วันนี้ (25 เมษายน) ที่ Sasin school of Management คุณหญิงสุดารัตน์ เกยุราพันธุ์ ประธานหลักสูตร Mission We ร่วมเสวนา The Next Chapter ‘เจาะลึกบทใหม่ ในโลกใบเดิม’ โดยได้รับเกียรติจาก ดร.สุรเกียรติ์ เสถียรไทย อดีตรองนายกรัฐมนตรี และ ดร.สันติธาร เสถียรไทย นักเศรษฐศาสตร์ และคณะกรรมการนโยบายการเงิน ร่วมพูดคุยค้นหาทางออกของภาคธุรกิจในการรับมือดิสรัปชันที่เกิดขึ้นและกำลังเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว
คุณหญิงสุดารัตน์ระบุว่า ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของโลกในมิติต่างๆ ไทยจำเป็นต้องรับมือความเปลี่ยนแปลง เช่น ปัญหาสังคมผู้สูงวัยที่กระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ
เนื่องจากปัจจุบัน ประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงวัยอย่างสมบูรณ์ มีประชากรผู้สูงวัยอายุเกิน 60 ปี มากกว่า 13 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 19 ของประชากรไทย เป็นอันดับ 2 ในอาเซียนรองจากสิงคโปร์ และมีการคาดการณ์ว่าในทศวรรษนี้จะเพิ่มไปถึงร้อยละ 28 หรือประมาณ 20 ล้านคนภายใน 10 ปี
ขณะที่สัดส่วนการเกิดน้อยลงเหลือ 500,000 คนต่อปีต่อเนื่อง นับเป็นอัตราการเกิดที่ต่ำที่สุดในรอบ 71 ปี หากไม่มีการเตรียมการรับมือ ในปี 2585 ประชากรไทยอาจเหลือเพียง 30 ล้านคนเท่านั้น อีกทั้งเด็กเกิดใหม่จนถึงอายุ 15 ปี จำนวนร้อยละ 57 เกิดในครอบครัวที่ยากจน กระทบต่อพัฒนาการด้านต่างๆ ทั้งร่างกายและสมอง
ดังนั้นถึงเวลาที่ประเทศต้องแก้ปัญหาที่โครงสร้าง โดยเฉพาะผู้สูงวัยที่เผชิญกับความยากจนและปัญหาด้านสุขภาพ ทำให้ประเทศขาดกำลังซื้อ ขาดแรงงาน ขาดการศึกษาที่ดี มีผลต่อ GDP ของประเทศ จะเห็นได้จากการเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยรั้งท้ายอาเซียน ซึ่งหากผู้มีอำนาจไม่แก้ไขปัญหา และเตรียมพร้อมรับมือการลงทุนใหม่ก็จะไม่เกิดขึ้น
คุณหญิงสุดารัตน์ระบุอีกว่า เราจึงเสนอบำนาญประชาชน 3,000 บาท ซึ่งไม่ใช่นโยบายแจกเงิน แต่เป็นนโยบายที่มุ่งเน้นการแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงวัย ทำให้ผู้สูงวัยมีสุขภาพดี และกลับไปทำงานได้ เป็นกำลังสำคัญช่วยกันพัฒนาประเทศ เป็นกำลังแรงงานและกำลังซื้อที่สำคัญต่อไป
ด้าน ดร.สุรเกียรติ์ กล่าวถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลก โดยเฉพาะสถานการณ์การสู้รบในภูมิภาคต่างๆ ทั้งรัสเซีย ยูเครน อิสราเอล ฮามาส อิสราเอล อิหร่านที่มีการตอบโต้กันไปมา หรือการสู้รบในเมียนมาระหว่างรัฐบาลทหารพม่ากับชนกลุ่มน้อยต่างๆ ที่ก่อตัวจนเกิดความเข้มแข็งมากขึ้นในหลายพื้นที่ทั่วประเทศ ส่งผลกระทบต่อประเทศไทยทั้งทางตรงและทางอ้อม มีผลต่อประเทศไทยในมิติต่างๆ ไม่มากก็น้อย
จำเป็นอย่างยิ่งที่ประเทศไทยต้องเข้าใจสถานการณ์และวางบทบาทของประเทศอย่างถูกต้อง โดยยกตัวอย่างว่าการต่อสู้ในเมียนมาว่าในอดีตอาจต้องพูดคุยกับผู้นำรัฐบาลทหาร แต่ปัจจุบันเราจะต้องคุยกับใครจึงจะได้ข้อยุติและบทสรุปในเรื่องต่างๆ ทั้งนี้ท่ามกลางความขัดแย้ง ไทยต้องมีจุดยืนบนหลักการที่ถูกต้อง พูดในสิ่งที่ถูกต้อง และไม่ได้เป็นคู่ขัดแย้งของใคร
ขณะที่ ดร.สันติธาร ระบุว่า สถานะปัจจุบันของโลกมี 4 มิติที่ดุดันขึ้นคือ มิติของการเปลี่ยนแปลงด้าน AI ซึ่งนำมาสู่การขาดแคลนแรงงาน มิติด้านภูมิรัฐศาสตร์ ซึ่งจะกระทบต่อความสัมพันธ์ในภูมิภาค เศรษฐกิจโดยภาพรวม มิติการท่องเที่ยว รวมถึงปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และมิติสงครามการค้าที่ดุดันยิ่งขึ้น ล้วนเป็นปัญหาสำคัญที่ผู้มีอำนาจต้องเตรียมพร้อมรับมืออย่างจริงจัง