เชื่อว่าหลังจาก The Lion King Live Action ผลงานกำกับของ จอน ฟาฟโรว์ ออกฉายอย่างเป็นทางการในวันพรุ่งนี้ (17 ก.ค.) จะมีสายธารความรู้สึกแตกออกไปหลายสายตามแต่ความหวัง ประสบการณ์ร่วม และสิ่งที่ได้เห็นบนจอภาพยนตร์ และนี่คือความรู้สึกของเด็กที่ได้ดู The Lion King (1994) เป็นภาพยนตร์เรื่องแรกตอนอายุ 5 ขวบ และกลับไปตั้งใจดูเวอร์ชันต้นฉบับอีกครั้ง หลังดูเวอร์ชันล่าสุดจบลงทันที
สิ่งที่ต้องพูดถึงเป็นอย่างแรกคือ งานด้านวิชวลเอฟเฟกต์ที่สวยงาม สมจริงมากๆ มากเสียจนรู้สึกเหมือนดูสารคดีที่ถ่ายทำชีวิตของสัตว์โลกจริงๆ แล้วมีเสียงบรรยายของมนุษย์พากย์ทับลงไปด้วยซ้ำ ในจุดนี้ดิสนีย์ได้ประกาศอย่างชัดเจนแล้วว่า พวกเขาพร้อมแล้วสำหรับการหยิบเรื่องเล่าตำนานทุกบทที่เคยนำเสนอในรูปแบบแอนิเมชันสองและสามมิติมาพัฒนาต่อในรูปแบบ Live Action อีกมากมายในอนาคต
The Lion King เวอร์ชันนี้แสดงให้เห็นถึงการ ‘คารวะ’ ผสมผสานการตีความตามยุคสมัยใหม่ เช่น การเพิ่มความโหดและมิติของ สการ์ ให้มีความหลังกับ มูฟาซา พี่ชายที่เป็นเจ้าป่ามากขึ้น, ปรับบทบาทของสิงโตตัวเมียที่อยู่ในฝูงให้เข้ากับบริบทความเป็นมนุษย์และกระแสเท่าเทียมทางเพศมากขึ้น ฯลฯ รวมกับภาพประทับใจเมื่อ 25 ปีก่อนได้ในระดับค่อนข้างน่าพอใจ
โดยเฉพาะพิธีเฉลิมฉลองให้กับ ซิมบ้า ที่ไล่เลียงการเดินขบวนและอากัปกิริยาของบรรดาสัตว์แห่งผาทรนง ถึงแม้จำนวนและความแฟนตาซีอาจลดลงไปบ้าง เพื่อนำไปเพิ่มพื้นที่ให้กับความสมจริง แต่การนำเสนอภาพจำแบบช็อตต่อช็อต ก็ทำให้หัวใจของเด็ก 5 ขวบตอนได้เห็นบาบูนราฟิกิชูว่าที่เจ้าป่าคนใหม่พองโตขึ้นมาอีกครั้งได้ทันที
รวมทั้งท่วงทำนอง บทเพลงที่ยึดตามเวอร์ชันก่อน, การบินของ ซูซา นกเงือกจอมจ้อในฉากห้ามไม่ให้ซิมบ้าและนาลาไปที่สุสานช้าง, แผนจัดการมูฟาซาของสการ์ผู้เป็นน้องชายเจ้าป่า, ไฮยีนาจอมตะกละ, เพลง Hakuna Matata ที่ฟังกี่ครั้งก็อารมณ์ดี, การเปลี่ยนซิมบ้าให้เป็นราชสีห์ชีวจิตกินแต่แมลง, ฉากเดินเรียงหน้ากระดานที่ทำให้สิงโตน้อยค่อยๆ โตเป็นหนุ่ม, ฉากหวานของซิมบ้าและนาลาในวันที่ฮอร์โมนพลุ่งพล่าน, ศึกตัดสินระหว่างอา-หลาน, สะเก็ดไฟเข้าตา ไปจนถึงจุดจบของสการ์จอมเจ้าเล่ห์
และอีกหลายฉากที่เราเห็นถึงความพยายามรักษาความประทับใจเก่าๆ อย่างเต็มที่ แต่ก็มีอยู่หลายครั้งที่การตีความใหม่ที่สมจริงมากขึ้น ทำให้ความทรงเมื่อ 25 ปีก่อน เกิดตะกอนขุ่นก่อตัวขึ้นมา
ตั้งแต่สการ์ที่ถูก ‘ความจริง’ เปลี่ยนจากสิงโตแผงคอสีดำ ผอมเพรียว นัยน์ตาซ่อนแววมุ่งร้าย กลายเป็นสิงโตหนังถลอก แผงคอหลุดลุ่ย โอเคว่านี่คือภาพจริงที่ควรเป็น เพราะสิงโตที่ไม่ได้เป็นหัวหน้าฝูงพ่ายแพ้จากการต่อสู้ ไม่มีอาหารอุดมสมบูรณ์ ไร้ซึ่งชีวิตที่ดี ก็ไม่ควรมีภาพลักษณ์ที่สง่างามเท่าไร แต่ความรู้สึกลึกๆ เราก็อดสงสารสการ์ไม่ได้ เพราะการมีสภาพใกล้เคียงกับคำว่า ‘ขี้เรื้อน’ นั้นโหดร้ายกับน้องชายเจ้าป่ามากจริงๆ
พุมบ้าที่เปลี่ยนจากหมูป่าอ้วนพีสีน้ำตาล เป็นหมูป่าขนสีดำเขี้ยวเปรอะ ที่ดูไกลจากคำว่าน่ารักไปนิด, แก๊งไฮยีนาที่พูดน้อยและเลือดเย็นที่ควรให้ความรู้สึกน่ากลัวมากขึ้น แต่เราก็ยังรู้สึกกลัวเวอร์ชันก่อนที่พูดมาก แอ็กชันโฉ่งฉ่าง เสียงหัวเราะหลอนหู และมุกแทะขาตัวเองตอนหิวยิ่งกว่าเสียอีก
ฉากโรแมนติกระหว่างซิมบ้าและนาลาที่กลับมาเจอกันอีกครั้ง ที่ทั้งคู่เคยแสดงอาการ สีหน้า ท่าทาง มีฉากกอดกันกลิ้งลงจากหน้าผาเป็นวงกลม แต่เวลา 25 ปีที่ผ่านไปได้ ‘ริบ’ เอาการแสดงออกทางสีหน้าของทั้งคู่ออกไปจนหมด เราสัมผัสได้ว่านี่คือสิงโต 2 ตัวที่กำลังเกี้ยวพาราสีกัน แต่เราสัมผัสไม่ได้ว่านี่คือ ‘คู่รัก’ ที่รักกันจริงๆ
รวมทั้งตัวละครที่เราชอบที่สุดอย่าง บาบูนราฟิกิ ที่เคยมีเสน่ห์และสีสันในฐานะนักปราชญ์แห่งผาทรนง ที่เคยวาดรูปเจ้าป่าตัวน้อยบนต้นไม้ใหญ่ และใช้สีแดงจากผลไม้ขีดแผงคอสีแดงงามสง่าในวันที่ซิมบ้ากลับมาในฐานะราชสีห์โตเต็มวัย จนกลายเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ประจำเวอร์ชันก่อน ก็เหลือเพียงภาพเลือนรางบนต้นไม้ (ก็แน่ล่ะ ลิงจะวาดรูปสวยขนาดนั้นได้อย่างไร) และจากผู้เชี่ยวชาญศิลปะการต่อสู้ ก็กลายเป็นเพียงลิงชราที่กวัดแกว่งไม้เท้าใส่ฝูงไฮยีนาอย่างไรทิศทางเท่านั้น
อย่างที่บอกไปตอนต้นว่า ตัวอย่างที่ยกตัวมาทั้งหมดเป็นเพียงความรู้สึกส่วนตัวที่ผสมความคาดหวังจากประสบการณ์ที่ได้ดูต้นฉบับในวัยเด็กที่ตื่นเต้นกับทุกอย่าง ไม่ได้หมายความว่า The Lion King เวอร์ชันล่าสุดจะเป็นภาพยนตร์ที่แย่หรือเต็มไปด้วยข้อบกพร่องแต่อย่างใด
ตรงกันข้ามด้วยซ้ำ เพราะ The Lion King เวอร์ชันนี้นำเสนอภาพทุกอย่างออกมาได้อย่างสมบูรณ์ที่สุดเท่าที่ภาพยนตร์ Live Action ที่สร้างทุกอย่างขึ้นมาจาก CGI ในปี 2019 สามารถทำขึ้นมาได้ทั้งหมดแล้ว เพราะฉะนั้นเรายังยืนว่า The Lion King ยังเป็นภาพยนตร์ที่ควรค่าและคุ้มค่ากับการซื้อบัตรเข้าไปชมในโรงภาพยนตร์อย่างที่สุด
เพียงแต่เมื่อเราเข้าไปดู The Lion King เวอร์ชันนี้อีกครั้ง โดยมีเด็ก 5 ขวบคนเดิมนั่งชมไปพร้อมๆ กันด้วยอยู่ในหัวใจ ความรู้สึกของเด็กคนนั้นจะกระซิบบอกตัวเราในวันนี้อยู่เสมอว่า ไม่ได้ต้องการ ‘ความจริง’ ทั้งหมด สิ่งที่เขาต้องการมีเพียงพื้นที่ว่างให้กับความฝันอันแสนแฟนตาซีให้เขาได้วิ่งเล่นอยู่ในโลกแห่งจินตนาการต่อไปเท่านั้นเอง
พิสูจน์อักษร: พรนภัส ชำนาญค้า