×

ไล่เลียงเสียง ‘อนาคตใหม่’ กับโจทย์สร้างประชาธิปไตยที่ต้องพิสูจน์ตัวตน

15.03.2018
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

7 Mins. Read
  • พรรคอนาคตใหม่ เปิดม่านการเมืองลงสนามนี้เต็มตัวด้วยการเปิดใจถึงทิศทางต่อสื่อมวลชนในวันนี้ โดยมี 26 รายชื่อผู้ก่อตั้งจากหลากหลายความเชี่ยวชาญ ประกาศสร้างประชาธิปไตยใหม่ และพร้อมสู้ทุกคะแนนเสียงอย่างเต็มที่
  • หลายถ้อยคำ หลายตัวอักษรที่ประกาศในวันนี้จะเป็นคำมั่นที่พิสูจน์ตัวตนของพวกเขา ประชาชนจะต้องร่วมกันจับตาและตรวจสอบว่าท้ายที่สุดแล้ว ‘อนาคตใหม่’ จะได้เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมดังถ้อยคำที่ประกาศต่อสาธารณชนหรือไม่

หลังเป็นกระแสข่าวอยู่ในหน้าสื่อได้ระยะหนึ่ง ในที่สุด ‘อนาคตใหม่’ คือชื่อพรรคที่ ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ และกลุ่มของเขาได้เคาะแล้วเพื่อใช้ยื่นจดแจ้งต่อคณะกรรมการการเลือกตั้งในวันนี้

 

ที่งานจิบกาแฟกับธนาธรวันนี้ บรรยากาศหนาแน่นไปด้วยทัพสื่อมวลชนที่มุ่งหน้ามายัง Warehouse 30 ณ ซอยเจริญกรุง 30 ด้วยมีนัดหมายกับ ‘ไพร่หมื่นล้าน’ และทีมของเขา ซึ่งมี ปิยบุตร แสงกนกกุล เป็นอีกหนึ่งหัวหอกสำคัญในการรวบรวมพลพรรค

 

THE STANDARD สรุปสาระสำคัญของเสียง ‘อนาคตใหม่’ ที่ได้ประกาศต่อสาธารณชนมาให้ประชาชนได้พินิจคำมั่นที่พวกเขากล้าประกาศว่าจะทำ และนั่นคือโจทย์ที่เราต้องจับตาถึงการพิสูจน์ตัวตนในก้าวต่อไป

 

 

จุดยืนสร้างสังคมประชาธิปไตยใหม่ ทวงคืนอนาคตประเทศไทย

ธนาธรประกาศในวันนี้โดยพูดถึงการสร้างสังคมประชาธิปไตยที่เป็นหัวใจหลัก และย้ำชัดเจนว่าอำนาจนอกระบบไม่สามารถที่จะเข้ามาแก้ไขได้ เพราะอนาคตใหม่คือการเชิดชูคุณค่าประชาธิปไตยและสิทธิมนุษยชน เป็นการต่อสู้เพื่อสร้างเศรษฐกิจที่ก้าวหน้า และเชื่อมั่นในศักยภาพของมนุษย์ เพราะทุกคนมีความฝันและจินตนาการ ดังนั้นทุกคนจึงมีสิทธิที่จะได้เดินตามความฝันและปกป้องความฝันตัวเองไว้

 

ขณะที่ปิยบุตรอธิบายโดยตั้งคำถามกลับไปถึงทุกคนว่า ตัวเราเองและลูกหลานจะมีอนาคตแบบใดในประเทศที่อยู่ในความขัดแย้งทางการเมืองอย่างร้าวลึกมากว่าทศวรรษในประเทศที่เกิดการรัฐประหารซ้ำซาก และนี่จึงนำมาสู่การรวมตัวกันก่อตั้งพรรคเพื่อความหวังในการกลับสู่ประชาธิปไตย เพื่อเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์สิ่งใหม่ที่ดีกว่าที่เป็นอยู่ และเพื่อปรับภูมิทัศน์การเมืองไทยให้ดีขึ้น จะทำให้ประชาชนคนไทยเห็นร่วมกันว่าเราสามารถกลับสู่การเมืองแบบประชาธิปไตยได้ ทำให้ประชาชนเห็นว่าความขัดแย้งสามารถแก้ได้ด้วยมือของพวกเขาเอง

 

“นี่คือห้วงเวลาทางประวัติศาสตร์ หากประชาชนไม่ร่วมมือกันกำหนดอนาคตของตนเองเพื่อนำพาประเทศไทยออกจากทศวรรษที่สูญหายนี้ ประเทศไทยจะเสียหายมากกว่านี้ และเราอาจไม่มีโอกาสฟื้นมันกลับมาได้อีกแล้ว ต้องออกจากทศวรรษที่สูญหาย มุ่งหน้าสู่ทศวรรษแห่งการทวงคืนอนาคต ร่วมทวงคืนอนาคตของเรา อนาคตของประเทศไทย อนาคตใหม่เพื่อประเทศไทยที่อำนาจสูงสุดเป็นของประชาชน เพื่อประเทศไทยที่มีอนาคต”

 

 

พร้อมชนทุกกลุ่มที่ข้ามเส้นจุดยืน ไม่ขอสังคายนากับ ‘อประชาธิปไตย’

ธนาธรยังตอบคำถามถึงภาพของสมาชิกบางคนที่ดูเหมือนเลือกข้างและเป็นคู่ขัดแย้งเสียเองในทางการเมืองว่า “เราไม่ได้เลือกข้าง แต่เรามีจุดยืน” โดยขยายความถึงรูปธรรมให้ชัดลงไปถึงการแสดงออกว่า “ถ้าข้างไหนที่ข้ามเส้นจุดยืนนี้ เราต่อต้านและโจมตี และที่ผ่านมาสมาชิกชัดเจนในเรื่องนี้ ถ้าตราบใดไม่ว่าจะเป็นพรรคประชาธิปัตย์หรือพรรคเพื่อไทย คุณทักษิณ หรือพลเอก ประยุทธ์ ถ้าข้ามเส้นจุดยืนเมื่อไร เราจะวิพากษ์วิจารณ์ทันที เราจะต่อต้านทันที เราจะถือหางทางการเมืองกับคนที่มีอุดมการณ์ที่ถูกต้องทันที”

 

ธนาธรยังประกาศบนเวทีอีกว่า “ตราบใดก็ตามที่เราทำงานการเมืองอยู่ เราจะไม่ประนีประนอมกับจุดยืนอย่างนี้ ถ้าพรรคอนาคตใหม่ประนีประนอมกับจุดยืนต่างๆ เหล่านี้ ผมจะเป็นคนแรกที่ลาออกเอง”

 

ขณะเดียวกันยังประกาศจุดยืนด้วยว่า “เราไม่รับนายกฯ คนนอก และไม่รับส่วนประกอบที่เป็นอประชาธิปไตยทั้งหมด เราขอไม่มีส่วนร่วมกับกระบวนการนั้น”

 

 

ประกาศลบภาพนายทุน ใช้การระดมทุนจากประชาชน พรรคเป็นของทุกคน

ภาพนายทุนยังคงถูกฉายผ่านสถานะของธนาธรในฐานะทายาททางธุรกิจที่มั่งคั่ง เขาประกาศว่า วิธีลบภาพนายทุนนั้นง่ายมากด้วยการทำให้พรรคนี้เป็นพรรคที่ยืนอยู่ด้วยหลักการประชาธิปไตย และการสร้างประชาธิปไตยจะเริ่มที่นี่ จะต้องเป็นโมเดลของสังคมที่เราอยากให้เป็น ไม่ใช่พรรคธนาธรหรือพรรคปิยบุตร

 

ธนาธรบอกว่าจะต้องทำให้ประชาธิปไตยอยู่ในกระบวนการตัดสินใจทุกลำดับ ตั้งแต่การเลือกผู้สมัคร การกำหนดทิศทางของพรรค การทำยุทธศาสตร์พรรค ไปจนถึงการทำนโยบายพรรค ทุกลำดับขั้นของการตัดสินใจในพรรคต้องยึดโยงกับสมาชิกพรรค

 

“ผมไม่ต้องการให้พรรคนี้เป็นพรรคที่เติบโตและอยู่ต่อไปด้วยเงินจากกระเป๋าของผม และนั่นไม่ใช่สิ่งที่เราจะทำ สิ่งที่เราจะทำคือทำให้พรรคการเมืองนี้สามารถระดมทุนจากประชาชนได้จริง และจะไม่มีใครสักคนหนึ่งที่แข็งแรงและมีอำนาจเหนือสมาชิกพรรค เพราะเงินไม่ได้มาจากเขาหรือเธอคนนั้น”

 

 

จุดยืนการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112

แน่นอนว่าคำถามนี้พุ่งตรงไปที่ปิยบุตรในฐานะสมาชิกคณะนิติราษฎร์ เมื่อเขาสวมหมวกนักวิชาการ เขาได้เคยประกาศแนวทางดังกล่าว แต่เมื่อต้องกระโดดสู่หมวกใบใหม่ในฐานะนักการเมือง ปิยบุตรอธิบายว่าการเป็นสมาชิกคณะนิติราษฎร์คือเกียรติยศและความภูมิใจในชีวิต

 

ที่ผ่านมาเขาเคยร่วมกับอาจารย์หลายคนเสนอให้มีการแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 เพราะถูกนำไปใช้เป็นเครื่องมือกลั่นแกล้งกันและทำลายศัตรูทางการเมือง ซึ่งการเสนอให้แก้ไขนั้นตั้งอยู่บนพื้นฐานของหลักการประชาธิปไตยและหลักนิติรัฐ

 

“สถาบันพระมหากษัตริย์จะดำรงอยู่ได้อย่างมีเสถียรภาพ มั่นคง และมีเกียรติยศ ทันสมัย สอดคล้องกับประชาธิปไตย หากกฎหมายอาญามาตรานี้ถูกปรับปรุง” ปิยบุตรกล่าว

 

ส่วนจะมีโอกาสที่ได้ทำหรือไม่ ณ เวลานี้ปิยบุตรก็ตอบไม่ได้ โดยให้เหตุผลว่า “พรรคการเมืองนี้ไม่ใช่ของผม ผมมีความคิดแบบนี้ แต่เรื่องจะสำเร็จหรือไม่ จะเสนอหรือไม่ และจะเป็นนโยบายหรือไม่ อยู่ที่สมาชิกพรรคและการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน”

 

 

ประกาศเป็นพรรคทางหลัก ไม่ใช่ทางเลือก พร้อมสู้เต็มที่กับทุกพรรค

ขณะที่การรวมตัวเพื่อก่อตั้งพรรคครั้งนี้มีผู้ร่วมอุดมการณ์ที่หลากหลาย และทุกคนมีพลังที่อยากจะสร้างสังคมประชาธิปไตยใหม่ ธนาธรบอกว่าเขาพร้อมสู้ทุกสนาม ทุกเขตเลือกตั้ง ให้ ‘อนาคตใหม่’ ไม่ใช่พรรคทางเลือก แต่จะเป็นพรรคทางหลักของสังคมในการมีส่วนร่วมในการแก้ปัญหาประชาธิปไตย

 

“ทุกพรรคการเมืองจะเป็นคู่แข่งทางการเมือง เราจะต่อสู้ในทุกสนาม ทุกเขตเลือกตั้ง ในทุกชนชั้นอาชีพ เพื่อทุกคะแนนเสียง ไม่ว่าจะเป็นคะแนนเสียงของเพื่อไทย ประชาธิปัตย์ พรรคเกรียน ทุกสมรภูมิเราจะต่อสู้เพื่อทุกคะแนนเสียง เพื่อให้พรรคอนาคตใหม่เป็นพรรคทางหลักของสังคมให้ได้” ธนาธรกล่าว

 

 

มองรัฐประหารทำเสียเวลาทางเศรษฐกิจในห้วงที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน

คำถามที่น่าสนใจจากสื่อมวลชนถูกโยนขึ้นบนเวทีถึง ‘ทศวรรษที่สูญหาย’ ว่า ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาในสายตาของธนาธรและปิยบุตร มองว่าการรัฐประหารทำให้ประเทศไทยเสียโอกาสอะไรไปบ้าง และพรรคอนาคตใหม่มีอะไรที่ทำให้สังคมเชื่อมั่นว่าคือความหวังและจะสร้างความเปลี่ยนแปลงให้ต่างจากเดิม

 

“เสียอะไรไปบ้าง ผมคิดว่าเราเสียเวลาทางเศรษฐกิจอย่างมหาศาล เพราะสังคมทั้งสังคมเอาพลัง เอาความศรัทธาซึ่งกันและกัน เอาองค์กรอิสระต่างๆ ไปเอาชนะกันในทางการเมือง ไม่มีใครมองเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจเลย รัฐบาลทหารปกครองประเทศมาแล้ว 4 ปี เท่ากับรัฐบาลจากการเลือกตั้งหนึ่งเทอม เราเห็นการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันใดๆ บ้างจากนโยบาย ผมคิดว่าผมไม่เห็น” ธนาธรตอบ และยังขยายความเพิ่มอีกว่า

 

“ต้นทุนของความสงบสุขเยอะเกินไป ต้นทุนของความสงบสุขในวันนี้เป็นความสงบสุขที่ฉาบฉวย และต้องจ่ายด้วยสิทธิเสรีภาพของประชาชน และต้องจ่ายด้วยการหยุดพัฒนาเศรษฐกิจในรอบหลายปีที่ผ่านมา มันเยอะและแพงเกินไป”

 

 

พรรคคนรุ่นใหม่ที่หลากหลาย และคำสบประมาทจากคนรุ่นเก่าว่าประสบการณ์น้อย

ในการจดแจ้งตั้งพรรคการเมือง ‘อนาคตใหม่’ ในวันนี้ หากไล่ดูตัวบุคคลจะพบว่ามาจากกลุ่มที่หลากหลาย และอยู่ในช่วงอายุที่น้อยสุดคือ 20 ปี และมากที่สุดที่ 60 ปี จากจำนวน 26 คนที่มีชื่อในวันนี้

 

ธนาธรอธิบายว่า ตั้งแต่มีความคิดริเริ่มตั้งพรรค เขาพบแต่ความสดใสและพลัง รวมทั้งความคิดว่าเป็นอนาคตใหม่ที่เป็นไปได้ เขาไม่มีข้อสงสัยใดๆในศักยภาพของคนเหล่านี้ และในทางกลับกัน เขาได้เรียนรู้อะไรใหม่ๆ จากกลุ่มคนเหล่านี้มากมาย

 

“ผมคิดว่ามันเป็นความเชื่อที่ผิดว่าปัญหาจะต้องแก้ด้วยผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทาง มีประสบการณ์เยอะ ผมเชื่อว่าเรามีคนอีกเยอะที่สามารถเป็นส่วนหนึ่งที่จะร่วมแก้ปัญหานี้ได้”

 

 

เลือกใช้สีส้มและโลโก้สามเหลี่ยมกลับหัว

บรรยากาศวันนี้ ธีมงานถูกฉาบทาไปด้วยสีส้ม หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการนำเอาสีเหลืองและแดง ซึ่งเป็นสัญญะแห่งความขัดแย้งที่ถูกใช้เป็นภาพแทนขั้วต่างทางการเมืองของสังคมไทยมาเป็นฐานของการเลือกสีที่ต้องการสื่อความหมายหรือไม่

 

“ยืนยันว่าไม่ได้เกิดจากการเอาสีเหลืองกับสีแดงมาผสมกันอย่างที่บางคนพยายามเชื่อมโยง” ธนาธรอธิบาย พร้อมขยายความว่านี่คือสีแห่งรุ่งอรุณของวันใหม่ วันที่เราตื่นขึ้นมาด้วยความหวัง

 

ถัดมาที่โลโก้อันเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ที่ใช้แทนตัวตนของพรรค ธนาธรได้อธิบายว่า “เป็นรูปสามเหลี่ยมกลับหัว เพราะต้องการสื่อให้เห็นว่าด้านบนคือประชาชนซึ่งเป็นคนจำนวนมาก พรรคจะยกระดับให้ประชาชนมีอำนาจในการตัดสินใจ มีส่วนร่วมทางการเมือง”

 

 

เปิดรายชื่อผู้ร่วมก่อตั้ง ‘อนาคตใหม่’

  1. ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ
  2. ปิยบุตร แสงกนกกุล
  3. กฤตนัน ดิษฐบรรจง แกนนำกลุ่มเยาวชนอาสา ทำงานกับกลุ่มวัยรุ่นผู้ติดเชื้อเอชไอวี
  4. กันต์พงศ์ ทวีสุข ผู้อำนวยการศูนย์การศึกษาต่อต่างประเทศ ก้อปันกัน
  5. กุลธิดา รุ่งเรืองเกียรติ นักวิชาการอิสระด้านการศึกษา
  6. ไกลก้อง ไวทยการ ผู้ปฏิบัติงานด้านเทคโนโลยีเพื่อพัฒนาสังคม สถาบันเทคโนโลยีเพื่อสังคม
  7. คริส โปตระนันทน์ นักธุรกิจ-นักกฎหมาย
  8. เคท ครั้งพิบูลย์ นักปกป้องสิทธิของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศ
  9. ชำนาญ จันทร์เรือง อาจารย์พิเศษด้านการเมืองและกฎหมาย ผู้ยกร่างพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเชียงใหม่มหานคร
  10. โชติรส นาคสุทธิ์ นักเขียนเรื่องความสัมพันธ์เชิงอำนาจของมนุษย์ เรื่องเพศและสิทธิเหนือร่างกาย
  11. ไชยวัฒน์ วรรณโคตร นักศึกษาคณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
  12. ฑิตฐิตา ซิ้มเจริญ นักเขียน นักแปลอิสระ
  13. เท่าพิภพ ลิ้มจิตรกร นักปรุงเบียร์ นักธุรกิจ มัคคุเทศก์อิสระ
  14. ธัญญานันต์ คูอนุพงศ์ คอนเทนต์ครีเอเตอร์
  15. ธารารัตน์ ปัญญา นักปกป้องสิทธิผู้หญิง
  16. นลัทพร ไกรฤกษ์ ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ข่าวคนพิการ ThisAble.me
  17. ปรัชญา เพชรวิสิทธิ์ คนทำหนัง นักศึกษา
  18. เปรมปพัทธ ผลิตผลการพิมพ์ ผู้อำนวยการองค์กร Newground
  19. ฟารีด ดามาเร๊าะ ประธานสมาพันธ์นิสิตนักศึกษาไทยมุสลิม
  20. ภูวกร ศรีเนียน นักจัดรายการทีวีและนักรณรงค์การเมือง
  21. วรกร ฤทัยวาณิชกุล ผู้บริหาร Hello Filmmaker
  22. วิภาพรรณ วงษ์สว่าง ผู้ก่อตั้ง thaiconsent.org นักออกแบบสื่อเพื่อสังคม
  23. ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี อาจารย์มหาวิทยาลัย นักกิจกรรมทางการเมือง
  24. สุรินทร์ คำสุข ประธานสหภาพแรงงานอุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์บรรจุภัณฑ์
  25. อนุกูล ทรายเพชร เกษตรกรยุคดิจิทัล นักธุรกิจเพื่อสังคม
  26. อลิสา บินดุส๊ะ นักศึกษาคณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ทำงานร่วมกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากโครงการของรัฐ เช่น โรงไฟฟ้าถ่านหินเทพา เหมืองลิกไนต์บ้านแหง จังหวัดลำปาง
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising