ไม่ว่าใครก็ตามที่เป็นคนเริ่มต้นเรียกฮอลลีวูดว่า ‘เมืองมายา’ ก็ต้องบอกว่าช่างเข้าอกเข้าใจสารัตถะของดินแดนแห่งนี้ซะเหลือเกิน
ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ใช่เพียงเพราะนิยามของคำว่า ‘มายา’ หมายถึง การตบตา หลอกลวง หรือสิ่งที่ไม่มีอยู่จริง และฮอลลีวูดก็เปรียบได้กับโรงงานผลิตสินค้าเพ้อฝันขนาดมหึมา แต่อีกนัยหนึ่งของคำๆ นี้ยังสื่อความหมายทำนองว่า ‘ไม่มีอะไรเป็นอย่างที่มันดูเหมือนเป็น (Nothing is what it seems)’ และสิ่งที่ปรากฏเบื้องหน้าก็เป็นคนละเรื่องกับสิ่งที่เกิดขึ้น
หรือพูดง่ายๆ บรรดาภาพยนตร์ที่ถูกสร้างเพื่อประโลมความรู้สึกของผู้ชมอย่างประณีตพิถีพิถันหลายๆ เรื่อง กลับแอบซ่อนความวายป่วงและโกลาหลอย่างคาดไม่ถึง ตัวอย่างมีให้ยกมาสนับสนุนไม่หวาดไม่ไหว ย้อนกลับไปไกลโพ้นถึงหนังประวัติศาสตร์เรื่องยิ่งใหญ่ Gone with the Wind (1939) หรือ ‘วิมานลอย’ ที่ตามเนื้อผ้าบอกเล่าเรื่องของหญิงสาวชาวใต้ผู้ซึ่งปากกัดตีนถีบและไม่ยอมพ่ายแพ้ให้กับชีวิตอันยากแค้นลำเค็ญหลังสงครามกลางเมือง ทว่าเรื่องราวเบื้องหลังการสร้างหนังเรื่องนี้ก็เป็นสงครามในอีกรูปแบบ ทั้งปรากฏการณ์ที่เหล่าดาราหญิงช่วงนั้นแก่งแย่งแข่งขันเพื่อให้ได้บทที่ใครๆ ก็ปรารถนา จนถึงเหตุการณ์ที่พระเอกไม่อยากเล่นหนังเรื่องนี้เพราะบทด้อยกว่านางเอก หรือเหตุการณ์ที่ผู้อำนวยการสร้างไล่ผู้กำกับซึ่งเป็นเพื่อนสนิทออกกลางคัน มิหนำซ้ำคนที่มาแทนก็ดันล้มป่วยและหายหัวไปจากกองถ่ายเป็นเวลานาน
หรือหนังรุ่นราวคราวเดียวกันอีกเรื่องหนึ่งที่ได้ชื่อว่าอลเวงพอกันก็คือ Casablanca (1942) ที่เบื้องหน้าบอกเล่าความสัมพันธ์อันสุดแสนดูดดื่มและโรแมนติกในช่วงที่สงครามโลกครั้งที่สองกำลังจะปะทุอยู่รอมร่อ ขณะที่เบื้องหลัง มันเป็นการถ่ายทำหนังที่นอกจากสคริปต์ยังเขียนไม่เสร็จ นักแสดงไม่รู้ว่าเรื่องทั้งหมดปิดฉากอย่างไร หรืออันที่จริงแล้วทั้งผู้กำกับและคนเขียนบทหนังก็ไม่รู้เช่นเดียวกัน และถึงกับวางแผนถ่ายตอนจบสองสามแบบ ทั้งหมดทั้งมวลยังไม่ต้องเอ่ยถึงตอนที่คู่พระนางของเรื่องปรับทุกข์ซึ่งกันและกันทำนองว่าพวกเขาไม่อยากเล่นหนังเรื่องนี้อีกแล้ว
ส่วนที่น่าพิศวงงงงวยเมื่อมองย้อนกลับไปก็คือ ผู้ชมไม่เห็นริ้วรอยปริแยกแตกร้าวของตัวหนังแม้แต่เพียงน้อยนิด และก็อย่างที่หน้าประวัติศาสตร์บันทึกไว้นั่นเอง ทั้ง Gone with the Wind และ Casablanca เป็นหนังคลาสสิกที่ผู้ชมรักและหวงแหน และยืนยงคงกระพันผ่านบททดสอบของกาลเวลาอย่างโชกโชน
หนังสารคดีชุดหรือ Docuseries ที่ใช้ชื่อว่า The Movies That Made Us ผลงานกำกับของ Brian Volk-Weiss ซึ่งสตรีมทาง Netflix และล่าสุดซีซันที่ 2 ก็เพิ่งจะได้อวดโฉมในช่วงปลายเดือนกรกฎาคมที่ผ่านพ้นไป ก็หยิบยืมคอนเซปต์เดียวกันนี้มาเป็นกรอบนำเสนอ อันได้แก่เรื่องราวที่เรียกได้ว่าเป็น ‘ซินเดอเรลล่าสตอรี’ ของหนังเมกะฮิต 4 เรื่อง ที่เริ่มต้นในสภาพที่ไม่แตกต่างจากคนไข้อนาถา และเป็นไปได้ว่าในโลกคู่ขนาน ด้วยเงื่อนไขเริ่มต้นที่ดูไม่มีแต้มต่อหรือความได้เปรียบด้วยประการทั้งปวง มิหนำซ้ำยังพบเจอสิ่งกีดขวางนานัปการ ไล่เรียงตั้งแต่นายทุนขี้ตืดและไม่มีวิสัยทัศน์ บริษัทหนังล้มละลายกลางคัน นักแสดงที่ผู้สร้างหมายมั่นปั้นมือไม่มีคิวให้ ภัยทางธรรมชาติ ไปจนถึงเทคโนโลยียังไม่เอื้ออำนวย หนังเหล่านี้อาจจะไม่ถูกสร้างตั้งแต่ต้น หรือไม่ก็ลงเอยด้วยการเป็นหนังที่ตกหล่นสูญหายไปในกาลเวลา
แต่เรื่องของเรื่องก็คือ พอเราเอ่ยชื่อของหนังสี่เรื่องข้างต้นว่าได้แก่ Back to the Future (1985), Pretty Woman (1990), Jurassic Park (1993) และ Forrest Gump (1994) ซึ่งทำเงินรวมกันทั้งสิ้นราวๆ 2.5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 8.2 แสนล้านบาท อีกทั้งยังเก็บกวาดรางวัลบนเวทีการประกวดอย่างล้นหลาม และพูดได้แบบไม่ต้องอ้อมแอ้มขวยเขินว่าไม่มีนักดูหนังคนไหนไม่รู้จักหนังเหล่านี้ สิ่งที่สาธยายไว้ในพารากราฟก่อนหน้าก็ฟังดูเป็นเรื่องเหลือเชื่อ และแน่นอนว่านั่นยิ่งทำให้เบื้องหลังความสำเร็จอย่างมากมายมหาศาลกลายเป็นเรื่องน่าฉงนสนเท่ห์เป็นทวีคูณ
และสมมติว่าจะลองมองหาแก่นสารความหมายของหนังสารคดีชุด The Movies That Made Us (ทั้งสองซีซัน) ก็อาจจะต้องบอกว่า เบื้องหลังชื่อเสียงหรือความสำเร็จของหนังเรื่องไหนก็ตามก็เหมือนกับกล่องช็อกโกแลต คุณไม่มีวันรู้หรอกว่าจะได้เจอกับอะไร กระนั้นก็ตาม อย่างหนึ่งที่รับประกันได้แน่ๆ ก็คือ เส้นทางไม่เคยโรยไว้ด้วยกลีบกุหลาบ
ไม่ว่าจะอย่างไร ข้อที่ชวนขบคิดอีกอย่างหนึ่งและเป็นสิ่งที่สอดแทรกไว้ในสารคดีชุดดังกล่าวก็คือ เวลาที่ใครก็ตามเอ่ยถึงหนังทั้งสี่เรื่องข้างต้น (และจริงๆ แล้วก็เรื่องอื่นๆด้วย) เรามักจะนึกถึงตัวผู้กำกับในฐานะที่พวกเขาเป็นเจ้าข้าวเจ้าของตัวผลงานและความคิดสร้างสรรค์ สั้นๆ ง่ายๆ Jurassic Park เป็นผลงานของ Steven Spielberg ส่วน Back to the Future และ Forrest Gump เป็นของ Robert Zemeckis และ Pretty Woman ก็เป็นฝีมือของ Garry Marshall
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการสื่อสารลักษณะเช่นนี้มันไปลดทอนความสำคัญของทีมงานเบื้องหลัง ไล่เรียงตั้งแต่คนเขียนบท ตากล้อง ช่างเทคนิค จนถึงเจ้าของไอเดียเริ่มแรก ข้อน่าสังเกตก็คือ สารคดีเรื่องนี้ชักชวนผู้ชมไปพบและรู้จักกับตัวบุคคลอื่นๆ ที่ไม่ใช่ผู้กำกับ และอาจกล่าวได้ว่าพวกเขาเหล่านี้ล้วนเป็นฟันเฟืองหรือกลไกสำคัญของผลลัพธ์อันยิ่งใหญ่ที่เกิดขึ้น ซึ่งมันชวนให้สรุปได้โดยอัตโนมัติว่า อันที่จริงแล้ว การทำหนังภายใต้สายพานการผลิตแบบฮอลลีวูดเป็นเรื่องของการร่วมแรงแข็งขัน หรือ Group Effort มากกว่าการสร้างสรรค์ผลงานที่มีผู้กำกับเป็นจอมเผด็จการเพียงลำพัง
ยกตัวอย่างหนังเรื่อง Pretty Woman ตามที่ผู้สร้างไล่เรียงไว้ในหนังสารคดีเรื่องนี้ สารตั้งต้นจริงๆ อันได้แก่เรื่องราวความสัมพันธ์ที่กินเวลา 1 สัปดาห์ระหว่างนักธุรกิจเสือผู้หญิงกับโสเภณีหัวใจทองคำ ก็มาจากประสบการณ์จริงของ J. F. Lawton คนเขียนบทหนังผู้ซึ่งได้พบปะและพูดคุยกับหญิงขายบริการที่ได้เจอะเจอเหตุการณ์ดังกล่าวจริงๆ และ Garry Marshall ผู้ซึ่งมาทีหลัง เป็นคนที่ช่วยปรับเปลี่ยนให้มู้ดและโทนอันหม่นมืดของหนังกลายเป็นโรแมนติกคอเมดี้
อีกหนึ่งเงื่อนไขปัจจัยที่ชี้เป็นชี้ตายของหนังเรื่อง Pretty Woman ได้แก่การคัดเลือก Julia Roberts สำหรับบทที่เหมือนกับถูกออกแบบตัดเย็บมาให้กับเธอโดยเฉพาะ แต่ความเปล่งประกายฉายแสงของเธอก็ยังผูกโยงอยู่กับเสื้อผ้าหน้าผม และโดยเฉพาะคอสตูม (ผลงานการออกแบบของ Marilyn Vance) ที่เธอสวมใส่อย่างน้อยสองฉาก ซึ่งกลายเป็นภาพจดจำของหนังไปโดยปริยาย หนึ่งก็คือได้แก่ชุดโพลก้าด็อตสีน้ำตาลในฉากที่เธอกับพระเอกไปร่วมชมเกมการแข่งขันโปโล และชุดราตรีสีแดงแรงฤทธิ์ในฉากที่ทั้งสองคนไปดูโอเปราด้วยกัน
หรือกรณีของ Jurassic Park ขณะที่ไม่มีข้อสงสัยว่า Steven Spielberg เป็นเหมือนตราประทับของหนังอย่างที่ใครก็โต้เถียงไม่ได้ ทว่าส่วนแบ่งของความสำเร็จในเชิงเทคนิคอันน่าตื่นตะลึงของหนังก็คงต้องเจียดไปให้กับแอนนิเมเตอร์ที่ชื่อ Steve Williams ผู้ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่ช่วยพลิกโฉมวงการวิชวลเอฟเฟกต์ไปอย่างไม่มีวันหวนคืนผ่านเทคนิคพิเศษที่เรียกว่า CGI (Computer Generated Imagery) และฉากที่ตราตรึงความรู้สึกไม่รู้ลืมก็ได้แก่ห้วงเวลาที่เจ้าที-เร็กซ์อวดโฉมแบบ ‘เต็มตาและเต็มตัว’ เป็นครั้งแรก และหลายคนคงจดจำได้ว่ามันดูมีเลือดเนื้อและความมีชีวิตชีวาอย่างไม่น่าเชื่อ
เรื่องตลกที่ไม่ได้ถูกบอกเล่าไว้ในสารคดีเรื่องนี้ ทว่าเกิดขึ้นจริงก็คือ มีผู้ชมบางคนเผลอตัวดูเครดิตท้ายของ Jurassic Park เพื่อค้นหาว่าใครทำหน้าที่ ‘Dinosaur Trainer’ หรือคนที่ฝึกฝนให้เจ้าที-เร็กซ์แสดงได้สมบทสมบาทขนาดนี้
หรือกรณีหนังในดวงใจของผู้ชมทั่วโลกเรื่อง Forrest Gump ที่เบื้องหลังไม่ได้เป็นเพียงแค่การทุ่มเทแรงกายแรงใจของเหล่าพรสวรรค์มากหน้าหลายตาเท่านั้น หากยังเป็นการดิ้นรนกระเสือกกระสนเพื่อรับมือกับอุปสรรคทั้งหลายที่ถาโถมเข้ามา และเหนืออื่นใด การไม่ยอมประนีประนอมให้กับแรงกดทับของผู้บริหารสตูดิโอที่อาจกล่าวได้ว่าไม่มีความเชื่อมั่นในโปรเจกต์นี้เท่าไรนัก ข้อมูลในหนังบอกว่าทีมงานต้องแอบถ่ายฉากที่ฟอร์เรสต์ กัมป์ออกวิ่งแบบหลบๆ ซ่อนๆ เพราะมันไม่ได้อยู่ในชูตติ้งสคริปต์ตั้งแต่แรก และสตูดิโอก็ขู่ชัตดาวน์เมื่อพบว่างบสร้างเริ่มบานปลาย ใครบางคนถึงกับเปรียบความง่อนแง่นของกองถ่าย Forrest Gump ว่ามันเหมือนกับขบวนรถไฟที่พร้อมจะแหกโค้งตกรางตลอดเวลา
แต่ก็นั่นแหละ ข้อมูลพิลึกพิลั่นของหนังแต่ละเรื่องก็ส่วนหนึ่ง ทว่าความน่าสนุกและชวนติดตามของหนังสารคดีชุดนี้เป็นผลพวงจากการยักย้ายถ่ายเทข้อมูลมานำเสนอ จังหวะจะโคนในการบอกเล่าแบบทีเล่นทีจริง และเหนืออื่นใด ความยียวนกวนประสาทของผู้บรรยาย (สำหรับซีซันสองได้แก่ Danny Wallace) ซึ่งหลายครั้งก็ล้ำเส้นด้วยการไปโต้ตอบแบบอินเทอร์แอ็กทีฟกับตัวบุคคลที่ให้สัมภาษณ์ในฟุตเตจ หรือแม้แต่ตัวละครในคลิปหนังที่ถูกคัดเลือกมา (ราวกับจะพูดคุยกันได้) และมันสร้างบรรยากาศที่ทั้งตลกขบขันและหรรษาครื้นเครง
ไหนๆ ข้อเขียนนี้เริ่มต้นด้วยหนังคลาสสิก ก็ขอจบด้วยหนังคลาสสิก ใครที่เคยดู The Wizard of Oz (1939) น่าจะจดจำฉากในช่วง 15 นาทีสุดท้ายที่โดโรธีกับผองเพื่อนพบว่าพวกเธอถูกพ่อมดกำมะลอหลอกลวง และอิทธิฤทธิ์อันน่าเกรงขามที่ปรากฏให้เห็นซึ่งๆ หน้าเป็นเพียงแค่การเล่นแร่แปรธาตุของหมอนี่ซึ่งแอบซ่อนตัวอยู่หลังม่านเท่านั้น ในท่ามกลางสถานการณ์ที่คับขันและจวนเจียนว่ากำลังถูกจับได้ ผู้ชมก็ได้ยินพ่อมดเอ่ยผ่านลำโพงด้วยสุ้มเสียงอันกึกก้องกังวาล จุดประสงค์ก็เพื่อหลอกล่อและเบี่ยงเบนสมาธิของสาวน้อย ทว่ามองในอีกแง่มุมหนึ่ง ถ้อยคำเหล่านั้นก็น่าครุ่นคิดสำหรับพวกเราคนดูหนัง และนั่นก็คือประโยคที่พ่อมดพยายามบอกโดโรธีว่า “อย่าไปให้ความสนใจคนที่อยู่หลังม่าน (Pay no attention to that man behind the curtain.)”
อย่างที่พูดแล้วข้างต้น เบื้องหน้าของภาพยนตร์เมดอินฮอลลีวูดเรื่องแล้วเรื่องเล่าก็คือโลกของจินตนาการและความฝันเฟื่องที่ถูกเสกสรรค์ปั้นแต่งอย่างประดิดประดอย ทว่าเบื้องหลัง มันคืออาณาจักรโรมันที่สร้างจากไม้อัดและกระดาษแข็ง คือไดโนเสาร์ที่ปั้นด้วยดินเหนียว คือปลาฉลามที่ทำด้วยยางซิลิโคน คือลวดสลิงและตัวแสดงแทน หรือกล่าวอย่างถึงที่สุด คือนักต้มตุ๋น ที่ถ้าหากพวกเขาไม่ระแวดระวังรอบคอบ ลูกไม้ราคาถูกของตัวเองก็อาจจะถูกเปิดโปง
โดยอัตโนมัติ ความท้าทายอย่างถึงที่สุดของคนทำหนังเรื่องหนึ่งๆ ก็คือ การหาทางเกลี้ยกล่อมให้ผู้ชมหลงลืมไปว่ามีคนจำนวนมากแอบซ่อนอยู่หลังม่าน และเชื่อในภาพลวงตาที่โลดเต้นอยู่ข้างหน้า ซึ่งสิ่งละอันพันละน้อยที่ถูกบอกเล่าใน Docuseries ชุดนี้ ก็ถ่ายทอดให้ผู้ชมได้เห็นคนกลุ่มหนึ่งที่อาจจะเรียกได้เต็มปากว่าพวกเขาเป็นนักมายากลบันลือโลก
The Movies That Made Us (2019)
กำกับ- Brian Volk-Weiss
ให้เสียงบรรยาย- Danny Wallace
พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล
อ้างอิง: Netflix