“เก้าอี้ที่หน้าเวทียังว่างเปล่า”
เสียงเพลง ค่าน้ำนม ดังคลอกังวานไปทั้งงาน ตัวอักษรที่ตัดจากโฟมเขียนแปะไว้ว่าเป็น งานวันแม่แห่งชาติ 12 สิงหาคม 2546 ที่โรงเรียนอนุบาลลพบุรี
จะถึงรอบติดดอกมะลิให้แม่อยู่แล้ว แต่เก้าอี้ในตำแหน่งของตัวเองยังว่างเปล่า ต๊อก ลูกชายคนโตของ เพลิน หัวหน้าคณะตลก ในวัยอนุบาลทำหน้าบอกบุญไม่รับ ต๊อกชะเง้อคอ ทอดสายตามองไปรอบงาน พร้อมทำหน้าบอกบุญไม่รับ เพราะแม่ๆ ของเพื่อนร่วมชั้นมากันพร้อมเพรียง
แต่ทันใดนั้น เฉียดฉิวก่อนถึงวินาทีสำคัญที่เสียงจากไมโครโฟนจะต้องประกาศให้ลูกๆ ก้มกราบ ตามด้วยการติดเข็มกลัดดอกมะลิที่อกแม่ อยู่ๆ ก็มีฝีเท้าหนึ่งเดินฝ่าเหล่าแม่ๆ แล้วนั่งลงตรงเก้าอี้ที่เคยว่างเปล่า
และแม้ว่าผู้ที่เดินมาถึงจะไม่ใช่ ‘แม่ผู้ให้กำเนิด’ แต่การมาของของเพลิน ผู้เป็นพ่อ ที่แต่งองค์ทรงเครื่องมาในคราบของเพศหญิงนั้น นอกจากสร้างรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ แต่มันยังเป็นทั้งวินาทีที่ช่วยเติมเต็มความรู้สึกที่โดดเดียว แปลกแยก แตกต่างสำหรับต๊อก…
และสำหรับผู้ชม มันยังเป็นหนึ่งในหลายๆ ซีนประทับใจจากภาพยนตร์ไทย บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน (พ่อสอนไว้) ที่ให้ทั้งความซาบซึ้งและอารมณ์ร่วม เพราะเชื่อเหลือเกินว่า คงมีผู้ชมชาวไทยอีกมากมายที่เคยผ่านประสบการณ์ร่วมในกิจกรรมเดียวกันนี้เก็บที่แห่งใดแห่งหนึ่งในลิ้นชักความทรงจำ
แม่: ต๊อกจำงานวันแม่ตอนที่ต๊อกอยู่อนุบาลได้ไหม
ต๊อก: วันนั้นน่ะแม่มาสาย
แม่: แม่ไม่ได้ไป / แม่จะไปได้ยังไง วันนั้นน่ะวันเกิดไอ้ม่อน
ต๊อก: วันเกิดม่อนเกี่ยวไร
แม่: ต๊อก แม่ไปคลอดไอ้ม่อนที่โรงพยาบาล แล้วจะไปงานโรงเรียนลูกได้ยังไง นี่ นึกดูดีๆ สิ วันนั้นน่ะใครไป
(เสียงคุณครูจากลำโพง: นักเรียนพนมมือ กราบ ติดดอกไม้ให้แม่หน่อยครับ)
พ่อ: คิดว่าแม่ไม่มาเหรอ มาาา แต่มาช้าไปนิดหนึ่ง
ต๊อก: หัวเราะ
สำคัญที่สุดในโมงยามที่ผู้คนจำนวนมากในปัจจุบันได้ออกมาแสดงความคิดเห็นมากมาย โดยเรียกร้องให้ยกเลิกการจัดกิจกรรมวันแม่ โดยการเชิญแม่มาให้ลูกกราบไหว้ มอบพวงมาลัย หรือมอบดอกมะลิให้กับแม่ โดยหลายคนมองว่า กิจกรรมเหล่านี้เป็นเหมือนดาบสองคม เพราะอาจจะมีผลกระทบกับสภาพจิตใจของเด็กในกลุ่มที่แม่ไม่มา ไม่ได้จะด้วยปัจจัยจำเป็นใดๆ ก็ตาม
หนึ่งในนั้นคือ นักเขียน นักคิด นักร้อง นักแต่งเพลงอย่าง ศุ บุญเลี้ยง ที่ได้เขียนข้อความผ่านทางเฟซบุ๊กส่วนตัวไปถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ใจความบางตอนกล่าวว่า “ทางโรงเรียนไม่ควรจัดงานวันแม่ โดยการชักชวนให้นำแม่มาให้นักเรียนกราบไหว้ที่โรงเรียน เพราะการให้ผู้ปกครองมาโรงเรียนในวันสำคัญ เป็นการสร้างความสะเทือนใจให้กับนักเรียนซึ่งพ่อแม่ไม่สามารถจะมาร่วมงานได้”
เช่นเดียวกับ หมู-พิมพ์ผกา เสียงสมบุญ ที่ได้แสดงความคิดเห็นทางเฟซบุ๊กส่วนตัวถึงกิจกรรมวันแม่ในโรงเรียน ใจความส่วนหนึ่งว่า “พอลูกดิฉันเข้าอนุบาล 3 ถึงวันแม่, วันพ่อทีไร แทนที่ดิฉันจะไปนั่งร่วมพิธีที่โรงเรียน ให้ลูกได้กราบแสดงความกตัญญู ดิฉันมักจะชวนลูกโดดเรียนค่ะ ใช่ค่ะ คุณฟังไม่ผิด โดดเรียน พาเขาไปนั่งรถไฟเที่ยว ดูหนังบ้าง เดินห้างฯ บ้าง แฮปปี้มากค่ะ หากต้องการแสดงความรักความกตัญญูก็มากราบแม่ที่บ้าน 2 คน ก็พอ”
แม้คำตอบล่าสุดจาก คุณหญิงกัลยา โสภณพนิช รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการคนปัจจุบัน ซึ่งได้กล่าวยืนยันเกี่ยวกับกรณีนี้ไว้ส่วนหนึ่งว่า “กิจกรรมวันพ่อ วันแม่มีเพียงปีละครั้ง เพื่อให้ลูกได้แสดงความกตัญญูต่อพ่อแม่เป็นสิ่งที่ดี เพียงแต่กิจกรรมนี้อาจไปกระทบต่อเด็กบางคนที่ไม่มีพ่อหรือแม่มาร่วมกิจกรรม ซึ่งเข้าใจได้ แต่ไม่ควรยกเลิก”
แต่ THE STANDARD POP ยังหวังว่า ปีต่อๆ ไปในอนาคต เราจะได้เห็นการออกแบบกิจกรรมวันพ่อและวันแม่ที่สร้างสรรค์ ใส่ใจ และคำนึงถึงหัวจิตหัวใจของเด็กๆ ทุกชีวิตได้มากกว่าที่เป็นอยู่ในเวลานี้
บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน (พ่อสอนไว้) กำกับโดย วิทยา ทองอยู่ยง และ เมษ ธราธร นำแสดงโดย ชวินโรจน์ ลิขิตเจริญสกุล, พอลล่า เทเลอร์, จตุรงค์ มกจ๊ก, ณิชาพัชร์ จารุรัตนวารี ออกฉายครั้งแรกในปี 2553 เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ชั้นเยี่ยมของค่ายหนัง GTH ที่ผู้คนยังรักและจดจำมาจนถึงทุกวันนี้
ขอบคุณภาพจาก: ภาพยนตร์ บ้านฉัน..ตลกไว้ก่อน (พ่อสอนไว้) ผลิตโดย GTH
พิสูจน์อักษร: ภาวิกา ขันติศรีสกุล