วันนี้ (24 พฤศจิกายน) ณัฐชา บุญไชยอินสวัสดิ์ ประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การพัฒนาการเมือง การสื่อสารมวลชน และการมีส่วนร่วมของประชาชน และคณะ รับยื่นหนังสือจาก พงศ์พิพัฒน์ บัญชานนท์ บรรณาธิการอาวุโส สำนักข่าวออนไลน์ The MATTER เพื่อขอให้ตรวจสอบการปฏิบัติงานของตำรวจควบคุมฝูงชน (คฝ.) และสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กรณีสลายการชุมนุมสาธารณะ เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2565 อย่างรุนแรง จนทำให้มีสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก
โดยสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บจากการปฏิบัติงานของตำรวจ คฝ. ทุกกรณี ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวสื่อมวลชนต่างใส่สัญลักษณ์แสดงตัวว่าเป็นสื่อมวลชน (สวมปลอกแขน) ตามข้อตกลงร่วมกันระหว่างองค์กรวิชาชีพสื่อมวลชนกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) และตำรวจนครบาล (ผบช.น.) ตั้งแต่ปี 2564 เพื่อให้สามารถแยกแยะได้ระหว่างสื่อมวลชนกับผู้ชุมนุม ที่สำคัญ ก่อนหน้านี้ ศาลแพ่งเคยมีคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในคดีหมายดำที่ พ 3683/2564 (คดีกระสุนยาง) ให้ สตช. “…ระมัดระวังในการปฏิบัติหน้าที่ควบคุมการชุมนุมและสลายการชุมนุม โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของสื่อมวลชน…”
ซึ่งพฤติกรรมดังกล่าว น่าสงสัยว่าเป็นการกระทำที่เข้าข่ายละเมิดรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 34 (เสรีภาพในการแสดงความเห็น) มาตรา 35 (เสรีภาพของสื่อมวลชน) และมาตรา 36 (เสรีภาพในการติดต่อสื่อสาร) หรือไม่ อีกทั้ง ยังมีนักวิชาการด้านกฎหมายท้วงติงว่า การสลายการชุมนุมในครั้งนี้ยังอาจเป็นการสลายการชุมนุมที่มิชอบตาม พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ พ.ศ. 2558 อีกด้วย
ทั้งนี้ เพื่อคลี่คลายข้อสงสัยดังกล่าว รวมถึงเพื่อยกระดับการทำงานขององค์กรตำรวจให้ได้มาตรฐาน มีความรับผิดชอบ ไม่ใช้อำนาจเกินขอบเขต หรือเกินสมควรแก่เหตุ เคารพกฎหมายและรัฐธรรมนูญ และเคารพสิทธิเสรีภาพของประชาชนรวมไปถึงสื่อมวลชน ที่จะเพิ่มความน่าเชื่อถือในสายตาของประชาชนผู้เสียภาษีที่เป็นเจ้าของประเทศตัวจริง จึงขอเรียกร้องให้ดำเนินการดังนี้
- ขอให้ช่วยตรวจสอบข้อเท็จจริงเหตุการณ์วันดังกล่าวว่า เหตุใดตำรวจ คฝ. จึงสลายการชุมนุมอย่างรุนแรง จนเป็นเหตุให้ประชาชนรวมถึงสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจขัดกับคำสั่งของศาลแพ่งในคดีกระสุนยาง และใครจะต้องเป็นผู้รับผิดชอบต่อเหตุการณ์นี้
- ขอให้เรียกผู้เกี่ยวข้อง อันประกอบด้วย ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล ผู้กำกับการกองอารักขาและควบคุมฝูงชน และผู้บัญชาการเหตุการณ์ในวันดังกล่าว มาชี้แจงถึงรายละเอียดปฏิบัติการและวิธีป้องกันไม่ให้เกิดซ้ำรอยในอนาคต
- ขอให้เรียกเอกสารที่มีข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับเหตุสลายการชุมนุม ทั้งจำนวนกำลังพล นโยบายในการควบคุมและสลายการชุมนุม เครื่องมือต่างๆ ที่ใช้ จำนวนกระสุนยางที่เบิกมา-ใช้ไป และข้อมูลอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
- ขอให้เรียกเอกสารที่มีข้อมูลซึ่งเกี่ยวข้องกับคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงหรือตรวจสอบความรับผิดชอบทางวินัยต่อข้าราชการตำรวจที่มีส่วนร่วมกับเหตุการณ์สลายการชุมนุม ซึ่งทำให้ประชาชนหรือสื่อมวลชนได้รับบาดเจ็บของ สตช. หรือ บช.น. ตั้งแต่ปี 2563 จนถึงเหตุการณ์ล่าสุด รวมถึงเอกสารอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ขณะณัฐชากล่าวภายหลังรับยื่นหนังสือว่า ทาง กมธ. ไม่นิ่งนอนใจต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น โดยได้นำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่ที่ประชุมในวันนี้ โดยจะรวบรวมข้อมูลหลักฐานทั้งหมด เพื่อเรียกสอบสวนผู้ที่เกี่ยวข้องต่อไป