×

The Makanai: Cooking for the Maiko House ชวนมองไมโกะและเกอิชาในฐานะมนุษย์มากกว่ามรดกทางวัฒนธรรม

17.01.2023
  • LOADING...

HIGHLIGHTS

  • The Makanai: Cooking for the Maiko House คือซีรีส์จำนวน 9 ตอน ที่เพิ่งสตรีมทาง Netflix ไปเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ความน่าสนใจคือเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับและเขียนบทของ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ ผู้กำกับเจ้าของรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ทั้ง Like Father, Like Son (Jury Prize 2013) และ Shoplifters (Palme d’Or 2018) คราวนี้เขาหันมาสนใจเรื่องราวในโลกที่เหมือนอยู่ในไทม์แคปซูลของไมโกะและเกอิโกะหรือเกอิชา (สำเนียงคันไซเรียกกว่าเกอิโกะ ส่วนคันโตเรียกว่าเกอิชา) ในขณะเดียวกันก็แก้ไขความเข้าใจผิดๆ ที่คนทั้งโลกได้รับผ่านสื่อเกี่ยวกับอาชีพนี้ด้วย
  • แม้จะอยู่กับศิลปวัฒนธรรมแบบเก่า แต่เรื่องราวในซีรีส์ก็ทำให้เห็นว่าโลกของไมโกะและเกอิชาไม่ได้ถูกตัดขาดจากโลกปัจจุบันเสียทีเดียว อย่างที่ได้เห็น ‘คุณแม่ประจำบ้าน’ ผู้เป็นแฟนคลับตัวยงของ ฮยอนบิน นักแสดงเกาหลีใต้ ก็ทำให้รู้ว่าวัฒนธรรมป๊อปสอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำของพวกเธอไม่ต่างกัน นอกจากนี้ซีรีส์ในแต่ละตอนยังค่อยๆ ไขข้อสงสัยต่างๆ ของคนนอกเกี่ยวกับอาชีพนี้ ทั้งในเรื่องการก้าวเข้าสู่อาชีพไมโกะและเกอิชาที่ไม่จำเป็นต้องมีฐานะยากจน แต่ก็อาจจะเป็นความฝันของเด็กสาวได้เหมือนกัน
  • โดยภาพรวม The Makanai: Cooking for the Maiko House เหมาะกับคนที่ชอบซีรีส์แนวเรียบๆ เรื่อยๆ สไตล์ญี่ปุ่น ยิ่งเมื่อผนวกเข้ากับสไตล์ของผู้กำกับแล้วก็อาจจะไม่ค่อยมีอะไรหวือหวามากนัก และแม้ว่าชื่อไทยคือ แม่ครัวบ้านแห่งไมโกะ แต่เนื้อหาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญถึงวิธีการทำและศาสตร์อาหารสักเท่าไร อย่างไรก็ดี เรื่องนี้มีความน่าสนใจในแง่การให้ข้อมูลเกี่ยวกับไมโกะและเกอิชา เป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่น่าสนใจจาก Netflix ในเดือนนี้

The Makanai: Cooking for the Maiko House คือซีรีส์จำนวน 9 ตอน ที่เพิ่งสตรีมทาง Netflix ไปเมื่อวันที่ 12 มกราคมที่ผ่านมา ความน่าสนใจคือเรื่องนี้เป็นผลงานการกำกับและเขียนบทของ ฮิโรคาสุ โคเรเอดะ ผู้กำกับเจ้าของรางวัลจากเทศกาลภาพยนตร์เมืองคานส์ ทั้ง Like Father, Like Son (Jury Prize 2013) และ Shoplifters (Palme d’Or 2018) คราวนี้เขาหันมาสนใจเรื่องราวในโลกที่เหมือนอยู่ในไทม์แคปซูลของไมโกะและเกอิโกะหรือเกอิชา (สำเนียงคันไซเรียกกว่าเกอิโกะ ส่วนคันโตเรียกว่าเกอิชา) ในขณะเดียวกันก็แก้ไขความเข้าใจผิดๆ ที่คนทั้งโลกได้รับผ่านสื่อเกี่ยวกับอาชีพนี้ด้วย

 

 

เกอิชาและไมโกะ เป็นอาชีพที่มีมาตั้งแต่ปี 1600 โดยในปี 1920 เคยมีผู้ประกอบอาชีพนี้มากถึง 80,000 คน และค่อยๆ ลดจำนวนลงเรื่อยๆ จนปัจจุบันในญี่ปุ่นมีเกอิชาน้อยกว่า 1,000 คน มีความเข้าใจผิดๆ ว่าเกอิชาคืออาชีพขายบริการ แต่ความจริงแล้วเกอิชาคือผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปะ ทำหน้าที่มอบความบันเทิงผ่านการร่ายรำ ขับร้อง เล่นดนตรี หรือชวนคุยสร้างความครึกครื้นให้กับแขก

 

ในปี 1997 Sayuri: Memoirs of a Geisha นวนิยายของ Arthur Golden ได้รับการตีพิมพ์ และถูกสร้างเป็นภาพยนตร์ในปี 2005 ด้วยเนื้อหาเกี่ยวกับเรื่องเพศและเรื่องราวดราม่าความยากจนของเด็กสาวที่ถูกขายมาเป็นเกอิชา ยิ่งตอกย้ำความเข้าใจผิดๆ จนมีการรายงานกรณีการล่วงละเมิดจากนักท่องเที่ยวที่ต้องการถ่ายรูป กระตุ้นให้เขตบังคับใช้คำสั่งห้ามถ่ายภาพในปี 2019

 

 

สำหรับ The Makanai: Cooking for the Maiko House สร้างจากมังงะขายดีของ ไอโกะ โคยามะ (Aiko Koyama) ในชื่อ Maiko-san chi no Makanai-san ซึ่งตีพิมพ์ครั้งแรกในปี 2016 ได้รับรางวัล Shogakukan Manga Award ในปี 2020 และถูกยกย่องว่าเป็นหนึ่งในมังงะที่ดีที่สุดตลอดกาลของญี่ปุ่น มียอดขายมากกว่า 2.7 ล้านเล่ม และดัดแปลงเป็นซีรีส์อนิเมะ ออกอากาศทาง NHK World ในปี 2021 ว่าด้วยเรื่องราวของสองเพื่อนซี้ คิโยะ และ สุมิเระ วัยรุ่นอายุ 16 ปี จากอาโอโมริทางตอนเหนือของญี่ปุ่น ตัดสินใจลงใต้มาที่เกียวโตเพื่อตามความฝันเป็นการไมโกะ (เกอิชาฝึกหัด) แต่ด้วยบุคลิกและความสามารถของคิโยะไม่มีแววที่จะเป็นไมโกะได้ แตกต่างจากสุมิเระที่ฉายแววโดดเด่นในอาชีพนี้ คิโยะตัดสินผันตัวเองเป็นคนทำอาหารในบ้านไมโกะหรือ มาคาไน (Makanai) กลายเป็นเรื่องราวในซีรีส์ที่ทำให้เราเห็นชีวิตของไมโกะและเกอิชาแบบร่วมสมัย

 

 

แม้จะอยู่กับศิลปวัฒนธรรมแบบเก่า แต่เรื่องราวในซีรีส์ก็ทำให้เห็นว่าโลกของไมโกะและเกอิชาไม่ได้ถูกตัดขาดจากโลกปัจจุบันเสียทีเดียว อย่างที่ได้เห็น ‘คุณแม่ประจำบ้าน’ ผู้เป็นแฟนคลับตัวยงของ ฮยอนบิน นักแสดงเกาหลีใต้ ก็ทำให้รู้ได้ว่าวัฒนธรรมป๊อปสอดแทรกเข้าไปในชีวิตประจำของพวกเธอไม่ต่างกัน นอกจากนี้ซีรีส์ในแต่ละตอนยังค่อยๆ ไขข้อสงสัยต่างๆ ของคนนอกเกี่ยวกับอาชีพนี้ ทั้งในเรื่องการก้าวเข้าสู่อาชีพไมโกะและเกอิชาที่ไม่จำเป็นต้องมีฐานะยากจน แต่ก็อาจจะเป็นความฝันของเด็กสาวได้เหมือนกัน

 

อย่างไรก็ตาม ชีวิตของไมโกะฝึกหัดก็เต็มไปด้วยกฎระเบียบและข้อจำกัดที่ไม่สอดรับกับการใช้ชีวิตสมัยใหม่ อย่างเช่นเรื่องการใช้โทรศัพท์มือถือ การวางตัว แค่การเดินเข้าร้านสะดวกซื้อก็อาจจะเป็นเรื่องยากสำหรับคนที่คิดจะเดินสายนี้ รวมทั้งเรื่องของทรงผมที่ต้องเป็นอยู่อย่างนั้น 6 วันต่อสัปดาห์ นำมาซึ่งความยากลำบากในการใช้ชีวิตเช่นการนอน (ไมโกะต้องเกล้าผมจริงเมื่อเลื่อนขั้นเป็นเกอิชาจึงจะสามารถใส่วิกผมได้) จึงไม่น่าแปลกใจที่ปัจจุบันเด็กสาวน้อยคนที่อยากจะก้าวเข้าสู่การเป็นไมโกะและเกอิชา

 

 

ว่าไปแล้วอีกหนึ่งความสำเร็จของ The Makanai: Cooking for the Maiko House คือการพูดถึงความสัมพันธ์อันอบอุ่นหัวใจระหว่างเพื่อนสาว ผ่านตัวละครคิโยะและสุมิเระ โดยเฉพาะตัวละครคิโยะที่สะท้อนความเป็นรองต่อเพื่อนแทบจะทุกกรณี แต่ถึงอย่างนั้นชีวิตของเธอก็ใช่ว่าจะไม่มีความสุข เพราะบางทีความฝันของคนเราคือแค่ได้ทำเรื่องเล็กๆ แต่มีความหมายก็ได้เหมือนกัน ซึ่งทั้งหมดปิดท้ายด้วยประโยคสุดประทับใจจากคุณยายของคิโยะที่บอกว่า “ทุกคนต้องเลือกว่าจะมีชีวิตแบบไหน… จะเป็นคนเดินทางหรือคนไปส่ง มันไม่ได้แปลว่าแบบไหนดีหรือไม่ดีสักหน่อย”

 

 

โดยภาพรวม The Makanai: Cooking for the Maiko House เหมาะกับคนที่ชอบซีรีส์แนวเรียบๆ เรื่อยๆ สไตล์ญี่ปุ่น ยิ่งเมื่อผนวกเข้ากับสไตล์ของผู้กำกับแล้วก็อาจจะไม่ค่อยมีอะไรหวือหวามากนัก และแม้ว่าชื่อไทยคือ แม่ครัวบ้านแห่งไมโกะ แต่เนื้อหาก็ไม่ได้ให้ความสำคัญถึงวิธีการทำและศาสตร์อาหารสักเท่าไร อย่างไรก็ดี เรื่องนี้มีความน่าสนใจในแง่ของการให้ข้อมูลเกี่ยวกับไมโกะและเกอิชา เป็นอีกหนึ่งซีรีส์ที่น่าสนใจจาก Netflix ในเดือนนี้

 

อ้างอิง:

FYI
  • ไมโกะ: คือเกอิชาฝึกหัดที่ต้องเรียนรู้ศิลปะและทักษะต่างๆ เป็นเวลา 5 ปี ก่อนจะขึ้นเป็นเกอิชา
  • ทาจิคาตะ: คือเกอิชาที่มีหน้าที่ร่ายรำ
  • จิคาตะ: คือนักดนตรี มีหน้าที่ขับร้องและเล่นเครื่องดนตรี เช่น ชามิเซ็น ขลุ่ย กลอง
  • ไทโกะโมจิ: คือเกอิชาที่มีหน้าที่สร้างบรรยากาศให้ครึกครื้นด้วยการเล่นตลกหรือการใช้คำพูดต่างๆ
  • โออิรัน: คืออาชีพที่ขายเรือนร่างเป็นหลัก แม้จะแต่งหน้าและแต่งกายคล้ายกัน แต่โออิรันจะอลังการกว่า (โอบิจะผูกด้านหน้าเผื่อให้ถอดได้ง่าย) มีความรู้ด้านศิลปะเหมือนกันแต่ไม่เท่าเกอิชา

 

 

  • LOADING...

READ MORE




Latest Stories

Close Advertising
X