×

ที่ประชุมร่วมรัฐสภา ลงมติวาระ 2 ให้มี สสร. 200 คนมาจากเลือกตั้ง แบ่งเขตละคน ไม่ห้ามแม่น้ำ 5 สายลงสมัคร

โดย THE STANDARD TEAM
25.02.2021
  • LOADING...
ประชุมร่วมรัฐสภา

วันนี้ (25 กุมภาพันธ์) มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมเป็นวันที่สอง โดยประเด็นหลักคือ การได้มาซึ่งสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (สสร.) ต่อมาที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภามีมติให้ สสร. มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด 200 คน 

 

ขณะที่ในมาตรา 265/3 เรื่องคุณสมบัติของผู้ลงสมัครรับเลือกตั้ง สสร. โดยมีสมาชิกรัฐสภาสงวนคำแปรญัตติ เช่น สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ฝ่ายค้าน ส่วนใหญ่ได้อภิปรายถึงคุณสมบัติของบุคคลที่จะเป็น สสร. ว่า ไม่ควรเป็นบุคคลซึ่งมีลักษณะต้องห้ามไม่ให้สมัครรับเลือกตั้ง ส.ส., เป็นข้าราชการการเมือง, เป็น ส.ส. และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) หรือรัฐมนตรี ที่สำคัญไม่ควรเป็นบุคคลที่มาจากแม่น้ำ 5 สาย เช่น เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกวุฒิสภาตามรัฐธรรมนูญนี้, เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ปี 2557, เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาปฏิรูปประเทศ และเคยดำรงตำแหน่งในคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) โดยให้เหตุผลว่าเนื่องจากไม่ต้องการให้มีการสืบทอดอำนาจ

 

ขณะที่สมาชิกรัฐสภาบางส่วนได้อภิปรายถึงกรณีที่คณะกรรมาธิการวิสามัญได้ห้ามพระภิกษุสามเณร โดยเห็นว่าการร่างรัฐธรรมนูญจะต้องให้สิทธิทุกคนได้แสดงความเห็นอย่างเท่าเทียมกันเพื่อลดความเหลื่อมล้ำ เนื่องจากกลไกของรัฐต้องเข้าไปดูแลคณะสงฆ์ อีกทั้งยังอยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญฉบับเดียวกัน 

 

จากนั้น พล.อ. เลิศรัตน์ รัตนวานิช และ เสรี สุวรรณภานนท์ กรรมาธิการ ลุกขึ้นมาชี้แจงในประเด็นต่างๆ โดยยืนยันว่า คุณสมบัติลักษณะต้องห้ามที่คณะกรรมาธิการวิสามัญบัญญัติไว้เป็นมาตรฐานที่เหมาะสมแล้ว ส่วนข้อเสนอที่จะให้พระสงฆ์เข้ามาทำหน้าที่ใน สสร.นั้น เนื่องจากพระสงฆ์อยู่ในสถานะที่เคารพสักการะ หากพระสงฆ์มีส่วนร่วมทางการเมือง เกรงว่าจะเกิดความเห็นที่แตกต่าง อาจส่งผลให้ประชาชนไม่เคารพพระสงฆ์ เกิดความเสื่อมศรัทธาในศาสนาและมีปัญหาตามมา ซึ่งไม่ได้เกิดจากความรังเกียจหรือไม่ต้องการให้พระสงฆ์เข้ามายุ่งทางการเมือง  

          

สำหรับข้อท้วงติงเกี่ยวกับประเด็นที่ไม่ควรให้บุคคลที่มาจากแม่น้ำ 5 สายเข้ามาเป็น สสร.นั้น ถือเป็นความคิดที่สามารถคิดได้ แต่ข้อเสนอดังกล่าวแสดงให้เห็นถึงความพยายามบ่งชี้ว่า ส.ว.ไม่ได้มาจากการเลือกตั้ง ไม่ได้มาจากประชาชนโดยตรง ฉะนั้น ข้อเสนอดังกล่าวถือว่าเป็นเพียงข้ออ้าง หรือต้องการก่อให้เกิดความขัดแย้งหรือไม่ และอาจนำไปสู่การความพยามให้วุฒิสภาไม่เห็นด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญนี้ด้วยหรือไม่ ซึ่งการเขียนรัฐธรรมนูญต้องใช้หลักการสำคัญ มีเหตุมีผล ใช้ความเป็นผู้ใหญ่ในการตัดสินค่าบุคคลใดสมควรจะอยู่ในตำแหน่งใด 

 

ท้ายที่สุด ที่ประชุมมติเห็นชอบในมาตรา 256/3 ตามที่คณะกรรมาธิการมีการแก้ไข ด้วยคะแนนเสียง 539 ไม่เห็นด้วย 50 เสียง งดออกเสียง 17 เสียง ไม่คะแนนเสียง 1 เสียง

 

สำหรับประเด็นในการแบ่งเขตเลือกตั้ง สสร. ตามมาตรา  256/5 มีสมาชิกรัฐสภาสงวนความเห็นไว้อย่างหลากหลาย ซึ่งสมาชิกรัฐสภาบางส่วนเสนอให้จำนวน สสร. ในแต่ละจังหวัดที่จะพึงมี ใช้จำนวนประชากรทั้งประเทศเฉลี่ยด้วยจำนวนสมาชิก สสร. ซึ่งจำนวนที่ได้รับถือว่าเป็นจำนวนประชากรต่อสมาชิก สสร. 1 คน

 

ขณะที่บางส่วนเสนอให้มาจากการเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้ง ใช้วิธีการออกเสียงโดยตรงและลับ ซึ่งให้แต่ละเขตเลือกตั้ง สสร. ได้เขตละ 1 คน

 

วิเชียร ชวลิต และ กล้านรงค์ จันทิก ซึ่งเป็นกรรมาธิการ เสนอให้มีการแบ่งเขตเลือกตั้ง สสร. จำนวน 200 เขต ในลักษณะเดียวกับการแบ่งเขตเลือกตั้ง ส.ส. ซึ่งจะทำให้ประชาชนเกิดความเข้าใจได้ง่าย ไม่เกิดความสับสน และสามารถตัดสินใจเลือกบุคคลที่มีคุณสมบัติครบถ้วนได้ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาการเมือง พร้อมแสดงความไม่เห็นด้วยกับการใช้เขตจังหวัดเป็นเขตเลือกตั้ง เพราะจะทำให้คนที่มีชื่อเสียงและมีอิทธิพลสามารถเข้ามาได้ ดังนั้น หากมีการแบ่งเป็นเขตเล็กจะทำให้ สสร. มีความใกล้ชิดและสามารถเข้าถึงประชาชนได้ง่าย   

 

ท้ายที่สุดแล้วที่ประชุมมติเห็นชอบให้การเลือกตั้ง สสร. แบบแบ่งเขตเลือกตั้ง เขตละ 1 คน ด้วยคะแนนเสียง 395 เสียง ไม่เห็นด้วย 18 เสียง งดออกเสียง 232 เสียง ไม่ลงคะแนนเสียง 3 เสียง  

 

 

พิสูจน์อักษร: วรรษมล สิงหโกมล

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X