยู่เบื้องหน้าก็คือตอนที่ทองคำตะโกนสุดเสียง “ถ้ากูไม่ได้ มึงก็ต้องไม่ได้อะไรทั้งนั้น”

 

ไหนๆ ก็ไหนๆ ช่วงเวลาที่เอร็ดอร่อยของหนังและต้องปรบมือให้คนเขียนบท ได้แก่ตอนที่ต่างฝ่ายต่างเล่นสงครามประสาทแย่งชิงผลประโยชน์ด้วยไหวพริบและสติปัญญา ตลอดจนการเล่นเล่ห์เพทุบายของแต่ละคนเท่าที่มันเอื้ออำนวย ด้วยแต้มต่อและความได้เปรียบ และด้วยการคุ้ยเขี่ยจุดอ่อนของฝ่ายตรงข้าม (ซึ่งก็มองเห็นโต้งๆ) ให้กลายเป็นบาดแผลพุพอง และภาวนาว่าข้อด้อยของตัวเองจะไม่ถูกนำมาลำเลิกเบิกประจาน ซึ่งในกรณีของทองคำก็ได้แก่โดยนิตินัย เขากลายเป็นเพียงผู้อยู่อาศัยในบ้านที่เขาสร้างขึ้นมากับมือ ในกรณีของโหม๋ก็คล้ายคลึงกัน คนนอกครอบครัวผู้ซึ่งลงทุนเช็ดขี้เช็ดเยี่ยวให้ ‘แม่บุญธรรม’ ด้วยหวังว่าลึกๆ แล้ว มันจะเป็นใบเบิกทางนำพาให้เธอมีศักดิ์และสิทธิ์ในฐานะทายาทคนถัดไป (มองในแง่นี้ เธอก็เวอร์ชันบ้านๆ ของตัวละคร มุ่ย จาก หลานม่า นั่นเอง)

 

ขณะที่แม่แสงผู้ซึ่งพาตัวเองมาประดิษฐานเป็นการถาวร ณ บ้านของลูกชายที่ไม่อยู่แล้ว วาระซ่อนเร้นของเธอในฐานะหญิงชราทุพพลภาพก็ไม่ได้ซับซ้อน แค่มีคนช่วยทำสวนทุเรียน ซึ่งจะทำให้เกิดดอกผลและความมั่งคั่งทางเศรษฐกิจกับตัวเธอ และมีคนที่คอยปรนนิบัติพัดวี รวมถึงพาไปทำกายภาพบำบัดที่โรงพยาบาล เท่านี้ก็แฮปปี้แล้ว

 

 

ส่วนที่ยิ่งทำให้สถานการณ์คุกรุ่นเดือดพล่านก็ตรงที่ต่างฝ่ายก็อ่านหน้าไพ่ของกันและกันออก และเกทับบลัฟฟ์แหลกไปเรื่อยๆ และมันเป็นเรื่องของเวลาว่าช้าหรือเร็วเท่านั้นที่ใครสักคนจะทนแรงเสียดทานไม่ไหวและ ‘ทิ้งโง่’ ลงมา

 

แต่ก็นั่นแหละ พลังดราม่าของหนังก็ยังปะทุมาจากสองส่วน หนึ่งก็คือกลไกทางด้านหนังที่ถูกใช้ประโยชน์อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ดนตรีประกอบของหนังทำงานกับจิตใต้สำนึกของคนดูอย่างเจ้าเล่ห์แสนกล ขณะที่ลูกเล่นทางด้านภาพในหลายช่วงก็บอกในสิ่งที่ผู้สร้างไม่ต้องบอกให้ตัวละครพูดออกมาตรงๆ ถ้าจำไม่ผิด ฉากหนึ่งที่น่าทึ่งมากๆ ก็คือเหตุการณ์ช่วงท้ายเรื่องที่คู่แม่เลี้ยง-ลูกเลี้ยงไม่หลงเหลือวาระซ่อนเร้นให้ต้องกระมิดกระเมี้ยนอีกต่อไป และอีกนิดเดียวทั้งสองก็น่าจะพากันไปถึงจุดที่แก้ไขไถ่ถอนอะไรไม่ได้ ทว่าการเลือกใช้ภาพ (แทนสายตาตัวละคร) จากระยะไกลในจังหวะหนึ่งก็เหมือนกับให้เงื่อนงำกับคนดูทำนองว่า ท่ามกลางการต่อสู้ขับเคี่ยวแบบเลือดเข้าตาและสุดขีดคลั่ง ทั้งสองก็ยังพอจะหลงเหลือความเป็นมนุษย์มนาให้มองเห็นได้อยู่บ้าง

 

 

อีกส่วนหนึ่งที่ไม่เอ่ยถึงไม่ได้ก็คือการแสดง ฉากระเบิดอารมณ์ใส่กันของทั้ง เจฟ ซาเตอร์ และโดยเฉพาะ อิงฟ้า วราหะ ตอกย้ำสภาวะจนตรอกของตัวละครอย่างน่าสมเพชเวทนาจริงๆ และทั้งสองถ่ายทอดบทบาทได้คล่องแคล่วช่ำชองราวกับพวกเขาเล่นหนังกันมาคนละหลายเรื่อง ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงก็คือนี่เป็นผลงานปฐมฤกษ์ (ถ้าไม่นับละครโทรทัศน์ของอิงฟ้าและซีรีส์ของเจฟ) แต่ก็นั่นแหละ กลายเป็นว่าแอ็กติ้งเนิบนาบและแฝงไว้ด้วยเลศนัยของ สีดา พัวพิมล กลับช่วงชิงแสงจากสปอตไลต์ไปครอง ข้อน่าสังเกตก็คือ แม่แสงเป็นตัวละครที่คนดูแทบไม่ได้คลุกคลีตีโมง และยิ่งเวลาผ่านพ้นไป เราได้แต่สงสัยว่าตรงไหนคือตัวตนที่แท้จริง และตรงไหนคือมารยาสาไถยของตัวละคร โดยเฉพาะฉากที่เราได้เห็นเธอร้องไห้คร่ำครวญถึงลูกชายปิ่มว่าจะขาดใจ (ซึ่งก็คงจะเป็นความรู้สึกจริงๆ นั่นแหละ) แต่อีกไม่กี่อึดใจถัดมา เธอก็เปิดฉากเจรจาเรื่องทรัพย์สมบัติกับทองคำด้วยท่าทีและน้ำเสียงที่เรียบเฉย และร่องรอยความโศกเศร้าที่เห็นก่อนหน้าก็มลายหายไปในพริบตา

 

หรือจริงๆ แล้ว อีกคนหนึ่งที่ควรพูดถึงก็คือ หฤษฎ์ บัวย้อย ในบท จิ่งนะ น้องชายของโหม๋ ผู้แทบจะไม่ได้มีส่วนได้ส่วนเสียในเกมแย่งชิงผลประโยชน์ และการแสดงในแบบเก็บงำความรู้สึกของเขาก็อาจเล็ดลอดเรดาร์ของคนดูในเบื้องต้น แต่สุดท้าย มันกลับกลายเป็นหมัดฮุกทรงพลัง โดยเฉพาะห้วงเวลาที่คนดูพบว่าตัวละครนี้ลงเอยในสภาพของเหยื่อเคราะห์ร้ายในสมรภูมิ

 

 

สมมติว่าถ้าจะย้อนกลับไปตอบคำถามที่จั่วไว้ข้างต้นเรื่องการกลัดกระดุมเม็ดแรกที่ผิดพลาด จริงๆ มันไม่ใช่เพียงแค่เรื่องกฎหมายสมรสเท่าเทียมที่เกิดช้าไปหน่อยเท่านั้น แต่สมุฏฐานของโรคร้ายทั้งหมดจากที่หนังบอกเล่าเป็นผลพวงมาจากสังคมที่เหลื่อมล้ำและไม่ยุติธรรม และการได้เห็นตัวละครที่ดิ้นรนกระเสือกกระสนทุกวิถีทางแย่งชิงผลประโยชน์ ซึ่งว่าไปแล้วไม่ได้เป็นทรัพย์สมบัติที่มากมายมหาศาลแต่อย่างใด ก็ยิ่งทำให้มองเห็นว่าสภาวะสิ้นไร้ไม้ตอกของตัวละครเป็นเรื่องน่าห่อเหี่ยวสิ้นหวังทีเดียว (คำถามต่อเนื่องก็คือ แล้วเค้กผลประโยชน์ก้อนมหึมาของประเทศนี้ไปตกอยู่ในมือใคร) ฉากเล็กๆ ที่แม่ของทองคำโทรศัพท์ทางไกลจากไต้หวัน เกลี้ยกล่อมให้ลูกชายไปเริ่มต้นชีวิตใหม่ ณ ที่แห่งนั้น ก็น่าจะบอกอะไรๆ เกี่ยวกับสภาวะที่ขาดแคลนทั้งโอกาสและความเป็นไปได้ในดินแดนบ้านเกิดเมืองนอนของตัวละครได้เป็นอย่างดี หรือกล่าวโดยไม่เปิดเผยเนื้อหาจนเกินไป ภาวะอับจนหนทางของโหม๋ก็เป็นเรื่องคล้ายๆ กัน 

 

แต่ครั้นจะบอกว่าทุกคนในเรื่องล้วนทุกข์ทรมานกับชีวิตที่ไม่มีทางเลือก หนังก็ดันใส่ตัวละครหนึ่งที่คนดูแทบจะจำชื่อไม่ได้เข้ามา สถานะของเขาเป็นข้าราชการท้องถิ่นที่โหม๋ได้พบเจอและชอบพอในงานเซิ้งบุญบั้งไฟ ทั้งสองลงเอยด้วยการตกล่องปล่องชิ้น เหตุผลของการสมรักสมรสก็ไม่ได้สลับซับซ้อนมากไปกว่าการที่โหม๋ต้องการซื้อความมั่นคง เพราะก็อย่างที่รู้กันและถือเป็นค่านิยมของสังคมไทยว่า ข้าราชการเป็นอาชีพที่หลวงเลี้ยงจนตาย ทั้งเรื่องสวัสดิการ บำเหน็จ บำนาญ และค่ารักษาพยาบาล จริงๆ แล้ว คนดูถึงกับได้ยินใครคนหนึ่งพูดประโยคดังกล่าวนี้ออกมาตรงๆ ทั้งหลายทั้งปวงยังไม่ต้องเอ่ยถึงพฤติการณ์ฉกฉวยและเอารัดเอาเปรียบโดยอาศัยสถานะที่อยู่สูงกว่าของตัวละครนี้

 

 

หรือพูดให้สะเด็ดน้ำ รูปโฉมของความเหลื่อมล้ำและไม่เสมอภาคและเท่าเทียมก็มีหน้าตาเป็นเช่นนี้นี่เอง คนที่ได้เปรียบและมีสิทธิพิเศษก็เอ็นจอยความมั่งคั่งฟุ่มเฟือย และเวลาล้มลงก็มักจะมีฟูกนุ่มๆ รองรับ ขณะที่ผู้คนอีกนับไม่ถ้วนที่แทบจะไม่มีหลักประกันและความมั่นคงใดๆ ก็ใช้ชีวิตในสภาพที่เหมือนกับถูกหนามแหลมของทุเรียนทิ่มแทงตลอดเวลา 

 

โดยอัตโนมัติ ชื่อหนัง วิมานหนาม ก็ไม่ได้หมายถึงสวนทุเรียนทางภาคเหนือของตัวละครอีกต่อไป แต่มันคือวิบากกรรมของคนด้อยโอกาสทั้งในทางเศรษฐกิจ สังคม และการเมือง ซึ่งต้องใช้ชีวิตแบบปากกัดตีนถีบ กินน้ำใต้ศอก และด้วยความยากแค้นลำเค็ญอยู่ทั่วทั้งแผ่นดิน

 


 

วิมานหนาม (พ.ศ. 2567)

กำกับ: นฤเบศ กูโน

ผู้แสดง: เจฟ ซาเตอร์, อิงฟ้า วราหะ, สีดา พัวพิมล, หฤษฎ์ บัวย้อย

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X
Close Advertising