×

The Other Side Of The Wind (2018) สายลมแห่งการสั่งลา

23.11.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

6 Mins. Read
  • หนังเรื่อง The Other Side of the Wind เป็นผลงานกำกับ ‘เรื่องสุดท้าย’ ของออร์สัน เวลส์ ซึ่งใช้เวลากว่าจะออกฉายสู่สายตาของสาธารณชน รวมแล้วไม่น้อยกว่า 48 ปี
  • ออร์สัน เวลส์ เป็นคนทำหนังบรมครู ผลงานบันลือโลกของเขา (และเป็นผลงานเรื่องแรกขณะอายุเพียงแค่ 26 ปี) ได้แก่ Citizen Kane (1941) หนังที่ใครๆ พากันยกย่องว่าเป็นหนังที่สำคัญที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก

หนังเรื่อง The Other Side of the Wind เป็นผลงานกำกับ ‘เรื่องสุดท้าย’ ของออร์สัน เวลส์ ซึ่งใช้เวลาเดินทางจากไอเดียอันสุดแสนพิลึกพิลั่นของคนทำหนัง ผ่านความยุ่งยากนานัปการ ตั้งแต่การหาคนออกเงินให้สร้าง การหยุดชะงักของโปรเจกต์ครั้งแล้วครั้งเล่า ข้อขัดแย้งในทางกฎหมาย การหวนกลับมารื้อฟื้นกระบวนการอีกครั้ง จนกระทั่งทุกอย่างจบสิ้น และสามารถนำออกฉายสู่สายตาของสาธารณชน สิริแล้วไม่น้อยกว่า 48 ปี หรือภายหลังจากออร์สัน เวลส์ ลาโลกนี้ไปแล้วเกินกว่าสามทศวรรษ นั่นยังไม่นับบรรดานักแสดงและทีมงานอีกจำนวนมากที่สิ้นอายุขัยไปด้วยเช่นกัน

 

รอบปฐมทัศน์โลกของ The Other Side of the Wind ได้เแก่ เทศกาลหนังนานาชาติเวนิส ครั้งที่ 75 ช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านไป (ทั้งที่จริงๆ แล้วควรจะเป็นเทศกาลหนังนานาชาติเมืองคานส์ในเดือนพฤษภาคม หากไม่เกิดข้อขัดข้องระหว่างคนจัดงานกับเน็ตฟลิกซ์ในฐานะผู้จัดจำหน่าย) และล่าสุด หรือในช่วงต้นเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ผู้ชมทั้งโลกก็สามารถยลโฉมหนังเรื่องนี้ผ่านช่องทางสตรีมมิงอันโด่งดังอย่างพร้อมเพรียง

 

 

กระนั้นก็ตาม สำหรับนักดูหนังรุ่นใหม่ การตั้งคำถามว่าหนังเรื่อง The Other Side of the Wind สำคัญอย่างไร อาจจะยังไม่ใช่เรื่องจำเป็นเร่งด่วนเท่ากับการถามว่า ออร์สัน เวลส์ เป็นใคร

 

พูดอย่างกะทัดรัด ออร์สัน เวลส์ เป็นคนทำหนังบรมครู ผลงานบันลือโลกของเขา (และเป็นผลงานเรื่องแรกขณะอายุเพียงแค่ 26 ปี) ได้แก่ Citizen Kane (1941) หนังที่ใครๆ พากันยกย่องว่าเป็นหนังที่สำคัญที่สุดและยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก นักเรียนหนังทุกคนต้องรู้จักและเคยดู และคนทำหนังจากทั่วทุกสารทิศ ตั้งแต่ สแตนลีย์ คูบริก, สตีเวน สปีลเบิร์ก, มาร์ติน สกอร์เซซี, เควนติน ทารันติโน, พี่น้องโคเอน, เดวิด ฟินเชอร์, คริสโตเฟอร์ โนแลน, เวส แอนเดอร์สัน, มิเชล ฮานาวิเชียส และอีกนับไม่ถ้วน ล้วนแล้วได้รับอิทธิพล และหยิบยืมบางฉากมาแสดงความคารวะไม่ทางตรงก็ทางอ้อม

 

แต่ในทางกลับกัน หนังเรื่อง Citizen Kane ก็กลายเป็นเสมือนคำสาปแช่งสำหรับออร์สัน เวลส์ ด้วยเช่นกัน เพราะไม่ว่าเขาจะทำหนังเรื่องอะไรหลังจากนี้ และว่ากันตามจริง งานสำคัญของเขาก็มีอยู่ไม่น้อย (The Magnificent Ambersons, The Lady from Shanghai, Touch of Evil) จนแล้วจนรอดก็มักจะถูกนำไปเทียบเคียงกับหนังเรื่อง Citizen Kane และนั่นยังไม่ต้องเอ่ยถึงความสัมพันธ์ระหว่างเขากับสตูดิโอนับจาก Citizen Kane ที่เริ่มระหองระแหงและฝืดเคือง อันเนื่องจากกิตติศัพท์ของการเป็นคนทำหนังที่ควบคุมไม่ได้ เวลส์ลงเอยด้วยการทำหนังน้อยลง หรือจริงๆ แล้วแทบไม่มีสตูดิโอแห่งไหนยอมออกเงินให้เขาทำหนังอีกต่อไป และในกรณีที่โอกาสอันริบหรี่นั้นมาเยือน สิทธิพิเศษในการเป็นเจ้าของความคิดสร้างสรรค์ของหนังทั้งหมดเหมือนกับที่เขาเคยได้รับตอนทำ Citizen Kane ก็ถูกเพิกถอน หรือบางที-ต้องใช้คำว่าทรยศหักหลัง กระทั่งเวลส์ต้องอัปเปหิตัวเองไปทำหนัง และแสดงหนังในยุโรปเป็นเวลายาวนาน

 

 

The Other Side of the Wind เป็นความพยายามหวนกลับมาทำหนังในฮอลลีวูดอีกครั้ง และสถานการณ์ในช่วงราวๆ ปี 1970 ก็นับได้ว่าเอื้ออำนวย เพราะศัตรูตัวฉกาจของเขา อันได้แก่ระบบสตูดิโอก็เพิ่งจะล่มสลาย อุตสาหกรรมหนัง ณ ช่วงเวลานั้นอยู่ในมือของคนรุ่นใหม่ที่หนวดเครารุงรัง ข้อสำคัญ เติบโตมากับอิทธิพลและแรงบันดาลใจของหนังเรื่อง Citizen Kane และความรู้สึกเกรงขามต่อออร์สัน เวลส์

 

แต่ก็อีกนั่นแหละ ทุกอย่างก็ไม่ได้ราบรื่นหรือโรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ เวลส์ยังคงต้องดิ้นรนหานายทุนจากทั่วทุกสารทิศ และหากจะสรุปเรื่องยุ่งยากทั้งหมดในหนึ่งหรือสองบรรทัด-ก็เป็นอย่างที่เกริ่นไว้ข้างต้น นี่เป็นหนังอีกเรื่องที่เวลส์สร้างไม่เสร็จจวบจนวาระสุดท้าย ทั้งๆ ที่เจ้าตัวดิ้นรนและผลักดันทุกวิถีทาง เผื่อเป็นข้อมูล เรื่องราวเบื้องหลังอันวุ่นวายยุ่งเหยิงได้รับการบอกเล่าในหนังสารคดีเรื่อง They’ll Love Me When I’m Dead (2018) ซึ่งออกฉายในวาระเดียวกัน

 

โดยปริยาย The Other Side of the Wind ก็เป็นอย่างที่ข้อความช่วงเปิดเรื่องของหนังระบุไว้นั่นเอง ความพยายามของบรรดาอดีตทีมงานทั้งเบื้องหน้าเบื้องหลัง (ที่เรียกตัวเองว่า ‘กลุ่มอาสาสมัครรับใช้ออร์สัน เวลส์’) ในการสานต่อเจตนารมณ์ ความปรารถนา และความฝันของออร์สัน เวลส์ ให้เป็นจริง

 

และหากจะต้องอธิบายหน้าตาของ The Other Side of the Wind อย่างกว้างๆ มันก็เป็นหนังซ้อนหนัง เล่าเรื่องที่ไม่ได้ห่างไกลจากเรื่องของออร์สัน เวลส์ สักเท่าไร คนทำหนังรุ่นลายครามที่คาดหวังจะได้หวนคืนสังเวียน ผลงานล่าสุดซึ่งสร้างยังไม่เสร็จและอยู่ในระหว่างระดมเงินทุนก้อนสุดท้ายก็ได้แก่หนังที่ใช้ชื่อว่า The Other Side of the Wind นั่นเอง

 

มองในแง่หนึ่ง เวลส์ใช้ The Other Side of the Wind เป็นช่องทางในการสื่อสารหลายสิ่งพร้อมๆ กัน ทั้งการโอดครวญและร้องขอความเห็นใจจากผู้ชม ทั้งการแสดงออกถึงความหยิ่งทระนงและอหังการในฐานะศิลปินผู้สร้างสรรค์ผลงาน ทั้งวิพากษ์วิจารณ์ความเลวร้าย และพฤติกรรมไว้เนื้อเชื่อใจไม่ได้ของระบบสตูดิโอ จนถึงเหน็บแนมและถากถางบรรดาหนังอาร์ตที่ดูไม่รู้เรื่อง (โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนังของ มิเคอันเจโล อันโตนิโอนี) และพร้อมๆ กันนั้น เราได้เห็นด้านที่อ่อนไหวเปราะบาง หรือแม้แต่จุดอ่อนและข้อบกพร่องของตัวเขาในฐานะปุถุชน

 

 

กระนั้นก็ตาม ส่วนที่เย้ยหยันอย่างถึงที่สุดก็คือ จนแล้วจนรอด หนังเรื่อง The Other Side of the Wind ก็หลีกหนีการถูกนำไปเปรียบเทียบกับ Citizen Kane ไม่ได้ เพราะในขณะที่หนังเรื่อง Citizen Kane พาคนดูย้อนกลับไปสำรวจชีวิตของอภิมหาเศรษฐี ผู้ซึ่งก่อนตายเอื้อนเอ่ยวลีปริศนา “Rosebud” ซึ่งหลายคนเชื่อว่าน่าจะช่วยไขความลับเกี่ยวกับตัวละคร และช่วยให้สาธารณชนรู้จักใครคนนี้ในแง่มุมที่ถ่องแท้มากขึ้น

 

The Other Side of the Wind ก็เปิดเรื่องด้วยความตายเช่นเดียวกัน ผ่านภาพของซากรถยนต์ที่เพิ่งประสบอุบัติเหตุอย่างชนิดวินาศสันตะโร และเสียงบรรยายเกร่ินนำของใครบางคนที่ชื่อ บรูคส์ ออตโตเลค (ปีเตอร์ บ็อกดาโนวิช) ต่อผู้วายชนม์ ซึ่งในที่นี้ได้แก่เจค ฮานาฟอร์ด (รับบทโดยจอห์น ฮุสตัน ผู้กำกับหนังชั้นครูอีกคน) คนทำหนังผู้ซึ่งภูมิหลังไม่ได้แตกต่างไปจากออร์สัน เวลส์ สักเท่าไร และเนื้อหาไม่น้อยกว่าครึ่งค่อนก็เปิดโอกาสให้ผู้ชมครุ่นคิดพินิจนึกเกี่ยวกับเจค ฮานาฟอร์ด (ในลักษณะไม่แตกต่างจากที่เราคิดถึงชาร์ลส์ ฟอสเตอร์ เคนในหนังเรื่อง Citizen Kane) ทั้งในแง่ของวิสัยทัศน์ในทางศิลปะ รูปแบบการใช้ชีวิตของตัวละคร อุปนิสัยใจคอ รสนิยมทางเพศ และเหนืออื่นใด ความสัมพันธ์ระหว่างเขากับตัวละครอย่างน้อยสองคน หนึ่งก็คือ จอห์น เดล​ (บ็อบ แรนด้อม) นักแสดงนำในหนังซ้อนหนังเรื่อง The Other Side of the Wind ผู้ซึ่งความสัมพันธ์แต่หนหลังระบุว่า ฮานาฟอร์ดเป็นคนช่วยชีวิตหนุ่มน้อยจากการฆ่าตัวตาย ทว่าการที่ฮานาฟอร์ดพยายามครอบงำและแสดงความเป็นเจ้าข้าวเจ้าของชีวิตของเดล ลงเอยด้วยการที่ฝ่ายหลังวอล์กเอาต์จากกองถ่ายกลางคัน และหายตัวไปอย่างไร้ร่องรอย อันส่งผลให้หนังอาจจะไม่เสร็จ

 

อีกคนได้แก่ออตโตเลกนั่นเอง ที่เรียกตัวเองว่าเป็นสาวกของฮานาฟอร์ดที่ประสบความสำเร็จมากที่สุด หรือพูดง่ายๆ ขณะที่ เจค ฮานาฟอร์ด ดิ้นรนกระเสือกกระสนหาเงินมาทำ The Other Side of the Wind หนังของออตโตเลกกลับเก็บกวาดรายได้เป็นกอบเป็นกำ ใครที่ติดตามเกร็ดประวัติศาสตร์ส่วนนี้ก็คงบอกได้ว่า นี่เป็นเรื่องจริงระหว่าง ปีเตอร์ บ็อกดาโนวิช ซึ่งประสบความสำเร็จจากหนังเรื่อง The Last Picture Show, Paper Moon กับออร์สัน เวลส์ ผู้ซึ่งดังที่กล่าวก่อนหน้า ไม่มีใครอยากให้เงินเขาทำหนัง มันกลายเป็นเรื่องของระยะเวลาว่าช้าหรือเร็วเท่านั้นที่สัมพันธภาพระหว่างครูและลูกศิษย์ หรือศาสดาและสาวกจะเผชิญกับการท้าทาย และข้อสำคัญ เหตุการณ์นี้ไม่ได้เกิดขึ้นในโลกของหนังเพียงอย่างเดียว ทว่าเรื่องระหว่างปีเตอร์ บ็อกดาโนวิช กับออร์สัน เวลส์ ก็จบไม่สวยเช่นเดียวกัน

 

 

น่าเชื่อว่า ใครที่ได้ดูหนังเรื่อง The Other Side of the Wind ของออร์สัน เวลส์ คงจะประสบปัญหาคล้ายๆ กัน นั่นคือดูไม่รู้เรื่อง อย่างน้อยก็ราวๆ ครึ่งชั่วโมงแรกที่เรียกได้ว่าหนังมีความกะรุ่งกะริ่ง เต็มไปด้วยชิ้นส่วนที่กระจัดกระจาย ผู้ชมจำนวนไม่น้อยน่าจะจับต้นชนปลายไม่ถูกว่าใครเป็นใคร เพราะแทบไม่มีการแนะนำตัวละครอย่างเป็นเรื่องเป็นราว แถมจำนวนของผู้คนก็เยอะจนจำไม่หวาดไม่ไหว (เดาว่าแฟนหนังคลาสสิกน่าจะรู้สึกเหมือนอยู่ในพิพิธิภัณฑ์หุ่นขี้ผึ้ง เพราะดังที่กล่าวก่อนหน้า นักแสดงจำนวนมากในหนังกลายเป็นตำนานที่ไม่มีลมหายใจไปเรียบร้อยแล้ว)

 

มิหนำซ้ำ หนังยังไม่มีสิ่งที่เรียกว่า Master Shot หรือภาพกว้างที่สถาปนาให้ผู้ชมได้รู้ว่าเรื่องเกิดที่ไหนในลักษณะเช่นใด อีกทั้งการลำดับภาพแบบรักษาความต่อเนื่องก็แทบจะหายสาบสูญไปอย่างไร้ร่องรอย นั่นยังไม่เอ่ยถึงวิธีการที่ ‘อำเภอใจ’ พอสมควร อาทิ การใช้ภาพสีสลับกับภาพขาวดำ การใช้ภาพที่เกรนหรือความละเอียดของภาพแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง การเคลื่อนกล้องอย่างวูบวาบและชวนให้งุนงงสับสน

 

แต่พูดอย่างแฟร์ๆ หนังก็ห่างไกลจากความส่งเดชและมั่วซั่ว และทั้งหลายทั้งปวงนั้นเป็นสไตล์หรือลีลาการนำเสนอของหนังที่หากใครตั้งตัวได้เร็ว ก็จะพบว่าในความอลหม่านและ ‘ทุกทิศทุกทาง’ ของหนัง มันแฝงด้วยทักษะอันเผ็ดร้อนและจัดจ้านของออร์สัน เวลส์ (ใครจะลืมฉากเซ็กซ์ซีนอันสุดแสนยั่วยุและเดือดพล่านได้) วิสัยทัศน์อันน่าพิศวงงงงวย การไม่ยอมจำนน กระทั่งขัดขืนต่อกรอบและแบบแผนการเล่าอันซ้ำซากจำเจ ข้อสำคัญ ล้ำยุคล้ำสมัย หรืออีกนัยหนึ่ง มาก่อนกาลเวลา ทั้งตอนที่หนังสร้างในช่วงทศวรรษ 1970 และตอนที่หนังออกฉาย ซึ่งก็ได้แก่ช่วงเวลาปัจจุบัน

 

สุดท้ายแล้ว คำสาปแช่งสำหรับออร์สัน เวลส์ ในฐานะคนทำหนังเรื่อง Citizen Kane คงจะไม่มีวันลบเลือน แต่ The Other Side of the Wind ก็นับเป็นผลงานระดับมาสเตอร์พีซในแบบฉบับของมัน

 

The Other Side Of The Wind (2018)

กำกับออร์สัน เวลส์ ผู้แสดงจอห์น ฮุสตัน, ปีเตอร์ บ็อกดาโนวิช, โอยา โคดาร์, ซูซาน สตราส์เบิร์ก

 

 

พิสูจน์อักษร: ลักษณ์นารา พักตร์เพียงจันทร์

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising