×

เดินชมงานศิลป์ผ่านมุมมองของ ร.4 นายช่างใหญ่ และอาจารย์ฝรั่ง

04.09.2020
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • วงการศิลปะไทยได้รับอิทธิพลจากตะวันตกครั้งแรกในสมัยรัชกาลที่ 4 โดยผ่านเข้ามาทางราชสำนัก 
  • การปรับตัวเองให้ทันสมัย ทัดเทียมชาติตะวันตก ถือเป็นพระราชวิเทโศบายที่รัชกาลที่ 5 ทรงใช้ในช่วงที่ถูกจักรวรรดินิยมคุกคาม ซึ่งส่วนหนึ่งได้แสดงออกผ่านงานออกแบบของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม
  • การเข้ามาของ ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี หรือ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี นายช่างชาวอิตาลีในสมัยรัชกาลที่ 6 ทำให้งานศิลปะที่แต่เดิมอยู่ในรั้ววัง เผยแพร่และเข้าถึงคนทั่วไปมากยิ่งขึ้น

 

 

“ทราบกันไหมคะว่าภาพเขียนบุคคลภาพแรกของไทยคือภาพของใคร?”

 

ผึ้ง-ปัทมา ก่อทอง ภัณฑารักษ์ชำนาญการ พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ไม่เฉลยเราในทันที แต่กลับพาเดินขึ้นบันไดไปบนชั้น 2 ของพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ หอศิลป (หอศิลป์เจ้าฟ้า) เพื่อชมงานทัศนศิลป์ยุคแรกของรัตนโกสินทร์ที่เรียกว่า ‘ภาพพระบฏ’ งานเขียนที่มีพื้นฐานคือพระพุทธศาสนา เล่าเรื่องพุทธประวัติและชาดก “ภาพเขียนสมัยนั้นจัดทำขึ้นเพื่อบูชา อะไรที่ดีที่สุด เจ๋งที่สุด เราจะส่งให้วัด” คุณผึ้งเน้นย้ำกับเรา ก่อนจะพาเดินลงมาที่ชั้นล่างของอาคารอีกครั้ง

 

หอศิลป์เจ้าฟ้าเป็นหนึ่งในพิพิธภัณฑสถานแห่งชาติของไทย โดยใช้อาคารเดิมของโรงกษาปณ์มาปรับปรุงใหม่ และทำหน้าที่จัดแสดงผลงานศิลปะประเภททัศนศิลป์ ภาพศิลปะไทย จนถึงการถ่ายภาพบุคคลที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตก

 

 

ภาพพระบฏ

 

 

 

“จากภาพวาดเพื่อศาสนาก็กลายมาเป็นภาพวาดเพื่อตัวเอง โดยภาพเขียนบุคคล (Portrait) แบบตะวันตกภาพแรกของไทย เป็นภาพของพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 4 ที่วาดขึ้นจากภาพถ่ายอีกที ฝีมือของศิลปินชาวฝรั่งเศส อี. พีซ-เฟรรี เมื่อปี 2399” เราได้คำตอบและได้รู้เป็นครั้งแรกก็ตอนนี้ 

 

คุณผึ้งยังชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของงานทัศนศิลป์ที่ได้รับอิทธิพลจากตะวันตกครั้งแรกในสยามว่า เกิดจากเหตุปัจจัยหลักๆ 2 ปัจจัย 

 

  1. ชุดความคิดของรัชกาลที่ 4 ด้วยความที่พระองค์ทรงเป็นนักวิทยาศาสตร์ ทรงไม่เชื่อว่าการถ่ายภาพ วาดภาพ หรือปั้นรูปปั้นขณะมีพระชนม์ชีพอยู่จะเป็นสิ่งชั่วร้ายหรืออัปมงคลตามที่เชื่อกันมา 

 

  1. เมื่อเราได้รับสื่อจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นหนังสือหรือโปสต์การ์ด ก็ส่งผลให้งานศิลปะในบ้านเรามีมิติมากยิ่งขึ้น

 

 

สอดคล้องกับที่ อาจารย์นัท-จุลภัสสร พนมวัน ณ อยุธยา วิทยากรผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม เล่าให้ฟังว่า ประเทศไทยนั้นตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ขนาบข้างด้วยทะเลทั้งสองฝั่ง ทำให้เราได้รับวัฒนธรรมที่เรียกว่า ‘ประจิมบรรจบบูรพา’ หมายถึงว่าจากทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก ทั้งเรื่องวิถีชีวิต ภาษา อาหารการกิน พืชพรรณธัญญาหาร รวมถึงเรื่องของศิลปะด้วย โดยเริ่มแรกจะรับผ่านเข้ามาทางราชสำนัก เพราะเป็นกลุ่มบุคคลที่มีโอกาสได้พบกับคนต่างพวกหรือคนที่อยู่ต่างแดนออกไปมากกว่าชาวบ้านทั่วไป

 

“เราจะเห็นตรงนี้ชัดเจนในสมัยรัชกาลที่ 4 เพราะเป็นช่วงที่สยามประเทศเริ่มเปิดให้ตะวันตกเข้ามา ซึ่งเจ้านายที่ถือว่าเป็นตัวอย่างให้เราได้เห็นชัดเจนก็คือ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ (พระราชโอรสในรัชกาลที่ 4 และสมเด็จพระเจ้าน้องยาเธอในรัชกาลที่ 5) ที่เราบอกว่าเป็น ‘นายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม’ คือพระองค์สนพระทัยศิลปะมาตั้งแต่เด็ก เพราะฉะนั้นจึงถือว่ามีความเชี่ยวชาญในหลายแขนงมาก สมพระนาม ‘จิตรเจริญ’ คือไม่ได้เก่งแต่ทัศนศิลป์ แต่ยังเก่งในเรื่องของละคร ดนตรี ได้หมด รอบด้านเลย”

 

 

ตึกแดง ผลงานชิ้นแรกของนายช่างใหญ่แห่งกรุงสยาม

จากหอศิลป์เจ้าฟ้า เราเดินลอดสะพานพระปิ่นเกล้ามายังถนนหน้าพระธาตุ ผ่านหน้ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จนมาถึง ตึกแดง หรือชื่ออย่างเป็นทางการคือ อาคารถาวรวัตถุ ผลงานการออกแบบชิ้นแรกของสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ตามพระราชดำริของรัชกาลที่ 5 ที่ทรงเห็นว่าการจัดทำพระเมรุมาศซึ่งใช้งานเพียงครั้งเดียวแล้วรื้อทิ้งนั้นเป็นการยุ่งยากและสิ้นเปลือง ครั้นสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร เสด็จทิวงคต จึงโปรดเกล้าฯ ให้สร้างอาคารถาวรวัตถุขึ้น เพื่อที่จะได้ใช้ประโยชน์ต่อไป โดยแรกเริ่มอาคารแห่งนี้ได้ทำหน้าที่เป็นโรงเรียนของคณะสงฆ์ฝ่ายมหานิกาย ก่อนจะเปลี่ยนสถานะเป็นหอสมุดแห่งชาติและอาคารแสดงนิทรรศการเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ในปัจจุบัน 

 

 

สำหรับลักษณะเด่นทางสถาปัตยกรรมของอาคารถาวรวัตถุ อาจารย์นัทชี้ให้เห็นว่า “อาคารหลังนี้มีรูปแบบสถาปัตยกรรมแบบผสมผสาน คือในสมัยนั้นที่เป็นช่วงล่าอาณานิคม เราชิงปรับตัวก่อน ปรับให้เห็นว่าสยามนั้นทันสมัยแล้ว เหมือนอย่างตึกนี้ที่ภายนอกมีความคล้ายเขมร ขณะที่ถ้าสังเกตให้ดีช่องหน้าต่างข้างในจะเป็นแบบอังกฤษ” ซึ่งการยอมปรับเปลี่ยนเล็กๆ น้อยๆ นี้เอง รวมถึงการเจริญสัมพันธไมตรีกับชาติมหาอำนาจต่างๆ ที่ทำให้ไทยเรารักษาเอกราชเอาไว้ได้ในช่วงเวลานั้น

 

บรรยากาศด้านในของตึกแดง

 

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ที่ทำงานของอาจารย์ฝรั่ง

พอล่วงเข้าสู่รัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ที่พระองค์ทรงสำเร็จการศึกษาจากประเทศอังกฤษ ทำให้ทรงมีแนวความคิดแบบตะวันตก และมีพระราชดำริที่จะยกระดับมาตรฐานด้านศิลปะของไทยให้เป็นสากลมากยิ่งขึ้น และในคราวนั้นเองที่ทางรัฐบาลอิตาลีได้เสนอชื่อของ ศาสตราจารย์คอร์ราโด เฟโรจี ให้กับทางสยามพิจารณา และเป็นสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระยานริศรานุวัดติวงศ์ ที่ทรงคัดเลือกศาสตราจารย์คอร์ราโดเข้าทำงาน ก่อนที่จะได้รับพิจารณาให้รับสัญชาติไทย และเปลี่ยนชื่อเป็น อาจารย์ศิลป์ พีระศรี หรืออาจารย์ฝรั่งของลูกศิษย์ ผู้เข้ามาพัฒนาการเรียนการสอนศิลปะที่แต่ก่อนอยู่แต่ในรั้ววัง ในราชสำนัก ให้แพร่หลายสู่คนสามัญมากยิ่งขึ้น 

 

 

และนั่นจึงทำให้เรามายืนอยู่ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เดียวกับสำนักงานกรมศิลปากร ห่างจากตึกถาวรวัตถุเพียง 200 เมตรเท่านั้น ที่นี่เราได้เจอกับคุณผึ้งอีกครั้ง โดยเธอเล่าให้ฟังว่า สำหรับการทำงานในช่วงแรกของอาจารย์ศิลป์นั้นได้นักเรียนจากโรงเรียนเพาะช่างมาช่วยงาน ซึ่งทุกคนล้วนมีพื้นฐานทางศิลปะแบบไทย แต่ไม่ได้มีความรู้เชิงทฤษฎี (Academic) เรื่องกายวิภาคศาสตร์ (Anatomy) หรือเรื่องของแสงเงา นั่นเลยเป็นแนวคิดให้อาจารย์ศิลป์ก่อตั้งโรงเรียนประณีตศิลปกรรม เพื่อนำวิชาแบบวิทยาลัยในยุโรปมาสอนคนไทย ก่อนที่จะพัฒนาเป็นมหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยเฉพาะทางด้านศิลปะ ซึ่งทำให้เกิดรูปแบบศิลปะร่วมสมัยในสยามขึ้นท้ายที่สุด 

 

 

ไฮไลต์ภายในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ซึ่งเคยเป็นอดีตห้องทำงานของบิดาแห่งศิลปะสมัยใหม่ของไทย คุณผึ้งบอกว่า “ส่วนใหญ่จะเป็นผลงานตามความสนใจของอาจารย์ ไม่ใช่งานตามคำสั่งของรัฐบาล เราจึงจะได้เห็นรูปหล่อของทั้งลูกชายและลูกสาว โรมาโนกับอิซาเบลลา รวมถึงเครื่องใช้ส่วนตัวของอาจารย์ ผลงานของลูกศิษย์รุ่นแรก ตลอดจนผลงานที่ได้รับรางวัลศิลปกรรมแห่งชาติในยุคก่อตั้ง การมาที่นี่จึงอาจให้ความรู้สึกเหมือนมาเที่ยวบ้านเพื่อนมากกว่าอยู่ในพิพิธภัณฑ์ศิลปะ”

 

ผลงานต่างๆ ของอาจารย์และลูกศิษย์รุ่นแรก

 

 

หอประติมากรรมต้นแบบ ต้นกำเนิดของอนุสาวรีย์ทั้งมวล

ออกจากที่ทำงานของอาจารย์ศิลป์แล้ว เราแนะนำให้เดินตรงเข้าไปอีกนิด เพื่อชมหอประติมากรรมต้นแบบ ต้นกำเนิดของอนุสาวรีย์ทั้งมวลในประเทศไทย โดยเราได้พบกับ จิตกร วงษ์มาตร์ นายช่างศิลปกรรมชำนาญงาน ที่เล่าให้ฟังว่า “เดิมทีโรงปั้นของกรมศิลปากรแห่งนี้ทำหน้าที่ปั้นพระพุทธรูปเป็นหลัก กระทั่งรัชกาลที่ 6 มีพระราชดำริให้ยกระดับเป็นศิลปะสมัยใหม่ด้วยการปั้นรูปเหมือนตามธรรมเนียมตะวันตก จากการเปิดรับวิทยาการทางด้านประติมากรรมจากอิตาลี ทั้งเรื่องของวัสดุ ขนาด รวมถึงวิธีการปั้นผ่านทาง อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่ก็ยังคงส่งต่อมาถึงปัจจุบัน”

 

 

โดยไฮไลต์ของหอประติมากรรมต้นแบบนั้นอยู่ที่ห้องเก็บผลงานของ อาจารย์ศิลป์ พีระศรี ที่มีผลงานต้นแบบหลายชิ้นให้เราได้ชม ไม่ว่าจะเป็นพระบรมราชานุสาวรีย์พระเจ้าตากสินมหาราช (วงเวียนใหญ่) รัชกาลที่ 1 (สะพานพุทธ) รัชกาลที่ 6 (สวนลุมพินี) อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย อนุสาวรีย์ท้าวสุรนารี ตลอดจนพระพุทธรูปประธานที่พุทธมณฑล พระพุทธรูปปางลีลาสมัยสุโขทัย ซึ่งอาจารย์ศิลป์ให้ความเห็นไว้ว่า เป็นพระพุทธรูปที่มีพุทธลักษณะงดงามที่สุดในบรรดาพระพุทธรูปทั้งปวง ยิ่งเมื่อได้นำวิทยาการแบบตะวันตก หลักกายวิภาคศาสตร์ มาปรับใช้ด้วยแล้ว ก็ยิ่งทำให้พระพุทธรูปมีความสมบูรณ์แบบมากยิ่งขึ้น

 

 

จากหอศิลป์เจ้าฟ้า, ตึกถาวรวัตถุ, พิพิธภัณฑ์ฯ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ จนมาถึงหอประติมากรรมต้นแบบ ได้ชี้ให้เห็นว่า ผลงานศิลปะนั้นหากผ่านการสร้างสรรค์และออกแบบโดยคนที่มีสายตาลุ่มลึกในการมอง ก็จะสามารถอยู่ได้แบบไร้กาลเวลา สามารถประกาศศักดิ์ศรีของบ้านเมืองได้ เหมือนกับที่อาจารย์นัท วิทยากรมากความสามารถ ทิ้งท้ายกับเราไว้ว่า “ทุกวันนี้เวลาเห็นตึกเก่าโดนทุบ เราก็เสียดายนะ เพราะนั่นหมายถึงว่าคุณกำลังทุบประวัติศาสตร์ ทุบความเป็นตัวตน ทุบช่วงเวลาที่เราเคยผ่านมา เพราะฉะนั้นที่เรามาเรียนรู้กันวันนี้ คงจะได้มาช่วยกันเปิดมุมมองว่า สิ่งที่เห็นมันไม่ใช่แค่ตึกเก่า แต่คือสมุดเล่มใหญ่ที่ช่วยบันทึกเวลา ซึ่งก็จะช่วยให้เราได้ร่วมกันอนุรักษ์ เพราะสิ่งเก่ากับสิ่งใหม่มันอยู่ด้วยกันได้”

 

“จริงไหม?”

 

 

ภาพ: ศิลป์ พิมลวัฒนา, เคทีซี

ภาพประกอบ: พรวลี จ้วงพุฒซา

 

FYI
  • หอศิลป์เจ้าฟ้าและตึกถาวรวัตถุ เปิดให้เข้าชมวันพุธ-อาทิตย์ เวลา 09.00-16.00 น. (หยุดวันจันทร์-อังคาร และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
  • พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ ศิลป์ พีระศรี อนุสรณ์ และหอประติมากรรมต้นแบบ เปิดให้เข้าชมวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 09.00-16.00 น. (หยุดวันเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดนักขัตฤกษ์)
  • จากหอศิลป์เจ้าฟ้ามายังหอประติมากรรมต้นแบบ มีระยะทางเดิน 1.5 กิโลเมตร ใช้เวลาเดินราว 20 นาที
  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X